ติดอันดับทรัพยากรส่วนรวมของโลกปัญหาหลักระดับภูมิภาคโอเชียเนีย

สหรัฐฯ เริ่ม ‘บทใหม่’ กับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ประเทศและดินแดนต่าง ๆ ในหมู่เกาะแปซิฟิกได้ชื่นชมคำสัญญาของนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะยกระดับการมีบทบาทของประเทศของตนในภูมิภาคนี้พร้อมกับมุ่งมั่นที่จะริเริ่มโครงการที่เป็นประโยชน์หลายโครงการ

ในการเข้าร่วมแบบเสมือนจริงในการประชุมประจำปีหมู่เกาะแปซิฟิกครั้งที่ 51 เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 นางแฮร์ริส (ภาพ) กล่าวว่าสหรัฐฯ จะเริ่มก้าวสู่บทใหม่ในการเป็นพันธมิตรกับหมู่เกาะต่าง ๆ โดยจะขยายรากฐานที่มีอยู่เดิมจากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ความผูกพันระหว่างผู้คน และค่านิยมที่มีร่วมกัน

“เราตระหนักดีว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หมู่เกาะแปซิฟิกอาจไม่ได้รับความสนใจและการสนับสนุนทางการทูตเท่าที่ควร” นางแฮร์ริสกล่าวกับผู้นำการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก “วันนี้ ฉันจึงมาที่นี่เพื่อบอกคุณโดยตรงว่าเราจะเปลี่ยนแปลงเรื่องดังกล่าว”

การปราศรัย 10 นาทีของนางแฮร์ริสเกิดขึ้นในขณะที่ผู้นำของ 18 สมาชิกการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกมาพบปะกันที่เมืองซูวา ประเทศฟิจิ ในวาระการประชุมประจำปี นายเฮนรี พูนา เลขาธิการการประชุมและอดีตนายกรัฐมนตรีของหมู่เกาะคุกกล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่าชื่นใจมากและยังรู้สึกมั่นใจอย่างยิ่งที่ตอนนี้ชาวอเมริกันมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะกลับมามีส่วนร่วมกับภูมิภาคแปซิฟิกในรูปแบบที่มีความหมายและมีความสำคัญ” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวซีแลนด์เฮรัลด์

นางแฮร์ริสกล่าวว่าสหรัฐฯ จะ

  • จัดตั้งสถานทูตสหรัฐฯ ในคิริบาสและตองงา
  • ขอให้รัฐสภาสหรัฐฯ จัดสรรเงิน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.2 พันล้านบาท) ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้าสำหรับการช่วยเหลือด้านประมง ซึ่งคิดเป็นเกือบสามเท่าของเงินทุนปัจจุบันของสหรัฐฯ สำหรับสนธิสัญญาปลาทูน่าแปซิฟิกใต้
  • แต่งตั้งผู้แทนทางการทูตของสหรัฐฯ ประจำการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวมองว่าเป็นองค์กรผู้นำระดับสูงของภูมิภาคนี้
  • กำหนดยุทธศาสตร์สหรัฐฯ เกี่ยวกับหมู่เกาะแปซิฟิกซึ่งจะเติมเต็มยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของชาติที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
  • ส่งอาสาสมัครหน่วยสันติภาพกลับไปที่หมู่เกาะแปซิฟิกอีกครั้ง
  • ดำเนินงานเพื่อให้เกิดการจัดตั้งภารกิจแปซิฟิกขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ อีกครั้งในฟิจิ
  • เพิ่มจำนวนพันธมิตรในแปซิฟิกสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพหุภาคีที่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2565 ประกอบด้วยออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของภูมิภาคแปซิฟิกในระดับสากล

มาตรการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของหมู่เกาะแปซิฟิกและสนับสนุนการรวมตัวกันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐห่างไกลต่าง ๆ

นายริชาร์ด มาร์ลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียกล่าวกับออสเตรเลียน บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่นว่า “สิ่งที่ปรากฏให้เห็นคือสหรัฐฯ มีความสนใจมากขึ้นในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก แต่ที่จริงแล้วมีการสนับสนุนจากนโยบายและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง”

 การนำเสนอของนางแฮร์ริสถูกมองว่าเป็นการดูหมิ่นสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งยังคงมีความพยายามที่จะรุกคืบทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคแปซิฟิก ผู้ช่วยทูตของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสองคนที่แอบเข้าไปในช่วงการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกที่นางแฮร์ริสเป็นผู้บรรยายได้ถูกตำรวจฟิจินำตัวออกจากการประชุม ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน

จีนและสหรัฐฯ ได้เพิ่มความพยายามในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในการเอาชนะใจประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนได้ลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอนในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ กังวลว่าอาจนำไปสู่การจัดตั้งฐานทัพเรือของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในหมู่เกาะโซโลมอน

นายมานาสเซ โซกาแวร์ นายกรัฐมนตรีของหมู่เกาะโซโลมอน ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

นางแฮร์ริสบอกว่าสหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นที่จะไม่ปล่อยให้ประเทศในแปซิฟิกเป็นหนี้ที่ไม่สามารถชำระได้ ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกต้องเผชิญกับความยากลำบากทางการเงินหลังจากผิดนัดชำระเงินกู้ของจีนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในดินแดนของตนเอง

นายพูนา เลขาธิการการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกกล่าวว่าสหรัฐฯ มีประวัติศาสตร์ในภูมิภาคนี้ “มาอย่างยาวนาน เราเป็นมิตรกันมานานมากแล้ว และดีใจที่ได้เห็นมิตรภาพนั้นฟื้นคืนมาอีกครั้งในรูปแบบที่มีความหมาย”

“ประวัติศาสตร์และอนาคตของหมู่เกาะแปซิฟิกและสหรัฐอเมริกามีความเชื่อมโยงกันจนไม่อาจแยกจากกันได้” นางแฮร์ริสกล่าวกับผู้นำการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก “สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกที่น่าภาคภูมิใจและมีความมุ่งมั่นอย่างยาวนานต่อหมู่เกาะแปซิฟิก”

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button