ความร่วมมือติดอันดับปัญหาหลักระดับภูมิภาคโอเชียเนีย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า ข้อตกลงอูกัสจะไม่ทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

นางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ได้แสดงความชัดเจนว่าข้อตกลงด้านความมั่นคงที่รู้จักกันในนามอูกัสที่ลงนามร่วมกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาจะไม่ทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์

“เราไม่ใช่ผู้นำด้านอาวุธนิวเคลียร์ ในภูมิภาคนี้มีประเทศที่เป็นผู้นำด้านอาวุธนิวเคลียร์อยู่ แต่ออสเตรเลียไม่ใช่หนึ่งในนั้น” นางหว่องกล่าวเมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ข้อตกลงอูกัส ซึ่งระบุรายละเอียดของแผนการที่ออสเตรเลียจะจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ก่อให้เกิดความกังวลแก่บางประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกว่าข้อตกลงดังกล่าวอาจยกระดับความตึงเครียดในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ในทะเลจีนใต้ ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นางหว่องกล่าวว่า “เรายังคงมีความชัดเจนอย่างมากว่าเราไม่ได้และไม่เคยที่จะพยายามให้เรือดำน้ำของเราติดอาวุธหรือมีความสามารถทางด้านนิวเคลียร์” ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส “ฉันคิดว่าบางครั้งผู้คนได้ยินคำว่านิวเคลียร์ และฉันเข้าใจว่ามีปฏิกิริยาต่อคำดังกล่าว แต่เรากำลังพูดถึงระบบขับเคลื่อนด้วยนิวเคลียร์ ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์”

มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคนี้ที่ได้แสดงความกังวลต่อข้อตกลงเกี่ยวกับเรือดำน้ำของอูกัส นางหว่องได้เดินทางไปที่มาเลเซียเพื่อหารือเรื่องนี้กับนายไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายมีการสนทนาที่ “ตรงไปตรงมาอย่างมาก” (ภาพ: นางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย (ซ้าย) และนายไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย แถลงกับผู้สื่อข่าวในเมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565)

“มาเลเซียให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสันติภาพและความมั่นคงระดับภูมิภาคของภูมิภาคอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราต้องการธำรงความเป็นหนึ่งเดียวโดยเฉพาะในทะเลจีนใต้และภูมิภาคแห่งนี้ให้เป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพ การค้า และความเจริญรุ่งเรือง” นายอับดุลละฮ์กล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน “เราเพิ่งได้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมามากเกี่ยวกับอูกัส และผมขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียสำหรับการชี้แจงจุดยืนของรัฐบาล”

แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ประชุมกัน แต่นายอับดุลละฮ์กล่าวว่าจุดยืนของมาเลเซียยังคงเหมือนเดิม

“การรับฟังข้อกังวลเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องตอบสนองต่อข้อกังวลเหล่านั้นด้วยความเคารพ” นางหว่องกล่าวขณะที่อยู่ในมาเลเซีย “นั่นเป็นวิธีที่รัฐบาลจะหาทางจัดการกับปัญหาบางประการที่ถูกหยิบยกขึ้นมา และเราหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไปประชาชนจะคลายความกังวลลง”

ออสเตรเลียได้จัดตั้งผู้นำรัฐบาลใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน และนางหว่องกล่าวว่าตนและเพื่อนร่วมงานต่างมุ่งมั่นที่จะสร้างภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่สงบ มั่นคง และเจริญรุ่งเรือง

นอกจากนี้ นายริชาร์ด มาร์ลส์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พยายามที่จะคลายความกังวลเหล่านั้นในระหว่างการแสดงความเห็นที่ศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเขาระบุว่าอูกัสเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ความร่วมมือไตรภาคีนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ออสเตรเลียปลอดภัยขึ้นเท่านั้น แต่จะทำให้ออสเตรเลียเป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพและมีความสามารถมากขึ้น นายมาร์ลส์กล่าว

“ในการพิจารณาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดต่อไปในอนาคต รัฐบาลออสเตรเลียมีความตระหนักอย่างที่สุดถึงภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบพลังงานนิวเคลียร์” นายมาร์ลส์กล่าวที่ศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา “เรามุ่งเน้นไปที่การดำเนินงานทั่วทั้งภาคส่วน ได้แก่ การรักษาความปลอดภัยของเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อน การสร้างความสามารถของบุคลากรและอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนขีดความสามารถ และสร้างความมั่นใจว่าโครงการริเริ่มนี้จะกำหนดมาตรฐานที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์”

นางหว่องกล่าวว่า ออสเตรเลียเข้าใจว่าภูมิภาคอินโดแปซิฟิกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคก็กำลังพยายามที่จะรับมือกับเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แม้ความไม่แน่นอนจะยังคงอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือความมุ่งมั่นของออสเตรเลียที่จะสร้างสันติภาพในภูมิภาคนี้

“ออสเตรเลียจะดำเนินงานโดยยึดเป้าหมายของเราเป็นหลักเสมอ ซึ่งได้แก่ ภูมิภาคที่สงบ ภูมิภาคที่มั่นคง ภูมิภาคที่เจริญรุ่งเรือง ภูมิภาคที่เคารพอธิปไตย และที่สำคัญก็คือภูมิภาคที่มีกฎระเบียบซึ่งช่วยให้สามารถคาดการณ์พฤติกรรมของรัฐและวิธีการจัดการกับข้อพิพาทได้” นางหว่องกล่าว ตามรายงานของเดอะการ์เดียน

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button