ติดอันดับ

แฮกเกอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนพุ่งเป้าไปที่เทคโนโลยีทางทหารของรัสเซีย

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัสเซียที่เรียกกันว่า “ไร้ขีดจำกัด” นั้นไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการเคารพต่อความลับทางทหารซึ่งกันและกัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ แฮกเกอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐจีนได้พุ่งเป้าไปที่นักวิจัยรัสเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุบายขโมยเทคโนโลยีทางทหารที่ละเอียดอ่อน ตามการรายงานของบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งหนึ่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 ปฏิบัติการจารกรรมอย่างต่อเนื่องที่รู้จักกันในชื่อทวิสต์แพนด้ามีแนวโน้มที่จะพยายาม “รวบรวมข้อมูลจากเป้าหมายในอุตสาหกรรมกลาโหมรัสเซียที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน” ตามรายงานของเช็ค พอยต์ รีเสิร์ช

หลังจากที่นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศความร่วมมือทางยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกันสำหรับระเบียบโลกใหม่ เพียงหนึ่งเดือนต่อมาสายลับทางไซเบอร์ของจีนก็ทำการโจมตี ตามรายงานของสื่อ การประชุมของทั้งสองประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ที่กรุงปักกิ่ง ก่อนการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว เกิดขึ้นก่อนการรุกรานยูเครนโดยไร้เหตุสมควรของรัสเซียไม่กี่สัปดาห์ จีนได้ปฏิเสธที่จะประณามการโจมตีและความโหดร้ายอย่างต่อเนื่องของรัสเซียหรือคว่ำบาตรระบอบการปกครองของนายปูติน ซึ่งถือเป็นมาตรการที่แตกต่างจากนานาประเทศ

อย่างไรก็ตาม แฮกเกอร์ชาวจีนได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติต่อรัฐบาลรัสเซียเพื่อล่อลวงเหยื่อในสถาบันวิจัยด้านกลาโหมที่เชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัท รอสเทค คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย ตามรายงานของเช็ค พอยต์ รีเสิร์ช หน่วยงานที่เป็นเป้าหมายดังกล่าวเป็นผู้พัฒนาและผลิตระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ สถานีเรดาร์ และเทคโนโลยีทางการทหารอื่น ๆ

“ไม่น่าแปลกใจเลยที่หน่วยงานของรัสเซียกลายเป็นเป้าหมายที่น่าจับตามองของโครงการจารกรรมข้อมูลแบบฟิชชิ่งที่มีเป้าหมายเจาะจง ซึ่งใช้ประโยชน์จากมาตรการคว่ำบาตรที่ประเทศตะวันตกต่าง ๆ มีต่อรัสเซีย” ตามรายงานของเช็ค พอยต์ รีเสิร์ช “มาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อเศรษฐกิจรัสเซีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อองค์กรในหลาย ๆ อุตสาหกรรมของรัสเซีย”

เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ได้มีการส่งอีเมลแฝงมัลแวร์ไปหาเหล่านักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรอสเทค โดยอ้างว่าส่งมาจากกระทรวงสาธารณสุขของรัสเซียและสัญญาว่าจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับ “รายชื่อบุคคลที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรเนื่องจากการรุกรานยูเครน” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม

แฮกเกอร์กลุ่มดังกล่าวเคยใช้วิธีการที่คล้ายกันก่อนหน้านี้ในโครงการต่อต้านหน่วยงานของรัสเซีย ซึ่งมีมาอย่างน้อยตั้งแต่กลาง พ.ศ. 2564 ตามรายงานของเช็ค พอยต์ รีเสิร์ช “การพัฒนาของเครื่องมือและเทคนิคต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติการที่อยู่เบื้องหลังโครงการดังกล่าวมีความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายโดยใช้วิธีการแอบแฝง” ตามรายงานของเช็ค พอยต์ รีเสิร์ช “นอกจากนี้ โครงการทวิสต์แพนด้ายังแสดงให้เห็นอีกครั้งว่าผู้ปฏิบัติการด้านการจารกรรมของจีนปรับตัวและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ของโลกได้รวดเร็วเพียงใด โดยการใช้เหยื่อล่อที่มีความสำคัญและทันต่อเหตุการณ์ที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จ”

แฮกเกอร์และอาชญากรไซเบอร์อื่น ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนได้พยายามที่จะใช้ประโยชน์จากความวุ่นวายของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 นักวิเคราะห์จากกูเกิล ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับโลกรายงานว่า กลุ่มแฮกเกอร์ที่เชื่อมโยงกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนได้ “ดำเนินโครงการต่อต้านองค์กรทางทหารและรัฐบาล” ในยูเครนและประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ หน่วยงานสอดแนมของยูเครนได้รายงานว่า จีนอยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ต่อฐานปฏิบัติการทางทหารและนิวเคลียร์ของยูเครนในช่วงไม่กี่วันก่อนการรุกรานของรัสเซียในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ตามรายงานของสื่อ

ในขณะเดียวกัน แฮกเกอร์รัสเซียได้ดำเนินการโจมตีแบบฟิชชิ่งต่อบริษัทผู้รับเหมาด้านกลาโหมที่อยู่ในยูเครน ตลอดจนสถาบันวิจัยและองค์กรนอกภาครัฐของสหรัฐฯ ตามการรายงานของนักวิเคราะห์ของกูเกิล โคลด์รีเวอร์เป็นกลุ่มหนึ่งในรัสเซียที่มุ่งเป้าไปที่กองทัพของประเทศต่าง ๆ ในแถบยุโรปตะวันออกและศูนย์ความเป็นเลิศของนาโต

จีนถูกกล่าวหามาอย่างยาวนานว่าแอบดำเนินการต่อต้านทั้งมิตรและศัตรูเพื่อให้ตนเองเข้าใกล้เป้าหมายในการเป็นมหาอำนาจโลกมากขึ้น จากประวัติการสอดแนมข้างต้น เช็ค พอยต์ รีเสิร์ชรายงานว่าโครงการทวิสต์แพนด้าดังกล่าว “อาจเป็นหลักฐานเพิ่มเติมของการใช้การจารกรรมในความพยายามอย่างเป็นระบบและระยะยาวเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ของจีนในด้านความเหนือชั้นทางเทคโนโลยีและอำนาจทางทหาร”

ภาพจาก: ไอสต็อก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button