ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดติดอันดับเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

สหรัฐฯ มุ่งเป้าไปที่จีนในเรื่องกรอบนโยบายการทำประมงผิดกฎหมายฉบับใหม่

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา กำลังเพิ่มความพยายามในการต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสั่งการให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางประสานงานระหว่างกัน ตลอดจนกับคู่ค้าต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้มหาสมุทรของโลกอย่างยั่งยืน

ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ทำเนียบขาวได้ออกบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติฉบับแรกเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ให้สอดรับกับช่วงเริ่มต้นการประชุมว่าด้วยมหาสมุทรของสหประชาชาติ ที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส

เกือบร้อยละ 11 ของการนำเข้าอาหารทะเลของสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2562 มีมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.51 หมื่นล้านบาท) ที่มาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตามรายงานของคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ

แม้ว่าจีนจะไม่ได้มีชื่ออยู่ในกรอบนโยบายดังกล่าว แต่จีนก็มีอิทธิพลมากในกระบวนการแปรรูปอาหารทะเลผ่านการให้เงินกู้จากรัฐและการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง อีกทั้งยังได้สร้างกองเรือประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดจนมีเรือโรงงานประมงหลายพันลำกระจายอยู่ทั่วอินโดแปซิฟิก แอฟริกา และอเมริกา (ภาพ: เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของฟิจิและบุคลากรของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ได้ขับเรือธงจีนออกจากชายฝั่งฟิจิ ในระหว่างการลาดตระเวนเพื่อต่อต้านการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้กำหนดทิศทางให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางและหน่วยงานต่าง ๆ อีก 21 แห่งปรับปรุงการดำเนินงานให้ดีขึ้น ทั้งการแบ่งปันข้อมูล การประสานงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย เช่น มาตรการคว่ำบาตรและข้อจำกัดด้านวีซ่า ตลอดจนส่งเสริมการปฏิบัติที่ดีที่สุดในหมู่พันธมิตรระหว่างประเทศ

โดยคาดว่าจะมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่จากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ อย่างรวดเร็วเพื่อขยายคำจำกัดความของการประมงที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการใช้แรงงานในทางที่ผิด ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในการขึ้นบัญชีดำต่อรัฐที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ

กลุ่มอนุรักษ์นิยมยกย่องความพยายามดังกล่าว ซึ่งเริ่มต้นจากการทำงานในช่วงวาระของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เพื่อกวาดล้างสิ่งผิดกฎหมายในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลของสหรัฐฯ

“ชาวประมงอเมริกันต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับมากมายจากรัฐบาลสหรัฐฯ” นายเบธ โลเวล รองประธานของโอเชียนา ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว โดยเสริมว่า “การดำเนินการต่อต้านประเทศอื่น ๆ เช่น จีนที่มีประวัติด้านลบเกี่ยวกับแรงงานและสิ่งแวดล้อม จะช่วยจำกัดอิทธิพลและจะเป็นประโยชน์ต่อชาวประมงทั่วโลกที่ปฏิบัติตามกฎหมาย”

นอกจากนี้ แผนดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีการขยายโครงการตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเลของสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องจัดเตรียมเอกสารจากจุดที่ทำประมง เพื่อรับประกันว่าปลาที่จับอย่างผิดกฎหมายจะไม่เล็ดลอดเข้าไปในสหรัฐฯ โดยขณะนี้โครงการดังกล่าวครอบคลุมแล้วประมาณ 12 สายพันธุ์ โอเชียนาและกลุ่มอื่น ๆ ได้ผลักดันให้โครงการนี้ครอบคลุมการนำเข้าทั้งหมด

“หากสหรัฐอเมริกาไม่สามารถควบคุมการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกับปลาที่จับได้ในสหรัฐฯ อาหารทะเลที่หามาได้อย่างผิดกฎหมายจะยังขายออกสู่ตลาดควบคู่ไปกับการจับสัตว์อย่างถูกกฎหมายต่อไป” นายโลเวลกล่าว

ในกรุงลิสบอน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่และนักวิทยาศาสตร์จากกว่า 120 ประเทศเข้าร่วมการประชุมเป็นเวลา 5 วัน นายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ ได้วิจารณ์บางประเทศโดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่า มองหาแต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองแทนที่จะใส่ใจความต้องการของโลก

องค์การสหประชาชาติหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดความพยายามอย่างต่อเนื่องในเรื่องข้อตกลงระดับโลกว่าด้วยการอนุรักษ์มหาสมุทรในทะเลลึก

การประกาศของฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนเกิดขึ้นเมื่อองค์การการค้าโลกได้ประกาศข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งบรรลุในระหว่างการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อยับยั้งการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพื่อลดวิกฤตการณ์ด้านปริมาณสัตว์น้ำที่เหลือน้อยลง ตลอดจนเพื่อรับรองถึงความโปร่งใสและความรับผิดชอบผ่านมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ข้อตกลงขององค์การการค้าโลกห้ามการให้เงินอุดหนุนโดยชัดแจ้ง ซึ่งนักสิ่งแวดล้อมพิจารณาลงความเห็นว่าเป็นปัจจัยใหญ่ที่สุดที่ก่อให้เกิดการลดจำนวนปลาทั่วโลก

“การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมกำลังทำร้ายมหาสมุทร ผู้คน และโลกของเรา อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ผิดหลักนิติธรรม และทำลายความมั่นคงทางทะเลของเรา นายโมนิกา เมดินา ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานกิจการมหาสมุทรและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวถึงการรับมือกับปัญหาหลายด้านในระหว่างการประชุมของสหประชาชาติที่กรุงลิสบอน โดยระบุว่า “นั่นคือเหตุผลที่สหรัฐอเมริกาภาคภูมิใจที่ได้เห็นสมาชิกองค์การการค้าโลกก้าวไปข้างหน้าในเชิงบวก เพื่อจัดระเบียบการอุดหนุนการประมงที่เป็นอันตราย โดยกำหนดข้อตกลงการค้าพหุภาคีฉบับแรกที่ยึดสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญ และในขณะที่การเจรจากับองค์การการค้าโลกยังคงดำเนินต่อไป เราจะดำเนินการตามระเบียบวินัยการอุดหนุนการประมงที่มีปณิธานแรงกล้ามากขึ้นต่อไป”

มหาสมุทรครอบคลุมพื้นผิวโลกประมาณร้อยละ 70 เป็นแหล่งอาหารและการดำรงชีวิตสำหรับผู้คนหลายพันล้านคน นักเคลื่อนไหวบางคนขนานนามว่าเป็นพื้นที่ไร้การควบคุมที่ใหญ่ที่สุดของโลก

สนธิสัญญาทะเลลึกกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศหลักที่ควบคุมกิจกรรมทางทะเล

นายอันโตนิอู กุแตเรช กล่าวว่า “มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ” ต่อข้อตกลงในสนธิสัญญา และโลกกำลังอยู่ใน “ช่วงเวลาสำคัญ” สำหรับอนาคตของมหาสมุทร

นายกุแตเรชกล่าวเสริมว่า “เราจำเป็นต้องปลุกเร้าผู้คนให้กดดันผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ”

องค์การสหประชาชาติระบุว่า ภัยคุกคามต่อมหาสมุทร ได้แก่ ภาวะโลกร้อน กรดจากมลพิษคาร์บอน และการปนเปื้อนของพลาสติกขนานใหญ่ การทำเหมืองแร่ในทะเลลึกที่อาจก่ออันตรายยังขาดกฎระเบียบ

นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้ยังคาดว่าจะเป็นการยืนยันและสร้างพันธสัญญามากกว่า 60 ข้อ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ไว้ในการประชุมสุดยอดครั้งก่อนที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เมื่อ พ.ศ. 2561 ว่าด้วยการปกป้องรัฐเกาะขนาดเล็กที่มีเศรษฐกิจเชิงมหาสมุทร ตลอดจนการทำประมงที่ยั่งยืนและการต่อสู้กับภาวะน้ำอุณหภูมิสูงขึ้น

ภาพจาก: จ.อ. เนท ลิตเติลจอห์น/กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button