ติดอันดับอินโดแปซิฟิก

อินโดนีเซียพร้อมเปิดรับความร่วมมือด้านการป้องกันอวกาศ

กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ

หลังจากการฝึกซ้อม “ซูเปอร์การูด้าชิลด์” เมื่อต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 กองทัพอากาศอินโดนีเซียได้เชิญสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมการสัมมนาเรื่องการป้องกันอวกาศเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศในขอบเขตทางทหารใหม่ล่าสุด

พล.จ. เจสซี เอ็ม. มอร์เฮาส์ รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและนโยบายของกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินโดนีเซียที่รับผิดชอบด้านอวกาศและปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการในระหว่างการสัมมนาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่กรุงจาการ์ตาในหัวข้อ “การใช้อวกาศเพื่อความความมั่นคงของชาติ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พลังงานอากาศและอวกาศแห่งชาติอินโดนีเซีย (ภาพ: พล.จ. เจสซี เอ็ม. มอร์เฮาส์ แห่งกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ (ซ้าย) พบปะกับ พล.อ.อ. ฟาดจาร์ ประเสตโย แห่งกองทัพอากาศอินโดนีเซีย ในกรุงจาการ์ตาเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565)

สหรัฐฯ เป็นประเทศต่างชาติเดียวที่เข้าร่วมการประชุม พล.จ. มอร์เฮาส์กล่าวว่า “สหรัฐอเมริกาได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความสนใจในความร่วมมือด้านอวกาศด้วยการเข้าร่วมประชุม” การเพิ่มความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างทั้งสองประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ในการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าอินโดนีเซียมีสถานะเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลกและเป็นที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ พล.จ. มอร์เฮาส์กล่าวว่า “ภาพลักษณ์ที่ดีของสหรัฐฯ ภายในกองทัพอินโดนีเซียและความกระตือรือร้นของอินโดนีเซียต่อมีส่วนร่วมในการหารือเกี่ยวกับอวกาศกับสหรัฐฯ ทำให้เกิดประสบการณ์ในเชิงบวกอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้เป้าหมายความร่วมมือของเราก้าวหน้าขึ้นและเป็นการปูรากฐานที่มั่นคงสำหรับผลประโยชน์ที่จะสร้างต่อไปในอนาคต”

พล.จ. มอร์เฮาส์ทั้งประหลาดใจและยินดีกับการตอบรับข้อเสนอแนะของตนที่จะให้อินโดนีเซียดำเนินการตามข้อตกลงการแบ่งปันด้านการเฝ้าระวังทางอวกาศกับสหรัฐฯ โดยระบุว่า “เมื่อไม่นานมานี้ ผมพบว่ากองทัพมีความกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในเรื่องที่เกี่ยวกับอวกาศ” ผู้มีอำนาจทางทหารของอินโดนีเซียต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อตกลงด้านการเฝ้าระวังทางอวกาศกับกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ กว่า 30 ประเทศได้ลงนามในความร่วมมือเหล่านี้ เฉพาะในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 เพียงเดือนเดียว มีการลงนามถึงสามประเทศ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการวางกำลังของพลเรือนและยุทโธปกรณ์ทางการทหารในอวกาศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โครงการเฝ้าระวังทางอวกาศของกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่มากขึ้นในการสนับสนุนการวางแผนการบินในอวกาศและยกระดับความปลอดภัย เสถียรภาพ ความมั่นคง และความยั่งยืนของปฏิบัติการอวกาศ

นอกจากนี้ ผู้มีอำนาจทางทหารของอินโดนีเซียมีความสนใจอย่างมากในวิธีการทำงานของกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ในการบูรณาการโครงการริเริ่มด้านอวกาศทางการทหารและเชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการเข้าร่วม โกลบอลเซนทิเนล ซึ่งเป็นกิจกรรมด้านความมั่นคงที่สำคัญของกองบัญชาการ โดยเพิ่มขอบเขตอวกาศให้กับการฝึกซ้อม การูด้าชิลด์ ในอนาคตและหารือเกี่ยวกับแผนขยายท่าอวกาศยานของอินโดนีเซีย อินโดนีเซียได้ก่อตั้งหนึ่งในหน่วยงานอวกาศพลเรือนแห่งแรกของโลกใน พ.ศ. 2506 และตั้งเป้าหมายที่จะเป็นประเทศชั้นนำในด้านการท่องอวกาศภายในวาระครบรอบ 100 ปีของการประกาศเอกราชใน พ.ศ. 2588 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน โดยผนวกรวมโครงการอวกาศเข้ากับสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติที่มีขนาดใหญ่และมีความคล่องตัวมากขึ้น

ตามดัชนีที่สำนักงานกิจการอวกาศแห่งสหประชาชาติเก็บไว้ อินโดนีเซียมีดาวเทียมหกดวงอยู่ในวงโคจร ซึ่งทุกดวงใช้สำหรับกิจการพลเรือน โดยใช้ในด้านโทรคมนาคมเป็นส่วนใหญ่ อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากร 277 ล้านคนกระจายอยู่ทั่ว 6,000 เกาะ กำลังมุ่งเน้นความพยายามในด้านอวกาศเพื่อนำระบบโทรคมนาคมและการเชื่อมต่อข้อมูลมาสู่ประชาชนมากขึ้น มีการวางแผนที่จะปล่อยดาวเทียมโทรคมนาคมสองดวงใน พ.ศ. 2566 และ พ.ศ. 2567 โดยหนึ่งในนั้นเป็นการชดเชยการสูญเสียดาวเทียมใน พ.ศ. 2563 เนื่องจากความล้มเหลวในการปล่อยดาวเทียมของจีน ในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า อินโดนีเซียยังวางแผนที่จะปล่อยดาวเทียมที่ใช้งานแบบควบคู่ทั้งกิจการพลเรือนและทางทหารขึ้นสู่วงโคจรเพื่อตรวจจับระยะไกล และทำภารกิจข่าวกรอง การตรวจตรา ตลอดจนการลาดตระเวน

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน อินโดแอโรสเปซเอ็กซ์โปแอนด์ฟอรัม ประจำภูมิภาค ซึ่งถือเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่สหรัฐฯ จะได้สร้างความร่วมมือด้านอวกาศ การมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในอนาคตของกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ กับอินโดนีเซีย สามารถสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งและหลากหลายด้าน ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์สูงสุดของทั้งสหรัฐฯ และอินโดนีเซีย พล.จ. มอร์เฮาส์กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับอวกาศของอินโดนีเซียสอดคล้องกับโอกาสประเภทต่าง ๆ ที่เราต้องการสำรวจเป็นอย่างยิ่ง”

 

ภาพจาก: กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button