ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดปัญหาหลักอินโดแปซิฟิกเรื่องเด่น

ผู้ต้องสงสัยที่ไม่ธรรมดา

ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ท้าทายความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ภาวะการระบาดใหญ่ที่เข้าสู่ปีที่สามได้เปลี่ยนมุมมองของผู้ปฏิบัติงานด้านกลาโหมในอินโดแปซิฟิก ภัยคุกคามด้านความมั่นคงไม่ได้อยู่ในรูปแบบของกองกำลังศัตรู ระเบิด หรือขีปนาวุธเสมอไป ในบางครั้ง ภัยคุกคามดังกล่าวก็ไม่อาจมองเห็นได้ โดยมักจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และอาจเป็นผลมาจากผู้ไม่หวังดีที่ใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศที่ไม่เป็นระเบียบ

ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า ไม่ว่าภัยคุกคามจะมาจากแฮกเกอร์ที่ใช้ประโยชน์จากประชากรที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือองค์กรสุดโต่งหัวรุนแรงที่สรรหาเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมจากภาวะการระบาดใหญ่ แต่ภัยคุกคามรูปแบบใหม่เป็นภัยคุกคามระดับชาติและระดับภูมิภาค และต้องตอบโต้ด้วยความช่ำชองและความแน่วแน่

ผู้เขียนรายงานเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ของซีเอ็นเอ ซึ่งเป็นองค์กรด้านการวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไร ระบุว่า ผลกระทบด้านความมั่นคงที่เกิดจากภาวะการระบาดใหญ่นั้นเป็นเรื่องใหญ่และ “แทบไม่มีส่วนใดในชีวิตที่ไม่สัมผัสกับไวรัส”

“มุมมองทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับเมื่อเวลาผ่านไปจะกำหนดประสิทธิภาพของการตอบสนองทั่วโลกต่อไวรัสร้ายแรงนี้” ผู้เขียนระบุ “อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนอยู่แล้วคือ ภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้เน้นให้เห็นถึงความซับซ้อนในการปกป้องความมั่นคงของชาติของเราในขณะที่ตอบสนองต่อวิกฤตสุขภาพระดับโลก”

ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีมากมาย

เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในโลก พลเมืองอินโดแปซิฟิกเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงานของพวกเขาไปสู่ออนไลน์ในภาวะการระบาดใหญ่ ซึ่งทำให้ภูมิทัศน์ทางไซเบอร์ที่มีความเสี่ยงอยู่แล้วซับซ้อนขึ้น การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมส่วนบุคคลและธุรกิจออนไลน์ทำให้ความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในภูมิภาคนี้รุนแรงขึ้น ตามรายงานข่าวกรองด้านความเสี่ยงของนิตยสารข่าวออนไลน์เดอะดิโพลแมตเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564

“อีเมลฟิชชิงยังคงเป็นปัจจัยยอดนิยมสำหรับอาชญากรทางไซเบอร์ในการขโมยข้อมูลจากธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรประชาสังคมทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก” ตามรายงานของเดอะดิโพลแมตเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 “ธุรกิจต่าง ๆ มีการปรับกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น โดยเป็นแนวโน้มก่อนภาวะการระบาดใหญ่ ซึ่งมีตั้งแต่การแบ่งปันเอกสารไปจนถึงการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ เนื่องจากมีผู้คนเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตทั่วโลกมากขึ้นในทุก ๆ ปี ความเสี่ยงด้านการเฝ้าระวังและความเป็นส่วนตัวของบุคคลจากทั้งทางรัฐบาลและบริษัทก็เพิ่มสูงขึ้นก่อนการระบาดของโควิด-19 ด้วยเช่นกัน”

อาชญากรรมทางไซเบอร์ในช่วงของภาวะการระบาดใหญ่แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการเจาะระบบกำลังพุ่งสูงขึ้น

ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ว่าจะระดมทุนในการพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคม 5จี ในแปซิฟิกใต้เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศต่าง ๆ ผ่านบริษัทเทคโนโลยีของจีน เช่น หัวเว่ย ได้ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
  • กลุ่มแฮกเกอร์ของเกาหลีเหนือที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มลาซารัส ถูกกล่าวหาว่าทำการปล้นสกุลเงินดิจิทัลครั้งใหญ่ที่สุดใน พ.ศ. 2563 โดยโจรกรรมเงินเสมือนจริงที่มีมูลค่ากว่า 275 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท) จากแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคูคอยน์ ตามรายงานของนิตยสารฟอร์บส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
  • เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรได้กล่าวหาสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าดำเนินการเจาะระบบอีเมลของไมโครซอฟท์และการโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่อื่น ๆ ทำเนียบขาว รวมถึงรัฐบาลในยุโรปและอินโดแปซิฟิกออกแถลงการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทรวงความมั่นคงของจีนใช้ “อาชญากรแฮกเกอร์ที่ได้รับการว่าจ้าง” ในการดำเนินกิจกรรมที่ไร้เสถียรภาพทั่วโลก
  • การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดแนวโน้มอาชญากรรมทางไซเบอร์ในสิงคโปร์ โดยมีการละเมิดข้อมูลที่หน่วยงานจัดหางานและการโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ครั้งใหญ่ในคลินิกการแพทย์เฉพาะทาง ตามรายงานของเทคไวร์ เอเชีย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า ฟูลเลอร์ตัน เฮลท์ ถูกโจรกรรมและล้วงข้อมูลผ่านทางออนไลน์หลังจากผู้จำหน่ายของบริษัทให้บริการด้านสุขภาพรายหนึ่งรายงานว่ามีการละเมิดข้อมูล ผู้กระทำผิดนำข้อมูลดังกล่าวไปขายในฟอรัมการเจาะระบบ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะสเตรตส์ไทมส์ แฮกเกอร์อ้างว่าพวกเขาขโมยข้อมูลของบุคคลจำนวน 400,000 คน รวมถึงรายละเอียดกรมธรรม์ของพวกเขาด้วย
  • เจ้าหน้าที่ได้ยกระดับคำเตือนเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรัสเซียต่อธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทั่วโลก หลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ว่า “ขนาดของขีดความสามารถทางไซเบอร์ของรัสเซียนั้นค่อนข้างส่งผลกระทบ”

เพื่อรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้ ผู้นำอุตสาหกรรมอินโดแปซิฟิกจึงดำเนินการยกระดับการป้องกันทางไซเบอร์ของภูมิภาคตน นิตยสารเอ็มไอที เทคโนโลยี รีวิว อินไซต์ สำรวจผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านเทคโนโลยี 600 คนในอินโดแปซิฟิก และรายงานเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ว่า กว่าสามในสี่ขององค์กรได้ลงทุนทางดิจิทัลเพื่อปกป้องวิธีการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ ผู้ตอบแบบสอบถามหกในสิบคนระบุว่า พวกเขามีแผนการดำเนินธุรกิจร่วมกันในกรณีที่เกิดการบุกรุกทางไซเบอร์

ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์สำหรับกลุ่มหัวรุนแรง

กลุ่มวิจัยของซีเอ็นเอระบุว่า โควิด-19 ถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่โดยเป็น “คู่ต่อสู้ที่ไร้รูปร่าง มีวิวัฒนาการ และมองไม่เห็น ซึ่งแพร่กระจายโดยปราศจากความตั้งใจ การต่อรอง หรือเป้าหมาย” ในรายงานที่มีชื่อว่า “ลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่งจากไวรัส: โควิด-19 ภัยคุกคามรูปแบบใหม่และการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ” นักวิจัยของซีเอ็นเอพบว่า ภัยคุกคามแบบดั้งเดิม เช่น การก่อการร้าย สามารถเติบโตได้ในความวุ่นวายที่เกิดจากภาวะการระบาดใหญ่

“โควิดทำให้ทั่วทั้งโลกสูญเสียเสถียรภาพ” นั่นคือเรื่องจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ยาวนานซึ่งเกิดจากระลอกของสายพันธุ์ต่าง ๆ” นางพาเมล่า จี. เฟเบอร์ หนึ่งในผู้เขียนรายงาน กล่าวกับ ฟอรัม “องค์กรหัวรุนแรงสุดโต่งและกลุ่มก่อการร้ายใช้ประโยชน์จากประเด็นนี้ และพยายามขยายสภาพแวดล้อมที่ขาดเสถียรภาพและเต็มไปด้วยความวุ่นวาย แน่นอนว่าภาวะการระบาดใหญ่นี้ถือเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การอยู่รอดของกลุ่มคนเหล่านี้”

นางเฟเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการพัฒนาในภูมิภาคที่มีความขัดแย้งและหลังความขัดแย้ง กล่าวว่า โควิด-19 ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคงระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยเพิ่มความเสี่ยงที่ประชากรกลุ่มเปราะบางจะกลายเป็นพวกหัวรุนแรง “ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ได้แก่ เนื้อหาออนไลน์ที่เป็นพิษและมีความรุนแรงที่มีมากขึ้น ความรู้สึกไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ความโกรธอันเนื่องมาจากการรับรู้ถึงความล้มเหลวของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ความคับข้องใจอันเนื่องมาจากการรับรู้ถึงการตอบสนองของรัฐบาลที่กดขี่เพิ่มมากขึ้น การแยกตัวออกจากเพื่อนและความรู้สึกโดดเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนระดับความเครียดที่สูงขึ้น” นางเฟเบอร์กล่าว

ครอบครัวหนึ่งได้ขอลี้ภัยที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวในเมืองซูริเกา ประเทศฟิลิปปินส์ หลังจากเกิดพายุไต้ฝุ่นไรเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 กลุ่มกบฏติดอาวุธโจมตีกองทัพฟิลิปปินส์ที่กำลังอพยพชาวบ้านล่วงหน้าก่อนเกิดพายุร้ายแรง เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

เช่น ในภูมิภาคซาเฮลของแอฟริกา กลุ่มหัวรุนแรงได้ใช้ประโยชน์จากภาวะการระบาดใหญ่โดยได้เพิ่มการโจมตีต่อกองกำลังรักษาสันติภาพทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ตามรายงานของนิตยสารโมเดิร์นดิโพลเมซี ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 “เราเห็นถึงความพยายามของผู้ก่อการร้ายและกลุ่มอื่น ๆ ในภูมิภาคในการใช้ประโยชน์จากภาวะการระบาดใหญ่เพื่อบ่อนทำลายอำนาจรัฐและเสถียรภาพของรัฐบาล” นายฌอง-ปิแอร์ ลาครัวซ์ หัวหน้ากองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ กล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563

นางเฟเบอร์ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มรัฐอิสลามในอินโดแปซิฟิกอ้างว่าไวรัสโคโรนาเป็นบทลงโทษสำหรับจีนที่ปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์อย่างเลวร้าย อย่างไรก็ตาม เมื่อไวรัสแพร่กระจายไปแล้ว กลุ่มก่อการร้ายจึงเริ่มระบุว่าโควิด-19 เป็นบทลงโทษจากพระเจ้าต่อชาติตะวันตก นอกจากนี้ กลุ่มหัวรุนแรงบางกลุ่มยัง “ใช้ภาวะการระบาดใหญ่เพื่อสร้างความชอบธรรมในการโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ โดยระบุว่าเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนชาวเอเชีย” นางเฟเบอร์กล่าว

เนื่องจากบางรัฐและกองกำลังป้องกันประเทศต้องแบกรับภาระที่หนักเกินไปจากภาวะการระบาดใหญ่หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกจึงมองเห็นแผนการต่อสู้ท่ามกลางความขัดแย้ง “ผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมที่ผิดกฎหมายกำลังใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคกำลังมุ่งเน้นไปที่ภัยคุกคามทางสุขภาพมากกว่าความมั่นคง” นายลาครัวซ์กล่าว นาย “ลัมปี” ลัมบาคา ศาสตราจารย์ด้านการก่อการร้ายและสงครามนอกแบบในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกแห่งศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะอุเอะเพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง ระบุในรายงานเมื่อเมษายน พ.ศ. 2563 หัวข้อว่า “ไวรัสโคโรนา การก่อการร้าย และกิจกรรมผิดกฎหมายในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” แนวโน้มเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปตลอดทั้งปีใน พ.ศ. 2564

  • พลเรือนชาวฟิลิปปินส์ 3 คนถูกสังหารในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 เมื่อต้องสงสัยว่าเป็นกบฏคอมมิวนิสต์ที่โจมตีกองกำลังของรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือในการอพยพออกจากเมืองคาร์เมน จังหวัดซูรีเกาเดลซูร์ ก่อนที่จะเกิดพายุไต้ฝุ่น ตามรายงานของเอ็มเอสเอ็นดอทคอม นาย อเล็กซานเดอร์ ปิเมนเทล ผู้ว่าราชการจังหวัดซูรีเกาเดลซูร์ ร้องขอให้ฝ่ายกบฏของกองทัพประชาชนใหม่ล้มเลิกการโจมตีในระหว่างการเตรียมรับมือกับพายุ ซึ่งเป็นพายุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 400 คนและพลัดถิ่นมากกว่า 135,000 คน
  • นายลัมบาคาระบุว่า เกาหลีเหนือได้ปิดเส้นทางการข้ามพรมแดนไปยังจีนเนื่องจากภาวะการระบาดใหญ่ ซึ่งทำให้ผู้ทำอาชีพค้าขายที่สิ้นหวังในจังหวัดฮัมกยองเหนือหันไปจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อความอยู่รอดแทน แม้ว่าการค้าเมทแอมเฟตามีนในเกาหลีเหนือจะถือเป็นเรื่องปกติ แต่การผลิตในท้องถิ่นก็เพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีข่าวลือว่ายาเสพติดสามารถป้องกันหรือรักษาโรคได้ นายลัมบาคากล่าว
  • นอกจากนี้ ผู้มีบทบาทของรัฐยังสามารถใช้ประโยชน์จากภาวะการระบาดใหญ่เพื่อปิดปากผู้เห็นต่างได้อีกด้วย ในประเทศจีน นายเหริน จื่อเฉียง นักพัฒนามหาเศรษฐี ที่รู้จักกันในนาม “ปืนใหญ่” อันเนื่องมาจากความตรงไปตรงมาของเขา ได้เปรียบนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ว่าเป็น “ตัวตลก” ที่กระหายอำนาจ ผ่านโพสต์บนช่องทางออนไลน์ใน พ.ศ. 2563 นายเหรินกล่าวว่า การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของพรรคทำให้ภาวะการระบาดใหญ่นี้รุนแรงขึ้น นายเหรินหายตัวไปในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 และในเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 รัฐบาลประกาศว่าเขาถูกตัดสินจำคุก 18 ปีในข้อหาทุจริต ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส นายเหรินมีผู้ติดตาม 37 ล้านคนบนเว่ยป๋อ เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของจีน ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่าการดำเนินคดีดังกล่าวนี้ถือเป็นการตอบโต้จากพรรค “นายเหริน จื่อเฉียงไม่ใช่ผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง แต่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่ภักดีมานานหลายทศวรรษซึ่งสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง” นางหยาชิว หวัง นักวิจัยชาวจีนที่ฮิวแมนไรตส์วอตช์ กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ “พรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีความอดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ที่มีต่อพรรค แม้ว่าคำวิจารณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะปรับปรุงการปกครองของพรรคก็ตาม”

การต่อสู้กับภัยคุกคามใหม่ ๆ ในฐานะพันธมิตร

พันธมิตรในอินโดแปซิฟิกกำลังจัดการกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่นี้ตั้งแต่การต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนไมโครชิปไปจนถึงการแจกจ่ายวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ผู้นำของออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสมาชิกของการเจรจาความมั่นคงจตุภาคีหรือควอด เห็นพ้องกันที่จะสร้างห่วงโซ่อุปทานสารกึ่งตัวนำที่มีความมั่นคงเพื่อรับมือกับการขาดแคลนที่ต้องเผชิญระหว่างภาวะการระบาดใหญ่

ทำเนียบขาวระบุในแถลงการณ์ว่า “พันธมิตรควอดจะเปิดตัวโครงการริเริ่มร่วมกันเพื่อวางแผนขีดความสามารถ ระบุช่องโหว่ และเสริมความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทานสำหรับสารกึ่งตัวนำและส่วนประกอบที่สำคัญ” “โครงการริเริ่มนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าพันธมิตร
ควอดจะสนับสนุนตลาดที่มีความหลากหลายและการแข่งขันสูง ซึ่งผลิตเทคโนโลยีสำคัญที่ปลอดภัยสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลก”

ไมโครชิปคือสมองที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสมัยใหม่ทุกอย่างตั้งแต่เครื่องคิดเลขและคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงดาวเทียมที่เปิดใช้งานจีพีเอส

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกควอดยังมีบทบาทสำคัญในการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19 อีกด้วย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ควอดได้ส่งมอบวัคซีนเกือบ 79 ล้านโดสให้แก่ภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และอีก 1.2 พันล้านโดสทั่วโลก ตามรายงานของทำเนียบขาว

สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้กลับมาส่งออกวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เนื่องจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่พบในแอฟริกาใต้เริ่มก่อให้เกิดความกังวลไปทั่วโลก อินเดียได้ระงับการส่งออกวัคซีนไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 หลังจากมีผู้ป่วยในประเทศเพิ่มขึ้น “โครงการนี้จะดำเนินต่อไปเพื่อฟื้นฟูความเท่าเทียมในการจัดหาวัคซีนทั่วโลก” นายอดาร์ ปุณณวัลลา ประธานกรรมการบริหารสถาบันเซรุ่ม ระบุผ่านทวิตเตอร์

รัฐบาลญี่ปุ่นเดินหน้าให้ความช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนผ่านโครงการเงินกู้มูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท) และออสเตรเลียได้ส่งมอบเงินช่วยเหลือจำนวน 212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.76 พันล้านบาท) เพื่อซื้อวัคซีนสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ตามรายงานของทำเนียบขาว

การปกป้องการไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพันธมิตรในอินโดแปซิฟิกในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามรูปแบบใหม่เช่นกัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ว่าจะร่วมกันระดมทุนในการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสาร 5จี ในแปซิฟิกใต้ เพื่อป้องกันไม่ให้จีนเข้าควบคุมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภูมิภาคและอาจเผยแผ่ค่านิยมเผด็จการ ตามรายงานของสำนักข่าวญี่ปุ่นเกียวโดนิวส์

มีการประกาศถึงการตัดสินใจดังกล่าวไม่นานหลังจากที่ทั้งสามประเทศกล่าวว่า จะช่วยสร้างเครือข่ายเคเบิลใต้ทะเลเพื่อปรับปรุงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งได้แก่ คิริบาส ไมโครนีเซีย และนาอูรู

ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการก่อการร้าย

แม้ว่าพันธมิตรจะรวมตัวกันเพื่อเสริมการป้องกันให้แก่ความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน และการป้องกันโรคที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว นางเฟเบอร์ นักวิจัยของซีเอ็นเอ ยืนยันว่านักวางแผนด้านการป้องกันจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การขัดขวางกลุ่มหัวรุนแรงที่เติบโตท่ามกลางภัยพิบัติ “ความพยายามในการต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงต้องคำนึงถึงเหตุการณ์และแนวโน้มที่จะไปกระตุ้นพวกเขาด้วย” นาง
เฟเบอร์กล่าว “เราพบว่าในช่วงโควิด ผลกระทบของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น ภาวะการระบาดใหญ่ เป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มเหล่านี้มาก ภาวะการระบาดใหญ่เป็นเพียงหนึ่งในภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยภัยคุกคามรูปแบบใหม่ประเภทอื่น ๆ ยังรวมไปถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ สภาพอากาศที่เลวร้าย ความล้มเหลวของห่วงโซ่อุปทาน และการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งที่สำคัญคือการทำความเข้าใจว่าผลกระทบของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มีต่อกลุ่มหัวรุนแรงไม่ได้รวมอยู่ในความพยายามต่อต้านการก่อการร้ายหรือต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงในอดีต”

นางเฟเบอร์กล่าวเสริมว่า การขยายบทบาทในการป้องกันซึ่งเป็นการต่อต้านลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่งและการปลูกฝังแนวคิดหัวรุนแรง ควรเป็นศูนย์กลางของยุทธศาสตร์ในการต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะการระบาดใหญ่ เช่น ความพยายามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ “ควรตระหนักด้วยว่าประเทศพันธมิตรบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ขาดความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของประชากรที่อยู่ในภาวะวิกฤต จะมีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อผลกระทบของโควิดที่มีต่อกลุ่มหัวรุนแรง”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button