เรื่องเด่น

แนวทาง แบบองค์รวม

“การป้องปรามแบบบูรณาการ” กุญแจสู่สันติภาพในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

เกาหลีเหนือละเมิดข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติโดยการทดสอบขีปนาวุธ 7 ครั้งภายในเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือน เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 รัฐบาลเกาหลีเหนือเริ่มต้นเดือนแห่งการทดสอบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วยการยิงขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง และตามมาด้วยการยิงขีปนาวุธจำนวนมากลงสู่ทะเลญี่ปุ่น

โครงการการป้องปรามโดยกำเนิดของเกาหลีเหนือประกอบกับการเพิ่มกำลังทหารอย่างต่อเนื่องของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ส่งผลให้สหรัฐฯ และพันธมิตรจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการป้องปรามเป็นสองเท่า ในยุคของอาวุธความเร็วเหนือเสียงที่สามารถเดินทางได้ด้วยความเร็วห้าเท่าของเสียงและขีปนาวุธพิสัยไกลที่สามารถเปลี่ยนวิถีได้ ภัยคุกคามในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องมีสิ่งที่นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เรียกว่า “การป้องปรามแบบบูรณาการ” ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาความปลอดภัยที่ปรับให้เข้ากับภูมิทัศน์ของภูมิภาค โดยอาศัยความร่วมมือของพันธมิตรและมิตรสหายต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกัน

“รากฐานสำคัญของการป้องกันประเทศของอเมริกายังคงเป็นการป้องปราม ซึ่งช่วยให้มั่นใจว่าศัตรูของเราเข้าใจถึงความโง่เขลาของการจงใจสร้างข้อขัดแย้ง” นายออสตินกล่าวในพิธีส่งมอบหน้าที่ผู้บัญชาการ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ที่กองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกในฮาวาย “ตลอดประวัติศาสตร์ของอเมริกา การป้องปรามหมายถึงการแก้ไขความจริงขั้นพื้นฐานภายในจิตใจของผู้ที่อาจเป็นศัตรูของเรา และความจริงที่ว่าก็คือความเสียหายและความเสี่ยงของการรุกรานนั้นไม่คุ้มกับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ”

ในอนาคต ปรัชญาของการป้องปรามจะต้องได้รับการบูรณาการขนานใหญ่ทั่วทุกหน่วยงานและขอบเขต ตลอดจนร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วน” นายออสตินกล่าว ไม่มีที่ใดที่ปรัชญาของการป้องปรามแบบบูรณาการจะเด่นชัดไปกว่าในอินโดแปซิฟิก ซึ่งสหรัฐฯ และพันธมิตรกำลังทำงานร่วมกันในทุกด้าน ตั้งแต่ดาวเทียมขนาดเล็กไปจนถึงเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามศัตรูที่อาจเกิดขึ้น

สหรัฐอเมริกาทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อป้องปรามศัตรูที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการฝึกซ้อม ริม ออฟ เดอะ แปซิฟิก ซึ่งจัดขึ้นนอกชายฝั่งฮาวายใน พ.ศ. 2563 ผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อมประกอบด้วยออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ จ.ท. เจนนา โด/กองทัพเรือสหรัฐฯ

การป้องกันขีปนาวุธแบบบูรณาการ

ขีปนาวุธภาคพื้นดินสู่อากาศ แพทริออท พุ่งทะลุท้องฟ้าเหนือควีนส์ แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในออสเตรเลียและเป็นสัญญาณถึงประเภทของการป้องปรามที่สหรัฐฯ พยายามทำให้สำเร็จ ทหารสหรัฐฯ จากกองพลน้อยในหน่วยปืนใหญ่ป้องกันภัยทางอากาศที่ 38 ของกองบัญชาการป้องกันทางอากาศและขีปนาวุธที่ 94 ทำลายอากาศยานไร้คนขับ 2 ลำ ด้วยขีปนาวุธแพทริออท ขณะปฏิบัติการร่วมกับบุคลากรของกองทัพออสเตรเลียในการฝึกซ้อมทาลิส มัน เซเบอร์ 21 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 17,000 คน จาก 7 ประเทศ

ขีปนาวุธภาคพื้นดินสู่อากาศ แพทริออท พุ่งทะลุท้องฟ้าเหนือควีนส์ แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในออสเตรเลียและเป็นสัญญาณถึงประเภทของการป้องปรามที่สหรัฐฯ พยายามทำให้สำเร็จ ทหารสหรัฐฯ จากกองพลน้อยในหน่วยปืนใหญ่ป้องกันภัยทางอากาศที่ 38 ของกองบัญชาการป้องกันทางอากาศและขีปนาวุธที่ 94 ทำลายอากาศยานไร้คนขับ 2 ลำ ด้วยขีปนาวุธแพทริออท ขณะปฏิบัติการร่วมกับบุคลากรของกองทัพออสเตรเลียในการฝึกซ้อมทาลิส มัน เซเบอร์ 21 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 17,000 คน จาก 7 ประเทศ

นอกเหนือจากการแสดงให้เห็นว่ากองทัพสหรัฐฯ สามารถเคลื่อนพลได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าที่ใดในภูมิภาคแล้ว การฝึกซ้อมนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการทางเทคโนโลยีที่เหล่าพันธมิตรเชื่อว่าเป็นกุญแจสำคัญในการทำสงครามในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย “เราประสบความสำเร็จในการแสดงให้เห็นว่าเราสามารถปฏิบัติการด้วยระบบอาวุธของออสเตรเลียควบคู่ไปกับประสานงานด้านการสื่อสารและโจมตีเป้าหมายบนน่านฟ้าได้” ร.อ. ฟิลลิป ลี แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ผู้บัญชาการของกองปืนใหญ่อัลฟ่า กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์

ดร. บรูซ ดับเบิลยู. เบนเน็ตต์ นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมของบริษัทแรนด์คอร์ปอเรชัน กล่าวกับ ฟอรัม ว่า การฝึกซ้อมทางทหารดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ และหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเป็นการฝึกฝนความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและเสริมสร้างความสำคัญใน “การส่งสัญญาณ” ให้แก่ผู้ที่อาจเป็นศัตรู “โดยเฉพาะเกาหลีเหนือ ซึ่งต้องการเห็นความแตกหักระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐฯ ที่เป็นพันธมิตรกัน” ดร. เบนเน็ตต์กล่าว “นั่นเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของเกาหลีเหนือ กล่าวคือ เพื่อทำลายความเป็นพันธมิตรของเรา หากทำได้ และเกาหลีเหนือกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อการนั้น นอกจากนี้ จีนคงจะรู้สึกยินดีหากได้เห็นความเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคแห่งนี้ย่อยยับลงไปเช่นกัน จีนพยายามเสริมสร้างอำนาจต่อรองหรืออำนาจเหนือประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดในที่สุด”

สหรัฐฯ กำลังเสนอทางเลือกด้านความร่วมมือมากกว่าการปราบปราม ด้วยการแบ่งปันเทคโนโลยีกับหุ้นส่วนระดับภูมิภาค ดร.เบนเน็ตต์กล่าว อีกทั้งเสริมว่า “สหรัฐฯ ไม่ได้พยายามครอบงำพันธมิตรเหล่านั้น” “แต่กลับมอบเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดให้แก่พันธมิตรในหลาย ๆ กรณี สหรัฐฯ เพียงแค่พยายามแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในโลกที่จีนต้องการครอบงำ รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพยายามรักษาความสามารถในการเป็นทางเลือกทดแทนการครอบงำของจีน ตลอดจนรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในภูมิภาคโดยไม่ต้องพยายามเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมของสหรัฐฯ เป็นสองเท่า”

ยูเอสเอส คีย์ เวสต์ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เป็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จู่โจมเร็ว สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรจะแบ่งปันเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยนิวเคลียร์กับออสเตรเลียในความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ จ.อ. เจฟฟรีย์ เจย์ ไพร์ซ/กองทัพเรือสหรัฐฯ

แข็งแกร่งขึ้น ผ่านการบูรณาการ

อย่างไรก็ตาม การป้องปรามแบบบูรณาการไม่ใช่เพียงแค่การส่งสัญญาณเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง ดร. เบนเน็ตต์เสนอตัวอย่างสมมุติฐานของเกาหลีเหนือในการยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง โนดง 1 ลูกไปยังเกาหลีใต้ “หากคุณมีเรดาร์สำหรับยานพาหนะยิงสกัดกั้น แพทริออท ที่ตรวจหาขีปนาวุธที่พุ่งเข้ามา เรดาร์จะเล็งไปที่เครื่องยิงขีปนาวุธ” ดร. เบนเน็ตต์กล่าว “ดังนั้นจึงค่อนข้างยากที่จะระบุวิถีที่แน่นอนและข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่หากเรดาร์ดังกล่าวได้รับการควบคุมจากเรดาร์ที่ติดตั้งในญี่ปุ่นโดยพิจารณาวิถีจากด้านข้าง การระบุอย่างแน่ชัดถึงลักษณะการเคลื่อนที่หรือวิถีจะสามารถทำได้ง่ายขึ้นมาก เนื่องจากคุณจะเห็นทั้งมุมมอง ‘จากบนลงล่าง’ และ ‘จากด้านข้าง’ และนั่นช่วยให้ง่ายต่อการสกัดกั้นอย่างมีประสิทธิภาพ”

หากใช้เรดาร์ร่วมกัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ จะได้ผลรับประโยชน์ในการแบ่งสรรค่าใช้จ่ายอีกด้วย ดร. เบนเน็ตต์กล่าว

พรมแดนแบบบูรณาการใหม่

ขณะกล่าวถึงเรื่องการป้องปรามแบบบูรณาการ นายออสตินชี้ให้เห็นว่าการบูรณาการจำเป็นต้องเกิดขึ้นในหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วน ตลอดจนนอกเหนือไปจากขอบเขตเดิม ๆ ในทางอากาศ ทางบก และทางทะเล อวกาศและพื้นที่ไซเบอร์เป็นที่ซึ่งความขัดแย้งในศตวรรษที่ 21 อาจเริ่มต้นขึ้น และความร่วมมือในขอบเขตดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญในการตรวจจับและป้องปรามการโจมตี

เพื่อการนั้น ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จึงวางแผนที่จะร่วมมือกันในการติดตั้งเครือข่ายดาวเทียมขนาดเล็กในวงโคจรระยะต่ำของโลกเพื่อตรวจจับและติดตามขีปนาวุธยุคใหม่ ตามรายงานของเว็บไซต์นิก เคอิเอเชีย เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 โครงการมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.02 แสนล้านบาท) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงกลางทศวรรษ 2020 (พ.ศ. 2563 – 2572) บทความดังกล่าวสรุปว่า ลักษณะที่พัฒนาขึ้นของภัยคุกคามจากขีปนาวุธในภูมิภาคนี้จำเป็นต้องใช้เซ็นเซอร์ทางอวกาศมากขึ้น นิกเคอิรายงานว่า จีนมีขีปนาวุธพิสัยกลางประมาณ 2,000 ลูกที่สามารถโจมตีญี่ปุ่นได้และหัวรบนิวเคลียร์อีกหลายร้อยหัว เกาหลีเหนือมีขีปนาวุธพิสัยกลางหลายร้อยลูก และยังคงดำเนินภารกิจในการย่อขนาดหัวรบนิวเคลียร์ ขีปนาวุธเหล่านี้เคลื่อนที่ในวิถีคล้ายเส้นโค้ง ซึ่งทำให้ง่ายต่อการติดตามและสกัดกั้นด้วยดาวเทียมและระบบเรดาร์ที่ดำเนินการโดยญี่ปุ่นและสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือ สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซียกำลังพัฒนาอาวุธที่ออกแบบมาเพื่อหลบเลี่ยงการป้องกันเหล่านี้ จีนและรัสเซียกำลังทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือเสียงถึง 5 เท่าที่พิกัดตำแหน่งต่ำ ขณะที่เกาหลีเหนือกำลังทดลองขีปนาวุธพิสัยไกลที่สามารถเปลี่ยนวิถีได้

ขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือยิงสู่ทะเลญี่ปุ่นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 เคลื่อนที่ในพิกัดตำแหน่งต่ำและมีวิถีที่ไม่ปกติ ซึ่งทำให้ยากต่อการสกัดกั้น ตามรายงานของสำนักข่าวจิจิ เพรส เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นรายหนึ่งกล่าวว่า “เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าขีปนาวุธดังกล่าวออกแบบมาเพื่อหลบหลีกระบบป้องกันขีปนาวุธของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา” ตามรายงานข่าว

เครือข่ายดาวเทียมปัจจุบันของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ประจำการอยู่ที่ระดับความสูง 36,000 กิโลเมตร ตามรายงานของนิกเคอิ เพื่อแก้ไขช่องโหว่นี้ สหรัฐฯ มีแผนจะปล่อยดาวเทียมที่ระดับความสูงระหว่าง 300 และ 1,000 กิโลเมตร แผนดังกล่าวมีไว้สำหรับดาวเทียมสังเกตการณ์ขนาดเล็ก 1,000 ดวง โดยมี 200 ดวงติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อนแบบอินฟราเรด ซึ่งออกแบบมาสำหรับการป้องกันขีปนาวุธ

ดาวเทียมญี่ปุ่นประจำการอยู่นอกสถานีอวกาศนานาชาติ ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาวางแผนที่จะร่วมมือกันผลิตกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กที่สามารถตรวจจับการโจมตีด้วยขีปนาวุธได้ นาซา

สนธิสัญญาในหลากหลายมิติครั้งประวัติศาสตร์

ในอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ว่าจะช่วยจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือด้านความมั่นคงไตรภาคี ความร่วมมือนี้ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ อูกัส จะสร้างช่องทางของการแบ่งปันข้อมูลและส่งเสริมความพยายามร่วมกันในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม และขีดความสามารถใต้ทะเล ตามรายงานของเว็บไซต์ข่าวแอ็กซิออส

ทีมงานจากทั้งสามประเทศจะทำงานเป็นเวลา 18 เดือนเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการส่งมอบเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลีย โดยก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้แบ่งปันเทคโนโลยีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของตนให้แก่สหราชอาณาจักรเท่านั้น

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่าสนธิสัญญาดังกล่าวมีความจำเป็นเชิงยุทธศาสตร์ “ประเทศและกองทัพที่กล้าหาญของเราได้ยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่กันมายาวนานกว่า 100 ปี ผ่านสงครามสนามเพลาะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1, สงครามยึดเกาะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2, ช่วงฤดูหนาวอันหนาวเหน็บของเกาหลี และอากาศร้อนระอุในอ่าวเปอร์เซีย” ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวในการแถลงข่าวเสมือนจริง พร้อมด้วยนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และนายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย “วันนี้ เราได้ก้าวไปอีกขั้นแห่งประวัติศาสตร์เพื่อกระชับและดำเนินความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างทั้งสามประเทศ เนื่องจากเราตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในระยะยาว” นายไบเดนกล่าว

ในการบรรยายสรุปของผู้สื่อข่าว เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ กล่าวว่าการแบ่งปันเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยนิวเคลียร์จะช่วยให้ออสเตรเลียสามารถใช้งานเรือดำน้ำเคลื่อนที่เงียบที่ได้รับการปรับปรุงความสามารถในระยะเวลานานขึ้นได้ ออสเตรเลียไม่ได้แสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ เจ้าหน้าที่กล่าว

ดร. เบนเน็ตต์อธิบายว่า ลักษณะทางภูมิศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ เรือดำน้ำพลังงานดีเซลปล่อยไอเสียที่เป็นพิษซึ่งจำเป็นต้องระบายออกจากเรือเป็นระยะ ดังนั้น เรือดำน้ำดีเซลจึงต้อง “ดำน้ำตื้น” หรือแล่นบนผิวน้ำเพื่อปล่อยไอเสีย “หากญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้มีเรือดำน้ำพลังงานดีเซล เรือดำน้ำเหล่านี้จะสามารถเดินทางไปยังเกาะมากมายภายในน่านน้ำของประเทศ และดำน้ำตื้นหรือแล่นบนผิวน้ำ จากนั้นสามารถดำลงไปใต้น้ำและซ่อนตัวอยู่ได้” ดร. เบนเน็ตต์กล่าว “แต่หากเรือดำน้ำจากออสเตรเลียพยายามเดินทางไปยังญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ เรือดำน้ำดังกล่าวจะต้องแล่นผ่านหน้าชายฝั่งตะวันออกของจีนเป็นระยะทางยาวมาก และเมื่อเทคโนโลยีการเฝ้าระวังของจีนพัฒนาขึ้น จีนก็สามารถตรวจจับและสกัดกั้นเรือดำน้ำเหล่านี้ได้ ปัจจุบัน อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ในช่วง 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรือดำน้ำนิวเคลียร์สำหรับออสเตรเลียจะพร้อมใช้งาน นี่อาจจะเป็นเรื่องใหญ่มาก”

จากเทคโนโลยีขีปนาวุธไปจนถึงการขับเคลื่อนด้วยนิวเคลียร์ สหรัฐฯ กำลังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของตนที่มีต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง แนวทางการป้องปรามแบบบูรณาการไม่เพียงแต่ต้องอาศัยการแบ่งปันเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข่าวกรองและการแบ่งปันข้อมูลด้วย เจ้าหน้าที่กลาโหมกล่าวว่าอาจต้องใช้ความพยายามทางเศรษฐกิจและการทูตในบางกรณีอีกด้วย นายโคลิน คาห์ล ปลัดกระทรวงกลาโหมเพื่อนโยบายของสหรัฐฯ กล่าวกับพันธมิตรในระหว่างการประชุม ณ กระทรวงกลาโหม เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 “หากเราต้องการป้องปรามประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นจีน หรือมีความแน่วแน่และก้าวร้าวเช่นรัสเซีย เราจำเป็นต้องพึ่งพาพันธมิตร” ตามรายงานของข่าวกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ “เราจำเป็นจะต้องบูรณาการประเทศเหล่านั้นเข้ากับความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความหมายของการป้องปราม”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button