ติดอันดับอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ฟิลิปปินส์ดำเนินการป้องกันสันดอนยุทธศาสตร์จากยุทธวิธีพื้นที่สีเทาของรัฐบาลจีน

ทอม แอบกี

ฟิลิปปินส์ได้ผสมผสานวิธีทางการทูต การอุทธรณ์ต่อหลักนิติธรรม และการแสดงตนของกองทัพเรืออย่างแน่วแน่ เพื่อปกป้องสันดอนโธมัสที่ 2 จากยุทธวิธีพื้นที่สีเทาเชิงข่มขู่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสันดอนดังกล่าวเป็นภูมิประเทศทางทะเลในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ จีนทำการอ้างสิทธิอย่างไม่ชอบธรรมว่าสันดอนในทะเลจีนใต้ดังกล่าวเป็นดินแดนของตน โดยเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งและเรือของกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเลของจีนได้เข้าล้อมพื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นเวลาหลายเดือน ตามรายงานในท้องถิ่น

“สันดอนโธมัสที่ 2 เป็นประตูทางยุทธศาสตร์สู่รีดแบงก์ที่เชื่อกันว่าอุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ” นายเชสเตอร์ คาบัลซา ประธานคณะกรรมการความร่วมมือด้านการพัฒนาและความมั่นคงระหว่างประเทศของรัฐบาลฟิลิปปินส์ กล่าวกับฟอรัม โดยเรียกสันดอนดังกล่าวด้วยชื่อฟิลิปปินส์ “ดังนั้น สันดอนนี้จึงเป็นหนึ่งในพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์”

รัฐบาลจีนอ้างสิทธิอำนาจอธิปไตยเหนือสันดอนดังกล่าวบนพื้นฐานของการแบ่งเขตแดนโดยพลการด้วย “เส้นประเก้าเส้น” การอ้างสิทธิดังกล่าวถูกปฏิเสธใน พ.ศ. 2559 เนื่องจากศาลอนุญาโตตุลาการถาวรระหว่างประเทศตัดสินว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งอนุญาตให้ประเทศต่าง ๆ มีสิทธิในเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะทาง 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งและให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในทรัพยากรทางทะเลภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว

เรือบีอาร์พี เซียร์รา มาเดร ของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ (ภาพ) ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ได้จอดเกยฝั่งไว้ที่สันดอนดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เพื่อใช้เป็นด่านหน้าในการป้องกันและเป็นสัญลักษณ์ว่าสันดอนดังกล่าวอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ นายคาบัลซากล่าว หน้าด่านดังกล่าว ซึ่งมีกองกำลังนาวิกโยธินและทหารเรือของฟิลิปปินส์ประจำการอยู่ ถูกคุกคามโดยเรือของจีน ส่งผลให้ถูกตัดขาดจากเสบียงอาหารและน้ำเป็นระยะ ๆ

เรือของจีนส่วนใหญ่ที่ประจำการอยู่รอบสันดอนดังกล่าวเป็นกองกำลังรักษาชายฝั่งหรือกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเล โดยแสดงถึงยุทธวิธีที่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่จะขับไล่ฟิลิปปินส์และยึดครองพื้นที่อย่างผิดกฎหมายของรัฐบาลจีน นายคาบัลซากล่าว โดยเสริมว่าจีนเคยใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้ใน พ.ศ. 2555 เพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครองสันดอนสกาโบโรห์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภูมิประเทศในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์

ในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 เรือของจีนได้ใช้อวนจับปลาและทุ่นเพื่อขัดขวางไม่ให้เรือเติมเสบียง 2 ลำและเรือคุ้มกันของกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์ไปถึงเรือบีอาร์พี เซียร์รา มาเดร ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ฟิลิปปินส์ เดลี อินไควเรอร์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2565 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ยื่นเรื่องประท้วงทางการทูต โดยระบุว่าเรือของจีนไม่มีสิทธิในการจับปลารอบ ๆ สันดอนโธมัสที่ 2 และไม่มีสิทธิสังเกตุการณ์หรือแทรกแซงกิจกรรมของฟิลิปปินส์ที่สันดอนดังกล่าว

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้จีน “ยุติการกระทำที่ยั่วยุและเคารพกฎหมายระหว่างประเทศในทะเลจีนใต้” โดยอ้างถึงกรณีสันดอนโธมัสที่ 2 และแนวปะการังวิธซัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภูมิประเทศในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ที่เคยมีเรือของจีนประมาณ 100 ลำมารวมตัวกันในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565

ฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรทางทหารกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2494

ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 กองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์จะดำเนินการเติมเสบียงให้เรือบีอาร์พี เซียร์รา มาเดร และสับเปลี่ยนลูกเรือ แต่เรือกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนที่อยู่ใกล้เคียงกลับอ้างสิทธิอย่างไม่ชอบธรรมผ่านทางวิทยุว่าเรือกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์อยู่ในอาณาเขตของจีน จึงจำเป็นต้องได้รับอนุญาตก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติการ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ ออฟ มะนิลา

นายคาบัลซาอธิบายว่าการผสมผสานระหว่างการทูต ความร่วมมือ และการแสดงตนของกองทัพเรือของรัฐบาลฟิลิปปินส์เป็น “ยุทธวิธีที่ดีที่สุด” ในการต่อต้านการรุกรานของรัฐบาลจีน “การแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของจีน” รอบสันดอนโธมัสที่ 2 และภูมิประเทศอื่น ๆ มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านจากผู้อ้างสิทธิในดินแดนต่าง ๆ ซึ่งได้แก่มาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนาม นายคาบัลซากล่าว

ภาพจาก: รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button