เรื่องเด่น

การแก้ปัญหา ความท้าทาย จำนวนมาก

พันธมิตรทางทหาร พลเรือน และวิทยาศาสตร์ทำงานร่วมกันทั่วอินโดแปซิฟิกเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามจากโดรนที่เพิ่มขึ้น

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

เบิดที่ปล่อยจากโดรนสร้างผลกระทบเพียงเล็กน้อย โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพอากาศอินเดีย 2 นายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยและเกิดความเสียหายอย่างไม่รุนแรงต่ออาคารฐานทัพอากาศในภูมิภาคจัมมูและแคชเมียร์ที่เป็นข้อพิพาท อย่างไรก็ตาม รูปแบบของการทิ้งระเบิดได้ส่งผลต่อเนื่องไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของกองทัพและรัฐบาลอินเดีย ตลอดจนระดับอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นด้วยเช่นกัน ฝูงโดรนขนาดเล็กได้ทิ้งระเบิดแสวงเครื่อง 2 ครั้งเมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 เพื่อโจมตีฐานทัพซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนประเทศอินเดียและปากีสถานประมาณ 15 กิโลเมตร

โดยได้มีการระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้าย ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือเป็นการโจมตีครั้งแรกที่ใช้ฝูงโดรนติดระเบิดทำลายฐานทัพอินเดีย อีกทั้งยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสู้รบแบบอสมมาตร ตามรายงานของเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญ เนื่องด้วยฝูงโดรนเชิงพาณิชย์หาซื้อได้ง่ายและราคาไม่แพง นี่จึงถือเป็น “ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่และน่าวิตก” พล.ท. ดี.เอส. ฮูดา แห่งกองทัพอินเดีย (เกษียณอายุ) ซึ่งเป็นผู้นำความพยายามด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนในฐานะหัวหน้ากองบัญชาการภาคเหนือของอินเดียตั้งแต่ พ.ศ. 2557 – 2559 กล่าวกับดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรสในวันที่มีการโจมตี พล.ท. ฮูดากล่าวว่า “ฝูงโดรนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่มองเห็นได้ยากและเรดาร์แบบดั้งเดิมแทบจะตรวจจับไม่ได้เลย” “กองทัพจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สามารถสกัดกั้นและป้องกันการโจมตีประเภทนี้ได้”

เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นคำเตือนล่วงหน้า ภายใน 24 ชั่วโมง ทหารอินเดียได้ยิงอากาศยานไร้คนขับ 2 ลำที่บินอยู่เหนือพื้นที่ทางทหารอื่น ๆ ในเขตจัมมูและแคชเมียร์ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ฮินดูสถานไทมส์ ทางการอินเดียตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด โดยมีมาตรการเพิ่มการลงทุนในระบบต่อต้านโดรน โครงการริเริ่มดังกล่าวเร่งรัดให้เกิดแนวทางการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามร่วมกันทั่วภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเพื่อเกณฑ์พันธมิตรทางทหาร ภาคพลเรือน และวิทยาศาสตร์มาช่วยรับมือกับความท้าทายจำนวนมากที่เกิดจากโดรน ไม่ว่าจะดำเนินการโดยรัฐหรือผู้กระทำการนอกภาครัฐก็ตาม “การทำสงครามด้วยโดรนเป็นหนึ่งในการพัฒนาด้านความมั่นคงระหว่างประเทศที่ สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21” ตามที่ระบุในบทความนิตยสารฟอ เรนอัฟแฟร์ส เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 “โดรนติดอาวุธมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และการทำสงครามด้วยโดรนก็มีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้าเช่นเดียวกัน”

เช่น ในศูนย์กลางการค้าทั่วโลกของสิงคโปร์ การเคลื่อนไหวของโดรนที่เป็นอันตรายอาจทำลายน่านฟ้า “ขนาดเล็ก แออัด และซับซ้อน” บทความในพอยเตอร์ระบุ วารสารของกองทัพสิงคโปร์ พ.ท. โฮ เซน เกียต, พ.ต. ลี เหม่ย อี้ และ ร.อ. ซิม เบา เชน แห่งกองทัพสิงคโปร์ระบุไว้ในวารสารฉบับกลาง พ.ศ. 2561 ว่า อุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศนี้ได้ลงทุนในเทคโนโลยีต่อต้านโดรน “สำหรับทั้งผู้ใช้เชิงพาณิชย์และทางทหารที่ต้องการปกป้องทรัพย์สินของตนจากภัยคุกคามจากโดรน” “นี่ยังคงเป็นขอบเขตการสำรวจ เนื่องจากมีการสำรวจวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ มากมายในระดับสากล ตั้งแต่การยิงตาข่ายจากปืนหรือโดรนขนาดเล็กอื่น ๆ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เลเซอร์และคลื่นไมโครเวฟกำลังสูง”

ทหารและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของสาธารณรัฐเกาหลีตรวจสอบโดรนระหว่างการฝึกซ้อมเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ในกรุงโซล เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการก่อการร้ายที่ใช้อากาศยานไร้คนขับติดตั้งวัตถุระเบิดหรืออาวุธเคมีที่อาจเกิดขึ้น รอยเตอร์

การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ

ในขณะที่กองทัพอินเดียกำลังตรวจสอบรายละเอียดของการโจมตีด้วยโดรน กองกำลังพิเศษของสาธารณรัฐเกาหลีกำลังเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ดังกล่าวในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งอุปกรณ์ควบคุมระยะไกลได้กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยมากขึ้นบนท้องฟ้าเหนือเมืองที่มีผู้คนกว่า 10 ล้านคน ระหว่างการฝึกซ้อมที่สปอร์ตคอมเพล็กซ์ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน บุคลากรของกองกำลังพิเศษได้ใช้อุปกรณ์รบกวนสัญญาณเพื่อปิดการทำงานของโดรนพ่นสารเคมีในการจำลองการโจมตี “การก่อการร้ายด้วยการใช้โดรนเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ๆ ทั่วโลก และเราได้เห็นการปรากฏของโดรนที่ไม่ได้รับอนุญาตค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นในกรุงโซล” นายชิน ดงอิล ผู้บังคับการสำนักงานตำรวจนครบาลกรุงโซล กล่าวกับรอยเตอร์ “ดังนั้น เราจึงได้วางแผนในการฝึกซ้อมครั้งนี้ เนื่องจากมีภัยคุกคามที่มาจากการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ต่อกรุงโซลเพิ่มมากขึ้น เช่น การก่อการร้ายด้วยวัตถุระเบิดหรือสารเคมีโดยใช้โดรน”

เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ กองทัพสาธารณรัฐเกาหลีได้เปิดตัวโครงการนำร่องสำหรับระบบตรวจจับและยับยั้งเพื่อหยุดการทำงานของโดรนที่เข้าใกล้อาคาร ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัป ซึ่งเป็นสำนักข่าวในเครือของรัฐบาลเกาหลีใต้ ระบบเรดาร์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีภายในประเทศนี้สามารถตรวจจับโดรนที่มีขนาดเล็กเท่ากับลูกเบสบอลได้ไกลถึง 8 กิโลเมตร และปล่อยสัญญาณรบกวนทำให้อากาศยานไร้คนขับที่ไม่ได้รับอนุญาตใช้การไม่ได้ ตามรายงานของสำนักงานโครงการจัดซื้อด้านกลาโหมของเกาหลีใต้ หลังจากการเปิดตัวดังกล่าวเพียงไม่นาน ก็มีข่าวว่ากองทัพสาธารณรัฐเกาหลีกำลังเร่งกระบวนการจัดหาเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์และขีดความสามารถอื่น ๆ ที่มีการพัฒนา รวมถึงความสามารถที่เกี่ยวข้องกับโดรน “เมื่อประเทศเพื่อนบ้านของเรากำลังทุ่มเทความพยายามระดับชาติในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต กองทัพของเราควรใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยพลัน เช่น ปัญญาประดิษฐ์และระบบไร้คนขับ รวมถึงมุ่งเน้นการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ด้านกลาโหมสำหรับอนาคต” นายซอ อุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ กล่าวเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ตามรายงานของสำนักข่าวยอนฮัป

ในเดือนเดียวกัน กองทัพอากาศอินเดียได้ยื่นข้อเสนอสำหรับระบบต่อต้านโดรน 10 ระบบที่จะส่งไปประจำการที่ฐานทัพอากาศ ตามรายงานของสำนักข่าวเอเชียน นิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ฐานทัพอากาศจำเป็นต้องพึ่งพาระบบที่พัฒนาภายในประเทศโดยใช้อาวุธเลเซอร์หรือใช้พลังงานโดยตรง และสามารถติดตั้งบนยานพาหนะ อาคาร หรือพื้นที่เปิดโล่งได้ อาวุธดังกล่าวอาจเป็น “ภัยคุกคามที่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฝูงโดรน” ตามรายงานของ นายเจค็อบ ปารากิลาส นักวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศและความมั่นคงระหว่างประเทศ นายปารากิลาสระบุในนิตยสารออนไลน์เดอะดิโพลแมตเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ว่า ความสามารถของเลเซอร์ “ในการยิงได้นานโดยไม่ต้องใช้กระสุนที่มีจำนวนจำกัด นับเป็นศักยภาพเฉพาะตัวในการต่อต้านฝูงโดรนน้ำหนักเบา ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงเมื่อเทียบกับมาตรการป้องกันแบบดั้งเดิม” “ในบริบทดังกล่าว อาวุธนี้อาจเป็นส่วนสำคัญของระบบป้องกันแบบหลายชั้น โดยใช้ป้องกันทางอิเล็กทรอนิกส์ ใช้เป็นเหยื่อล่อ ใช้กับขีปนาวุธและปืน ซึ่งล้วนเป็นมาตรการตอบโต้ภัยคุกคามประเภทต่าง ๆ”

สำนักงานต่อต้านระบบอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กร่วมของกองทัพบกสหรัฐฯ ได้ทำการสาธิตเทคโนโลยีต่อต้านโดรนที่เกิดขึ้นตลอดสัปดาห์ที่สนามทดสอบยูมาในรัฐแอริโซนาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 มาร์ค เชาเออร์/กองทัพบกสหรัฐฯ

จีนผลักดันการขยายตัว

ภัยคุกคามเหล่านั้นกำลังทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อสิบปีที่แล้ว มีเพียงอิสราเอล สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มี โดรนติดอาวุธ ตามข้อมูลการวิจัยโดยนักวิชาการสามคนในสหรัฐฯ หลังจากนั้นเป็นต้นมา มีอย่างน้อย 18 ประเทศที่ครอบครองโดรนติดอาวุธ และ “กลุ่มที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยมีแนวโน้มที่จะแสวงหาและครอบครองโดรนติดอาวุธมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ พ.ศ. 2554 – 2562 เนื่องจากจีนเข้าสู่ตลาดส่งออกโดรน” นายไมเคิล ซี. โฮโรวิทซ์และนายโจชัว เอ. ชวาร์ตซ์ แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และนายแมทธิว ฟูห์มันน์ แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสเอแอนด์เอ็ม ระบุไว้ใน “ใครมีแนวโน้มที่จะครอบครองโดรน การวิเคราะห์อนุกรมเวลาทั่วโลกของการเพิ่มจำนวนของอากาศยานไร้คนขับติดอาวุธ” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการจัดการความขัดแย้งและวิทยาศาสตร์สันติภาพเมื่อปลาย พ.ศ. 2563

สาธารณรัฐประชาชนจีนมีวิถีที่แตกต่างจากประเทศระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ โดยจีนไม่ได้เป็นหนึ่งใน 35 ประเทศสมาชิกของระบอบควบคุมเทคโนโลยีขีปนาวุธ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2532) ที่พยายามจำกัดการแพร่กระจายของขีปนาวุธและเทคโนโลยีขีปนาวุธ โดยควบคุมการส่งออกอุปกรณ์และระบบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงโดรน ตามรายงานการวิจัยระบุว่า ที่จริงแล้ว มี 11 ประเทศที่ได้โดรนติดอาวุธมาครอบครองตั้งแต่ พ.ศ. 2554 เช่นเดียวกับจีน ซึ่งรวมถึงรัฐบาลเผด็จการ “ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน” และอาจใช้โดรนเพื่อติดตามและปราบปรามพลเมืองของตนต่อไป คณะนักวิจัยระบุว่า “การแพร่กระจายของโดรน โดยเฉพาะโดรนติดอาวุธ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเมืองระหว่างประเทศ การใช้โดรนติดอาวุธที่มีเพิ่มมากขึ้นยังส่งผลกระทบที่สำคัญต่อการบีบบังคับระหว่างรัฐและพลวัตการขยายอำนาจ”

“สำหรับรัฐต่าง ๆ ที่ต้องการยุติการหยุดชะงักทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีมานาน การเพิ่มขึ้นของฝูงโดรนติดอาวุธที่มีราคาถูกและใช้ครั้งเดียวทิ้งถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจ” นายเจสัน ไลออล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางทหารของวิทยาลัยดาร์ทเมาท์ในสหรัฐฯ ระบุไว้ในบทความ “อนาคตของการทำสงครามด้วยโดรน” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารเดอะวีคเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 แม้แต่ฝูงโดรนที่ไม่ติดอาวุธก็สามารถคุกคามปฏิบัติการทางทหารและความมั่นคงได้เมื่อใช้ในการเฝ้าระวัง เช่น เป็นตัวล่อหรือขัดขวางระบบป้องกันภัยทางอากาศ “ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ที่มีราคาไม่แพงและไม่ซับซ้อน โดรนขนาดเล็กสามารถรวบรวมข้อมูลข่าวกรองที่สำคัญและกำหนดเป้าหมายไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าตัวโดรนเอง” ตามที่ระบุในบทความเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ในนิตยสารออนไลน์
เดอะวอร์โซน

ในกรณีของอินเดีย อย่างน้อยในตอนนี้ภัยคุกคามจากโดรนที่มาจากประเทศศัตรูก็มีน้อยกว่าจากกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งและทหารนอกภาครัฐต่าง ๆ กองกำลังความมั่นคงอินเดียในภูมิภาคทางตะวันตกที่มีพรมแดนติดกับปากีสถานรายงานการพบเห็น
โดรนประมาณ 250 ลำตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ถึง พ.ศ. 2563 พร้อมกับอากาศยานไร้คนขับที่ใช้ในการส่งอาวุธให้กับผู้ก่อการร้าย ลักลอบขนยาเสพติด และดำเนินการเฝ้าระวัง ตามที่ระบุในบทความเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ในเดอะดิโพลแมต พล.อ. มาโนจ มูกุนด์ นาราเวน ผู้บัญชาการทหารบกอินเดีย กล่าวว่า สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงมีความซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ทำให้การสร้างโดรนมีความคล้ายคลึงกับ “การประดิษฐ์ด้วยตัวเองที่สามารถทำได้ที่บ้าน” ตามรายงานของฮินดูสถานไทมส์

เพื่อนบ้านทางตะวันออกของอินเดียกำลังตกอยู่ในวิกฤตการณ์ที่คล้ายกัน เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายบังกลาเทศประกาศจับกุมทหาร 3 นายที่ต้องสงสัยว่าวางแผนโจมตีสถานที่ราชการด้วยโดรน ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามครั้งแรกในลักษณะนี้ในประเทศที่มีประชากร 165 ล้านคน ตามรายงานของเบนาร์นิวส์ “กลุ่มรัฐอิสลามในตะวันออกกลางได้ใช้ฝูงโดรนเพื่อปฏิบัติการโจมตีได้สำเร็จ แต่ในบังกลาเทศ จนถึงปัจจุบัน เรายังไม่เห็นความพยายามใด ๆ ของกลุ่มดังกล่าวในการโจมตีด้วยโดรน” นายอิลาฮี ชูดูรี (เกษียณอายุ) นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงและผู้บัญชาการกองทัพอากาศบังกลาเทศ กล่าวกับองค์กรข่าว “อาจกล่าวได้ว่าความพยายามของกลุ่มดังกล่าวในการใช้ฝูงโดรนเพื่อปฏิบัติการโจมตีนั้นเป็นมิติใหม่ การสร้างหรือปรับปรุงโดรนนั้นแทบจะกลายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนไปแล้ว บรรดานักเรียนและแม้แต่ช่างเทคนิคระดับล่างก็สามารถสร้างโดรนหรือเพิ่มความสามารถในการรับน้ำหนักได้”

การพิสูจน์ความคุ้มค่า

ความกังวลดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีต่อต้านโดรนทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงในสหรัฐฯ ซึ่งโครงการที่ผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านพลเรือนและการทหารนั้นอยู่ในระดับแนวหน้าของความก้าวหน้าในด้านการพัฒนาที่รวดเร็ว ในช่วงกลาง พ.ศ. 2564 กองทัพบกสหรัฐฯ และกองทัพเรือสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบต่อต้านโดรน ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยบริษัทด้านกลาโหมระดับโลก กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ดำเนินการติดตั้งระบบโดรนเซ็นทรี-เอ็กซ์ บนเรือทดลอง เอ็ม80 สติเลตโต เป็นเวลาหกสัปดาห์ ระบบขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์สามารถตรวจจับโดรนได้ไกลถึง 2 กิโลเมตรและขัดขวางโดรนในระยะเกิน 300 เมตร ตามข้อมูลของผู้ผลิตอย่าง โดรนชิลด์ ซึ่งกำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานกลาโหมแห่งชาติของออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร รวมถึงลูกค้ารายอื่น ๆ ด้วย “การสาธิตดังกล่าวทำให้เห็นว่า เอ็ม80 ต่อต้าน ‘ฝูงโดรน’ และสิ่งที่ได้รับการอธิบายว่าเป็น ‘ภัยคุกคามจากหุ่นยนต์ไร้คนขับที่หลากหลาย’” บทความเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ระบุไว้ในเดอะวอร์โซน “การรวมกันของเรือเดินสมุทรที่ไม่เหมือนใครของกองทัพเรือและระบบต่อต้านโดรนอัตโนมัติเน้นย้ำถึงภัยคุกคามที่มีนัยสำคัญมากขึ้น ซึ่งระบบไร้คนขับระดับล่างจะก่อให้เกิดการปฏิบัติการของกองทัพเรือ และอาจชี้ให้เห็นว่าระบบเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นบนเรือผิวน้ำ”

ในขณะเดียวกัน กองทัพสหรัฐฯ ใช้ระบบโคโยตี้บล็อก 3 ที่สนามทดสอบยูมาในรัฐแอริโซนาเพื่อปราบฝูงโดรน 10 ลำ ที่มีขนาด ขอบเขต และขีดความสามารถแตกต่างกัน ตามรายงานของเว็บไซต์ข่าวกลาโหม เจนส์ ระบบโคโยตี้ได้รับการพัฒนาโดย เรย์ธีออน ขีปนาวุธและการป้องกัน ซึ่งใช้หัวรบที่ไม่ใช้พลังงานจลน์ และ “สามารถกู้คืน ปรับปรุง และนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่ต้องออกจากสนามรบ” นอกจากนี้ กองทัพสหราชอาณาจักรยังจะดำเนินการทดสอบเทคโนโลยีต่อต้านอากาศยานไร้คนขับที่พัฒนาขึ้นโดยเรย์ธีออน ซึ่งเป็นระบบอาวุธเลเซอร์พลังงานสูงที่บริษัทได้ประกาศเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 “อาวุธที่ใช้พลังงานโดยตรงนั้นถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงการยุทโธปกรณ์ในอนาคตของเรา และเราตั้งใจที่จะเป็นผู้นำระดับโลกในการวิจัย การผลิต และการใช้เทคโนโลยียุคใหม่นี้” นายเจเรมี ควิน รัฐมนตรีฝ่ายจัดซื้อด้านกลาโหม กล่าวในแถลงการณ์

ด้วยแรงกระตุ้นจากการโจมตีฐานทัพอากาศ กองทัพอินเดียจึงกำลังแสวงหาเส้นทางสู่ความสำเร็จด้านเทคโนโลยียุคใหม่เพื่อเอาชนะภัยคุกคามที่เกิดขึ้น ต่อมา นายพลระดับสูงของอินเดียได้กล่าวเมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ว่า กองทัพทั้งสามเหล่าและองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านกลาโหมของประเทศกำลังร่วมมือกับนักวิชาการและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ เพื่อเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีต่อต้านโดรน ตามรายงานของฮินดูสถานไทมส์ โดยระบบนี้ประกอบด้วยสองแบบคือ การรบกวนสัญญาณหรือ “การทำลายแบบนุ่มนวล” และการใช้เลเซอร์หรือ “การทำลายแบบรุนแรง” ตามรายงานของนายจี สาธีศ เรดดี้ ประธานองค์กรวิจัยและพัฒนาด้านกลาโหม ภายในเดือนกันยายน กองทัพเรืออินเดียได้ลงนามในสัญญาสำหรับระบบดังกล่าว โดยคาดว่ากองทัพอากาศและกองทัพบกจะปฏิบัติตามอย่างรวดเร็ว ระบบภายในประเทศดังกล่าว ที่ผลิตโดยบริษัท บารัต อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด “สามารถตรวจจับและส่งสัญญาณรบกวนโดรนขนาดย่อมได้ทันที และใช้กลไกการทำลายด้วยเลเซอร์เพื่อยุติเป้าหมาย” ตามรายงานของแถลงการณ์ร่วม “ข้อตกลงนี้จะเป็นข้อตกลงที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั้งหมดในการต่อต้านภัยคุกคามจากโดรนที่เพิ่มขึ้นต่อฐานที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ทางเรือ”

ความแข็งแกร่งที่อาจเป็นดาบสองคม

จากประสบการณ์ของอินเดียในช่วงกลาง พ.ศ. 2564 ได้สรุปข้อดีและข้อเสียของโดรนในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งล้วนเป็นความสามารถที่จะนำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวมและศักยภาพอาจสร้างความหายนะ หากอยู่ในมือคนไม่ดี นับเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนหลังจากการโจมตีจัมมูและแคชเมียร์ รัฐบาลอินเดียได้เปิดเผยข้อกำหนดด้านการรับรองที่คล่องตัวและเส้นทางการเดินทางพิเศษ เพื่อเพิ่มการใช้โดรนสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเกษตร การตอบโต้เหตุฉุกเฉิน การทำแผนที่ทางภูมิศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐาน การบังคับใช้กฎหมาย การเฝ้าระวัง และการขนส่ง กระทรวงการบินพลเรือนอินเดียกล่าวในแถลงการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ว่า “อินเดียมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางของโดรนระดับโลกภายใน พ.ศ. 2573 เนื่องจากฝูงโดรนมีประโยชน์อย่างมหาศาลต่อทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ และสามารถก่อให้เกิดการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้ เนื่องจากเข้าถึงสะดวก ใช้งานได้หลากหลาย และใช้งานง่าย”

ผลประโยชน์ดังกล่าวประจักษ์ชัดมาก รัฐบาลอินเดียกำลังทำงานร่วมกับธุรกิจสตาร์ทอัพในท้องถิ่นเกี่ยวกับโครงการที่ใช้โดรนเพื่อปลูกต้นไม้ 5 ล้านต้นทั่วพื้นที่ 12,000 เฮกตาร์ของรัฐเตลังคานา ประเทศอินเดีย ในความร่วมมือด้านอื่นระหว่างภาครัฐและเอกชน รัฐเตลังคานากำลังบุกเบิกการใช้โดรนเพื่อส่งมอบวัคซีน เลือด และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ ให้แก่ชาวชนบทผ่านโครงการยาจากฟากฟ้า ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะฮินดู เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 โครงการที่คล้ายกันนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงในอินโดนีเซีย ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมโดรนมือสมัครเล่นเป็นหัวเรือใหญ่ในโครงการนวัตกรรมเพื่อให้บริการทางการแพทย์แบบไร้สัมผัสและการจัดส่งอาหารแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่กักตัวเองบนเกาะห่างไกล

อุปกรณ์สำหรับผู้บริโภคแบบเดียวกันที่ช่วยให้นักบังคับโดรนสามารถช่วยชีวิตคนได้และยังช่วยปลิดชีพกลุ่มหัวรุนแรงได้อีกด้วย การแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก “แนวโน้มทางเทคโนโลยีกำลังค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงการใช้งานอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กให้ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้สิ่งนี้กลายเป็นอาวุธที่มีศักยภาพมากขึ้น เมื่ออยู่ในมือของผู้มีบทบาทของรัฐและไม่ใช่รัฐ ตลอดจนอาชญากร” กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ต่อต้านระบบอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564

หนึ่งปีก่อนหน้านี้ กองทัพสหรัฐฯ จัดตั้งสำนักงานต่อต้านระบบอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กร่วม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการฝึกอบรม วัสดุ และหลักปฏิบัติที่จำเป็นในการต่อต้านโดรนขนาดเล็กซึ่ง “แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ต้นทุนต่ำ ผลตอบแทนสูง และศักยภาพที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและทำลายบุคลากรของสหรัฐฯ ทรัพย์สิน ตลอดจนผลประโยชน์ที่สำคัญ” หน้าที่ของสำนักงานต่อต้านระบบอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กร่วม ได้แก่ การสร้างระเบียบการและมาตรฐานการทดสอบ การสร้างหลักสูตรการฝึกอบรมและการเป็นเจ้าภาพการสาธิตเทคโนโลยีต่อต้านโดรนที่เกิดขึ้นที่สนามทดสอบยูมา ระบบที่ทดสอบบางระบบจะยิงตาข่ายหรือเชือกจากปืนบนเครื่องบิน เพื่อให้พันกับใบพัดของโดรนศัตรู ในขณะที่ระบบอื่น ๆ จะยิงโดรนให้ตกลงมาหรือกระแทกกลางอากาศ ตามรายงานข่าวประชาสัมพันธ์ของกองทัพสหรัฐฯ “ผมคิดว่าเราควรสิ้นสงสัยในเรื่องนี้ เนื่องจากเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้แก่อุตสาหกรรมนี้ ตลอดจนนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อต่อต้านภัยคุกคามที่มีต่อนักรบของเรา” นายสแตนลีย์ ดาร์โบ รองผู้อำนวยการสำนักงานด้านขีดความสามารถที่รวดเร็วและเทคโนโลยีที่สำคัญของกองทัพบกสหรัฐฯ กล่าว

เนื่องจากกองทัพมีความพร้อมสำหรับความท้าทายต่าง ๆ ที่ฝูงโดรนแสดงให้เห็น กองทัพจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายและกฎระเบียบที่โปร่งใส ซึ่งจะต้องมีการทบทวนและแก้ไขอย่างต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “ได้มีการนำระบบอาวุธที่มีการทำงานแบบอัตโนมัติมาใช้อย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ในการต่อสู้เป็นเวลาแปดทศวรรษ และจะยังคงนำระบบดังกล่าวไปใช้ต่อในอนาคต” นายโรเบิร์ต โอ. เวิร์ค (เกษียณอายุ) อดีตรองเลขาธิการกลาโหมสหรัฐฯ และผู้พันนาวิกโยธินสหรัฐฯ ระบุไว้ในรายงานชื่อ “หลักการสำหรับการสู้รบกับระบบอาวุธที่มีการทำงานแบบอัตโนมัติ” ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 โดยศูนย์ความมั่นคงแห่งอเมริกาใหม่ “ที่จริงแล้ว การเพิ่มแอปพลิเคชันที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ลงในระบบอาวุธเหล่านี้คาดว่าจะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติมากยิ่งขึ้นต่อการใช้กำลังและนำไปสู่การลดการสู้รบโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศทั้งหมด”

อย่างไรก็ตาม ระบบอาวุธไร้คนขับอาจเกิดข้อขัดข้องได้จากการทำผิดหรือพลั้งเผลอของมนุษย์ และเราควรเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านั้น เช่น หลังจากการโจมตีด้วยโดรนของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ได้คร่าชีวิตพลเรือนไปกว่า 10 ราย ผู้นำทหารได้สั่งการให้มีการสอบสวนอุบัติเหตุอันน่าสลดนี้ จากการตรวจสอบโดยผู้ตรวจการของกองทัพอากาศสหรัฐฯ พบว่ากลุ่มผู้ควบคุมอากาศยานไร้คนขับเชื่อว่าตนกำลังพุ่งเป้าไปที่ผู้ก่อการร้ายที่วางแผนโจมตีสนามบินคาบูล ซึ่งมือระเบิดพลีชีพได้สังหารพลเรือนจำนวนมากและทหารสหรัฐฯ 13 นาย เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้

แม้ว่าการสืบสวนจะไม่พบการละเมิดกฎหมาย อันได้แก่ กฎหมายสงคราม แต่สรุปได้ว่า “มีข้อผิดพลาดในการปฏิบัติการ รวมถึงความเอนเอียงเพื่อยืนยันและความล้มเหลวในการสื่อสาร” ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นอกเหนือจากมาตรการอื่น ๆ ผู้ตรวจการแนะนำให้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อลดความเสี่ยงของความเอนเอียงในการยืนยัน ยกระดับการแบ่งปันการรับรู้สถานการณ์ภารกิจ ตลอดจนทบทวนขั้นตอนเบื้องต้นที่ใช้ในการประเมินการปรากฏตัวของพลเรือน

ในขณะเดียวกัน กองทัพสหรัฐฯ ยังคงฝึกฝนความสามารถในการต่อต้านโดรนร่วมกับผู้ร่วมงานทั้งภาครัฐและเอกชน การสาธิตที่สนามทดสอบยูมาคาดว่าจะดำเนินต่อไปอีกหลายปี “สุดท้ายนี้ เราจะร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราเพื่อพัฒนาความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับภัยคุกคาม ช่องโหว่ และความต้องการในการทำงานร่วมกัน” กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ต่อต้านระบบอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก “จากแนวทางแบบองค์รวมนี้ กระทรวงกลาโหมจะทำให้มั่นใจว่ากองกำลังร่วมทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button