ความร่วมมือติดอันดับปัญหาหลักระดับภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทะเลกระตุ้นให้อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ต้องร่วมมือกันอีกครั้ง

กัสดี ดา คอสตา

การต่อต้านภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่มีร่วมกัน ซึ่งได้แก่ การกระทำอันเป็นโจรสลัด การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เป็นรากฐานของความตกลงล่าสุดที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะทำข้อตกลงด้านความมั่นคงร่วมกันอีกครั้ง นักวิเคราะห์กล่าว ความร่วมมือด้านกลาโหมอย่างใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในอินโดแปซิฟิกจะดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกลาโหม เพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในฟิลิปปินส์

รัฐบาลอินโดนีเซียและรัฐบาลฟิลิปปินส์ตกลงกันเมื่อต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ว่าจะทำข้อตกลงใหม่อีกครั้ง และยกระดับข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคงที่ลงนามไปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2540 รวมถึงข้อตกลงการข้ามพรมแดนฉบับแก้ไขและข้อตกลงการลาดตระเวนชายแดน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518

นายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย และนายโฮเซ เฟาส์ติโน จูเนียร์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ ได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าวระหว่างการเยือนอินโดนีเซียของนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ การทำข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคงครั้งใหม่นี้จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมที่มีมาอย่างยาวนานของทั้งสองประเทศโดยการกำหนดกรอบความร่วมมือ ตามรายงานของสำนักข่าวฟิลิปปินส์ที่ดำเนินการโดยรัฐบาล (ภาพ: นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ (ซ้าย) และนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ตรวจพลกองทหารเกียรติยศในเมืองโบโกร์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2565)

“ทั้งสองประเทศมีความต้องการเชิงกลยุทธ์ที่จะยกระดับความมั่นคงทางทะเลและการขนส่งในน่านน้ำที่ติดกับชายแดน” นายโมฮัมหมัด อับดี ซูฮูฟาน ผู้ประสานงานภายในประเทศของหน่วยงานเฝ้าระวังการทำประมงแบบทำลายล้างของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนกล่าวกับ ฟอรัม “ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองประเทศจึงได้ชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามที่แท้จริงในน่านน้ำชายแดนที่จำเป็นต้องให้ความสนใจ”

นายซูฮูฟานกล่าวว่า นอกจากการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมแล้ว ยังมีภัยคุกคามของการลักพาตัวชาวประมงโดยกลุ่มคนหัวรุนแรงและการค้าที่ผิดกฎหมายอีกด้วย ภายใต้การทำข้อตกลงครั้งใหม่ คาดว่าจะมีการขยายความร่วมมือทางกลาโหมในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งได้แก่ การฝึกซ้อมและการฝึกอบรมร่วมกัน การรักษาความปลอดภัยชายแดน การเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกัน การแบ่งปันข้อมูล รวมถึงการทำงานร่วมกัน ตามรายงานของสำนักข่าวฟิลิปปินส์

“จากมุมมองของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์จะต้องเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในการบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองของอินโดนีเซียในภูมิภาคแห่งนี้ รวมถึงช่วยเหลืออินโดนีเซียในการสนองความต้องการด้านกลาโหมของฟิลิปปินส์และพัฒนาอุตสาหกรรมกลาโหมของอินโดนีเซียผ่านความร่วมมือด้านการค้า” นายไครุล ฟาห์มี ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารแห่งสถาบันความมั่นคงและการศึกษายุทธศาสตร์ของรัฐบาลอินโดนีเซีย กล่าวกับ ฟอรัม

นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวหลังจากการพบปะกับนายมาร์กอสเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า พีที พาล บริษัทต่อเรือของอินโดนีเซียมีกำหนดการที่จะต่อเรือยกพลขึ้นบกแบบอู่ลอยขนาดความยาว 123 เมตร จำนวนสองลำให้กับกองทัพเรือฟิลิปปินส์ พีที พาลได้ต่อเรือยกพลขึ้นบกแบบอู่ลอยสองลำที่กองทัพเรือฟิลิปปินส์ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเข้าประจำการเมื่อ พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2560 นายวิโดโดกล่าวว่า ตนหวังว่ากองทัพอากาศฟิลิปปินส์จะจัดซื้อเครื่องบินขนส่ง เอ็นซี212ไอ จำนวนสองลำจาก พีที เดอร์กันทารา บริษัทการบินและอวกาศของอินโดนีเซีย ในเร็ว ๆ นี้

ขณะเดียวกันนายมาร์กอสก็กล่าวขอบคุณอินโดนีเซียที่ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในฟิลิปปินส์และแสดงออกถึงความคาดหวังที่จะให้มีความร่วมมือระดับทวิภาคีต่อไป

นอกจากนี้ นายวิโดโดยังได้ประกาศทำข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ใหม่อีกครั้ง จากข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีที่มีการลงนามครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2559 ได้ริเริ่มการลาดตระเวนทางทะเลร่วมกันในทะเลซูลูและทะเลเซเลเบสโดยกองทัพของทั้งสามประเทศ

การลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ในน่านน้ำดังกล่าวลดลงอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่เริ่มมีการลาดตระเวน จากที่เคยมีการก่อเหตุถึง 10 ครั้งและพยายามก่อเหตุอีก 6 ครั้งใน พ.ศ. 2559 จนไม่มีการลักพาตัวแม้แต่ครั้งเดียวใน พ.ศ. 2564 ตามรายงานของเซฟตี้ฟอร์ซี ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวด้านการขนส่งและทะเลในประเทศกรีซ

รัฐบาลอินโดนีเซียและรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ลงนามในข้อตกลงด้านกลาโหมและความมั่นคงมาแล้วกว่า 20 ฉบับนับตั้งแต่สานสัมพันธ์ทางการทูตใน พ.ศ. 2492 ตามรายงานของ ดร. เชสเตอร์ คาบาลซา นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมในกรุงจาการ์ตา

นายซูฮูฟานระบุว่า “เสถียรภาพของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน” “ดังนั้นจึงคาดหวังว่าความพยายามในการยกระดับความร่วมมือระหว่างสองประเทศในภาคกลาโหมจะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เนื่องจากทั้งสองประเทศมีมุมมองต่อภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกร่วมกัน”

กัสดี ดา คอสตา เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศอินโดนีเซีย

 

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button