ความร่วมมือปัญหาหลักอินโดแปซิฟิกเรื่องเด่น

พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ใน อวกาศ

กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่พันธมิตรในอินโดแปซิฟิก

กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ

สหรัฐอเมริกา รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วน ได้สร้างเครือข่ายร่วมกันในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ไม่เหมือนใครเหนือคู่แข่งทั่วไป ในแต่ละวัน พันธมิตรด้านกลาโหมจะแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง ฝึกอบรม และทำงานร่วมกันเพื่อสร้างขีดความสามารถร่วมกันที่เหนือชั้นกว่าประเทศใด ๆ จะบรรลุได้เพียงลำพัง

ความสนใจในอวกาศทั่วโลกช่วยให้สหรัฐฯ สามารถขยายและกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศของตนได้ ในขณะเดียวกันก็เปิดลู่ทางใหม่ ๆ สำหรับการร่วมมือกัน การเข้าถึงอวกาศมีส่วนสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก เทคโนโลยีที่ใช้งานในอวกาศให้การสนับสนุนที่สำคัญต่อกิจกรรมประจำวัน แต่มักไม่เป็นที่รู้จัก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและต้นทุนที่ลดลงผลักดันให้สังคมพึ่งพาขีดความสามารถด้านอวกาศมากขึ้น และการสูญเสียสำหรับการเข้าถึงจะส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น บริการด้านตำแหน่ง การนำทาง และการจับเวลาที่ให้การสนับสนุนที่สำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย หากไม่มีการจับเวลาที่แม่นยำ สถาบันการเงินจะไม่สามารถทำการประทับเวลาสำหรับการทำธุรกรรมได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการใช้ตู้เอทีเอ็มและบัตรเครดิต บริษัทสาธารณูปโภคต่าง ๆ ก็จะไม่สามารถจัดการและแจกจ่ายทรัพยากรที่สำคัญได้ สภาพแวดล้อมทางอวกาศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเป็นการนำความท้าทายที่สำคัญมาสู่สหรัฐฯ และประชาคมนานาชาติ

ความกังวลที่มีร่วมกันเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงช่วยสร้างรากฐานสำหรับพันธมิตรและความร่วมมือที่เข้มแข็ง ความท้าทายที่สำคัญรวมถึงเศษซากในวงโคจรและการพัฒนาและส่งใช้งานของขีดความสามารถด้านการสกัดกั้นดาวเทียม สาธารณรัฐประชาชนจีนคือประเด็นหลักของความกังวล จีนสนับสนุนการใช้อวกาศโดยสันติอย่างเป็นทางการ แต่จีนยังคงแอบทดสอบและปรับปรุงระบบต่อต้านทางอวกาศ พร้อมกันนี้ยังออกกฎหมายปฏิรูปเพื่อผสานพื้นที่ไซเบอร์และสงครามอิเล็กทรอนิกส์ในอวกาศเข้ากับปฏิบัติการทางทหารร่วม

จีนได้ผสานกิจกรรมทางพลเรือนและการทหารให้สอดคล้องกันอย่างรวดเร็วเพื่อขยายการมีบทบาทในอวกาศ และโครงการอวกาศของจีนเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุดาวเทียมตกในสภาพที่ควบคุมไม่ได้ การทดสอบระบบการสกัดกั้นดาวเทียมที่ก่อให้เกิดเศษซากต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย และการทดสอบภาคสนามของยานร่อนความเร็วเหนือเสียงที่มีความสามารถในการโคจรระยะยาวและการโจมตีระยะไกล นาย ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้กล่าวในปราศรัยสำคัญที่เวทีประชุมด้านกลาโหมเรแกนเนชันแนลเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ว่า จีน “มุ่งเน้นไปที่การผสานรวมปฏิบัติการข้อมูล ไซเบอร์ และอวกาศเข้าด้วยกัน”

เจ้าหน้าที่ที่วูเมราเรนจ์คอมเพล็กซ์ของกองทัพอากาศออสเตรเลียเตรียมพร้อมสำหรับการมาถึงของตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยที่รวบรวมโดยยานสำรวจอวกาศขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

เมื่อโลกได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการทดสอบอาวุธสกัดกั้นดาวเทียมของจีนใน พ.ศ. 2550 การทดสอบอาวุธต่อต้านอวกาศอาจมีผลลัพธ์ที่เป็นหายนะ และคงอยู่ยาวนาน การทดสอบในครั้งนั้นทำให้เกิดเศษซากในวงโคจรมากกว่า 3,000 ชิ้น และกลุ่มควันจากเศษซากส่วนใหญ่นั้นคาดว่าจะยังคงอยู่ในวงโคจรเป็นเวลาหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสถานีอวกาศนานาชาติและยานอวกาศลำอื่น ๆ ภารกิจครูว-3 ของนาซา ถูกบังคับให้เคลื่อนย้ายสถานีอวกาศในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เพื่อหลีกเลี่ยงเศษซากที่เกิดจากการทดสอบอาวุธสกัดกั้นดาวเทียมของจีน

เศษซาก ซึ่งมาจากส่วนที่เหลืออยู่ของดาวเทียมพยากรณ์อากาศของจีนที่ถูกทำลายโดยขีปนาวุธ อยู่บนเส้นทางที่จะเข้าสู่เขตรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ที่มีความลึก 4 กิโลเมตร และกว้าง 48 กิโลเมตรรอบสถานีอวกาศ ตามรายงานของนาซา

ก่อน พ.ศ. 2550 เศษซากในอวกาศส่วนใหญ่ถูกปล่อยออกมาจากยานพาหนะปล่อยตัวขึ้นสู่อวกาศ ปัจจุบัน เศษซากมากกว่าหนึ่งส่วนสามเกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ อย่างการทำลายดาวเทียมที่โคจรอยู่ของจีนใน พ.ศ. 2550 ในขณะที่รัฐบาลจีนยังคงดำเนินการตามเป้าหมายในการครอบครองพื้นที่อวกาศ แต่อนาคตของขอบเขตอวกาศที่สงบสุขและเจริญรุ่งเรืองขึ้นอยู่กับการรวมตัวกันของประเทศเสรีทั่วโลกที่อุทิศตนให้กับหลักการของพฤติกรรมในอวกาศที่มีความรับผิดชอบ

เครือข่ายพันธมิตรและหุ้นส่วนที่เข้มแข็งมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพ ยับยั้งการรุกราน ตลอดจนเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งมีประชากรมากถึงร้อยละ 60 ของประชากรโลก สหรัฐฯ ยังคงสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่สำคัญกับประเทศที่มีความคิดเห็นตรงกันทั่วทั้งภูมิภาค กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ส่งเสริมความสัมพันธ์เหล่านี้ผ่านข้อตกลงการรับรู้ในขอบเขตอวกาศ การฝึกซ้อม และการแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก

กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ รักษาข้อตกลงการรับรู้ในขอบเขตอวกาศกว่า 25 ฉบับกับพันธมิตรทั่วโลก รวมถึงออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และไทย มีวัตถุหลายหมื่นชิ้นในวงโคจรที่อาจเป็นอันตรายต่อดาวเทียมและการปล่อยตัวขึ้นสู่อวกาศ ข้อตกลงการรับรู้ในขอบเขตอวกาศหมายถึงการติดตามวัตถุเหล่านั้นและคาดการณ์ตำแหน่งของวัตถุเหล่านั้นในช่วงเวลาที่กำหนด ประเทศในอินโดแปซิฟิก รวมทั้ง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วมการฝึกต่าง ๆ เช่น โกลบอลเซนทิเนล ซึ่งเน้นย้ำถึงการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นระหว่างประเทศที่เข้าร่วม

กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ยังคงแสวงหาโอกาสที่จะร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในอินโดแปซิฟิกเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบในอวกาศ พันธมิตรและหุ้นส่วนมีความสำคัญอย่างยิ่ง และกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ยังคงเสริมสร้างเครือข่ายของตนในยุคของการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 พล.ต. ดีแอนนา เบิร์ต ผู้บัญชาการกองบัญชาการกองกำลังอวกาศผสม ได้เดินทางเยือนเกาหลีใต้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ เกาหลีใต้ได้บรรลุเป้าหมายสำคัญในด้านความก้าวหน้าทางอวกาศ รวมถึงการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการทางอวกาศหน่วยแรก และการปล่อยดาวเทียมทางทหารโดยเฉพาะดวงแรกของตน “หากปราศจากความร่วมมือระหว่างประเทศและความร่วมมือที่หลอมรวมกันโดยผู้นำภายในองค์กร การดำเนินการด้านอวกาศก็คงมิอาจเกิดขึ้นได้” พล.ต. เบิร์ต กล่าว ตามรายงานจากข่าวประชาสัมพันธ์ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ฉบับที่ 7 “ความร่วมมือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความสำเร็จ”

เจ้าหน้าที่องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นและตัวแทนสื่อ เดินชมวูเมราเรนจ์คอมเพล็กซ์ของกองทัพอากาศออสเตรเลีย เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ยังเป็นเจ้าภาพต้อนรับ พล.ท. เกรกอรี บิลตัน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการร่วมของออสเตรเลียจากกองทัพบกออสเตรเลีย เพื่อยืนยันความสำคัญของความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างทั้งสองประเทศ

มีคำกล่าวอันโด่งดังของนายวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า “มีสิ่งหนึ่งที่เลวร้ายกว่าการต่อสู้กับพันธมิตร นั่นคือการต่อสู้โดยไม่มีพวกเขา” คำกล่าวนี้ยังคงเป็นจริงในปัจจุบันเหมือนเช่นใน พ.ศ. 2488 ระบบที่มีร่วมกันของพันธมิตรและหุ้นส่วนด้านความมั่นคงทำให้สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์มหาศาล การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นใหม่ได้เพิ่มขอบเขตและระดับของความท้าทายที่สหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วนเผชิญอยู่ เพื่อยับยั้งการรุกราน จะต้องมีจุดยืนด้านความมั่นคงในอวกาศที่ยืดหยุ่น และหุ้นส่วนจะต้องมีความสามารถในการตรวจจับและระบุการกระทำที่ไม่เป็นมิตรในอวกาศ

ซึ่งสิ่งนี้จะสำเร็จไม่ได้หากปราศจากการสนับสนุนอย่างแน่วแน่และความมุ่งมั่นของพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและทั่วโลก การป้องปรามในอวกาศจำเป็นต้องมีความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของการตอบสนองข้ามขอบเขตต่อการรุกราน ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการยกระดับขึ้นอย่างมากโดยพันธมิตร ด้วยพันธมิตรที่มั่นคงเหล่านี้ หุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิกจะช่วยให้เกิดอนาคตที่สงบสุขและเจริญรุ่งเรือง ซึ่งจะขยายไปไกลเกินขีดจำกัดของภูมิศาสตร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button