เสรีภาพของสื่อมวลชนฮ่องกงทำลายการก้าวไปสู่การเป็นชั้นนำระดับโลก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
ฮ่องกงซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นปราการแห่งเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชน กำลังจะสูญเสียกระบอกเสียงที่แท้จริงไป เนื่องด้วยการรายงานข่าวที่มีความละเอียดและไม่เอนเอียงของผู้สื่อข่าวอิสระนั้นหายไปอย่างรวดเร็ว “ข่าว” ของฮ่องกงในขณะนี้จึงกลับกลายไปเป็นการรายงานข่าวเพียงด้านเดียวซึ่งเป็นมุมมองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้สังเกตการณ์กล่าว
ไม่มีชาติใดหรือดินแดนใดที่พังพินาศไปมากกว่าฮ่องกงตั้งแต่ พ.ศ. 2564 ถึง พ.ศ. 2565 ในการประเมินเสรีภาพของสื่อมวลชนทั่วโลกประจำปีขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ในบรรดา 180 ประเทศและดินแดนหลัก ๆ ที่ได้รับการประเมินโดยนักข่าวและผู้ทำงานด้านสื่ออื่น ๆ ฮ่องกงมีอันดับลดลงกว่า 68 อันดับจากอันดับที่ 80 เป็นอันดับที่ 148 ในดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
โดยที่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 18
สถานะที่ตกต่ำลงของฮ่องกงเป็นผลมาจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่กำหนดโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 หลังจากมีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยบ่อยมากยิ่งขึ้น ฝ่ายต่อต้านกล่าวว่า กฎหมายที่คลุมเครือซึ่งกำหนดโทษจำคุกที่รุนแรงและบทลงโทษอื่น ๆ สำหรับการกระทำความผิด เช่น การแบ่งแยกดินแดน การบ่อนทำลาย การก่อการร้าย หรือการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ ได้ขัดขวางการเผยแพร่การรายงานเชิงลึกในฮ่องกง (ภาพ: ผู้ให้การสนับสนุนนักข่าวผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าแถลงการณ์เท็จทำการประท้วงนอกศาลฮ่องกงเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563)
ชื่อเสียงของฮ่องกงในฐานะสังคมเปิดที่มีเสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายนั้นได้รับผลกระทบนับตั้งแต่กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ และในขณะนี้ฮ่องกงเองก็อยู่ในกลุ่มผู้กระทำผิดที่เลวร้ายที่สุดในดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกครั้งล่าสุด ซึ่งรวมถึงจีน (อันดับที่ 175) เมียนมาร์ (อันดับที่ 176) และเกาหลีเหนือ (อันดับที่ 180)
ในขณะเดียวกัน ความพึงพอใจของชาวฮ่องกงที่มีต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุด ตามรายงานจากผลสำรวจของสถาบันวิจัยความคิดเห็นสาธารณะฮ่องกงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 เพียง 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่า พวกเขาพึงพอใจกับเสรีภาพของสื่อมวลชนแล้ว ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจขึ้นใน พ.ศ. 2540
ทางการสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ผลสืบเนื่องของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติดังกล่าวละเมิดข้อตกลงที่สหราชอาณาจักรโยกย้ายการควบคุมอาณานิคมเดิมของตนเองไปให้กับจีนใน พ.ศ. 2540 ข้อตกลงดังกล่าวได้กำหนดให้ฮ่องกงสามารถรักษาเอกราชของตนเองไว้เป็นอย่างน้อยจนถึง พ.ศ. 2590
การสูญสิ้นของเสรีภาพในการพูดแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของการปราบปรามของรัฐบาลที่มีต่อสำนักข่าวอิสระ ซึ่งรวมถึงการปิดสำนักข่าวแอปเปิล เดลี ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 หลังจากเผยแพร่เรื่องราวที่สำคัญของจีน นายจิมมี่ ไล เจ้าของหนังสือพิมพ์ ถูกจำคุก พนักงานถูกจับกุม และบัญชีธนาคารก็ถูกอายัด
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 สำนักข่าวสแตรนด์นิวส์ปิดตัวลงหลังจากพนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานจำนวนเจ็ดคนถูกควบคุมตัวจากการบุกจับของตำรวจ มีการกล่าวหาว่าอดีตบรรณาธิการระดับสูงสองคนต้องสงสัยว่าสมคบกันเพื่อเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นการปลุกระดม
สำนักข่าวซิติเซนนิวส์ปิดตัวลงในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา นายคริส ยึง ผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งเป็นอดีตนายกสมาคมนักข่าวฮ่องกง กล่าวว่า “นักข่าวก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน เรามีครอบครัวและมีเพื่อน และเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับข้อเท็จจริงที่ว่า นี่เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย”
นักข่าวฮ่องกงจำนวน 13 คนถูกคุมขังในข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ตามรายงานขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เมื่อไม่นานมานี้เรดิโอฟรีเอเชียได้รายงานว่า นักข่าวคนอื่น ๆ ที่ถูกเนรเทศได้หลบหนีออกจากเมือง โดยไปรายงานข่าวเกี่ยวกับฮ่องกงจากต่างประเทศแทน
นางโซฟี ริชาร์ดสัน ผู้อำนวยการของฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศจีน กล่าวกับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ว่า “กฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงราวกับไม่มีขอบเขต” “นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกงที่เคยชินกับการปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่ส่วนใหญ่มีการเคารพสิทธิกัน ในตอนนี้กลับต้องเผชิญกับความว่างเปล่าที่น่าสลดใจ”
ผู้ให้การสนับสนุนเสรีภาพในการพูดถูกโจมตีอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 เมื่อนายจอห์น ลี ผู้ที่คอยดูแลการปราบปรามผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2562 ได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงโดยคณะกรรมการคัดเลือกผู้จงรักภักดีของรัฐบาลจีน รัฐบาลของนายลีไม่มีฝ่ายค้าน
เสรีในการพูดถือเป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตยเพราะจะส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้และทำให้เกิดการอภิปราย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สมาชิกของสังคมแห่งเสรีภาพต้องการการรายงานข่าวที่ไม่เอนเอียงและความคิดเห็นที่หลากหลายเพื่อให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบ เปิดโปงการทุจริต และตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและพลเมืองแต่ละคน
“หากคุณไม่มีข้อเท็จจริง ก็หมายความว่าคุณไม่ได้พูดความจริง” นางมาเรีย รีซา นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลร่วม สาขาสันติภาพประจำ พ.ศ. 2564 กล่าวกับดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส “คุณจะไม่ได้รับความไว้วางใจ และไม่มีความเป็นจริงร่วมกัน”
ภาพจาก: แอสโซซิเอทเต็ด เพรส