ติดอันดับ

กองกำลังรุกรานของรัสเซียถูกกล่าวหาว่ากระทำโหดร้ายในยูเครน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

กองทัพรัสเซียยังคงสังหารพลเรือนตามอำเภอใจอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 3 เดือนหลังจากการบุกโจมตีประเทศที่มีอธิปไตยอย่างยูเครน ซึ่งเป็นการโจมตีโดยไร้เหตุอันสมควร อีกทั้งยังบ่อนทำลายกฎระเบียบระหว่างประเทศว่าด้วยความขัดแย้งทางอาวุธที่มีมายาวนาน ตามรายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชน

พลเรือนกว่า 3,200 คนถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บประมาณ 3,400 คนนับตั้งแต่การรุกรานเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 แม้เชื่อกันว่าตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านี้มาก ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ เหยื่อส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงเด็กหลายร้อยคน เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจาก “อาวุธระเบิดที่มีอานุภาพทำลายในวงกว้าง รวมถึงปลอกกระสุนจากปืนใหญ่หนัก ระบบยิงจรวดหลายลำกล้อง ขีปนาวุธ และการโจมตีทางอากาศ” ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ในช่วงปลายเดือนเมษายน รัสเซียได้ดำเนินการโจมตีทางอากาศใส่กรุงเคียฟ ขณะที่นายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ กำลังเดินทางเยือนเมืองหลวงของยูเครน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไทเปไทมส์ของไต้หวัน ขีปนาวุธลูกหนึ่งโจมตีอาคารที่พักอาศัย ซึ่งได้คร่าชีวิตของนางวีรา เฮียริค ผู้สื่อข่าวของเรดิโอฟรียุโรป/เรดิโอลิเบอร์ตี้ (ภาพ: คนงานนำเศษซากปรักหักพังออกจากอาคารที่พักอาศัยในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน หลังจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียส่งผลให้มีผู้สื่อข่าวเสียชีวิตและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 10 คน เมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2565)

การโจมตีดังกล่าว ซึ่งรัสเซียอ้างว่ามุ่งเป้าไปที่โรงงานผลิตขีปนาวุธและยุทโธปกรณ์ทางอวกาศ ส่งผลให้เกิดการประณามอย่างกว้างขวาง บรรดาเจ้าหน้าที่เยอรมนีเรียกการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการโจมตีที่ไร้มนุษยธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย “ไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด” ตามรายงานของไทเปไทม์ส

นอกจากนี้ ผู้รุกรานชาวรัสเซียยังถูกกล่าวหาว่าใช้การข่มขืนเป็นยุทธวิธีในการทำสงคราม ตลอดจนปฏิเสธที่จะให้พลเรือนหลบหนีออกจากเขตสมรภูมิ ท่ามกลางความโหดร้ายอื่น ๆ ในอย่างน้อย 3 เหตุการณ์ กองทัพรัสเซียได้เปิดฉากยิงกระสุนใส่ยานพาหนะของพลเรือน รวมถึงยานพาหนะที่ผู้ครอบครองกำลังเจรจาต่อรองเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตามรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ พลเรือน 6 คนถูกสังหารในการโจมตีดังกล่าว

นางเบลคิส วิลลี นักวิจัยอาวุโสด้านวิกฤตและความขัดแย้งของฮิวแมนไรตส์วอตช์ ระบุในบทความเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมในเว็บไซต์ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งหนึ่งในนิวยอร์กว่า “ทหารรัสเซียที่ด่านตรวจได้เปิดฉากยิงใส่ยานพาหนะที่วิ่งผ่านโดยไม่พยายามตรวจสอบว่าผู้โดยสารเป็นพลเรือนหรือไม่”

การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงอนุสัญญาเจนีวาที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2407 และรัสเซียร่วมเป็นผู้ลงนาม หลักการดังกล่าว ซึ่งมักเรียกว่ากฎหมายสงครามหรือกฎหมายความขัดแย้งทางอาวุธ ขยายความคุ้มครองไปยังพลเรือนและผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบอื่น ๆ “โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือกฎที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายต้องแยกความแตกต่างระหว่างนักรบและพลเรือนในทุกสถานการณ์” ตามรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ “ห้ามโจมตีพลเรือนโดยเจตนา”

นอกจากนี้ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศยังสั่งห้าม “การโจมตีตามอำเภอใจ กล่าวคือ การโจมตีด้วยวัตถุประสงค์ทางทหาร โดยโจมตีพลเรือน หรือวัตถุทางพลเรือนโดยไม่มีการแยกแยะ” ตามรายงานของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกำหนดให้ “การโจมตีที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อพลเรือนเกินสมควร โดยมีผลต่อความได้เปรียบทางทหารโดยตรงอย่างชัดเจนตามที่คาดการณ์ไว้ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย”

การรุกรานและการยึดครองพื้นที่บางส่วนในยูเครนตะวันออกของรัสเซียทำให้รัฐบาลรัสเซียต้องเผชิญความโดดเดี่ยวมากขึ้น ส่งผลให้นายปูตินเหลือผู้สนับสนุนเพียงไม่กี่รายท่ามกลางกระแสการคว่ำบาตรที่รุนแรงและมาตรการลงโทษอื่น ๆ จากประชาคมโลก บรรดาผู้นำระดับโลก รวมถึงนายโวโลดีมีร์ เซเลนสกีย์ ประธานาธิบดียูเครน และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า รัสเซียกำลังก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยพยายามกวาดล้างประชาชนยูเครน และศาลอาญาระหว่างประเทศกำลังสืบสวนอาชญากรรมที่อาจเป็นอาชญากรรมสงครามโดยรัสเซีย รวมถึงจากนายปูตินด้วย

ในทางกลับกัน ขณะที่กองกำลังที่มีจำนวนมากกว่าเดินหน้าขับไล่การรุกรานของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ยูเครนได้รับการสนับสนุนจำนวนมาก อาทิ อาวุธ เงิน และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกัน รวมถึงในอินโดแปซิฟิก ที่ซึ่งเกิดความขัดแย้งจากพฤติกรรมขยายอำนาจและระบอบเผด็จการของสาธารณรัฐประชาชนจีน

จีนปฏิเสธที่จะประณามการรุกรานของรัสเซียและไม่ได้ร่วมคว่ำบาตรรัฐบาลเผด็จการของนายปูติน นอกจากนี้ จีนยังโหวตไม่เห็นด้วยกับมติของสหประชาชาติที่จะถอดรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทรมานและการสังหารโดยกองทัพรัสเซียในยูเครน มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ผ่านการลงมติด้วยเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น

“รัสเซียไม่ควรมีอำนาจโดยตำแหน่งในองค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง” นางลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติ กล่าวก่อนการลงคะแนนเสียงในวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา “ไม่เพียงแต่ความหน้าไหว้หลังหลอกเท่านั้น แต่รัสเซียเป็นประเทศที่อันตราย ในแต่ละวัน เราได้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่ารัสเซียให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนน้อยเพียงใด”

 

ภาพจาก: รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button