ความร่วมมือติดอันดับปัญหาหลักระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การฝึกซ้อมทางทหารการูด้าชิลด์ประจำปีในอินโดนีเซียครั้งใหญ่ที่สุด

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การฝึกการูด้าชิลด์ครั้งที่ 16 ซึ่งมีเหล่าทัพต่าง ๆ จากอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเข้าร่วม มีขอบเขตและขนาดที่ใหญ่ขึ้นกว่าการฝึกซ้อมทางทหารประจำปี 15 ครั้งก่อน ซึ่งออกแบบมาเพื่อยกระดับความร่วมมือและการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ทหารจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมระยะ 2 สัปดาห์ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ในพื้นที่ฝึกบาตูราจาของอินโดนีเซียในอัมโบราวัง และพื้นที่ฝึกของเกาะบาตัม ตัวแทนจากแคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี เกาหลีใต้ ติมอร์-เลสเต และสหราชอาณาจักร คอยเฝ้าสังเกตการณ์การดำเนินการฝึกดังกล่าว

โดยมีหลายประเทศเข้าร่วมหรือร่วมสังเกตการณ์เป็นครั้งแรก การฝึกประจำ พ.ศ. 2565 ที่ได้รับการขนานนามว่า การฝึกซูเปอร์การูด้าชิลด์ เกิดขึ้นขณะที่หุ้นส่วนและพันธมิตรของอินโดแปซิฟิกต้องเผชิญกับการยั่วยุที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน

พล.ต. สตีเฟน จี สมิธ ผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นดินของกองทัพบกสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธข้อโต้แย้งว่าการฝึกซ้อมชุดดังกล่าวเป็นการตอบสนองต่อความตึงเครียดในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น ตามรายงานของรอยเตอร์ “การฝึกซ้อมครั้งนี้ไม่ใช่การคุกคามหรือไม่ควรถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อใครไม่ว่าที่ใดก็ตาม” พล.ต. สตีเฟนกล่าว

การฝึกการูด้าชิลด์ประกอบด้วยบุคลากรของกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซียประมาณ 2,000 นายและเจ้าหน้าที่ทหารของกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกอีก 2,000 นาย พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมและผู้สังเกตการณ์ของประเทศพันธมิตร นาวิกโยธิน กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองทัพบก กองกำลังรักษาชายฝั่ง และหน่วยปฏิบัติการพิเศษของอินโดนีเซียเข้าร่วมการฝึกซ้อมดังกล่าว พร้อมด้วยนาวิกโยธิน กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองทัพบก และหน่วยบัญชาการปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ (ภาพ: ทหารอินโดนีเซียดำเนินการฝึกซ้อมโรยตัวในระหว่างการฝึกซูเปอร์การูด้าชิลด์ เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565)

การูด้าชิลด์แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐฯ ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อินโดนีเซียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งประชากรส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนเป็นผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายสัตยา ประตามา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอินโดนีเซียและนักวิเคราะห์ด้านการป้องกันทางทะเล กล่าวว่า ขนาดที่ใหญ่ขึ้นและการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของการฝึกซ้อมใน พ.ศ. 2565 ถือเป็น “การตัดสินใจที่ไตร่ตรองแล้ว” ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ตามรายงานของเรดิโอฟรีเอเชีย “ประเด็นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอินโดนีเซียสามารถร่วมมือกับใครก็ตามที่ต้องการ” นายปราตามากล่าวกับสำนักข่าว

“ผมภูมิใจที่ได้เห็นการูด้าชิลด์เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา” พล.อ. ชาร์ลส์ ฟลินน์ ผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกกล่าว ตามรายงานข่าวของสถานทูตและสถานกงสุลสหรัฐฯ ในอินโดนีเซีย “ด้วยการรวมกองกำลังเข้าด้วยกันเช่นนี้ เราจะเรียงร้อยความมั่นคงระดับภูมิภาคเป็นปึกแผ่นให้อยู่ยั้งยืนยง”

การแลกเปลี่ยนกำหนดขึ้นมาเพื่อยกระดับความร่วมมือและการทำงานร่วมกัน เสริมสร้างการตอบสนองและประสิทธิผลทางทหาร ตลอดจนส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีและโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน

การฝึกการูด้าชิลด์ประจำ พ.ศ. 2565 ประกอบด้วยการฝึกปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก ความมั่นคงทางทะเล ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ตลอดจนการต่อต้านการก่อการร้าย หน่วยที่เข้าร่วมได้วิเคราะห์ปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่เมือง และดำเนินการฝึกซ้อมการป้องกันทางอากาศ ปฏิบัติการทางอากาศ รวมทั้งการฝึกซ้อมการเข้าจับกุมในพื้นที่ลานบิน โครงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและพลเมืองมุ่งเน้นด้านการให้การดูแลสุขภาพ และกองกำลังได้ร่วมกันปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่จังหวัด

การฝึกปัญหาที่บังคับการช่วยให้กองกำลังอินโดนีเซียและสหรัฐฯ วางแผนและสื่อสารร่วมกันในสถานการณ์ปฏิบัติการจำลอง การแข่งขันกีฬาสร้างความสัมพันธ์อันดีในหมู่เจ้าหน้าที่ทหารผู้รับใช้ชาติ

การฝึกการูด้าชิลด์เป็นหนึ่งในการฝึกระดับทวิภาคีและพหุภาคีที่จัดขึ้นเป็นประจำ เพื่อสนับสนุนแนวคิดอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง การฝึกซ้อมอื่น ๆ ได้แก่ บาลิกาตัน, คีนเอดจ์, ลา เปอรูส, มาลาบาร์ และทาลิสมันเซเบอร์ การฝึกริมออฟแปซิฟิก หรือ ริมแพค เป็นการฝึกซ้อมทางทะเลระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสิ้นสุดการฝึกซ้อมในช่วงต้นเดือนสิงหาคมและมีกองทัพเรือจาก 26 ประเทศเข้าร่วม

การฝึกซ้อมดังกล่าวมีเป้าหมายเดียวกัน กล่าวคือ เพิ่มพูนความคุ้นเคย ความไว้วางใจ และความร่วมมือ เพื่อให้กองกำลังทหารจากประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติการร่วมกันได้อย่างราบรื่น

การูด้าชิลด์จัดขึ้นหลังการฝึกการูด้าแคนติธรรมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 ที่ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อรักษาสันติภาพอินโดนีเซียในเซนตุลทางใต้ของจาการ์ตา การฝึกอบรมภาคสนามเพื่อรักษาสันติภาพข้ามชาติเป็นเวลาสองสัปดาห์ดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมเป็นบุคลากรทหารอินโดนีเซียประมาณ 420 นาย และสหรัฐฯ 70 นายพร้อมด้วยผู้รักษาสันติภาพและผู้ฝึกอบรมประมาณ 350 คนจาก 22 ประเทศ

ภาพจาก: ร.อ. ไคล์ อับราฮัม/กองทัพบกสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button