การแพร่ขยายอาวุธติดอันดับปัญหาหลักระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

กองทัพเรือร่วมของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เตรียมผนึกกำลังยับยั้งการยั่วยุของเกาหลีเหนือ

ฟีลิกซ์ คิม

เกาหลีเหนือได้ยกระดับภัยคุกคามในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคาบสมุทรเกาหลี ด้วยการปล่อยขีปนาวุธเพื่อยั่วยุซ้ำ ๆ และการกล่าวถึงการทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ เจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ต่าง ๆ กล่าวว่า กองทัพเรือร่วมของสาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐอเมริกาได้รับมอบหมายให้ยับยั้งภัยคุกคามเหล่านี้ ดังที่แสดงให้เห็นจากการฝึกร่วมที่มีการใช้เรือรบที่มีการติดตั้งชุดปืนยิงขีปนาวุธเคลื่อนที่และบรรทุกอากาศยานโจมตีขั้นสูง

“เกาหลีเหนือกำลังยกระดับโครงการนิวเคลียร์ของตนและปัญหาอยู่ที่การพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลางหรือขีปนาวุธพิสัยสั้น” นายปาร์ค วอนกอน ศาสตราจารย์ด้านเกาหลีเหนือศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ในกรุงโซล กล่าวกับฟอรัม “ขีปนาวุธทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถพกพาอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีได้ และพิสัยของขีปนาวุธเหล่านั้นไม่เพียงแต่ครอบคลุมคาบสมุทรเกาหลีหรือญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกวมซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกด้วย”

จนถึงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 เกาหลีเหนือได้ดำเนินการทดสอบขีปนาวุธไป 31 ลูก และได้เตรียมที่จะดำเนินการทดสอบการจุดระเบิดอุปกรณ์นิวเคลียร์ ตามรายงานของศูนย์วิลสัน ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ดร. คิม แจยอป นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันซังกยุนเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระดับโลก มหาวิทยาลัยซังกยุนกวานแห่งเกาหลีใต้ กล่าวกับฟอรัมว่า ความต้องการที่จะยับยั้งของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้รับแรงกระตุ้นจากปริมาณการยั่วยุของรัฐบาลเกาหลีเหนือและศักยภาพในการทำลายล้างที่แสดงออกมา ตลอดจนความไม่เต็มใจของสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัสเซียในการช่วยควบคุมเกาหลีเหนือเมื่อไม่นานมานี้

“แสนยานุภาพของกองทัพเรือแสดงให้เห็นถึงการยับยั้งเชิงกลยุทธ์ที่แข็งแกร่งด้วยความทนทานที่โดดเด่นและขีดความสามารถในการแสดงแสนยานุภาพอย่างยิ่งใหญ่” ดร. คิมกล่าว

แสนยานุภาพดังกล่าวได้รับการแสดงออกมาในช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 เมื่อเรือพิฆาตเอจิส ชั้นเซจองเดอะเกรท ขนาด 7,600 ตัน ของกองทัพเรือเกาหลีใต้ ซึ่งมีการติดตั้งขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ เอสเอ็ม-2 และมาพร้อมกับเรือพิฆาตอีกลำหนึ่งและเรือจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบก มาราโด้ ขนาด 14,500 ตัน (ภาพซ้ายสุด) เข้าร่วมกับเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ของกองทัพเรือสหรัฐฯ (ภาพที่สองจากซ้าย) พร้อมกองเรือจู่โจมสำหรับการฝึกซ้อมร่วม กองกำลังดังกล่าวดำเนินการฝึกซ้อมในน่านน้ำสากลทางตะวันออกเฉียงใต้ของโอกินาวะ ประเทศญี่ปุ่น

กองกำลังร่วม ซึ่งมีความสามารถในการปล่อยขีปนาวุธโจมตีภาคพื้นดินและเครื่องบินขับไล่ เอฟ/เอ-18 ซูเปอร์ฮอร์เน็ต “มีความสามารถที่จะตอบโต้ทางทหารอย่างเด็ดขาดต่อเกาหลีเหนือได้” ดร. คิมกล่าว การฝึกดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงอำนาจทางทหารที่ท่วมท้นและความพร้อมของพันธมิตรเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ และทำให้รัฐบาลเกาหลีเหนือรู้ตัวว่าไม่สามารถใช้การยั่วยุที่เกี่ยวข้องกับอาวุธที่มีศักยภาพในการทำลายล้างสูงเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองได้ ดร. คิมกล่าวเพิ่มเติม

“เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้รวมพลังความมุ่งมั่นที่จะตอบสนองอย่างเด็ดขาดต่อการยั่วยุใด ๆ ของเกาหลีเหนือผ่านการฝึกร่วมกับกลุ่มกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี” คณะเสนาธิการร่วมของสาธารณรัฐเกาหลีกล่าวในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ในระหว่างการฝึก

การตัดสินใจที่จะขยายขอบเขตและขนาดของการฝึกและการฝึกซ้อมทางทหารร่วมเพื่อยับยั้งการรุกรานในอนาคตจากรัฐบาลเกาหลีเหนือได้รับการประกาศโดยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่กรุงโซล ประธานาธิบดีไบเดน นายยุน และนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยืนยันจุดยืนนี้อีกครั้งในการประชุมไตรภาคีของพวกเขาที่การประชุมสุดยอดนาโต้ ในกรุงมาดริด เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ตามรายงานของทำเนียบขาว

เรือพิฆาตสองลำของเกาหลีใต้มีกำหนดปล่อยขีปนาวุธ เอสเอ็ม-2 ในการซ้อมด้วยกระสุนจริง เมื่อกองทัพเรือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ฝึกซ้อมร่วมกันในระหว่างการฝึกค้นหาและติดตามขีปนาวุธ แปซิฟิกดรากอน ในรัฐฮาวาย ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 14 สิงหาคม ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะโคเรียเฮรัลด์

ดร. คิมกล่าวว่า นอกเหนือจากการยับยั้งรัฐบาลเกาหลีเหนือโดยตรงแล้ว การผนึกกำลังแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเรือดังกล่าวอาจโน้มน้าวให้รัฐบาลจีนและรัฐบาลรัสเซียใช้อิทธิพลของตนในการหยุดยั้งการยั่วยุของเกาหลีเหนือได้ โดยเป็นการส่งข้อความเตือนว่า “พฤติกรรมชวนทะเลาะของรัฐบาลเกาหลีเหนือเป็นต้นตอของความไม่มั่นคงทางยุทธศาสตร์ในคาบสมุทรเกาหลี”

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button