ติดอันดับอินโดแปซิฟิก

ที่ปรึกษากฎหมายอินโดแปซิฟิกสร้างความสัมพันธ์และสร้างฉันทามติ เพื่อส่งเสริมระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ และนักวิชาการจากประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนกว่า 20 ประเทศ ได้มาประชุมกันที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 เพื่อหารือเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและปฏิบัติการทางทหารในอินโดแปซิฟิก

สำนักงานอัยการทหารของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกฎหมายและปฏิบัติการทางทหารประจำปีครั้งที่ 33 กิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นเวลาห้าวันโดยเน้นหัวข้อ “เสริมสร้างความเป็นพันธมิตรทางกฎหมายเพื่อดำรงหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง”

ประเทศที่เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ออสเตรเลีย บังกลาเทศ แคนาดา สหพันธรัฐไมโครนีเซีย ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย มัลดีฟส์ มองโกเลีย เนปาล ปาปัวนิวกินี ปาเลา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา ไทย เวียดนาม สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ นอกจากนี้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศยังได้ส่งผู้แทนมาเข้าร่วมด้วย

หลังจากว่างเว้นไปสองปีเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การประชุมกฎหมายและปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ถือเป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์และสร้างฉันทามติเกี่ยวกับบรรทัดฐานต่าง ๆ ที่ส่งเสริมระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและระบอบเผด็จการอื่น ๆ พยายามที่จะบั่นทอนหลักการพื้นฐานต่าง ๆ เช่น เสรีภาพในทะเล การประชุมกฎหมายและปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศในการรักษาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

พล.ร.อ. จอห์น ซี. อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของปัญหาและความสำคัญของเครือข่ายนักกฎหมายที่มีอุดมการณ์เดียวกัน พล.ร.อ. อาควิลิโนกล่าวว่า “ความมุ่งมั่นของพวกคุณที่มีต่อกันและกันและความมุ่งมั่นที่จะทำให้หลักนิติธรรมเจริญก้าวหน้าในภูมิภาคนี้มีความสำคัญยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ” ตามรายงานข่าวประชาสัมพันธ์ของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก “การเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของพวกเราและการสร้างฉันทามติเกี่ยวกับองค์ประกอบที่สำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และผมรู้สึกปลื้มปิติที่พวกคุณมารวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์นี้”

หัวข้อต่าง ๆ ในการประชุม ได้แก่ การสนับสนุนเสรีภาพและสิทธิในการเดินเรือในทะเลลึก การต่อต้านการเรียกร้องสิทธิทางทะเลที่มากเกินไป การร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม และขาดการรายงาน การกำหนดเขตอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง การเปิดโปงผู้กระทำการในพื้นที่สีเทาที่เป็นอันตราย การส่งเสริมความร่วมมือด้านข้อมูล ไซเบอร์ และอวกาศ การยกระดับข้อตกลงระหว่างประเทศ การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการคัดค้านการใช้ “นิติสงคราม” (ภาพ: จากซ้าย: นางเออร์เนสทีน เรนกิอิล อัยการสูงสุดแห่งปาเลา, นางซาคาเรีย นูรุล อาชิคิน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันการเดินเรือแห่งมาเลเซีย และ น.ท. ทามารา วอลเลน แห่งกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับการประมงที่ผิดกฎหมายในระหว่างการประชุมกฎหมายและปฏิบัติการทางทหารประจำปีครั้งที่ 33 เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ที่ประเทศไทย)

พ.อ. มาซาอากิ อาเบะ จากกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ได้สนับสนุนอุดมคติที่ยึดถือกันโดยทั่วไปในการนำเสนอของตนเองเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของญี่ปุ่นที่มีต่ออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

“ภายใต้หลักนิติธรรม เรามุ่งหวังที่จะสร้างอินโดแปซิฟิกที่เปิดกว้างโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบระหว่างประเทศ และเพื่อให้แน่ใจว่าภูมิภาคนี้มีความมั่นคงทางทะเล เราจำเป็นต้องร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคและสร้างระเบียบทางทะเลภายใต้กฎหมายและกติกา” พ.อ. อาเบะอธิบาย

“เพื่อนำเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ทุกประเทศ ตลอดจนสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้กับทั้งภูมิภาคนี้ ญี่ปุ่นพร้อมจะร่วมมือกับทุกประเทศ” พ.อ. อาเบะกล่าว พ.อ. อาเบะระบุว่ากระทรวงกลาโหมและกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นร่วมมือกับออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ รวมทั้งอีกหลายประเทศ “ซึ่งล้วนมีวิสัยทัศน์ร่วมกันคืออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และต่างมีความเชื่อมโยงกับภูมิภาคนี้”

การอภิปรายเกี่ยวกับนิติสงครามและการต่อต้านนิติสงครามมีความสำคัญเป็นพิเศษต่อผู้ฟัง ซึ่งมีทั้งที่ปรึกษากฎหมายในเครื่องแบบและพลเรือนระดับสูง สหรัฐฯ รวมถึงประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนเน้นย้ำการเคารพกฎระเบียบและบรรทัดฐานระหว่างประเทศเมื่อดำเนินปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วอินโดแปซิฟิก

“คำว่า “นิติสงคราม” มักเกี่ยวข้องกับรัฐที่ไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันระหว่างประเทศของตนเองโดยสุจริต และพยายามแสวงหาประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อบ่อนทำลายระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา” น.ท. ทิม บอยล์ อัยการทหารกองทัพเรือและหัวหน้าฝ่ายกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติประจำกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก อธิบาย “ในทางตรงกันข้าม ยุทธศาสตร์ต่อต้านนิติสงครามที่แข็งแกร่งจะต้องใช้ประโยชน์จากความชอบธรรมของกฎหมายและสถาบันที่มีอยู่เดิม ตัวกฎหมายเองจะเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดต่อความพยายามกระทำการฉ้อฉลในนิติสงคราม และยังช่วยเพิ่มเสรีภาพในการดำเนินการและสร้างรากฐานสำหรับพันธมิตรและความร่วมมือที่แข็งแกร่ง” (ภาพล่าง จากซ้าย: นายอันเดรส มุนอซ มอสเกรา ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโสของนาโต, น.ท. ทิม บอยล์ จากกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก และ ดร. จิล โกลเดนเซียล จากมหาวิทยาลัยกลาโหมแห่งชาติ เข้าร่วมในการประชุมกฎหมายและปฏิบัติการทางทหาร)

ในบรรดาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ได้จากการประชุมกฎหมายและปฏิบัติการทางทหาร ที่ปรึกษากฎหมายยอมรับถึงความจำเป็นที่ต้องมีการประสานงานเพื่อร่วมกันตอบโต้ต่อการละเมิดกฎหมายที่ซับซ้อนจากนิติสงคราม ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในหมู่ที่ปรึกษากฎหมายจะช่วยให้ประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันสามารถบรรลุฉันทามติในประเด็นสำคัญ ๆ ยกระดับการทำงานร่วมกันและความพร้อม ในขณะเดียวกันก็ยับยั้งความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพ

“ประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่หารือกันในการประชุมกฎหมายและปฏิบัติการทางทหารนับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือความสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่เราได้สร้างขึ้น” น.อ. ดอม แฟล็ตต์ อัยการทหารกองทัพเรือและอัยการทหารจากศูนย์บัญชาการของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก กล่าว “แต่ตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่แท้จริงก็คือกิจกรรมที่เราจะดำเนินการต่อไปในอนาคต เรามุ่งมั่นที่จะยกระดับการสร้างฉันทามติในประเด็นทางกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาค เพื่อส่งเสริมระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา ตลอดจนยับยั้งและตอบโต้กิจกรรมใด ๆ ที่จะบ่อนทำลายระเบียบนี้”

 

ภาพจาก: จ.อ. เจมส์ ดาวน์ส/กองทัพเรือสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button