ติดอันดับ

กองทัพเรือสหรัฐฯ ทดสอบระบบอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ไทรเดนท์ ทู ที่ไม่ติดหัวรบนิวเคลียร์

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

 

กองทัพเรือสหรัฐอเมริกายิงขีปนาวุธไทรเดนท์ ทู ดี-5 แบบยืดอายุการใช้งานที่ไม่ติดหัวรบนิวเคลียร์ (ภาพ) จากเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวชั้นโอไฮโอ (เอสเอสบีเอ็น) ยูเอสเอส เคนทักกี (เอสเอสบีเอ็น-737) นอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนียตอนใต้ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565

การทดสอบยิงขีปนาวุธเป็นหนึ่งในสี่การทดสอบที่ดำเนินการเมื่อวันที่ 15 และ 17 มิถุนายน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบประเมินผลของกองบัญชาการกองทัพเรือสหรัฐฯ เพื่อตรวจสอบความคาดหวังด้านประสิทธิภาพของระบบอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ไทรเดนท์ ทู ดี-5 แบบยืดอายุการใช้งาน

กองทัพเรือสหรัฐฯ ทำการทดสอบประเมินผลของกองบัญชาการและการทดสอบการบินของขีปนาวุธอื่น ๆ เพื่อประเมินและตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ความพร้อม และความถูกต้องอย่างต่อเนื่องของระบบ การทดสอบไม่ได้ดำเนินการเพื่อตอบโต้เหตุการณ์เฉพาะใด การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ที่มีความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และความมั่นคงของพันธมิตรสหรัฐฯ

ขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำเป็นหนึ่งในนิวเคลียร์สามเหล่าป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีปภาคพื้นดินของกองทัพอากาศสหรัฐฯ และเครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์บี-2 และบี-52 เอช ที่มีความสามารถด้านนิวเคลียร์ แต่ละส่วนของนิวเคลียร์สามเหล่ามีความสามารถและข้อได้เปรียบเฉพาะตัว ขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำ ซึ่งมีจำนวนประมาณร้อยละ 70 ของนิวเคลียร์สามเหล่าป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เป็นส่วนที่อยู่รอดได้มากที่สุดและมีการแสดงตนถาวร

ระบบอาวุธทางยุทธศาสตร์ไทรเดนท์ ทู ดี-5 เดิมทีได้รับการออกแบบให้มีอายุการใช้งานถึง พ.ศ. 2567 แต่เพิ่งได้รับการขยายอายุการใช้งานซึ่งจะทำให้สามารถใช้งานได้จนถึงปลายทศวรรษ 2040 (พ.ศ. 2583 – 2592) ขีปนาวุธดี-5 แบบยืดอายุการใช้งานจะประจำการตามอายุการใช้งานที่เหลือบนเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ชั้นโอไฮโอของสหรัฐฯ และชั้นแวนการ์ดของสหราชอาณาจักร รวมทั้งจะเริ่มบรรจุในเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ชั้นโคลัมเบียของสหรัฐฯ และชั้นเดรดนอทของสหราชอาณาจักร

กองทัพเรือสหรัฐฯ มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่อยู่ในกองเรือ 14 ลำ โดยแต่ละลำบรรทุกขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำไทรเดนท์ ทู ดี-5 ได้สูงสุด 20 ลูก โดยปกติแล้ว เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์หรือที่รู้จักกันในชื่อ “บูมเมอร์” จะใช้เวลาประมาณ 77 วันในทะเลและอีกหลายสัปดาห์ในท่าเรือเพื่อทำการบำรุงรักษา เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แต่ละลำมีลูกเรือสองกลุ่ม ได้แก่ บลูและโกลด์ ซึ่งจะสลับกันเข้าประจำตำแหน่งเรือดำน้ำระหว่างการลาดตระเวนในทะเล เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็นฐานปล่อยขีปนาวุธที่ไม่สามารถตรวจจับได้

ภาพจาก: กองทัพเรือสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button