ติดอันดับ

อินเดียเพิ่มขีดความสามารถด้านกลาโหมผ่านหุ้นส่วนในประเทศที่เชี่ยวชาญด้านการประดิษฐ์

มันดีป ซิงห์

กระทรวงกลาโหมอินเดียรายงานว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นการตอกย้ำความจำเป็นด้านกลาโหมที่เข้มแข็งและทันสมัยของอินเดีย และความพยายามในการตอบสนองความจำเป็นนี้อาจได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกการเจรจาความมั่นคงจตุภาคีหรือควอดในเร็ว ๆ นี้

โดยเฉพาะความเป็นไปได้ด้านความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นและชุดความช่วยเหลือด้านกลาโหมที่อาจได้รับจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งสอดคล้องกับความก้าวหน้าล่าสุดของอุตสาหกรรมกลาโหมของอินเดีย รวมถึงความสำเร็จของการทดสอบยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือ ซึ่งกองทัพเรือได้พัฒนาขึ้นในประเทศ ตลอดจนแผงควบคุมแบบใหม่ทางออนไลน์เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการผลิตด้านกลาโหมภายในประเทศ

“ความขัดแย้งในยูเครนเตือนเราว่า ขีดความสามารถด้านกลาโหมที่แข็งแกร่งนั้นไม่สามารถมีอะไรมาทดแทนกันได้เมื่อต้องปกป้องผลประโยชน์ของชาติ” นายราชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดีย กล่าวในพิธีมอบรางวัลซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์เดอะอีโคโนมิกไทมส์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565

นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หารือเกี่ยวกับการพัฒนาขีดความสามารถเหล่านี้ผ่านความร่วมมือด้านกลาโหมที่เข้มแข็งขึ้นในการประชุมสุดยอดควอดในโตเกียวเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ตามรายงานของสำนักข่าวเพรสทรัสต์ออฟอินเดีย

“นายกรัฐมนตรีโมทีส่งคำเชิญที่อบอุ่นและแน่นแฟ้นไปยังอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ให้มาเยือนอินเดีย เพื่อสร้างการพัฒนาร่วมกัน การออกแบบร่วมกัน และการผลิตร่วมกัน จนถึงระดับการผลิตโดยสมบูรณ์ภายใต้โครงการเมคอินอินเดียและอาตมนิรภร ภารต” นายวิเนย์ กวัตรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุม โดยกล่าวถึงพันธกิจของอินเดียในการพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น “จุดมุ่งเน้นอยู่ที่การผลิตด้านกลาโหมในอินเดียภายใต้ข้อควรปฏิบัติด้านกลาโหม”

นายโมทีเปิดตัวโครงการริเริ่มเมคอินอินเดียใน พ.ศ. 2557 เพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศและการลงทุนในด้านการผลิต นายโมทีได้ประกาศโครงการอาตมนิรภร ภารต ซึ่งหมายถึง อินเดียที่พึ่งพาตนเอง ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ภาพ: เรือรบที่อินเดียสร้างขึ้นเปิดตัวในมุมไบเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565)

ความร่วมมือระหว่างบริษัทกลาโหมอินเดียและสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากการยกระดับสถานะของอินเดียในการอนุมัติการค้าเชิงกลยุทธ์ของสหรัฐอเมริกาเป็นระดับที่ 1 ซึ่งช่วยให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการทหารและเทคโนโลยีการใช้งานแบบสองทางของสหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาต ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ การซื้อขายด้านกลาโหมระหว่างประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าน้อยจนเกือบเป็นศูนย์ใน พ.ศ. 2551 จนมีมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7 แสนล้านบาท) ใน พ.ศ. 2563

รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณาชุดความช่วยเหลือทางทหารกับอินเดีย ซึ่งมีมูลค่าถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.76 หมื่นล้านบาท) ตามรายงานของบลูกเบิร์ก ชุดความช่วยเหลือนี้จะมุ่งเน้นไปที่การลดการพึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียของอินเดีย และกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างกรุงรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลสหรัฐฯ

การทดสอบยิงที่ประสบความสำเร็จของขีปนาวุธต่อต้านเรือทางทะเลแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งด้านกลาโหมภายในประเทศของอินเดีย กระทรวงกลาโหมอินเดียประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ว่าขีปนาวุธดังกล่าวปล่อยจากเฮลิคอปเตอร์ทางทะเลนอกชายฝั่งของรัฐโอริสสาทางตะวันออกของอินเดีย ขีปนาวุธดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พัฒนาโดยองค์กรรัฐวิสาหกิจการวิจัยและพัฒนาด้านกลาโหมของอินเดีย รวมถึงเครื่องยิงจรวดด้วย ระบบนำทางขีปนาวุธยังมีระบบนำทางที่ทันสมัย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้านการบินแบบบูรณาการ

เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการทำงานของกิจการภาครัฐด้านกลาโหมที่เป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการผลิตด้านกลาโหมของอินเดียได้เปิดตัวแผงควบคุมที่ให้ข้อมูลตามเวลาจริงและครบวงจรของโครงการต่าง ๆ โดยเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจเพื่อการพึ่งพาตนเอง แผงควบคุมจะมอบข้อมูลและการวิเคราะห์ และรายงานแบบปรับแต่งเองเพื่อวัดประสิทธิภาพของกิจการภาครัฐด้านกลาโหม ตามรายงานของเจ้าหน้าที่อินเดีย

มันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

ภาพจาก: รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button