เรื่องเด่น

การต่อสู้ เพื่อ เสรีภาพทางดิจิทัล

การแข่งขันเพื่อครอบงำระบบนิเวศทางเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังหนุนนำการต่อสู้ระหว่างการปกครองแบบประชาธิปไตยและเผด็จการ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ประชาชนคิวบาจำนวนหลายพันคนออกมา ประท้วงเต็มพื้นที่ท้องถนนต่อความล้มเหลวในการจัดหาอาหาร ยารักษาโรค และสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ ของรัฐบาลท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ภายในไม่กี่วัน รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ปิดการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ภายในประเทศ ปิดกั้นการแพร่ภาพความไม่พอใจที่มีอย่างกว้างขวางไปยังโลกภายนอกเป็นเวลาหลายวัน คิวบาไม่เพียงแต่ใช้รูปแบบตามพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเรื่องแนวปฏิบัติการควบคุมพลเมืองของตน แต่เทคโนโลยีและบริษัทต่าง ๆ จากจีนที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมแก่คิวบานั้นเอื้อให้เกิดการเซ็นเซอร์ในลักษณะนี้ด้วย

รัฐบาลเผด็จการอย่างคิวบาตั้งความหวังอย่างมากว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะช่วยจัดหาเครื่องมือดิจิทัลสำหรับการเฝ้าระวัง เฝ้าติดตาม และการเซ็นเซอร์ภายในประเทศ เพื่อจัดการกับประชาชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนเพื่อสนับสนุนรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการของตน ตามชุดรายงานของสถาบันวิจัยด้านความมั่นคงชั้นนำ

ในรายละเอียดของรายงานดังกล่าวระบุว่า องค์ประกอบของการปราบปรามด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงของรัฐบาลจีนที่ใช้ควบคุมชนกลุ่มน้อยในมณฑลซินเจียงอย่างแพร่หลายที่สุดได้รับการนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ของจีนและในอีกหลายสิบประเทศในแอฟริกา ลาตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอย่างน้อย 50 ประเทศกำลังพัฒนาระบบเฝ้าระวังที่ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ สนับสนุน ซึ่งได้รับมาจากบริษัทหัวเหว่ยของจีน ตามที่ระบุในรายงานที่เปิดเผยโดยมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2562 เครื่องมือบิดเบือนข้อมูลที่ใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำของรัสเซียยังมีการนำไปใช้ในอีกหลายสิบประเทศ เพื่อช่วยปราบปรามการต่อต้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศและปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยในต่างแดน ดังที่ ดร. อลินา โพลีอาโควา และนายคริส เมเซโรล ได้บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้ในรายงานประจำปี พ.ศ. 2562 ของสถาบันบรูกกิงส์ เรื่อง “การส่งออกลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัล: แบบจำลองของจีนและรัสเซีย”

ตำรวจปราบจลาจลเดินไปตามท้องถนนเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 หลังเกิดการประท้วง ต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในเมืองฮาวานา ประเทศคิวบา เอเอฟพี/เก็ตตี้ อิมเมจ

รัฐบาลที่เป็นกลางมากขึ้น แม้แต่ในระบอบประชาธิปไตยบางประเทศ เช่น เซอร์เบียและยูกันดา ก็ถูกชักจูงด้วยคำมั่นสัญญาที่จะควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้แม้ว่าจะมีผลกระทบได้ในระยะยาว ดังที่นายเอรอล เยย์โบเค และนายแซม แบรนเนน อธิบายไว้ในรายงานประจำปี พ.ศ. 2563 ของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา หัวข้อ “ส่งเสริมและสร้าง: แนวทางเชิงยุทธศาสตร์สู่ลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัล”

ตั้งแต่มีรายงานออกมาแนวโน้มดังกล่าวมีแต่จะพุ่งสูงขึ้น นายเยย์โบเค ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโครงการด้านความเปราะบางและความคล่องตัวของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา กล่าวกับ ฟอรัม ว่า “รัฐที่มีการปกครองแบบเผด็จการยังคงใช้วิถีทางดิจิทัลในการปราบปรามพลเมืองของตน โดยมักใช้การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นข้ออ้างในการออกกฎหมายการควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้น” “เช่น การเก็บรวบรวมข้อมูลด้านสถานที่และการตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยเหตุผลด้านสาธารณสุขยังถูกใช้เป็นช่องทางให้รัฐบาลติดตามพลเมืองของตนอย่างใกล้ชิดได้ แต่สิ่งที่ทำให้ผมเป็นกังวลมากที่สุดคือแนวโน้มเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในประเทศที่เห็นได้ชัดว่าไม่ได้มีการปกครองแบบเผด็จการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนึ่งในเครื่องมือดังกล่าวคือ การเก็บรักษาข้อมูลไว้ภายในประเทศ ซึ่งกำลังนำมาใช้บ่อยขึ้นภายใต้หน้ากากของ ‘ความเป็นส่วนตัว’ และ ‘ความมั่นคงของชาติ’”

แม้ว่าแรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อาจแตกต่างกันอย่างมาก “แต่ในหลาย ๆ กรณี ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยหรือเป็นประชาธิปไตยเพียงบางส่วนกำลังหันมาใช้เทคโนโลยีดังกล่าว (ส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอย่างจีนและรัสเซีย) เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้มีราคาถูกที่สุดและบางครั้งก็เป็นเพียงตัวเลือกเดียว นายเยย์โบเคกล่าวว่า ผู้คนอาจรู้สึกว่าในช่วงเวลาเฉพาะที่มีการระบาดใหญ่นี้ การทราบข้อมูลเกี่ยวกับพลเมืองมากขึ้นย่อมมีประโยชน์กว่าการไม่ทราบข้อมูลใดเลย หรืออาจถึงขนาดคิดเข้าข้างตนเองว่ามาตรการควบคุมที่มีมากขึ้นเหล่านี้จะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น” “ประวัติศาสตร์บอกเราว่าการควบคุมที่เพิ่มขึ้นในลักษณะนี้ แม้ในตอนแรกจะมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในระยะสั้นและไม่ได้มีเจตนาบงการ แต่ก็เป็นเรื่องยากสำหรับผู้นำที่จะสละอำนาจนี้ทิ้ง”

ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกันว่า พันธมิตร หุ้นส่วน และประเทศร่วมอุดมการณ์ต้องทำงานร่วมกันเพื่อขยายรูปแบบประชาธิปไตยเชิงแข่งขันด้านธรรมาภิบาลทางดิจิทัล เพื่อต่อต้านการแผ่ขยายของลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัล ระบบต่าง ๆ จะต้องมีการยกระดับความมั่นคงหากแต่ยังสามารถปกป้องเสรีภาพพลเมืองและสิทธิมนุษยชนได้ ตลอดจนสามารถนำมาใช้ร่วมกับบรรทัดฐานการดำเนินการที่มีการกำหนดไว้ นายเมเซโรล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยโครงการด้านปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีเกิดใหม่ของบรูกกิงส์ และนายพอลยาโควา ประธานและประธานกรรมการบริหารของศูนย์วิเคราะห์นโยบายยุโรป ระบุ

ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ กล่าวแย้งว่ากองทัพสามารถมีบทบาทสำคัญในการสร้างและปกป้องประชาธิปไตยทางดิจิทัลได้ แม้ว่าบางประเทศกำลังใช้ประโยชน์จากกำลังทหารของตนเพื่อขยายอำนาจการปกครองแบบดิจิทัลให้คงอยู่ต่อไป ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกันว่าการยกระดับการตระหนักรู้ในเรื่องการควบคุมและการปั่นข้อมูลให้สาธารณชนทราบถือเป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหานี้เช่นกัน

“ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยต้องตระหนักว่าเรากำลังอยู่ในการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์เหนือรูปแบบการปกครองทางดิจิทัลที่จะมีอิทธิพลในศตวรรษที่ 21” ตามที่ระบุในบทสรุปของรายงานประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ของกองกำลังเฉพาะกิจด้านยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านระบอบเผด็จการแห่งสหรัฐฯ ซึ่งก่อตั้งโดย ฟรีดอมเฮาส์ องค์กรนอกภาครัฐไม่แสวงหาผลกำไร ร่วมกับศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา และสถาบันแมคเคนเพื่อความเป็นผู้นำระดับนานาชาติ ณ มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2563

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 รถยนต์ขับผ่านอาคารรัฐสภาในฮาวานา ประเทศคิวบา หนึ่งวันหลังจากที่มีผู้ประท้วงหลายพันคนออกมาตามท้องถนนและร้องตะโกนว่า “ระบอบเผด็จการจงล่มสลาย” เอเอฟพี/เก็ตตี้ อิมเมจ

แบบจำลองของไต้หวัน

สำหรับกรณีตัวอย่าง เช่น ไต้หวันกำลังพัฒนาต้นแบบจำลองประชาธิปไตยทางดิจิทัลตามเป้าหมายในการปฏิรูปรัฐสภาของประเทศ แบบจำลองดังกล่าวมุ่งใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนด้านความโปร่งใส การเปิดกว้าง การมีส่วนร่วม การแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล ตลอดจนทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตามรายงานของนิตยสารออนไลน์เดอะดิโพลแมต เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564

นายอู๋ มินซวน หรือที่รู้จักในชื่อ ทีทีแคท ได้อธิบายกับเดอะดิโพลแมตว่า ประชาธิปไตยทางดิจิทัลก่อตั้งขึ้นบนพื้นฐานของเทคโนโลยีเพื่อพลเมือง ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประชาธิปไตยและให้สิทธิ์แก่ประชาชนในการลงคะแนน นายอู๋ มินซวน เป็นผู้ร่วมก่อตั้งดับเบิลธิงค์แล็บ ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2562 เพื่อค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับภัยคุกคามที่มีต่อประชาธิปไตยและค้นหาวิธีการรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว ในขณะเดียวกัน ลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัลได้ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ตั้งแต่เครื่องมือเพื่อการควบคุมและการสร้างความปั่นป่วน เช่น การเฝ้าระวัง การจารกรรม การโจมตีทางไซเบอร์ การเซ็นเซอร์ และการบงการทางสังคมและการเลือกตั้ง ไปจนถึงเครื่องมือเพื่อการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การควบคุมระบบการให้บริการอินเทอร์เน็ต และการเก็บรักษาข้อมูลไว้ภายในประเทศ นายเยย์โบเคระบุ

“ขณะที่รัฐบาลจีนกำลังใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทางดิจิทัล เช่น ระบบเครดิตสังคมและการเซ็นเซอร์ของรัฐ ในไต้หวันภาคประชาสังคมกำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างแข็งขันเพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปนโยบายได้ในทุกวัน” นายออดรีย์ ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลไต้หวันกล่าวกับเดอะดิโพลแมต “สำหรับประชาธิปไตยทางดิจิทัล ความโปร่งใสคือการทำให้รัฐมีความโปร่งใสต่อประชาชน” ส่วนในลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัล คำว่า ‘ความโปร่งใส’ คือการทำให้ประชาชนมีความโปร่งใสต่อรัฐ”

บทเรียนที่ผ่านการเรียนรู้และเทคโนโลยีที่ผ่านการพัฒนาเพื่อปฏิรูปรัฐบาลไต้หวันสามารถถ่ายทอดไปยังประเทศประชาธิปไตยอื่นได้อย่างรวดเร็ว แม้จะไม่มีแบบจำลองใหม่ใดที่สมบูรณ์แบบ แต่นายเยย์โบเคกล่าวว่าเดนมาร์กและเอสโตเนียก็ได้สร้างแบบจำลองระบอบประชาธิปไตยทางดิจิทัลที่เหมาะสมซึ่งอาจแบ่งปันไปยังประเทศอื่น ๆ ได้เช่นกัน

ทีทีแคทกล่าวกับเดอะดิโพลแมตว่า “จีนอาจมีเพียงสิ่งเดียวที่มั่นใจได้ คือ การเล่าเรื่องโฆษณาชวนเชื่อที่จีนดำเนินการมาหลายปีว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีไว้สำหรับเอเชีย เรื่องนี้ไม่น่าสนใจอีกต่อไปแล้วเมื่อดูจากความก้าวหน้าของไต้หวัน”

กลุ่มผู้อยู่อาศัยกำลังมองดูบุคลากรด้านความมั่นคงในคัชการ์ ภูมิภาคซินเจียงทางตะวันตกของจีน เจ้าหน้าที่กำลังใช้ศูนย์กักกันและการเฝ้าระวังที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพื่อใช้อิทธิพลของรัฐตำรวจบังคับชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่น ๆ ในภูมิภาคดังกล่าว ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การพิทักษ์รักษาประชาธิปไตย

รายงานของสถาบันวิจัยหลายฉบับระบุว่า นอกเหนือจากแบบจำลองที่มีความสามารถในการแข่งขันแล้ว แนวทางต่าง ๆ ที่กีดกันการจัดหาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สนับสนุนลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัล เช่น การคว่ำบาตรและการควบคุมการส่งออก อาจช่วยยับยั้งการตักตวงผลประโยชน์จากระบบดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาเกิดความซับซ้อนมาจากเศรษฐกิจด้านการเฝ้าระวังที่พัฒนาอย่างเต็มที่ แม้จีนจะเป็นผู้จัดหาระบบการเฝ้าระวังรายใหญ่ที่สุด แต่ทว่าหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อิสราเอล รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ยังจัดหาเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถใช้เพื่อการสนับสนุนการควบคุมขนาดประชากรได้เช่นกัน นายเมเซโรลและนายพอลยาโควาระบุ

สหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรปได้ดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อจำกัดการส่งออกเครื่องประมวลผลกลางและเซ็นเซอร์ขั้นสูงที่สนับสนุนระบบเฝ้าระวังมวลชน ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงผลิตในประเทศตะวันตก ตามรายงานของสถาบันบรูกกิงส์ เช่น การบริหารงานของสหรัฐฯ ในขณะนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปิดกั้นการจัดส่งชิปให้แก่บริษัทหัวเหว่ยไปทั่วโลก เพื่อขัดขวางการขยายตัวของบริษัทเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ตามรายงานของรอยเตอร์ มาตรการดังกล่าวอาจชะลอการแพร่กระจายของระบบเฝ้าระวังมวลชนได้ เนื่องจากจีนมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการบรรลุการได้มาซึ่งสารกึ่งตัวนำอย่างเพียงพอ อีกทั้งเกิดความล้มเหลวในเรื่องเงินทุนสนับสนุนโครงการด้านสารกึ่งตัวนำจำนวนมากอีกด้วย ตามรายงานข่าว อัตราส่วนของการมีสารกึ่งตัวนำอย่างเพียงพอของจีนคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 19.4 ใน พ.ศ. 2568 เท่านั้น ตามที่ระบุในบทความประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 บนเว็บไซต์ของนิกเคอิเอเชีย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลักดันให้ยุโรป อเมริกาเหนือ และภูมิภาคอื่น ๆ กำหนดเวลาในการลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากจีนให้เร็วยิ่งขึ้น โดยไม่เพียงแต่ตอกย้ำให้เห็นถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังสร้างความวิตกกังวลในกลุ่มธุรกิจตะวันตกและอินโดแปซิฟิกในเรื่องของความมั่นคงของข้อมูลและความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับการร่วมมือในการพยายามพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ
ร่วมกับบริษัทของจีน เช่น อินเดียประกาศสั่งห้ามแอปที่มาจากจีน 59 แอปไม่ให้เข้ามาในตลาดภายในประเทศเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ตามรายงานของสำนักข่าวหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ก่อนเกิดการระบาดของโรคดังกล่าว ในหลายประเทศ รวมทั้งออสเตรเลีย ได้มีการปิดกั้นไม่ให้บริษัทหัวเหว่ยจัดหาเครือข่าย 5จี แก่ประเทศของตนมาอย่างยาวนานแล้ว

สหรัฐฯ ได้ดำเนินโครงการริเริ่มหลายโครงการเพื่อต่อต้านลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัล โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านความพยายามต่าง ๆ ที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดทางเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ เพื่อให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนแยกตัวออกจากกัน สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อทำความเข้าใจลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้นผ่านโครงการต่าง ๆ ตั้งแต่การตรวจจับข้อมูลที่ผิดพลาดและการปลอมแปลงเชิงลึกทางออนไลน์ ไปจนถึงการวิเคราะห์แคมเปญเพื่อการปฏิบัติการด้านข้อมูลต่าง ๆ สมาชิกสภานิติบัญญัติกำลังผลักดันโครงการริเริ่มหลายโครงการ เพื่อพัฒนาการผลิตไมโครอิเล็กทรอนิกส์และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศ เพื่อต่อต้านอิทธิพลของรัฐบาลเผด็จการ เช่น จีน ที่มีต่อเทคโนโลยีเกิดใหม่ ซึ่งนำโดยหน่วยงานจัดตั้งใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยหน่วยงานดังกล่าวจะสร้างเส้นทางเพื่อกำหนดมาตรฐานด้านเทคโนโลยีระดับสากลท่ามกลางเป้าหมายอื่น ๆ

นางมิเอเกะ ออยาง ผู้ช่วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ ด้านนโยบายไซเบอร์ระบุว่า ความร่วมมือเป็นกุญแจสำคัญในการต่อต้านลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัล “เราต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเรากำลังเสนอทางเลือกให้แก่พันธมิตร เมื่อพวกเขากำลังคิดและพิจารณาจัดซื้อเทคโนโลยีสำหรับประเทศของตน และเราจำเป็นต้องทำงานให้ดียิ่งขึ้นในการช่วยเหลือด้านความเสี่ยงและช่องโหว่ต่าง ๆ ที่พันธมิตรและหุ้นส่วนของเราอาจประสบ หากพวกเขาต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดซื้อเทคโนโลยีดังกล่าว” นางออยางกล่าวกับNextgov.com

เมื่อกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านนโยบายอิสระที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ออกรายงานที่เร่งให้สหรัฐฯ จัดตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อผลักดันกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีแห่งชาติในการแข่งขันกับจีนเช่นกัน หน่วยงานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งชาติที่ได้รับการเสนอจะมีงบประมาณเทียบเคียงกับมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท) และจะประกอบด้วย 5 แผนก ได้แก่ แผนกข้อมูลและการวิเคราะห์ แผนกอุตสาหกรรมขั้นสูง แผนกเทคโนโลยีเกิดใหม่ แผนกระบบนวัตกรรม รวมถึงแผนกประสานงานข้ามหน่วยงานและข้ามรัฐบาล

“มีหลายขั้นตอนที่รัฐสภาสหรัฐฯ และฝ่ายบริหารควรดำเนินการเพื่อแข่งขันกับจีน แต่วิธีที่ดีที่สุดที่จะเปลี่ยนเกมนี้ได้อย่างสิ้นเชิงคือการสร้างหน่วยงานพิเศษที่มีภารกิจเฉพาะและแหล่งทรัพยากรที่เพียงพอ เพื่อส่งเสริมตำแหน่งทางการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง” นายโรเบิร์ต แอตคินสัน ประธานมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม และผู้เขียนรายงานดังกล่าว กล่าวในแถลงการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายแย้งว่าสิ่งสำคัญในการต่อต้านลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัลคือการเสริมสร้างประชาธิปไตย ผู้นำประเทศประชาธิปไตย เช่น สหรัฐฯ จำเป็นต้องเสริมสร้างความเชื่อมั่นในสถาบันภายในประเทศด้วยการขจัดการแทรกแซงการเลือกตั้งจากต่างประเทศ สนับสนุนการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ และสกัดกั้นการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดและการแพร่ขยายของทฤษฎีสมคบคิด นายเยย์โบเคและนายแบรนเนนกล่าวอภิปรายในรายงานของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาของตน

รายงานเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 จากกองกำลังเฉพาะกิจที่นำโดยฟรีดอมเฮาส์ดำเนินการศึกษาต่อไป รายงานดังกล่าวชี้แนะว่า “สหรัฐอเมริกาควรยึดมั่น ‘การทูตประชาธิปไตย’ ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องความเป็นประชาธิปไตยและการต่อต้านลิทธิอำนาจนิยมเป็นอันดับแรกสำหรับข้อผูกพันการทูตของสหรัฐฯ การจัดลำดับความสำคัญดังกล่าวควรรวมถึงการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากลิทธิอำนาจนิยมและเสริมสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แนวทางอันเป็นรากฐานของเราควรรวมถึงการเป็นพันธมิตรและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับรัฐบาล องค์กรภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัยต่าง ๆ พร้อมด้วยภาคเอกชนและพลเมืองที่กำลังทำงานเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านี้” กองกำลังพิเศษดังกล่าวระบุว่าการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ถือเป็นโอกาสอันดีของการดำเนินการดังกล่าว

นายเมเซโรลและนายพอลยาโควาชี้แนะว่าประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนต้องส่งเสริมหลักการทางประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ และสนับสนุนการแสดงออกทางออนไลน์อย่างเสรี รวมถึงการสื่อสารที่ปลอดภัย “เพื่อสร้างความพร้อมรับมือในการต่อต้านการดำเนินการที่มีอิทธิพลจากต่างประเทศต่อสังคมประชาธิปไตย รัฐบาลควรลงทุนสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนเรื่องการปั่นข้อมูล” นายเมเซโรลและนายพอลยาโควาระบุ “ซึ่งควรครอบคลุมถึงการให้ทุนสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาต่าง ๆ ที่สร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ทางดิจิทัลในกลุ่มเยาวชน”

บทบาทของกองทัพ

นายโจชัว บารอน ผู้จัดการโครงการของสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหม กล่าวกับ ฟอรัม ว่า อย่างไรก็ตาม ผู้นำด้านกลาโหมและผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงก็ไม่ควรรอให้รัฐบาลที่เหลือดำเนินการ นายบารอนกล่าวว่า “แนวคิดของลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงปัญหาภายในแวดวงนโยบายการต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังอยู่ในแวดวงด้านความมั่นคงแห่งชาติอีกด้วย”

เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สนับสนุนลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัลทำให้การดำเนินการในสภาวะแวดล้อมดังกล่าวมีความท้าทายมากขึ้นสำหรับกองทัพของพันธมิตรและหุ้นส่วน เช่น เครื่องมือต่าง ๆ ที่สนับสนุนการเฝ้าระวังตามเวลาจริงและการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตอาจบั่นทอนความปลอดภัยด้านการปฏิบัติการได้ นายบารอนกล่าว “ในทุกการดำเนินการผ่านทางอินเทอร์เน็ตในระดับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ทุกสิ่งที่เราทำล้วนมีร่องรอยทางดิจิทัล เนื่องจากประเทศต่าง ๆ มีความสามารถในการควบคุมสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น สิ่งนี้จึงส่งผลกระทบต่อเรา”

เช่น ในหลายประเทศที่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีการเฝ้าระวังตามขนาดประชากรอย่างมหาศาลอาจมีข้อได้เปรียบในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้สร้างอำนาจชักจูงพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ เนื่องจากประชาคมกลาโหมไม่เคยถือว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นอาวุธมาก่อนตั้งแต่ในอดีต นายบารอนกล่าว เครื่องมืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัลอาจถูกนำมาใช้เพื่อ “เสริมสร้างอิทธิพลภายในประเทศและควบคุมการดำเนินงานต่าง ๆ ที่สามารถหนุนนำการสนับสนุนจากประชาชนต่อระบอบการปกครองแบบลัทธิแก้ได้ ตลอดจนใช้การดำเนินการที่คล้ายคลึงกันนี้กับประชาชนชาวอเมริกัน” นายบารอนอธิบายไว้ในบทความของ DefenseOne.com เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564

สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการหลายโครงการเพื่อสร้างเครื่องมือที่ต่อต้านขีดความสามารถดังกล่าว โดยการช่วยให้กองทัพและประชาชนได้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ นายบารอนกล่าวกับ ฟอรัม เช่น สำนักงานดังกล่าวกำลังพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารเคลื่อนที่ซึ่งทนทานต่อการโจมตีเพื่อใช้ในสภาวะแวดล้อมที่มีความขัดแย้ง โครงการนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ การสื่อสารแบบไม่เปิดเผยตัวตนที่ยืดหยุ่นสำหรับทุกคน โดยผู้ใช้สามารถหลบเลี่ยงการกำหนดเป้าหมายในวงกว้างของศัตรูโดยการใช้กลยุทธ์การเข้ารหัสและการฝังโพรโทคอล นายบารอน ผู้ดูแลโครงการดังกล่าวระบุ เทคโนโลยีการสื่อสารแบบไม่เปิดเผยตัวตนที่ยืดหยุ่นสำหรับทุกคนอาจช่วยลดการโจมตีโดยปฏิเสธการให้บริการและปกป้องความเป็นส่วนตัวได้

สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมยังได้ดำเนินโครงการที่เรียกว่า การประเมินสภาพแวดล้อมของการควบคุมข้อมูล เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินวิธีที่ลัทธิอำนาจนิยมกดขี่ประชาชนของตนในวงกว้างทางอินเทอร์เน็ตผ่านการเซ็นเซอร์ การปิดกั้น และการบังคับขู่เข็น นายบารอนกล่าว “เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยโครงการการประเมินสภาพแวดล้อมของการควบคุมข้อมูลนี้จะปรับปรุงและป้อนข้อมูลเข้าสู่แดชบอร์ดที่เข้าใจได้ง่ายอย่างต่อเนื่องและโดยอัตโนมัติ เพื่อพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการที่ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการควบคุมข้อมูลภายในประเทศที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ตามเวลาจริงและมีความครอบคลุม” ตามรายงานของสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหม

ความเสี่ยงด้านความมั่นคงสำหรับประเทศและกองทัพต่าง ๆ ที่เกิดจากการเฝ้าระวัง การเซ็นเซอร์ และการเจาะระบบขีดความสามารถยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น รัฐบาลในบางประเทศกำลังใช้ประโยชน์จากนโยบายการเก็บรักษาข้อมูลไว้ภายในประเทศ เพื่อจำกัดประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นการขยายลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัล “การควบคุมการไหลของข้อมูลข้ามพรมแดนที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเป็นข้อกังวลที่เกิดขึ้นใหม่” นายเยย์โบเคกล่าวกับ ฟอรัม รัฐบาลสามารถดำเนินการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับการแสดงออกโดยเสรี ความเป็นส่วนตัว และสิทธิมนุษยชนได้ดียิ่งขึ้นโดยการใช้ข้อมูลเขตแดน นายเยย์โบเคอธิบายไว้ในบทสรุปนโยบายของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564

“บ่อยครั้งที่มีการขยายอำนาจในการเก็บรักษาข้อมูลไว้ภายในประเทศเหล่านี้ภายใต้หน้ากากของ ‘การปกป้อง’ ความเป็นส่วนตัวหรือความมั่นคงของบุคคล แต่ผลลัพธ์มักจะตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อข้อมูลของประชาชน ตั้งแต่การค้นหาในกูเกิลแมพส์ การกดถูกใจในอินสตาแกรม ไปจนถึงการโพสต์ในติ๊กต็อก ถูกบังคับให้จัดเก็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของประเทศ รัฐบาลจึงได้โอกาสสำคัญในการใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อควบคุมประชากรได้มากยิ่งขึ้น การบงการนี้ช่วยยกระดับและเสริมความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลบังคลาเทศไปจนถึงจีน รัสเซีย และประเทศอื่น ๆ ในการเฝ้าระวังและการเซ็นเซอร์ทางดิจิทัลที่ทันสมัย” นายเยย์โบเคระบุไว้ในบทสรุป หัวข้อ “ความกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติที่แท้จริงเกี่ยวกับการเก็บรักษาข้อมูลไว้ภายในประเทศ”

การเก็บรักษาข้อมูลไว้ภายในประเทศยังสามารถขีดคั่นการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพ การบังคับใช้กฎหมาย หน่วยข่าวกรอง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงอื่น ๆ โดยการปิดกั้นการเข้าถึงข้ามพรมแดน “การกระทำดังกล่าวเอื้อต่อการสร้างพื้นที่หลบภัยแก่ผู้กระทำการที่ดำเนินกลยุทธ์พื้นที่สีเทา ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติการข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์และกิจกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมายต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดการเก็บรักษาข้อมูลไว้ภายในประเทศดังกล่าว เป็นการจำกัดความสามารถของประเทศเป้าหมายในการต่อสู้ สืบสวน และดำเนินคดี (หากจำเป็น) กับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง” นายเยย์โบเคระบุ

“หากพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ใช้ข้อกำหนดการเก็บรักษาข้อมูลไว้ภายในประเทศที่เข้มงวดยิ่งขึ้น อาจยิ่งสร้างความซับซ้อนให้กับระบบสนธิสัญญาการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายร่วมที่ทั้งซับซ้อนและล้าสมัยอยู่แล้ว ยิ่งเป็นการเพิ่มอุปสรรคต่อการบังคับใช้กฎหมายในคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ไหลข้ามพรมแดนระหว่างประเทศที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ช่องทางการแบ่งปันข้อมูลและภาระผูกพันในการรายงานของธุรกิจต่าง ๆ ในปัจจุบันอ่อนแอลง ส่งผลกระทบไปยังวิธีการรวบรวมข้อมูลข่าวกรองและการสอบสวนคดีอาญาต่าง ๆ”

จำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์ทางดิจิทัล

ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกันว่าการขยายตัวของกิจกรรมดังกล่าวทำให้ความจำเป็นในการใช้ยุทธศาสตร์ทางดิจิทัลที่ต่อเนื่องกันนั้นเร่งด่วนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานของแนวทางที่อิงตามหลักการของกลุ่มประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกัน “กล่าวโดยสรุปคือเครื่องมือต่าง ๆ ของลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัลนั้นมีประสิทธิภาพสำหรับการควบคุมและบงการ ผู้กระทำการที่ประสงค์ร้ายทั้งในและนอกประเทศสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยโดยพื้นฐานได้ เช่น ผ่านแคมเปญเพื่อการบิดเบือนข้อมูลที่นำเสนอความเท็จได้อย่างลื่นไหลเพื่อให้ได้เปรียบในการเลือกตั้ง” นายเยย์โบเคกล่าวกับ ฟอรัม “แต่ความจริงแล้ว เป้าหมายพื้นฐานของผู้กระทำการดังกล่าวหลายกลุ่มไม่ได้เป็นการบงการทางตรง แต่เป็นการปลูกฝังความไม่ไว้วางใจในสถาบันประชาธิปไตยมากกว่า เช่น การเลือกตั้ง กลุ่มประชาสังคม กลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระ ฯลฯ ในประเด็นนี้ เครื่องมือต่าง ๆ ของลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัลถือว่ามีประสิทธิภาพอย่างไม่สามารถเทียบเทียมได้”

ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนจึงต้องเสนอทางเลือกในการบริหารและการเฝ้าระวังทางดิจิทัลที่ดีกว่าเทคโนโลยีของจีนและกลยุทธ์ที่รัสเซียเสนอ พันธมิตรและหุ้นส่วนจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถให้ความเป็นส่วนตัว รับประกันเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงต่อต้านแคมเปญทางอิทธิพลต่าง ๆ ได้ นายเมเซโรลและนายพอลยาโควาชี้แนะว่าหลายประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันจะต้องทำงานร่วมกับบริษัทด้านเทคโนโลยีและองค์กรนอกภาครัฐ เพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์สำหรับการดำเนินการจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคล กำหนดมาตรฐานร่วมกันในทุกแพลตฟอร์ม และแก้ไขปัญหาการปั่นข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์

นายเยย์โบเคและนายแบรนเนนเสนอว่านานาประเทศต้องทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนากลยุทธ์ด้านการวิจัยและวิธีการต่าง ๆ ของรัฐบาลทั้งหมดเพื่อต่อต้านลัทธิอำนาจนิยมทางดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการสร้างแนวร่วมพหุภาคี เช่น ประเทศต่าง ๆ ควรร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้แน่ใจว่ามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องและเป็นตัวแทนของผู้ได้รับผลประโยชน์ในองค์กรต่าง ๆ ที่กำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีระหว่างประเทศ เช่น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศของสหประชาชาติและองค์การการค้าโลก ตามที่นายเยย์โบเคและนายแบรนเนนเสนอแนะ

ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมสามารถเป็นผู้นำโดยการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เข้าใจสนามแข่งขันทางดิจิทัลและสนับสนุนข้อได้เปรียบของกองทัพในสนามรบทางดิจิทัล นายบารอนจากสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมกล่าวเสริม “กองกำลังรักษาความมั่นคงทั่วโลกมีความรอบรู้ทางดิจิทัลมากขึ้น นายเยย์โบเคเห็นด้วยว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงต่าง ๆ สามารถรวบรวมและประเมินข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น จากนั้นจึงนำความสามารถเหล่านี้มาบังคับใช้จริงกับภัยคุกคามต่าง ๆ ที่รับรู้ได้ซึ่งมาจากโลกออนไลน์”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button