ติดอันดับสภาพภูมิอากาศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

โครงการของจีนเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ

สื่อต่าง ๆ ได้รายงานมาอย่างยาวนานถึงภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางทั่วโลกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีตั้งแต่การตัดไม้ทำลายป่าในเอเชียใต้ไปจนถึงมลพิษถ่านหินที่เพิ่มขึ้นในเซอร์เบีย ตลอดจนประชากรสัตว์น้ำที่ลดลงในแม่น้ำโขง

ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมได้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับหลายโครงการพัฒนาหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ปัจจุบัน นักวิจัยเตือนว่าโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางยังคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกโดยการเพิ่มความเสี่ยงของการนำเข้าพันธุ์สัตว์และพืชต่างถิ่นที่อาจทำลายสายพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น ยิ่งน่าหนักใจขึ้นไปอีกเมื่อโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมักจะมุ่งเป้าไปที่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์และพืชสำคัญซึ่งมีสายพันธุ์ที่เฉพาะตัวและหลากหลาย นักวิจัยกล่าว

นายทิม แบล็กเบิร์น ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาการรุกราน แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เป็นผู้นำทีมนักวิจัยจากสหราชอาณาจักรและจีน ใน พ.ศ. 2561 ซึ่งได้ระบุ 14 พื้นที่เสี่ยงทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูงที่สายพันธุ์รุกรานจะปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดี

จากการร่วมมือกับนายหลี่ อี้หมิง จากสถาบันวิทยาศาสตร์จีนและเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ นายแบล็กเบิร์นได้สร้างแบบจำลองที่วิเคราะห์ว่าโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอาจส่งผลกระทบต่อภูมิภาคต่าง ๆ อย่างไรบ้าง โดยอาจนำเข้าสายพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานมากกว่า 800 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 98 สายพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 177 สายพันธุ์ นก 391 สายพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 150 สายพันธุ์

ทีมดังกล่าว ซึ่งตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสารเคอร์เรนท์ไบโอโลยี ใน พ.ศ. 2562 ได้ระบุพื้นที่เสี่ยงซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของ 68 ประเทศ รวมถึงหลายประเทศในอินโดแปซิฟิก พื้นที่เสี่ยงส่วนใหญ่จะอยู่ในแนว 6 เส้นทางเศรษฐกิจของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่เสนอ บังกลาเทศ บรูไน อินเดีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ศรีลังกา และเวียดนาม รวมถึงประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก เช่น ฟิจิและซามัว ประเทศเหล่านี้ล้วนมีบริเวณที่มีความเสี่ยงสูง

“ประเทศในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมักจะเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีสายพันธุ์ที่แตกต่างและพิเศษมากมาย” นายแบล็กเบิร์นกล่าวกับฟอรัม

ทีมวิจัยลงความเห็นว่าโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางยังอาจแพร่กระจายสายพันธุ์ที่รุกรานในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แม้ว่าปกติจะมีการรุกรานดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ผลกระทบจากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง “จะแตกต่างไปจากเดิม เนื่องด้วยขอบเขตของโครงการและปริมาณการค้าที่อาจเกี่ยวข้อง” นายแบล็กเบิร์นกล่าวกับสำนักข่าวเอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส  

“ยิ่งมีการเคลื่อนย้ายสินค้าและ/หรือผู้คนระหว่างสถานที่ต่าง ๆ มากเท่าใด ก็มีโอกาสที่สายพันธุ์ต่าง ๆ จะถูกเคลื่อนย้ายมากขึ้นเท่านั้น” นายแบล็กเบิร์นกล่าวกับฟอรัม “สายพันธุ์ต่าง ๆ อาจอยู่ในตู้ขนส่ง เมล็ดพันธุ์อาจติดอยู่ที่รองเท้าของผู้คน ผู้คนอาจนำสัตว์เลี้ยงของพวกเขาไปด้วย หรืออาจเป็นการเคลื่อนย้ายสายพันธุ์เพื่อผลกำไร เช่น การค้าสัตว์เลี้ยง”

สายพันธุ์ต่างถิ่นมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์พื้นเมืองผ่านการแข่งขันของสายพันธ์ุ หรือโดยการผสมข้ามสายพันธุ์หรือทั้งสองแบบร่วมกันในลักษณะที่เป็นการกำจัดสายพันธุ์พื้นเมือง นายแบล็กเบิร์นอธิบาย ซึ่งอาจลดความหลากหลายทางชีวภาพ ลบล้างประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการ และเป็นภัยต่อสัตว์ป่าในพื้นที่

ประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ดำเนินมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพที่ค่อนข้างเข้มงวดเพื่อป้องกันสายพันธุ์รุกราน นายแบล็กเบิร์นกล่าว แต่โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่ดำเนินการโดยจีนมีแนวโน้มที่จะไม่ใช้มาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับที่สูงเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและแอฟริกา นายแบล็กเบิร์นกล่าว

“แน่นอนว่าอิทธิพลของสายพันธุ์ต่างถิ่นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจด้วย” นายแบล็กเบิร์นกล่าว “เช่น การแพร่ระบาดของไวรัสออกจากพื้นที่ต้นกำเนิดในประเทศจีนได้ส่งผลกระทบทั่วโลกในช่วงสองปีที่ผ่านมา”

โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้มีส่วนในความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมทั่วโลกแล้ว

ประเทศในเอเชียใต้เผชิญกับมลพิษทางอากาศและการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ตามรายงานของมูลนิธิยุโรปเพื่อเอเชียใต้ศึกษา ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564

ด้วยการเพิ่มขึ้นของการทำอุตสาหกรรมโดยไม่มีการควบคุมสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนที่เพียงพอ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจึงทำให้เมืองต่าง ๆ ของภูมิภาคดังกล่าวมีคุณภาพอากาศที่ไม่ดี มูลนิธิยุโรปเพื่อเอเชียใต้ศึกษากล่าวว่า การสร้างเครือข่ายถนนที่กว้างขวางในพื้นที่ที่รู้จักกันในชื่อเส้นทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับปากีสถานก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก และการจราจรของรถบรรทุกที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดฟุตพริ้นท์ของมลพิษทางอากาศปริมาณมาก

ในเซอร์เบีย โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนำเทคโนโลยีที่ใช้ถ่านหินของจีนมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเก่าโดยแทบไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นายวุก วุกซาโนวิช นักวิเคราะห์นโยบายเขียนไว้ในบทความของนิตยสารฟอเรนโพลิซี ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 โครงการดังกล่าวประกอบด้วยการลงทุนของจีนในโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมืองคอสโตแลค โรงงานเหล็กในเมืองสเมเดเรโว่ และเหมืองทองแดงในเมืองบอร์ ผู้อยู่อาศัยได้ประท้วงมลพิษรุนแรงที่เกิดจากโรงงานและเหมืองดังกล่าว นายวุกซาโนวิชรายงาน

นายวุกซาโนวิชกล่าวว่า “ในขณะที่จีนมีกำไรจากการเข้าถึงทรัพยากร เป้าหมายหลักของรัฐบาลจีนคือการขายส่วนเกินของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินและโยกย้ายแรงงานที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินไปที่ต่างประเทศ”

ตามแนวแม่น้ำโขงซึ่งครอบคลุมกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม นักวิจัยได้หาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลงกับการมีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ตามรายงานในแพลตฟอร์มข่าวออนไลน์ของอาเซียนโพสต์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 รายงานดังกล่าวระบุว่า การลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของการไหลของแม่น้ำและการปิดกั้นการย้ายถิ่นของปลา และส่งผลให้สูญเสียวิถีการดำเนินชีวิต (ภาพ: ครอบครัวหนึ่งแกะปลาจากอวนในแม่น้ำโขง ใกล้กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562)

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button