การรักษา ระเบียบที่ตั้งอยู่ บนพื้นฐานของกติกา
โครงการเสรีภาพในการเดินเรือของสหรัฐฯ ส่งเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค
น.อ. (เกษียณอายุราชการ) ราอูล เปโดรโซ จากกองทัพเรือสหรัฐฯ
ทุกประเทศได้รับประโยชน์จากอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างที่ได้รับการปกครองภายใต้ระเบียบทางทะเลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาที่กำหนดกรอบกฎหมายที่ยอมรับได้สำหรับการใช้มหาสมุทรทั้งหมดของโลก แม้ว่าระเบียบนี้จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศนี้ก็กำลังถูกโจมตีอย่างรุนแรง ประเทศอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัสเซียพยายามที่จะออกระเบียบใหม่ ซึ่งเป็นระเบียบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “อำนาจคือความถูกต้อง” ซึ่งยิ่งเป็นการขับเคลื่อนการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ โครงการเสรีภาพในการเดินเรือของสหรัฐอเมริกาคือเครื่องมือหนึ่งที่มีอยู่เพื่อต่อต้านการโจมตีเหล่านี้ต่อระเบียบระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้น ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการรักษาระบบกฎหมายที่มั่นคงสำหรับมหาสมุทรของโลกสำหรับทุกประเทศ
โครงการเสรีภาพในการเดินเรือริเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2522 หลังจากการบริหารของนายจิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในตอนนั้นได้กำหนดว่า การประท้วงทางการทูตที่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่มีประสิทธิภาพในการพลิกกลับการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่มากเกินไป และจำเป็นต้องมีการแสดงให้เห็นถึงปณิธานของสหรัฐฯ ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในการโน้มน้าวประเทศต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงสิทธิ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายใหม่หรือการสละสิทธิ์ที่มีอยู่ การนำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลมาใช้ใน พ.ศ. 2525 ถือเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ครอบคลุมและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการควบคุมการใช้มหาสมุทรที่ถ่วงดุลผลประโยชน์ของรัฐชายฝั่งและทางทะเลอย่างรอบคอบ
แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอนุสัญญาส่วนใหญ่ แต่นายโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในตอนนั้น ปฏิเสธที่จะลงนามเนื่องจากข้อบกพร่องที่ไม่สามารถป้องกันได้ในส่วนที่ 9 ด้านการทำเหมืองก้นทะเลลึก อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีเรแกนระบุในแถลงการณ์นโยบายมหาสมุทร พ.ศ. 2526 ว่าสหรัฐฯ จะตระหนักถึงสิทธิของประเทศอื่น ๆ ในน่านน้ำนอกชายฝั่งของประเทศนั้น ๆ ตามที่ปรากฏในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ตราบเท่าที่ประเทศชายฝั่งดังกล่าวตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีเรแกนยังได้ออกคำเตือนไปยังประเทศต่าง ๆ ที่แม้ว่าจะเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลก็ตาม แต่ก็ยังคงยืนกรานการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการเสรีภาพในการเดินเรือ แถลงการณ์นโยบายมหาสมุทรระบุว่าสหรัฐฯ จะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำผิดกฎหมายโดยประเทศต่าง ๆ ที่มีจุดประสงค์เพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเดินเรือของประชาคมระหว่างประเทศและสหรัฐฯ จะ “ใช้และยืนยันสิทธิ เสรีภาพ และการใช้ทะเลของตนทั่วโลก” ซึ่งสอดคล้องกับความสมดุลของผลประโยชน์ที่สะท้อนอยู่ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล
การรักษาไว้ซึ่งการเข้าถึงสำหรับทุกคน
โครงการเสรีภาพในการเดินเรือดำเนินการตามเส้นทางสามเส้นทาง นั่นคือ การสื่อสารทางการทูตโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ การหารือแบบทวิภาคีกับรัฐบาลอื่น ๆ และการยืนยันการดำเนินงานโดยเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ และอากาศยานทางทหาร นับตั้งแต่เริ่มโครงการขึ้น กองทัพเรือสหรัฐฯ และกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ดำเนินการยืนยันเชิงปฏิบัติการหลายร้อยครั้งทั่วโลกเพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่ยอมอ่อนข้อของสหรัฐฯ ต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่มากเกินไปที่มีจุดประสงค์เพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเดินเรือ รวมถึงการใช้ทะเลอย่างถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศอื่น ๆ
ตรงกันข้ามกับข้อกล่าวหาว่าโครงการเสรีภาพในการเดินเรือเป็นการยั่วยุและอาจส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ ปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือแท้จริงแล้วคือการใช้สิทธิ เสรีภาพ และการใช้น่านน้ำทะเลและน่านฟ้าอย่างชอบธรรมที่ได้รับการรับประกันต่อทุกประเทศภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือ ได้รับการวางแผนอย่างรอบคอบ ทบทวนตามกฎหมาย อนุมัติอย่างเหมาะสมจากหน่วยงานที่มีอำนาจเหนือกว่า และดำเนินการอย่างปลอดภัยและเป็นมืออาชีพในลักษณะที่ไม่เพิ่มจำนวนขึ้นมากจนเกินไป โครงการนี้มีผลทั่วโลก และไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของกิจกรรมทางการเมืองหรือตัวตนของประเทศที่ขับเคลื่อนการอ้างสิทธิ์ที่ผิดกฎหมาย เช่น ใน พ.ศ. 2563 สหรัฐฯ ท้าทายการอ้างสิทธิ์ที่มากเกินไปของ 19 ประเทศ รวมถึงศัตรู (เช่น อิหร่านและจีน) พันธมิตร และมิตร การดำเนินโครงการนี้เป็นประจำกับทุกประเทศเป็นการรักษาความถูกต้องตามกฎหมาย เจตนารมณ์ที่ไม่ยั่วยุ และแสดงให้เห็นถึงปณิธานของสหรัฐฯ ที่จะรักษาการเข้าถึงมหาสมุทรของโลกสำหรับเรือและอากาศยานของทุกประเทศ
จีนและรัสเซียยังโต้แย้งกันเป็นประจำว่าตนได้ “ขับไล่” เรือรบของสหรัฐฯ ที่ดำเนินปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือออกจากน่านน้ำที่ตนอ้างสิทธิ์ การยืนกรานที่ไม่สมเหตุสมผลดังกล่าวเป็นการโฆษณาชวนเชื่อแบบง่าย ๆ ที่มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมในประเทศของตน และเป็นการแสดงปฏิบัติการทางทะเลของสหรัฐฯ ที่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไม่ถูกต้อง ตลอดระยะเวลามากกว่า 40 ปีของโครงการเสรีภาพในการเดินเรือ ไม่มีเรือรบของสหรัฐฯ ลำใดที่ถูกขับไล่ออกจากน่านน้ำของประเทศชายฝั่ง หากถูกท้าทายจากเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศชายฝั่ง เรือรบของสหรัฐฯ จะตอบว่าตนเพียงแค่ดำเนินปฏิบัติการที่ชอบด้วยกฎหมายอันสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และจากนั้นก็ดำเนินการต่อไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้จนกว่าภารกิจจะสำเร็จ ใน พ.ศ. 2531 เรือรบของโซเวียตสองลำจงใจพุ่งเข้าชนเรือยูเอสเอสแครอนและยูเอสเอสยอร์กทาวน์ ในขณะที่พวกเขากำลังดำเนินการปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือนอกคาบสมุทรไครเมีย แม้ว่าจะมีการปะทะกันและการคุกคามซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากเรือโซเวียตจำนวนมาก แต่เรือรบสหรัฐฯ ก็ยังคงดำเนินตามเส้นทางของตนเองต่อไปจนกระทั่งพวกเขาออกจากทะเลที่เป็นดินแดนที่โซเวียตอ้างสิทธิ์หลังจากเสร็จสิ้นการเดินทางที่ใช้ระยะเวลา 75 นาที
เหตุการณ์ทะเลดำ พ.ศ. 2531 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าโครงการเสรีภาพในการเดินเรือสามารถนำมาใช้เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพในการเดินเรือได้อย่างไร โดยโครงการนี้จุดประกายให้เกิดการหารือแบบทวิภาคีระหว่างสองประเทศมหาอำนาจเกี่ยวกับแง่มุมทางกฎหมายของการเดินเรือผ่านโดยสุจริตที่ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2529 การหารือดังกล่าวนำไปสู่การลงนามในการตีความโดยสอดคล้องกันของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการเดินเรือผ่านโดยสุจริต พ.ศ. 2532 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามข้อตกลงแจ็คสันโฮล โดยโซเวียตได้ตกลงกับสหรัฐฯ ว่า “เรือทุกลำ รวมถึงเรือรบ โดยไม่คำนึงถึงสินค้าที่บรรทุก ยุทโธปกรณ์ หรือวิธีการขับเคลื่อน จะได้รับสิทธิ์ในการเดินเรือผ่านทะเลโดยสุจริตตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการแจ้งเตือนหรือการอนุญาตล่วงหน้า”
การตอบโต้ต่อ การอ้างสิทธิ์ที่มากเกินไปของจีน
คำแนะนำเชิงยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ออกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 เน้นย้ำว่า สหรัฐฯ จะขยาย “ท่าทีระดับโลกเพื่อรับรองการมีบทบาทของกองทัพเรือที่มีการผสมผสานกันที่เหมาะสมของแพลตฟอร์ม ขีดความสามารถ และสมรรถนะในการรักษาเสรีภาพของทะเล สนับสนุนกฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ยืนหยัดเคียงข้างพันธมิตรของเรา และดำเนินการต่อไปเพื่อบิน ล่องเรือ และดำเนินการในทุกที่ที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต” โครงการเสรีภาพในการเดินเรือที่แน่วแน่นี้เป็นหนึ่งในเสาหลักของท่าทีระดับโลกที่ขยายตัวไป ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบโต้การขยายตัวของการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่มากเกินไปที่จำกัดการเข้าถึงมหาสมุทรของโลก เมื่อไม่ถูกท้าทาย การอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่มีมากเกินไปเหล่านี้อาจละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และการใช้งานที่ถูกต้องตามกฎหมายในทะเลที่สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ โดยสรุปคือ โครงการเสรีภาพในการเดินเรือเน้นย้ำถึงความเต็มใจของสหรัฐฯ ในการบิน ล่องเรือ และปฏิบัติการในทุกที่ที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต และเป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นที่ไม่หวั่นไหวต่อระบบกฎหมายที่มั่นคงและตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาสำหรับมหาสมุทรของโลก
สิ่งนี้เป็นจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ ที่ซึ่งจีนเหยียดหยามกฎหมายระหว่างประเทศเป็นประจำและมีส่วนร่วมในการ กระทำที่เป็นอันตรายและยั่วยุเพื่อผลักดันการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่ผิดกฎหมายของจีน และข่มขู่ประเทศขนาดเล็กที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลของประเทศตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อ พ.ศ. 2559 ศาลระหว่างประเทศมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับจีนในการอ้างสิทธิ์ทางทะเลในทะเลจีนใต้ตามเส้นประเก้าเส้นที่ขึ้นชื่อของจีน ศาลยังพิจารณาว่า การแปรสภาพที่ดินขนาดใหญ่และการสร้างหมู่เกาะเทียมของจีนที่หมู่เกาะเจ็ดแห่งที่จีนครอบครองในหมู่เกาะสแปรตลีก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล และเป็นการละเมิดพันธกรณีของจีนในการอนุรักษ์และปกป้องระบบนิเวศที่เปราะบาง มติดังกล่าวมีผลผูกพันตามกฎหมาย แต่รัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 สหรัฐฯ ได้ดำเนินปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือมากกว่า 30 ครั้ง ซึ่งท้าท้ายการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่มากเกินไปของจีนในหมู่เกาะสแปรตลีและหมู่เกาะพาราเซล
ประชาคมนานาชาติมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ยั่งยืนในการรักษาเสรีภาพทางทะเล ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองทั่วโลก ดังนั้น สหรัฐฯ จึงสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือของตนเองและทำการต่อต้านอย่างเปิดเผยต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่มากเกินไปที่เป็นอุปสรรคต่อสิทธิและเสรีภาพในการเดินเรือ ตราบเท่าที่บางประเทศยังคงอ้างสิทธิ์และยืนกรานข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการเดินเรือที่เกินกว่าที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนด สหรัฐฯ จะยังคงแสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ในระเบียบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจำเป็นต่อการรักษาความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองทั่วโลกสำหรับทุกประเทศ