เรื่องเด่น

ความจริง ที่ไม่ทราบ

การไม่สามารถตรวจสอบคำกล่าวอ้างของเกาหลีเหนือได้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสถานะของประชาชน ขีปนาวุธ และผู้นำของเกาหลีเหนือ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ความโปร่งใสในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อการสร้างความไว้วางใจและหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม ระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือยังคงไม่มีความตรงไปตรงมาในการเปิดเผยข้อมูลที่ยืนยันได้เกี่ยวกับสวัสดิภาพของประชาชน ความพยายามในการปลดอาวุธนิวเคลียร์หรือการขาดแคลนอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนสุขภาพและที่อยู่ของผู้นำเกาหลีเหนือ

การที่ประชาคมโลกไม่สามารถตรวจสอบคำกล่าวอ้างของเกาหลีเหนือเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นศูนย์ ตลอดจนความถี่และระยะเวลาที่มากขึ้นของการหายตัวไปจากสาธารณชนของนายคิม จองอึน ผู้นำเผด็จการในช่วง พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 ยิ่งเพิ่มการคาดเดาถึงความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลเกาหลีเหนือ

“แม้กระนั้น ก็ไม่ควรที่จะประเมินรัฐบาลต่ำไป มีรายงานก่อนหน้านี้นับไม่ถ้วนเกี่ยวกับการเสียชีวิตที่ใกล้จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายบรูซ คลิงเนอร์ นักวิจัยอาวุโสของมูลนิธิเฮอริเทจ ระบุในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564

อันที่จริง แม้ว่าในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 นายคิมจะกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งด้วยรูปร่างที่ผอมลงหลังจากหายไปนานถึง 4 สัปดาห์ และก่อให้เกิดการคาดเดาเกี่ยวกับสุขภาพของเขามากขึ้น แต่รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ทำการยั่วยุอีกครั้งในช่วง 3 เดือนต่อมา ด้วยการทดสอบระบบขีปนาวุธหลายชุดโดยห่างกันเพียงไม่กี่วัน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหลายประการ หากมีคำถามใด ๆ เกี่ยวกับอนาคตของตระกูลคิมว่าข่าวลือเกี่ยวกับสุขภาพที่ย่ำแย่ของผู้นำคนปัจจุบันนั้นเป็นจริงหรือไม่ การที่นางคิม โยจอง น้องสาวของนายคิม ได้รับตำแหน่งอาจถือเป็นคำตอบ

นางคิม โยจอง น้องสาวของนายคิม จองอึน ผู้นำเผด็จการเกาหลีเหนือ ได้เห็นความโดดเด่นของเธอเพิ่มขึ้นภายในรัฐบาล ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“นับตั้งแต่การเป็นตัวแทนของนายคิม จองอึนในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว พ.ศ. 2561 ที่เมืองพย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้ นางคิม โยจองไม่เพียงแต่ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติในพรรคแรงงานเท่านั้น แต่เธอยังพอใจกับความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ของพี่ชายของเธอ ซึ่งเป็นผู้นำที่สามารถสั่งประหารลุงของตนเองในข้อหากบฏ” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน

นางคิม โยจองยังคงอยู่เคียงข้างพี่ชายของเธอในช่วงเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นางคิมได้เข้าร่วมการประชุมแบบตัวต่อตัว 3 ครั้ง ระหว่างนายคิม จองอึนและนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล หนังสือพิมพ์ดังกล่าวยกความดีความชอบให้แก่นางคิม โยจอง ในฐานะการเป็นผู้นำฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อและการปลุกปั่นของเกาหลีเหนือ ตลอดจนการลงนามในแถลงการณ์ของเกาหลีเหนือที่วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2563 เพื่อยืนกรานว่าเกาหลีเหนือจะปลดอาวุธนิวเคลียร์และแถลงการณ์ประณามเกาหลีใต้ที่วิจารณ์การฝึกซ้อมทางทหารของเกาหลีเหนือ

นางคิมได้รับความสนใจจากสื่ออีกครั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 โดยเตือนถึง “การทำลายความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างสมบูรณ์” กับเกาหลีใต้ หากนายมุน แจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น ยังคงระบุว่าการสาธิตอาวุธของเกาหลีเหนือเป็นการยั่วยุ ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“หากประธานาธิบดีเกาหลีใต้ร่วมใส่ร้ายและสร้างความเสื่อมเสียแก่เรา การกระทำนี้จะส่งผลให้เกิดการตอบโต้และความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะถูกทำลายอย่างสมบูรณ์” นางคิม ระบุในแถลงการณ์ ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส “เราไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น”

ผู้นำชายทั้ง 3 คนจากตระกูลคิมปกครองเกาหลีเหนือตั้งแต่ พ.ศ. 2491 โดยเริ่มจากนายคิม อิลซุง ตามด้วยบุตรชายของเขา นายคิม
จองอิล และนายคิม จองอึน ผู้เป็นหลานชาย สถานะของนางคิม โยจอง อาจสูงขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าเธอจะได้เป็นผู้นำเกาหลีเหนือคนต่อไป อันที่จริง นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะนับถอยหลังการสิ้นสุดยุคการปกครองของนายคิม จองอึน บางคนมีความเห็นว่ารูปร่างที่ผอมลงของนายคิมอาจเป็นความพยายามที่จะรักษาสุขภาพและอายุขัยให้ยืนยาวมากกว่าที่จะเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วย ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นายมุน แจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น (คนที่สองจากซ้าย) ทักทายนางคิม โยจอง น้องสาวของนายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ {1/}ก่อนการประชุมสุดยอดระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ที่เกาหลีใต้ เก็ตตี้ อิมเมจ

สงครามยังคงร้อนระอุ

ตามหลักการแล้ว เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในภาวะสงคราม เนื่องจากสงครามเกาหลีใน พ.ศ. 2493-2496 ยุติลงด้วยข้อตกลงสงบศึก มิใช่สนธิสัญญาสันติภาพ ความพยายามในการรวมชาติล้มเหลว แต่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 นายมุนได้เรียกร้องให้ยุติสงครามอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

“วันนี้ ข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกระดมกำลังเพื่อการประกาศยุติสงครามในคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้ง และขอเสนอให้ทั้งสามฝ่ายอย่างเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ หรือทั้งสี่ฝ่ายอย่างเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และจีน รวมตัวกันและประกาศว่าสงครามในคาบสมุทรเกาหลีได้สิ้นสุดลงแล้ว” นายมุนกล่าวในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

นายมุนกล่าวว่า ความฝันอันยิ่งใหญ่ที่สุดของชุมชนทั่วโลกคือ “การสรรค์สร้างชีวิตที่สงบสุขและปลอดภัย” ความฝันดังกล่าวยังคงไม่เกิดขึ้นจริงในคาบสมุทรเกาหลี แม้ว่าองค์การสหประชาชาติและหน่วยงานอื่น ๆ จะพยายามแล้วก็ตาม นายมุนกล่าว อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่าสันติภาพที่ยั่งยืนจะ “หยั่งรากอย่างมั่นคง” ในคาบสมุทรนี้ นายมุนกล่าว

อีกทั้งเสริมว่า “เมื่อนึกถึงคาบสมุทรเกาหลีที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์และมีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน รัฐบาลเกาหลีใต้จึงดำเนินกระบวนการด้านสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีอย่างต่อเนื่องและบรรลุเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลก “สันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีเริ่มต้นด้วยการเจรจาและความร่วมมือเสมอ ผมขอเรียกร้องให้มีการเริ่มต้นเจรจาระหว่างเกาหลีทั้งสองฝ่ายและระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนืออย่างรวดเร็ว”

นางคิม โยจอง ตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้เกาหลีใต้ยกเลิก “นโยบายที่ไม่เป็นมิตร” และ “มาตรฐานการตีสองหน้า” หากต้องการดำเนินการเพื่อสร้างความปรองดอง ตามรายงานของดิแอสโซซิเอท เต็ด เพรส นางคิมไม่ได้อธิบายรายละเอียด แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเกาหลีเหนือต้องการความช่วยเหลือจากเกาหลีใต้ในเรื่องการผ่อนปรนจากมาตรการคว่ำบาตรและรับสัมปทานอื่น ๆ ที่อาจรวมถึงการยอมรับจากนานาชาติในฐานะรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นายมุน แจอิน กล่าวปราศรัยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 76 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ซึ่งนายมุนได้ผลักดันให้มีการประกาศยุติสงครามเกาหลีในช่วง พ.ศ. 2493 – 2496 อย่างเป็นทางการเพื่อฟื้นฟูสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“ดิฉันคิดว่าเมื่อรักษาความเป็นกลางและทัศนคติในการเคารพซึ่งกันและกันแล้ว ความเข้าใจอันราบรื่นระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะเกิดขึ้นได้” นางคิม โยจองกล่าว ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น “ดิฉันรู้สึกว่าประชาชนเกาหลีใต้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จากการหยุดชะงัก และบรรลุเสถียรภาพอย่างสันติโดยเร็วที่สุด เราเองก็มีความปรารถนาแบบเดียวกัน”

นายลี ซังยุน ผู้เชี่ยวชาญชาวเกาหลีเหนือจากโรงเรียนเฟล็ทเชอร์
ของมหาวิทยาลัยทัฟส์ กล่าวเตือนว่า นางคิม โยจองอาจเพียงแสร้งทำว่าคล้อยตามทุกสิ่ง “ที่นายมุนปรารถนาอย่างยิ่งก่อนที่เขาจะหมดวาระ” ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ นางคิม โยจอง “แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าเธอมีความชำนาญในศิลปะการครอบงำทางจิตวิทยามากเพียงใด” นายลีกล่าว กับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์

นางคิม โยจองเรียกแถลงการณ์ของตนว่า “เป็นเพียงความคิดเห็นของฉัน” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ยอมรับว่าสิ่งนี้มีความหมาย กระนั้น การกระทำย่อมสำคัญกว่าคำพูด และกระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่สอดคล้องกันของเจตนาด้านการสื่อสารของเกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือยุติการรับสายด่วนจากเกาหลีใต้เพื่อจัดการความสัมพันธ์ทางทหารระดับทวิภาคีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ก่อนที่จะกลับมาสื่อสารอีกครั้งในอีกสองเดือนต่อมา

นางลี จองจู โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ว่า “การสื่อสารอย่างราบรื่นและมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อให้เกิดการปลดอาวุธนิวเคลียร์ สร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในคาบสมุทรเกาหลี ตลอดจนการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือผ่านการเจรจาและความร่วมมือ”

การเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

น้ำหนักที่ลดลงของนายคิม จองอึนไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวที่เป็นประเด็นสำหรับนักวิเคราะห์ บรรดาผู้ชมต่างคาดว่าจะมีการแสดงที่ยิ่งใหญ่ในระหว่างการเดินสวนสนามทางทหารของเกาหลีเหนือในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 แต่กลับมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นความจริงอันโหดร้ายของการล่มสลายของเกาหลีเหนือ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เกาหลีเหนือประสบความยากลำบาก เนื่องจากการปิดพรมแดนเป็นเวลานานด้วยเหตุการแพร่ระบาดใหญ่ ภาวะขาดแคลนอาหารจากอุทกภัย มาตรการคว่ำบาตร และการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาด นอกจากนี้ นายคิมยังล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย

“สังคมเกาหลีเหนือตกอยู่ภายใต้ความเครียดอย่างมากเพราะการตัดสินใจของรัฐบาลนายคิม ดังนั้น การเดินสวนสนามดังกล่าวจึงมีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและเป็นการกระตุ้นขวัญกำลังใจในการกักตัว” นายเลฟเอริค อีสลีย์ ศาสตราจารย์ฝ่ายการศึกษาต่างประเทศของมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวาในกรุงโซล กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ พร้อมทั้งเตือนว่า “เราไม่ควรตีความนโยบายต่างประเทศหรือสัญญาณการเจรจาต่อรองในการเดินสวนสนามที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มเป้าหมายทางการเมืองในประเทศเป็นหลักมากจนเกินไป”

ผู้เข้าชมมองไปทางเกาหลีเหนือจากหอดูดาวโอดูซานของเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตปลอดทหารที่กั้นระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เอเอฟพี/เก็ตตี้ อิมเมจ

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติรายงานว่า การเดินสวนสนามในเดือนกันยายนนี้ถูกมองว่าเป็นความพยายามในการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ท่ามกลางวิกฤตด้านอาหารที่เลวร้ายที่สุดของเกาหลีเหนือในรอบทศวรรษ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าประหลาดใจมากกว่านั้นคือการที่นายคิมยอมรับวิกฤตการณ์ดังกล่าวต่อสาธารณชนเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 เมื่อนายคิมกล่าวว่าการแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนอาหารเป็น “สิ่งสำคัญที่สุด”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์ด้านอาหารของประชาชนในขณะนี้กำลังตึงเครียด เนื่องจากภาคเกษตรกรรมไม่สามารถผลิตธัญพืชได้” หลังจากที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย นายคิมกล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ “เป็นสิ่งสำคัญสำหรับรัฐบาลและประเทศที่จะต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องเกษตรกรรม”

เนื่องจากเกาหลีเหนือมีการปิดพรมแดนเป็นเวลานาน แม้กระทั่งพรมแดนที่ติดกับจีน อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ สิ่งของที่จำเป็น เช่น ยา จึงหาซื้อได้ยากขึ้น ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ มีเด็กเร่ร่อนจำนวนมากกำลังคุ้ยขยะเพื่อหาอาหารในหลายพื้นที่ของประเทศ อีกทั้งครอบครัวจำนวนมากต่างขายเฟอร์นิเจอร์เพื่อหาซื้ออาหาร ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์

“เมื่อนายคิมเข้ามาดำรงตำแหน่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา หนึ่งในคำมั่นสัญญาแรก ๆ ของเขาคือการรับรองว่าผู้คนที่ทนทุกข์มานานจะ “ไม่ต้องทนรัดเข็มขัดอีกต่อไป” แต่แผนการทางเศรษฐกิจดังกล่าวล้มเหลว เมื่อคลังอาวุธที่เพิ่มขึ้นของประเทศทำให้ถูกลงโทษด้วยมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์

รัฐบาลเกาหลีเหนือแทบไม่ได้ยืนยันสิ่งที่เป็นด้านลบหรืออาจเป็นภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นภายในพรมแดนของตนแต่อย่างใด ดาวเทียมจะเปิดเผยสิ่งที่นายคิมและพรรคแรงงานของเขาปกปิดเอาไว้

เช่น ภาพถ่ายจากดาวเทียมเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 แสดงให้เห็นว่าเกาหลีเหนือเริ่มต้นเดินเครื่องปฏิกรณ์ผลิตพลูโตเนียมที่โรงงานวิจัยนิวเคลียร์ยองบยอน ตามรายงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ซึ่งใช้ภาพถ่ายและสื่อจากแหล่งข่าวที่เปิดเผยแหล่งที่มาเพื่อติดตามกิจกรรมของเกาหลีเหนือ จากนั้น ภาพถ่ายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 เผยให้เห็นว่ามีการปรับปรุงที่โรงงานยองบยอน ซึ่งอาจทำให้เกาหลีเหนือสามารถเพิ่มการผลิตวัสดุนิวเคลียร์ชั้นอาวุธได้มากถึงร้อยละ 25 นายเจฟฟรีย์ ลูอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธและศาสตราจารย์ที่สถาบันการศึกษานานาชาติมิดเดิลเบอรี กล่าวกับซีเอ็นเอ็น “การขยายตัวล่าสุดที่ยองบยอนอาจสะท้อนให้เห็นถึงแผนการที่จะเพิ่มการผลิตวัสดุนิวเคลียร์สำหรับการผลิตอาวุธ” นายลูอิสกล่าว

นายคิม จองอึน ที่มีรูปร่างผอมลงได้เข้าร่วมการเดินสวนสนามทางทหาร ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 73 ปีของสาธารณรัฐ ณ จัตุรัสคิม อิลซุง ในกรุงเปียงยางเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นายลูอิสตั้งข้อสังเกตว่าการก่อสร้างดังกล่าวสอดคล้องกับการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในโรงงาน นายลูอิสกล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า พื้นที่ใหม่ ซึ่งมีขนาดประมาณ 1,000 ตารางเมตร สามารถรองรับเครื่องหมุนเหวี่ยงเพิ่มเติมได้มากถึง 1,000 เครื่อง ซึ่งทำให้สามารถเพิ่มการผลิตยูเรเนียมได้มากขึ้นทุกปี

เนื่องจากหลักฐานที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความมุ่งมั่นด้านนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องของเกาหลีเหนือ สหรัฐฯ จึงยังคงยืนหยัดในความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายทางการทูตเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์ นายเนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า “เรามีความชัดเจนมากเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น” ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น “เรามุ่งมั่นในหลักการที่ว่าการเจรจาจะช่วยให้เราสามารถบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดของเราได้ ซึ่งก็คือการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีนั่นเอง”

พล.อ. ราฟาเอล มารีอาโน กรอสซี ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ กล่าวถึงกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือว่า “เป็นสาเหตุของความกังวลอย่างรุนแรง” และ “เป็นเรื่องที่น่าหนักใจอย่างยิ่ง” โดยอ้างถึงเกาหลีเหนือด้วยชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี

พล.อ. กรอสซี กล่าวระหว่างการปราศรัยในการประชุมสามัญของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ว่า “ความต่อเนื่องของโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างชัดเจนและเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง” “ผมขอเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเต็มที่ และร่วมมือกับหน่วยงานในการดำเนินการตามข้อตกลงคุ้มครองสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพโดยทันที ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขทั้งหมด โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีผู้ตรวจราชการแผ่นดิน”

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นว่าความถี่ในการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้น พ.ศ. 2565 เป็นสัญญาณของการต่อต้านกฎหมายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องของนายคิม ตลอดจนการรวบรวมวัสดุต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง เกาหลีเหนือดำเนินการทดสอบขีปนาวุธถึง 7 ครั้งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ซึ่งมากกว่าการทดสอบทั้งหมดใน พ.ศ. 2564 และกระตุ้นให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อบุคคลและหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาว่าช่วยพัฒนาและจัดหาวัสดุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธให้แก่นายคิม

นายคิมยังคงกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดอย่างต่อเนื่องในช่วงต้น พ.ศ. 2565 โดยดำเนินการทดสอบสิ่งที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ระบุว่าเป็น “ระบบขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีปที่ค่อนข้างใหม่” ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์และ 5 มีนาคม ซึ่งก่อให้เกิดการคว่ำบาตรเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ เกาหลีใต้รายงานว่า การทดสอบครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 16 มีนาคมสิ้นสุดลงด้วยความล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัดโดยเกิดการระเบิดขึ้นไม่นานหลังจากปล่อยตัว แต่ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าจะมีการทดสอบที่ใหญ่กว่าในเร็ว ๆ นี้

หลังการทดสอบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ สหรัฐฯ และอีก 10 ประเทศประณามการยิงขีปนาวุธว่าเป็นการกระทำที่ “ผิดกฎหมายและบ่อนทำลายเสถียรภาพ” ตลอดจนเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประณามรัฐบาลเกาหลีเหนือว่ากระทำการฝ่าฝืนมติของคณะมนตรีหลายประการ นายเจฟฟรีย์ เดอโลเรนติส รองเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้อ่านแถลงการณ์ร่วมของสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 11 ประเทศโดยมีนักการทูตจากอีก 6 ประเทศยืนเคียงข้าง ได้แก่ แอลเบเนีย บราซิล ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร รวมถึงออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ “เรายังคงมุ่งมั่นที่จะแสวงหาการทูตที่จริงจังและยั่งยืน และเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีเหนือตอบรับอย่างเป็นมิตรต่อการติดต่อจากสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ” แถลงการณ์ระบุ ทั้ง 11 ประเทศได้เรียกร้องให้เกาหลีเหนือ “เลือกเส้นทางทางการทูตเพื่อบรรเทาความตึงเครียดในภูมิภาคและส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ” และทั้ง 11 ประเทศยืนยันถึงความพร้อมของตนในการเจรจาโดยเน้นย้ำว่า “เราจะแสวงหาสันติภาพและเสถียรภาพโดยไม่หวั่นไหว”

สิทธิมนุษยชน

การคว่ำบาตรจากนานาชาติอย่างไม่ลดละและการแพร่ระบาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้ความยากลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวเกาหลีเหนือที่เกิดจากรัฐบาลทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก ท่ามกลางสถานการณ์ทั้งหมดนี้ ค่ายแรงงานยังคงมีอยู่ต่อไป องค์กรนอกภาครัฐและองค์กรอื่น ๆ กล่าวหาว่าค่ายเหล่านี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในขณะเดียวกัน เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 นายคิม จองอึนได้กล่าวขอบคุณเยาวชนที่ “เป็นอาสาสมัคร” ในการบังคับใช้แรงงานเพื่อแก้ไขปัญหา “ความล้าหลัง” หรือ “การแทรกซึมทางวัฒนธรรม” ตามรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครนิวยอร์ก

“การใช้แรงงานอย่างหนักของรัฐบาลเกาหลีเหนือโดยมีเหตุผลจากข้อเรียกร้องทางอุดมการณ์ถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป แรงงานที่ถูกบังคับเหล่านี้จะถูกส่งไปทำงานในโครงการต่าง ๆ ที่นายคิม จองอึน เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ เช่น การทำเหมืองแร่ การทำเกษตรกรรม และการก่อสร้าง” ตามรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ “การดำเนินการดังกล่าวช่วยให้เกาหลีเหนือสามารถเพิ่มการผลิตภายในประเทศได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในปัจจุบันที่การค้าข้ามพรมแดนเกือบจะหยุดชะงักลง อีกทั้งส่งสารทางการเมืองที่เฉพาะเจาะจงไปยังประชาชน”

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 นายคิมสั่งปราบปรามสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีเหนือถือว่าเป็นการต่อต้านสังคมนิยม ปัจเจกบุคคล หรือน่ารังเกียจ ซึ่งรวมถึงคำพูด การกระทำ และการแต่งกาย

“เยาวชนถูกสั่งให้เลิกดู เลิกอ่านหรือฟังวิดีโอ การออกอากาศ หรือข้อความที่ไม่ได้รับอนุญาต ห้ามเลียนแบบคำพูด เสื้อผ้า และทรงผมของตัวละครในละครโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ ตลอดจนถูกบังคับให้ดำเนินชีวิตโดยแสดงความจงรักภักดีต่อผู้นำเกาหลีเหนือ สานต่อระบบสังคมนิยม และปฏิบัติตามคำโฆษณาชวนเชื่อและคำสั่งของรัฐบาล” ตามรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ “การระดมคนที่เรียกว่า ‘อาสาสมัคร’ เพื่อทำงานในเหมือง ฟาร์ม หรือสถานที่ก่อสร้างเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานที่ทารุณภายใต้สภาวะที่รุนแรงและอันตรายเป็นเวลานานโดยได้ค่าจ้างเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้เลย รัฐบาลเกาหลีเหนืออาจกล่าวว่าทั้งหมดนี้เป็นโครงการอาสาสมัคร แต่ในความเป็นจริงมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถปฏิเสธคำขอได้ เนื่องจากการลงโทษอาชญากรรมในเกาหลีเหนือเป็นไปตามอำเภอใจ ขึ้นอยู่กับประวัติความภักดี ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และความสามารถในการจ่ายสินบน การปฏิเสธการทำงานเป็น ‘อาสาสมัคร’ อาจส่งผลให้มีการลงโทษอย่างรุนแรง รวมถึงการทรมานและการจำคุกเป็นเวลานาน”

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเฝ้าติดตามค่ายกักกันของเกาหลีเหนือ โดยพยายามสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตที่หลบหนีและให้คำมั่นว่าจะดำเนินคดีกับนายคิม จองอึน และเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนืออื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ

“การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ยังคงยืนยันว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้เกิดขึ้นแล้ว และอาจดำเนินต่อไปในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี” ตามรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 “สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติย้ำว่าไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายสำหรับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และผู้ที่รับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมในอดีตและต่อเนื่องควรต้องรับผิดชอบ สันติภาพที่ยั่งยืนในคาบสมุทรเกาหลีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการละเมิดดังกล่าวสิ้นสุดลงและผู้เสียหายมีสิทธิเข้าถึงความจริง ความยุติธรรม การชดใช้และได้รับการรับประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก”

นายอัน เมียง ชุล ทราบดีถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นภายในกำแพงค่ายกักกันของเกาหลีเหนือ นายอัน อดีตทหารของกองทัพประชาชนเกาหลี เคยทำงานเป็นทหารรักษาการณ์ในค่ายกักกันต่าง ๆ รวมถึงค่ายกักกันเฮรยองและค่ายกักกันออนซองตั้งแต่ทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2532) จนถึงทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533 – 2542) นายอันได้หลบหนีไปยังเกาหลีใต้ ปัจจุบัน นายอันดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของเอ็นเควอตช์ ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐในกรุงโซลที่มุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือและการนำตัวนายคิม จองอึน ขึ้นไต่สวนที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

“ปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือการแจกจ่ายอาหารไม่เพียงพอในเกาหลีเหนือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 70 ปีนับตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลเกาหลีเหนือ สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนโดยรวมในเกาหลีเหนือนั้นย่ำแย่มาก” นายอันกล่าวกับ ฟอรัม “เหตุผลที่ใหญ่ที่สุดคือตระกูลคิมกีดกันข้อมูลเกี่ยวกับโลกภายนอกเพื่อรักษาระบบของตน และชาวเกาหลีเหนือได้รับรู้เพียงการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการนับถือรูปเคารพของตระกูลคิมมาตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้นประชาชนจึงไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโลกภายนอก ด้วยเหตุนี้ ชาวเกาหลีเหนือจึงยอมรับในบรรยากาศที่ว่าพวกเขาเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตในลักษณะดังกล่าว”

นายอันกล่าวว่า ผู้แปรพักตร์จะช่วยนำการเปลี่ยนแปลงบางประการมาสู่สังคมปิดนี้ โดยส่งข่าวภายนอกผ่านทางโทรศัพท์และช่องทางอื่น ๆ นายอันกล่าวอีกว่าจะต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศรักษาประเด็นการกระทำอันโหดร้ายต่อสิทธิมนุษยชนให้เป็นความสนใจอันดับต้น ๆ ของการสนทนาเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกับการอภิปรายเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์

นอกจากนี้ ความจริงหลายประการก็เป็นที่รับรู้ในเขตแดนของประเทศ “จุดอ่อนที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือคือปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน” นายอันกล่าวกับ ฟอรัม “ผมไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ แต่ประชาชนเกาหลีเหนือกำลังถูกทรมาน ประชาคมโลกต้องส่งสารไปยังเกาหลีเหนือต่อไปว่าอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจะต้องได้รับการลงโทษในระดับนานาชาติ”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button