ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดติดอันดับเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ยุทธวิธีภายในของจีนและผลกระทบในต่างประเทศ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

เหตุการณ์ที่กำหนดโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเป็นเรื่องภายในหรือเรื่องผลประโยชน์ภายในประเทศมีผลกระทบในทางลบต่อประเทศอื่น ๆ และทำให้หลายชุมชนต้องหยุดชะงัก

ตั้งแต่ออสเตรเลีย แคนาดา ไปจนถึงไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา การกระทำที่จีนอ้างว่าส่งผลกระทบต่อพลเมืองของตนและทรัพย์สินระหว่างประเทศของตนเท่านั้น กลับทำให้เกิดการจับกุม การคว่ำบาตร และการสืบสวนเกี่ยวกับความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการขยายอิทธิพลไปยังต่างประเทศ

เช่น นายเดวิด โช ซึ่งเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ที่เติบโตในไต้หวัน ถูกกล่าวหาว่าเป็นมือปืนสังหารบุคคลรายหนึ่ง และทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บอีกห้าคนในโบสถ์แคลิฟอร์เนีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุชาวไต้หวันที่อาศัยอยู่ในละแวกโบสถ์แห่งนั้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 นายโชมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มต่อต้านเอกราชไต้หวันที่เชื่อมโยงกับกรมงานแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดหาเงินทุนและสนับสนุนองค์กรต่างประเทศเพื่อเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ รวมทั้งบีบบังคับและรังแกผู้ที่จะต่อต้านนโยบายของรัฐบาลจีน ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

“กรมงานแนวร่วมมักข่มขู่สมาชิกของสถาบันการศึกษา ธุรกิจ กลุ่มประชาสังคม และชุมชนชาวจีนโพ้นทะเล รวมถึงสมาชิกของชุมชนชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา ซึ่งกล่าวต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันน่ากลัวที่เกิดขึ้นในซินเจียง ทิเบต และที่อื่น ๆ ในประเทศจีน ยุทธวิธีบีบบังคับนี้มุ่งเป้าไปที่บุคคลที่ทำงานต่อต้านผลประโยชน์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน” กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 “กิจกรรมที่เป็นอันตรายเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อบังคับเป็นพวกและบีบบังคับผู้นำย่อยในประเทศ ชุมชนชาวจีนในต่างประเทศ สถาบันการศึกษา และกลุ่มประชาสังคมอื่น ๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ เพื่อยกระดับการเล่าเรื่องเผด็จการและความประสงค์ในนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน”

อัยการกล่าวว่า นายโชดำเนินการด้วยความเกลียดชังทางการเมืองและต้องการให้ “สังหารผู้คนในห้องนั้นอย่างเลือดเย็นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“แม้จะมีหลักฐานที่ชัดเจนมากในตอนนี้ว่าสิ่งนี้เกิดจากความเกลียดชัง แต่เราอยากมั่นใจว่าเราได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดที่ยืนยันทฤษฎีดังกล่าวในคดีนี้” นายทอดด์ สปิตเซอร์ อัยการเขตออเรนจ์เคาน์ตี กล่าว และเสริมว่านายโชอาจต้องถูกจำคุกตลอดชีวิตหรือได้รับโทษประหารชีวิตหากตัดสินว่ามีความผิดฐาน “ดักซุ่ม” เพื่อก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง

นายโชไม่ใช่บุคคลเดียวที่มีความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ แถลงเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตั้งข้อหาพลเมืองสหรัฐฯ คนหนึ่งและเจ้าหน้าที่ข่าวกรองจีนสี่คนในข้อหาสอดแนมผู้คัดค้านจีน ผู้นำสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เอกสารศาลตั้งข้อหานายหวัง ชูจุน จากย่านควีนส์ในรัฐนิวยอร์ก นายเฟิง เหอ หรือที่รู้จักกันในชื่อบอสเหอจากมณฑลกวางตุ้ง นายเจีย จี จากเมืองชิงเต่า นายหมิง หลี่ หรือที่รู้จักกันในชื่อผู้เฒ่าถังและหลี่น้อย จากมณฑลกวางตุ้ง และนายเค่อฉิง หลิ่ว หรือที่รู้จักกันในชื่อบอสหลิ่ว จากเมืองชิงเต่า โดยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในแผนการจารกรรมและการกดขี่ข้ามชาติในสหรัฐฯ และต่างประเทศ

“เมื่อถูกตั้งข้อหา นายหวังทำหน้าที่เป็นหน่วยข่าวกรองแอบแฝงในชุมชนของเขาเอง ทำการสอดแนมและรายงานข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับนักเคลื่อนไหวและองค์กรที่สนับสนุนประชาธิปไตยที่โดดเด่นแก่จำเลยร่วมของเขา ซึ่งเป็นสมาชิกของกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐของรัฐบาลจีน” นายเบรออน พีช ทนายความสหรัฐฯ ประจำเขตตะวันออกของนิวยอร์ก กล่าว “คำฟ้องในวันนี้เป็นการเปิดโปงและขัดขวางการดำเนินงานของจีนที่คุกคามความปลอดภัยและเสรีภาพของชาวจีนที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากความเชื่อและคำกล่าวสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย”

หากมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับความร้ายแรงของความพยายามของรัฐบาลจีนในการปิดปากนักวิจารณ์ “กรณีนี้น่าจะขจัดความเคลือบแคลงใจใด ๆ ในเรื่องดังกล่าวได้” นายอลัน อี. โคห์เลอร์ รักษาราชการแทนผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหารของฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติแห่งสำนักงานสอบสวนกลางแห่งชาติหรือเอฟบีไอ กล่าว ตามรายงานของกระทรวงยุติธรรม

“ยุทธวิธีที่ก้าวร้าวของรัฐบาลจีนเคยถูกจำกัดขอบเขตไว้เพียงแค่ในประเทศของตน” นายโคห์เลอร์กล่าว “ตอนนี้ จีนมุ่งเป้ามาที่ผู้คนในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ ทั่วโลก”

คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ แคนาดาพบว่าตนมีการตอบสนองต่อหน่วยงานและบุคคลสัญชาติจีนที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยเจตนาร้ายในนามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ผู้คัดค้านกำลังไม่ปลอดภัย ไม่ปลอดภัยในที่ทำงาน ไม่ปลอดภัยในบ้านของตนเอง ไม่ปลอดภัยในภาคประชาสังคม และไม่ปลอดภัยในแคนาดา” นางเชอรี หว่อง ผู้อำนวยการบริหารของพันธมิตรแคนาดาฮ่องกง ซึ่งเป็นแคมเปญระดับชาติที่ตั้งอยู่ในแคนาดาที่ชักจูงให้มีการดำเนินการทางการเมืองเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยของฮ่องกง ให้การต่อหน้าคณะกรรมการพิเศษว่าด้วยความสัมพันธ์แคนาดาและจีนในรัฐสภาแคนาดา “ภัยคุกคาม การเซ็นเซอร์ และการข่มขู่จะยังคงดำเนินต่อไป ตราบใดที่บริษัท องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สถาบันการศึกษา นักการเมือง สื่อ และสถาบันอื่น ๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันเกรงกลัวว่าจะทำให้รัฐบาลจีนโกรธที่ไม่ทำตามที่รัฐบาลจีนสั่ง รัฐบาลจีนส่งออกอำนาจเผด็จการของตนไปยังต่างประเทศอย่างได้ผล”

นางหว่องกล่าวว่าเธอเคยตกเป็นเหยื่อของการข่มขู่จากพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพราะงานของเธอ

ในที่อื่น ๆ ในแคนาดา สมาคมนักศึกษาและนักวิชาการจีนที่มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ในแฮมิลตัน รัฐออนแทรีโอ ได้ขัดขวางการพูดคุยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ดิอีพอชไทมส์ นายริวคีย์ เทอร์เดิช ผู้อำนวยการวิจัยของสถาบันวิจัยอุยกูร์ ซึ่งเป็นผู้กล่าวในงานนี้ ระบุในภายหลังว่านักศึกษาชาวจีนเป็นผู้ก่อกวนและได้รับภาพหน้าจอของการสนทนาในแอปวีแชทซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังรับคำสั่งจากสถานกงสุลจีนในแคนาดา ตามรายงานของดิอีพอชไทมส์

“พวกเขามีการติดต่อที่ใกล้ชิดอย่างมาก พวกเขารายงานทุกสิ่งทุกอย่างไปยังสถานทูตจีน และสถานทูตจีนได้สั่งการสิ่งพวกเขาต้องทำหลายอย่างไว้ล่วงหน้า” นายริวคีย์ เทอร์เดิชกล่าวกับดิอีพอชไทมส์ “นี่ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาจีนที่จัดกลุ่มเป็นแบบแผนและมีความรักชาติเท่านั้น … แต่มีสถานทูตจีนยื่นมือมาเข้ามาเกี่ยวข้องในงานนี้ด้วย”

ในขณะที่จีนพยายามที่จะขยายอิทธิพลของตน “บางทีอาจจะไม่มีประเทศใดประสบปัญหาทางการเมืองเนื่องจากอิทธิพลและความทะเยอทะยานทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นของจีนได้เทียบเท่ากับออสเตรเลียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” ตามรายงานของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา

ออสเตรเลียมีชุมชนชาติพันธุ์ชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีนจำนวนมาก ทำให้พวกเขากลายเป็นเป้าหมายของกรมงานแนวร่วม ตามรายงานของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา

“ในชุมชนชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีนนี้ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและกรมงานแนวร่วมได้ทำงานเป็นเวลาหลายทศวรรษเพื่อปลูกฝังความใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน” ตามรายงานของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา “พรรคคอมมิวนิสต์จีนดำเนินการดังกล่าวโดยการบังคับเป็นพวกต่อองค์กรชุมชนจีน และมอบเครือข่ายสนับสนุนให้คนที่เห็นพ้องกับรัฐบาลจีนเพื่อเพิ่มความเด่นชัดในท้องถิ่น ในขณะเดียวกันก็กรองข่าวเชิงลบเกี่ยวกับสื่อมวลชนที่เป็นภาษาจีนออกไปและกลบเสียงนักวิจารณ์”

เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียกล่าวว่า จีนใช้ช่องทางที่ไม่เป็นทางการเพื่อสร้างอิทธิพลต่อการอภิปรายสาธารณะและชักจูงระบบการเมือง จีนให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่นักการเมืองเพื่อแลกกับจุดยืนที่สนับสนุนรัฐบาลจีนในประเด็นต่าง ๆ และข่มขู่ว่าจะระดมชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาเพื่อลงโทษพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนวาระของรัฐบาลจีน และปลูกฝังเรื่องราวของรัฐบาลจีนในสื่อท้องถิ่น รวมไปถึง “ความพยายามที่หลากหลายในการกลบเสียงหรือปิดปากนักวิจารณ์” ตามรายงานของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา (ภาพ: นายเฉิน ยงลิน อดีตนักการทูตจีน กล่าวในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นที่ที่เขาลี้ภัยไป นายเฉินทิ้งตำแหน่งของตนที่สถานกงสุลจีนในซิดนีย์ และกล่าวหาว่ารัฐบาลจีนมีสายลับมากกว่า 1,000 คนในประเทศ)

“ศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษากล่าวว่า “ความพยายามเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาให้เก็บซ่อนไว้จากสาธารณะ และบ่อยครั้งที่มีการจัดเตรียมทางอ้อมผ่านตัวแทน เพื่อเป็นการสร้างชั้นกำแพงของความสามารถในการปฏิเสธที่สมเหตุสมผล ซึ่งทำให้การเจาะจงระดับการแทรกแซงและขอบเขตของปัญหายากขึ้น”

หากกรมงานแนวร่วมคือ “อาวุธวิเศษ” ดังที่นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวไว้ เช่นนั้นแล้วความโปร่งใสและหลักนิติธรรมก็คืออาวุธของประชาธิปไตยที่จะต่อกรกับยุทธวิธีของจีน ตามที่ศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษากล่าวสรุป

“แสงสว่างสาดส่องบนใยที่เป็นเงามืดของการชักนำภัย คุกคาม การบังคับเป็นพวก และการเซ็นเซอร์ตัวเองที่กระตุ้นให้เกิดอิทธิพลของจีนถือเป็นขั้นตอนแรกและเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก” ตามรายงานของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา “รัฐบาลประชาธิปไตยอาจจำเป็นต้องเสริมสร้างกฎหมาย ในขณะที่สังคมประชาธิปไตยจำเป็นต้องเสริมสร้างบรรทัดฐานที่ลดขอบเขตการติดสินบน การทุจริต และการบังคับเป็นพวก”

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button