ความร่วมมือติดอันดับโอเชียเนีย

แวเรียนท์ชิลด์แสดงให้เห็นถึงความสามารถของกองกำลังร่วมของสหรัฐฯ ในการแสดงอำนาจและปกป้องมาตุภูมิ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

กองกำลังร่วมของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกรวมตัวกันในหลายมิติการสู้รบในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแสดงอำนาจในภูมิภาคและทั่วโลกให้เข้มแข็งขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ความขัดแย้งทางอาวุธจนถึงการบรรเทาภัยพิบัติ

การฝึกแวเรียนท์ชิลด์มีบุคคลากรเข้าร่วมประมาณ 13,000 คน ตั้งแต่กองทัพอากาศ กองทัพบก นาวิกโยธิน กองทัพเรือ และกองกำลังอวกาศของสหรัฐฯ รวมถึงอากาศยาน 200 ลำ และเรือ 15 ลำ ซึ่งรวมถึงกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตียูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน และยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น การฝึกทุกสองปีในครั้งที่เก้านี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 – 17 มิถุนายน ในบริเวณรอบเกาะกวม หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา และปาเลา (ภาพ: กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตียูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน และยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์นของกองทัพเรือสหรัฐฯ เคลื่อนที่เป็นกระบวนทัพพร้อมกับยูเอสเอสไทรโพไลในทะเลฟิลิปปินส์ในระหว่างการฝึกแวเรียนท์ชิลด์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565)

“การฝึกนี้สร้างความชำนาญด้านการปฏิบัติการจริงในการรักษาความมั่นคงให้กองกำลังร่วมผ่านการตรวจจับ การระบุตำแหน่ง การติดตาม และการมีส่วนร่วมของหน่วยทางทะเล ทางอากาศ ทางบก รวมทั้งในโลกไซเบอร์เพื่อตอบสนองต่อภารกิจในด้านต่าง ๆ” ตามข่าวประชาสัมพันธ์ของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก

แวเรียนท์ชิลด์ พ.ศ. 2565 เป็นการฝึกทางทหารที่ใหญ่ที่สุดที่จัดขึ้นในปาเลานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง นางเจนนิเฟอร์ แอนสัน ผู้ประสานงานด้านความมั่นคงแห่งชาติของปาเลา กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะกวมเดลี่โพสต์ แผนกบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของปาเลาได้ช่วยเหลือกองกำลังสหรัฐฯ ในการฝึกยิงขีปนาวุธด้วยกระสุนจริงครั้งแรกในปาเลา

ภายใต้ความร่วมมือด้านเสรีภาพของปาเลา สหรัฐฯ มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันปาเลา ซึ่งได้รับอิสรภาพใน พ.ศ. 2537

“การสร้างความมั่นใจว่าเรามีอินโดแปซิฟิกที่เสรีเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงเป็นสาเหตุที่เราฝึกฝนอย่างหนักทุกวัน” พ.ท. โทนี ฟัลคอน ผู้บัญชาการกองพันที่ 1 กองพลน้อยปืนใหญ่ป้องกันภัยทางอากาศที่ 1 กล่าวกับกวมเดลี่โพสต์ “เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องยิงขีปนาวุธ หรือเข้าปะทะกับเป้าหมาย เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสามารถลงมือทำได้ทุกที่ … ด้วยระยะเวลาที่สั้นมาก”

ในอีกกรณีหนึ่ง นาวิกโยธินสหรัฐฯ ดำเนินการแทรกซึมอย่างรวดเร็วของระบบเครื่องยิงจรวดเคลื่อนที่บนรัฐอาเงาร์ของปาเลา โดยมีกองกำลังสำรวจทางทะเลที่ 1 เป็นผู้สั่งการและควบคุมการแทรกซึม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามการแทรกซึมอย่างรวดเร็วของระบบเครื่องยิงจรวดเคลื่อนที่จากศูนย์ปฏิบัติการ (ภาพ: ระบบเครื่องยิงจรวดเคลื่อนที่ยิงกระสุนออกไปในระหว่างการฝึกซ้อมแวเรียนท์ชิลด์ พ.ศ. 2565 รัฐอาเงาร์ ประเทศปาเลา)

ภาพจาก: อ. ซาราห์ สเตกัล/นาวิกโยธินสหรัฐฯ

“กระบวนการนี้อาศัยระบบการทำงานร่วมกันหลายระบบในด้านหน่วยข่าวกรอง การสื่อสาร และการสั่งการและการควบคุม” ร.อ. แอนดรูว์ ริชาร์ด จากนาวิกโยธินสหรัฐฯ กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ “ความสามารถในการทำการแทรกซึมอย่างรวดเร็วของระบบเครื่องยิงจรวดเคลื่อนที่บนลานบินสำรวจ เช่น รัฐอาเงาร์ หมายความว่ามีภูมิประเทศที่หลากหลายซึ่งเราสามารถจัดวางยุทโธปกรณ์สำหรับการยิงทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้ การใช้ทรัพยากรทางอากาศของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิทางอากาศเพื่อจัดวางระบบเครื่องยิงจรวดเคลื่อนที่บนเกาะ จำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างละเอียดและการประสานงานระหว่างหน่วยนาวิกโยธินและเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศ”

กองกำลังร่วมสหรัฐฯ ได้ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอทั่วภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเป็นเวลากว่า 75 ปีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแสดงอำนาจไปพร้อมกับการปกป้องมาตุภูมิ “การฝึกแบบบูรณาการสร้างหนทางหลากหลายต่อการประสบความสำเร็จในการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ตลอดจนพันธมิตรและหุ้นส่วนทั่วโลก” ตามรายงานของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก

กองบินปฏิบัติการนอกประเทศที่ 354 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ปล่อยเครื่องบินขับไล่เอฟ-35เอ ไลท์นิ่ง 2 จำนวน 3 ลำขึ้นบินไปยังปาเลาเพื่อเข้าร่วมการฝึกแวเรียนท์ชิลด์

“เรามาที่นี่เพื่อส่งเสริมภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และการปฏิบัติการจากปาเลาทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้” ร.ท. โจชัว “ซูเปอร์” โนวิก ผู้บัญชาการฝูงบินขับไล่ปฏิบัติการนอกประเทศที่ 356 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าว “เรามีความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมกับปาเลา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ดีที่เราสามารถมาที่นี่และทำงานร่วมกับพวกเขาเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรของเราในภูมิภาคนี้”

(main image) ภาพจาก: จ.ท. เกรย์ กิบสัน/กองทัพเรือสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button