ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายในอินโดแปซิฟิก
ลดลงใน พ.ศ. 2564 เปิดเผยโดยสถาบันวิจัยสิงคโปร์

เบนาร์นิวส์
ภาพโดย เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
สถาบันวิจัยสิงคโปร์ระบุในรายงานการประเมินภัยคุกคามประจำปีที่เผยแพร่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ว่าภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ใน พ.ศ. 2564 มีจำนวนลดลง โดยตั้งข้อสังเกตว่าข้อจำกัดการเคลื่อนไหวของโควิด-19 ทำให้ “จำนวนการก่อการร้ายลดลง”
โดยเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายในบังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีจำนวนลดลงในช่วงที่รัฐบาลกำลังต่อสู้กับภาวะการระบาดใหญ่ ตามรายงาน “แนวโน้มและการวิเคราะห์การต่อต้านการก่อการร้าย” ที่จัดพิมพ์โดยวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัม
ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักวิจัยพบว่า ใน พ.ศ. 2564 เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของไทยมีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2563
การวิเคราะห์ดังกล่าวระบุว่า “ในท้ายที่สุด การสำรวจใน พ.ศ. 2564 ได้เน้นย้ำให้รัฐต่าง ๆ เล็งเห็นถึงความจำเป็นอย่างต่อเนื่องในการจัดการกับความคับข้องใจที่สั่งสมมานานซึ่งจุดชนวนให้เกิดลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่ง”
รายงานดังกล่าวระบุว่า การโจมตีและแผนการโดยกลุ่มติดอาวุธอิสลามหัวรุนแรงในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนลดลงในช่วงสองปีระหว่าง พ.ศ. 2563 ถึง 2564 เมื่อเทียบกับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 กิจกรรมของกลุ่มก่อการร้ายเจมาอาห์ อันชารุต เดาละห์ หรือ เจเอดี แทบหยุดชะงักในปี พ.ศ. 2563 ถึง 2564 และกิจกรรมการก่อการร้ายของกลุ่มก่อการร้ายมูจาฮิดีนอินโดนีเซียตะวันออกที่ลดลงใน พ.ศ. 2564 “ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากข้อจำกัดการเคลื่อนไหวและต้นทุนที่สูงขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางภายในประเทศอันเนื่องมาจากภาวะการระบาดใหญ่” รายงานดังกล่าวระบุ

ใน พ.ศ. 2564 กลุ่มก่อการร้ายเจมาอาห์ อันชารุต เดาละห์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อย่างน้อย 9 เหตุการณ์รวมถึงเหตุการณ์ที่ใช้วัตถุระเบิดอีก 5 เหตุการณ์ ซึ่งรวมถึงการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพสองครั้งและแผนระเบิดพลีชีพเมื่อเทียบกับเหตุการณ์เมื่อปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 11 ครั้ง
การวิเคราะห์ดังกล่าวพบว่าเป้าหมายของผู้ก่อการร้ายที่พบบ่อยที่สุดในอินโดนีเซียคือตำรวจ เป้าหมายอื่น ๆ ของกลุ่มหัวรุนแรงอินโดนีเซียใน พ.ศ. 2564 คือ “พลเรือน รวมถึงชาวคริสต์ ตลอดจนชาวอินโดนีเซียและชาวจีนแผ่นดินใหญ่” รายงานดังกล่าวระบุ
เมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 กองกำลังรักษาความมั่นคงอินโดนีเซียประกาศว่าพวกเขาได้สังหารนายอาหมัด กาซาลี ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายมูจาฮิดีนอินโดนีเซียตะวันออก ในเทือกเขาของจังหวัดสุลาเวสีกลาง ทำให้จำนวนสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวลดลงเหลือเพียงสาม
มาเลเซียและฟิลิปปินส์
การวิเคราะห์นี้มีความเชื่อมโยงที่เจาะจงเฉพาะไปที่ภาวะการระบาดใหญ่และการลดลงของกิจกรรมการก่อการร้ายในมาเลเซียใน พ.ศ. 2564 “ข้อจำกัดการเคลื่อนไหวที่ขับเคลื่อนด้วยภาวะการระบาดใหญ่ที่ขัดขวางการเคลื่อนไหวระหว่างรัฐและระหว่างประเทศยัง ‘ลดจำนวนการก่อการร้าย’ ในมาเลเซียด้วย”
ใน พ.ศ. 2564 เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำการจับกุมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายในคาบสมุทรมาเลเซีย แต่ได้มีการจับกุมในรัฐซาบาห์ของมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียวประมาณ 15 ครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 การวิเคราะห์ดังกล่าวระบุว่ามีการจับกุมเจ็ดครั้งใน พ.ศ. 2563, 72 ครั้งใน พ.ศ. 2562, 85 ครั้งใน พ.ศ. 2561, 106 ครั้งใน พ.ศ. 2560 และมีการจับกุม 119 ครั้งใน พ.ศ. 2559
อีกทั้งการวิเคราะห์ดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงความกังวลว่าภัยคุกคามจากการก่อการร้ายได้แพร่เข้ามาทางออนไลน์ด้วย
“การปิดเมืองที่รัฐบาลกำหนดบีบให้ผู้คนต้องใช้เวลาทางออนไลน์มากขึ้น จึงเพิ่มโอกาสที่กลุ่มบุคคลเปราะบางจะต้องพบเจอกับอุดมการณ์หัวรุนแรงในพื้นที่ไซเบอร์ กลุ่มต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคนี้ เช่น กลุ่มไอเอส (รัฐอิสลาม) ได้ทุ่มเทสรรหาบุคลากรและปลูกฝังแนวคิดหัวรุนแรงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในช่วงที่มีภาวะการระบาดใหญ่” การวิเคราะห์ดังกล่าวระบุ

ในพื้นที่ไกลออกไป กองทัพฟิลิปปินส์ได้ยกย่องการยึดฐานก่อการร้ายในภาคใต้ของมินดาเนา กลุ่มนักวิเคราะห์ระบุว่าเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ประสบความสำเร็จทั่วประเทศใน พ.ศ. 2562 มีจำนวนลดลงจาก 134 ครั้งเหลือ 59 ครั้งใน พ.ศ. 2563 และลดลงเหลือ 17 ครั้งใน พ.ศ. 2564 โดยให้คำนิยามเหตุการณ์ที่ประสบความสำเร็จว่าเป็นการโจมตีที่ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
การวิเคราะห์ดังกล่าวระบุว่าการปิดเมืองจากโควิด-19 ที่รัฐบาลกำหนดส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการของการก่อการร้าย “จากการที่รัฐบาลได้จำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ก่อการร้ายเป็นจำนวนมาก เป็นผลให้การขนส่งของผู้ก่อการร้ายเสี่ยงที่จะถูกตรวจพบได้ง่ายขึ้น” การวิเคราะห์ดังกล่าวระบุ
บังกลาเทศและไทย
ใน พ.ศ. 2564 ในบังกลาเทศ “มีการโจมตีที่ล้มเหลวสองครั้งเมื่อเทียบกับการโจมตีที่ประสบความสำเร็จสี่ครั้งใน พ.ศ. 2563” รายงานดังกล่าวระบุและเสริมว่าเจ้าหน้าที่ยังได้ทำการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายได้ประมาณ 130 รายทั่วประเทศ
กลุ่มก่อการร้าย นีโอ-เจเอ็มบี ซึ่งเป็นกลุ่มแยกที่สนับสนุนกลุ่มไอเอสของนายจามาต-อุล-มูจาฮิดีน บังกลาเทศ “ปรากฏตัวขึ้นเพื่อมุ่งเป้าไปที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและโบสถ์ จากการรายงานของแกนนำศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธและบุคลากรขององค์กรนอกภาครัฐ” ตามรายงานของการวิเคราะห์ดังกล่าว
ทั้งยังระบุอีกว่ากลุ่มก่อการร้าย นีโอ-เจเอ็มบี ได้พยายามที่จะฝึกอบรมวิธีการผลิตระเบิดแสวงเครื่องให้แก่สมาชิกของตน รวมถึง “ระเบิดคลอโรฟอร์มเพื่อมุ่งเป้าไปที่รถโดยสารประจำทาง ห้องเรียน และสาธารณสถานเพื่อการพยายามฆ่าแบบเงียบ ๆ”
การบันทึกเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อความไม่สงบของไทยจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 มีการบันทึกได้ 423 ครั้งโดยมีผู้เสียชีวิต 104 รายและได้รับบาดเจ็บ 169 ราย ตามรายงานดังกล่าว อัตราดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ความรุนแรงจำนวน 335 ครั้งที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2563 ที่มีผู้เสียชีวิต 116 รายและได้รับบาดเจ็บอีก 161 ราย
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งเป็นภูมิภาคตามที่ทราบกันดี มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7,000 รายแล้วนับตั้งแต่ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเริ่มก่อความไม่สงบต่อชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ 18 ปีก่อน
กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติหรือ บีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ใหญ่ที่สุดในชายแดนภาคใต้ ได้ลดอัตราการปฏิบัติการหัวรุนแรงของตนบนพื้นฐานทางมนุษยธรรมเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 อันเนื่องจากการภาวะระบาดใหญ่ ซึ่งนำไปสู่ “การลดลงเป็นอย่างมากของความรุนแรง” การวิเคราะห์ดังกล่าวระบุ
“ใน พ.ศ. 2564 กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติยังคงดำเนินการปฏิบัติการระดับต่ำเพื่อไม่ให้สถานการณ์ของพลเมืองในภาคใต้ที่เลวร้ายอยู่แล้วรุนแรงขึ้น” ตามรายงานของการวิเคราะห์ดังกล่าว
ภายหลังการหลีกเลี่ยงการเจรจาสันติภาพร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติได้เข้าร่วมอีกครั้งโดยพยายามให้ตนได้รับการสนับสนุนจากมาเลเซีย แหล่งข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่าทั้งสองฝ่ายได้มีการพบปะกันแบบเสมือนจริงใน พ.ศ. 2564 และกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติได้ยื่นข้อเสนอการพักรบเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 การวิเคราะห์ดังกล่าวรายงาน