ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดติดอันดับเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ความกังวลของอินโดแปซิฟิก และหัวข้ออื่น ๆ ในเวทีประชุมด้านกลาโหม

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การประชุมแชงกรีลาประกอบด้วยการอภิปรายเรื่องการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ความคิดเห็นของประธานาธิบดียูเครนผ่านระบบทางไกล และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมสุดยอดด้านกลาโหมที่สำคัญที่สุดของเอเชีย จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565

คำกล่าวของนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และ พล.อ. เว่ย เฟิงเหอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน เป็นประเด็นสนใจในการประชุมสุดยอดสามวันในสิงคโปร์ นายออสตินยกย่องวิสัยทัศน์ของประเทศที่มีแนวความคิดเดียวกันซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างความร่วมมือแบบพหุภาคีกับประเทศต่าง ๆ ในอินโดแปซิฟิก และกล่าวถึงการกระทำเชิงก้าวร้าวที่เพิ่มมากขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนในภูมิภาคนี้ พล.อ. เว่ย กล่าวหาสหรัฐอเมริกาว่าพยายามทำให้ประเทศในอินโดแปซิฟิกหันมาต่อต้านรัฐบาลจีน และกล่าวว่าเป็นหน้าที่ของสหรัฐฯ ที่ต้องปรับปรุงความสัมพันธ์แบบทวิภาคี

นายออสตินเชื่อมโยงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนว่าอาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดสืบเนื่องจากการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อจีนในช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนใต้ และที่อื่น ๆ และจากข้อพิพาทพรมแดนกับอินเดีย นายออสตินกล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกกำลังรวมตัวกันเพื่อป้องกันการครอบงำโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง

พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก แสดงความเห็นพ้องกับความคิดเห็นของนายออสติน พล.ร.อ. อาควิลิโนตั้งข้อสังเกตถึงการรุกรานยูเครนที่ “ผิดกฎหมายและไม่มีเหตุอันสมควร” ของรัสเซีย และการทำให้สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงในอินโดแปซิฟิกเสื่อมโทรมลง

“ตลอด 30 ปีในอาชีพนี้ และนับจากสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อผมมองดูสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ผมเห็นความเป็นไปได้ว่าช่วงเวลานี้อาจอันตรายที่สุด” พล.ร.อ. อาควิลิโนกล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์ พล.ร.อ. อาควิลิโนกล่าวอ้างถึงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากขึ้นโดยรัสเซีย จีน และเกาหลีเหนือ ซึ่งทำให้อินโดแปซิฟิกเกิดความไม่มั่นคงด้วยการทดสอบอาวุธซ้ำแล้วซ้ำเล่า

มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในอินโดแปซิฟิกนับตั้งแต่การประชุมแชงกรีลาครั้งก่อนใน พ.ศ. 2562 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องยกเลิกการประชุมสุดยอดสองครั้งที่ผ่านมา ซึ่งปกติจัดขึ้นทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2545 การประชุมสุดยอดนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ โดยตั้งชื่อการประชุมตามชื่อโรงแรมในสิงคโปร์ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน

สถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศระบุในเว็บไซต์ของตนว่า “การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยเหล่ารัฐมนตรีอภิปรายเรื่องความท้าทายด้านความมั่นคงซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดของภูมิภาค สร้างการมีส่วนร่วมในการเจรจาทวิภาคีที่สำคัญ ตลอดจนหาแนวทางใหม่ ๆ ร่วมกัน”

การประชุมครั้งที่ 19 นี้มีผู้แทน 575 คนจาก 40 ประเทศ ตามรายงานของรอยเตอร์ นอกเหนือจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และการชิงดีชิงเด่นกันของสหรัฐฯ และจีน ประเด็นสำคัญคือข้อพิพาทด้านดินแดน ความอหังการของจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และการยั่วยุทางทหารของเกาหลีเหนือ

นายออสตินกล่าวว่าหลายประเทศในอินโดแปซิฟิกตระหนักดีว่าตนมีความเข้มแข็งเมื่ออยู่รวมกันและมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน

“เราไม่เชื่อว่าวิสัยทัศน์เป็นเรื่องที่ต้องบังคับ แต่เราเชื่อว่าวิสัยทัศน์เป็นเรื่องที่ต้องบรรลุ” นายออสตินกล่าว “ด้วยการทำงานร่วมกัน ด้วยการรับฟังซึ่งกันและกัน ด้วยการเป็นมิตรที่ดีและเพื่อนบ้านที่ดี และด้วยการแสดงให้โลกเห็นถึงพลังของความร่วมมือ”

นายออสตินกล่าวเน้นถึงการเจรจาความมั่นคงจตุภาคีหรือควอด และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้จัดการประชุมสุดยอดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยให้ความเห็นว่าเป็นตัวอย่างของความพยายามแบบพหุภาคีระหว่างพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมภูมิภาคที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และอยู่บนรากฐานของกฎเกณฑ์

“เราแสวงหาภูมิภาคที่ไม่มีการรุกรานและการกลั่นแกล้ง” นายออสตินกล่าว “และเราแสวงหาโลกที่เคารพบูรณภาพแห่งดินแดนและความเป็นอิสระทางการเมือง โลกที่ขยายสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และโลกที่ทุกประเทศไม่ว่าใหญ่หรือเล็กมีอิสระในการเจริญเติบโตและแสวงหาผลประโยชน์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยปราศจากการบีบบังคับและการข่มขู่”

ในการแลกเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดบางส่วนในการประชุมแชงกรีลาเกิดขึ้นนอกเวทีประชุมหลัก เมื่อผู้นำประชุมกันในการหารือแบบทวิภาคี

นายออสตินประชุมกับ พล.อ. เว่ย แต่ไม่มีความคืบหน้ามากนักเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านความมั่นคงระยะยาวตั้งแต่สถานะของไต้หวัน กิจกรรมทางทหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในแปซิฟิก ไปจนถึงการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส (ภาพ: นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (ซ้าย) และ พล.อ. เว่ย เฟิงเหอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน (ขวาสุด) พูดคุยกันที่การประชุมแชงกรีลาในสิงคโปร์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565)

นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกีย์ ประธานาธิบดียูเครน ปรากฏตัวทางวิดีโอจากสถานที่ที่ไม่เปิดเผยใกล้กับเคียฟเมืองหลวงของยูเครน “กฎในอนาคตของโลกนี้กำลังได้รับการตัดสินในสนามรบของยูเครน พร้อมกันกับขอบเขตของความเป็นไปได้”

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้กล่าวปราศรัยสำคัญ นายคิชิดะกล่าวว่า การรับรู้ด้านความมั่นคงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เนื่องจากละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ นายคิชิดะเตือนว่า “ยูเครนในวันนี้อาจกลายเป็นเอเชียตะวันออกในพรุ่งนี้” เว้นแต่ผู้มีบทบาททั้งหมดในภูมิภาคมุ่งมั่นที่จะรักษาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง และดำเนินการเพื่อให้เกิดอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

ภาพจาก: แชด เจ. แมคนีลีย์/กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button