ติดอันดับ

นักวิเคราะห์ชี้ว่าการรณรงค์ของรัฐบาลจีนล้มเหลวในการชักจูงญี่ปุ่น

ฟีลิกซ์ คิม

ความพยายามที่ดำเนินมาอย่างยาวนานของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการเข้าไปมีอิทธิพลในญี่ปุ่นอย่างไม่เหมาะสมต้องประสบกับความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะความพยายามที่จะสร้างความแตกแยกระหว่างญี่ปุ่นและพันธมิตรอย่างสหรัฐอเมริกา ตามรายงานของนักวิเคราะห์ในญี่ปุ่น

ยุทธวิธีสร้างอิทธิพลดังกล่าวซึ่งทั้งเฉียบแหลมและชั่วร้ายอาจรวมไปถึงการใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น การปั่นข้อมูล การติดสินบน และการบีบบังคับให้โยกย้ายนักการเมือง ผู้นำสาธารณะและธุรกิจ ซึ่งยุทธวิธีเหล่านี้มีมาตั้งแต่การก่อตั้งจีนเมื่อ พ.ศ. 2492 ตามรายงานของนายมาซายะ อิโนอุเอะ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคโอของญี่ปุ่น

นายอิโนอุเอะได้เขียนในบทวิเคราะห์ในการบรรยายสรุปเกี่ยวกับภูมิเศรษฐศาสตร์ของสถาบันเอเชียแปซิฟิกว่า การใช้อำนาจอย่างเฉียบแหลมของจีนในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1970 (พ.ศ. 2513 – 2522) และ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2532) โดยการใช้ประโยชน์จากความแตกแยกภายในพรรคเสรีประชาธิปไตยซึ่งบริหารประเทศอยู่ในช่วงนั้น

“ในช่วงทศวรรษที่ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2532) ทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ รัฐบาลจีนจะพยายามแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจาลับหลังกับผู้นำกลุ่มนักการเมืองในพรรคเสรีประชาธิปไตยควบคู่ไปกับการเจรจาโดยใช้ช่องทางการทูตอย่างเป็นทางการ” นายอิโนอุเอะระบุ

นอกจากนี้ นายอิโนอุเอะยังอ้างถึงความพยายามของรัฐบาลจีนในการเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับการคัดค้านการลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2503 และความพยายามในการสร้างความแตกแยกในหมู่ผู้บัญญัติกฎหมายของญี่ปุ่นโดยเชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งมาเยือนจีน

ในทางธุรกิจ รัฐบาลจีนได้ใช้อิทธิพลในแบบเดียวกันกับองค์กรการค้าของญี่ปุ่น

การรณรงค์ต่าง ๆ ล่าสุดเพื่อโน้มน้าวความคิดและนโยบายของญี่ปุ่นให้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ถูกอธิบายไว้ใน “อิทธิพลของจีนในญี่ปุ่น: ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่เจาะจงที่ใดเป็นพิเศษ” ซึ่งเป็นรายงานที่เผยแพร่โดยศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563

ในรายงานดังกล่าว นายเดวิน สจ๊วต ซึ่งเป็นผู้เขียนและอดีตบรรณาธิการบทแสดงความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์ซึ่งเสียชีวิตใน พ.ศ. 2564 ได้แยกความแตกต่างของการรณรงค์ที่ “ไม่มีพิษภัย” ออกจากการรณรงค์ที่ “ชั่วร้าย” การรณรงค์ที่ไม่มีพิษภัยนี้ ได้แก่ การที่รัฐบาลจีนเริ่มเอาใจญี่ปุ่นในช่วงการระบาดโควิด-19 ด้วยการแสดงความขอบคุณผ่านสื่อของรัฐจีนสำหรับการบริจาคอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของรัฐบาลญี่ปุ่น

ในทางตรงกันข้าม การรณรงค์ที่ชั่วร้าย ได้แก่ ความพยายามของรัฐบาลจีนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาในการกระตุ้นให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชในจังหวัดโอกินาวะของญี่ปุ่น การจัดตั้งสถาบันขงจื๊อที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจีน 15 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นแสดงให้เห็นถึงการปะปนกันระหว่างความไม่มีพิษภัยและความชั่วร้าย จากการที่สถาบันนี้ส่งเสริมมิตรภาพข้ามพรมแดนและวัฒนธรรมจีนอย่างเป็นทางการแต่ก็ถูกกล่าวหาในวงกว้างว่าเผยแพร่การโฆษณาชวนเชื่อ ขัดขวางเสรีภาพในการพูด และรวบรวมข่าวกรองให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน นายสจ๊วตระบุ

ตามรายงานของนายอิโนอุเอะ ญี่ปุ่นได้พัฒนาการต่อต้านยุทธวิธีทางอำนาจที่เฉียบแหลมของรัฐบาลจีน ด้วยความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นและแพร่หลายมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาในอดีตหลายทศวรรษ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินการในช่วงทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533 – 2542) เพื่อจำกัดอิทธิพลของรัฐบาลจีนที่มีต่อผู้นำสภานิติบัญญัติของญี่ปุ่นด้วยการปฏิรูปการบริหารโดยส่งเสริมบทบาทของนายกรัฐมนตรีในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ นายอิโนอุเอะระบุเพิ่มเติม

นอกจากนี้ การกดขี่ภายในประเทศของตนเองและการรุกรานต่างประเทศของรัฐบาลจีนได้บ่อนทำลายผลลัพธ์การรณรงค์เพื่อสร้างอิทธิพลในญี่ปุ่น เรื่องหลักจากหลาย ๆ เรื่องก็คือการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินโดยนักศึกษาที่เรียกร้องเสรีภาพและการสังหารหมู่พลเรือนที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาโดยกองทัพปลดปล่อยประชาชนในกรุงปักกิ่ง และการบุกรุกน่านน้ำญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายซ้ำหลายครั้งโดยเรือของจีน

หลังจากเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมิน ธุรกิจต่าง ๆ ของญี่ปุ่นก็ได้ลดระดับความสัมพันธ์กับบริษัทของจีน ความคิดเห็นที่หลากหลายในหมู่ผู้นำธุรกิจของญี่ปุ่นยังทำให้การรณรงค์เพื่อสร้างอิทธิพลของจีนยิ่งยากขึ้น

นายสจ๊วตอ้างอิงข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชนที่แสดงให้เห็นว่าความชื่นชอบจีนในหมู่ชาวญี่ปุ่นเพิ่มสูงสุดในตอนที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐบาลจีนและญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2515 แต่ลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินและข้อพิพาทหมู่เกาะเซ็งกะกุซึ่งเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2553 ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อสหรัฐฯ ยังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม เหตุผลหลัก ๆ มาจากการที่มีเรือจีนมาบุกรุกรอบ ๆ หมู่เกาะเซ็งกะกุ ซึ่งยิ่งทำให้ประสิทธิภาพของปฏิบัติการสร้างอิทธิพลของรัฐบาลจีนแย่ลง นายอิโนอุเอะระบุ

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ภาพจาก: ไอสต็อก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button