นักวิจัยชาวเกาหลีใต้ได้พัฒนาวัสดุคล้ายผิวหนังเทียม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากชีววิทยาธรรมชาติที่สามารถปรับเฉดสีให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็วคล้ายกับกิ้งก่าคาเมเลียน
ทีมงาน ซึ่งนำโดยนายโค ซึงฮวาน (ภาพ) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลของมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ได้สร้าง “ผิวหนัง” ด้วยหมึกพิเศษที่เปลี่ยนสีตามอุณหภูมิและควบคุมด้วยเครื่องทำความร้อนขนาดเล็กที่มีความยืดหยุ่น งานวิจัยของพวกเขาปรากฏในวารสารเนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564
“หากคุณสวมเครื่องแบบชุดลายพรางทหารสีเขียวในทะเลทราย คุณจะถูกมองเห็นได้ง่าย” นายโคกล่าว “การเปลี่ยนสีสันและลวดลายตามสภาพแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีอำพรางที่เราสร้างขึ้น”
ทีมงานได้สาธิตเทคโนโลยีหมึกผลึกเหลวที่เปลี่ยนตามอุณหภูมิและเครื่องทำความร้อนจากเส้นลวดเงินที่วางซ้อนกันหลายชั้นในแนวตั้ง รวมทั้งใช้หุ่นยนต์ที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับสีอีกด้วย ไม่ว่าเซนเซอร์จะ “เห็น” สีอะไรอยู่รอบตัว ตัวหนังดังกล่าวจะพยายามเลียนแบบ
“ข้อมูลสีที่เซ็นเซอร์ตรวจพบจะได้รับการถ่ายโอนไปยังไมโครโพรเซสเซอร์ จากนั้นส่งต่อไปยังเครื่องทำความร้อนจากเส้นลวดเงิน เมื่อเครื่องทำความร้อนมีอุณหภูมิถึงระดับที่กำหนด ชั้นผลึกเหลวที่เปลี่ยนตามอุณหภูมิจะเปลี่ยนสี” นายโคกล่าวผิวหนังเทียมที่มีความยืดหยุ่นหลายชั้นบางกว่าเส้นผมของมนุษย์ การเพิ่มชั้นเส้นลวดเงินในรูปทรงที่เรียบง่าย เช่น จุด เส้น หรือสี่เหลี่ยม ช่วยให้ผิวหนังสามารถสร้างลวดลายที่ซับซ้อนได้
“ผิวหนังที่มีความยืดหยุ่นสามารถพัฒนาเป็นอุปกรณ์สวมใส่และใช้สำหรับสินค้าแฟชั่น เครื่องแบบลายพรางทหาร การตกแต่งภายนอกของรถยนต์และอาคารเพื่อความสวยงาม ตลอดจนเทคโนโลยีการแสดงผลในอนาคต” นายโคกล่าว รอยเตอร์