มองภูมิภาคแผนก

เกาหลีใต้: จุดประกาย เส้นทางใหม่ด้วยเทคโนโลยีเรือดำน้ำ

บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า การพัฒนาขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำแบบเดิมของเกาหลีใต้เป็นการเคลื่อนไหวที่แหวกแนว โดยมีผลกระทบต่อเกาหลีเหนือ ความเป็นพันธมิตรของเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ และแม้กระทั่งแนวโน้มการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 เกาหลีใต้ได้ดำเนินการทดสอบการยิงขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำจากเรือดำน้ำ โดซาน อันชางโฮ เคเอส เอส-3 ที่เพิ่งเปิดตัว โดยแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถเฉพาะ ตามรายงานจากสำนักข่าว ยอนฮัป ของเกาหลีใต้ เกาหลีใต้เป็นประเทศเดียวที่ยิงขีปนาวุธดังกล่าวโดยไม่ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์

รัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่า ขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำแบบเดิมได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยตอบโต้การโจมตีใด ๆ ของเกาหลีเหนือ นักวิเคราะห์กล่าวว่า อาวุธดังกล่าวยังช่วยตรวจสอบสถานการณ์อื่น ๆ ให้เกาหลีใต้ รวมถึงการสร้างฐานผลิต หากเกาหลีใต้ตัดสินใจพัฒนาคลังแสงนิวเคลียร์

ขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำของเกาหลีใต้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นขีปนาวุธดัดแปลงจากขีปนาวุธทิ้งตัว ฮยอนมู-2บี ภาคพื้นดินที่มีระยะการบินประมาณ 500 กิโลเมตร มีขนาดเล็กกว่าขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำแบบหัวรบนิวเคลียร์ที่พัฒนาโดยเกาหลีเหนือ

นายเอช.ไอ. ซัตตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือดำน้ำทางทหาร กล่าวว่า เทคโนโลยีของเกาหลีใต้มีความล้ำหน้ากว่า และเรียกการผสานกันระหว่างขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำและระบบขับเคลื่อนโดยไม่พึ่งพาอากาศแบบเคลื่อนที่เงียบของเรือดำน้ำว่าเป็น “ตัวพลิกเกม” ที่มีศักยภาพ “ด้วยเหตุนี้ เรือดำน้ำของเกาหลีใต้จึงเป็นเรือดำน้ำติดอาวุธและขับเคลื่อนแบบเดิมที่มีศักยภาพมากที่สุดในโลก” ตามการที่เขาเขียนไว้ในรายงานข่าวกองทัพเรือ

ขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำเป็นหนึ่งในขีปนาวุธแบบเดิมที่เกาหลีใต้กำลังพัฒนาเพื่อเสริมสร้างหลักนิยมในการตอบโต้อย่างทรงพลัง นายอันกิต ปันดา นักวิชาการอาวุโสของมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ กล่าว หลักนิยมนี้เป็นแผนปฏิบัติการสำหรับการโจมตีเพื่อป้องกันการจู่โจมของเกาหลีเหนือ อีกทั้งสกัดกั้นผู้นำเกาหลีเหนือไม่ให้ก่อความขัดแย้งครั้งสำคัญ

สหรัฐฯ ปลดอาวุธนิวเคลียร์ในสนามรบออกจากเกาหลีใต้ใน พ.ศ. 2534 แต่ยังคงปกป้องพันธมิตรของตนในฐานะ “ร่มนิวเคลียร์” รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button