ความร่วมมือติดอันดับเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอวกาศ

ฟีลิกซ์ คิม

เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุนด้านอวกาศและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านอวกาศร่วมกันภายใต้ข้อตกลงใหม่ ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ. เจมส์ เอช. ดิคคินสัน ผู้บัญชาการกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมองค์กรด้านอวกาศในเกาหลีใต้ และเนื่องจากการพัฒนาขีดความสามารถด้านอวกาศภายในประเทศของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่เพิ่มสูงขึ้น

ข้อตกลงการศึกษาร่วมด้านนโยบายอวกาศมีการลงนามเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ระหว่างการประชุมครั้งที่ 18 ของคณะทำงานความร่วมมือด้านอวกาศของนานาประเทศในกรุงวอชิงตัน ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงฉบับแรกระหว่างพันธมิตร โดยได้มีการสรุปวิธีการยกระดับขีดความสามารถในการตอบสนองเมื่อเผชิญกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอวกาศที่เพิ่มขึ้น มาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การแบ่งปันข้อมูลเพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขตของอวกาศ การฝึกซ้อมและการฝึกอบรมร่วม การพัฒนาความสามารถในการทำงานร่วมกัน และการยกระดับความร่วมมือด้านกลาโหมและอวกาศ รวมถึงการปฏิบัติการร่วมด้านอวกาศ

แถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ระบุว่า เกาหลีใต้และสหรัฐฯ “มีความพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางอวกาศของพันธมิตร”

ขณะที่อยู่ในเกาหลีใต้ พล.อ. ดิคคินสันได้เดินทางไปเยือนศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศเกาหลีและสถาบันวิจัยอวกาศเกาหลีในกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 และจัดการเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอวกาศกับ พล.อ.อ. ปาร์ก อินโฮ เสนาธิการกองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลี และ พล.อ. พอล ลาคาเมรา ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ ตามรายงานของกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ (ภาพ: พล.อ.อ. ปาร์ก อินโฮ เสนาธิการกองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลี (ซ้าย) และ พล.อ. เจมส์ เอช. ดิคคินสัน ผู้บัญชาการกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ พบปะพูดคุยกันที่เกาหลีใต้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565)

ที่ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายอวกาศของเกาหลีใต้ พล.อ. ดิคคินสันได้หารือเกี่ยวกับภารกิจในด้านต่าง ๆ เช่น การตระหนักรู้ถึงสถานการณ์บนอวกาศ สภาพอากาศบนอวกาศ ตลอดจนตำแหน่ง การนำทาง และเวลา พล.อ. ดิคคินสันยังได้พบกับ นายลี ซังรยูล ประธานสถาบันวิจัยการบินและอวกาศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานอวกาศพลเรือนหลักของประเทศ รวมถึงดูแลการวิจัยและการพัฒนาดาวเทียมและเทคโนโลยีหลักสำหรับยานพาหนะปล่อยยานอวกาศและอากาศยานที่ได้รับการคัดเลือก

ขีดความสามารถด้านอวกาศของเกาหลีใต้ก้าวกระโดดในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ด้วยการเปิดตัวจรวดนูรีแบบสามขั้น ซึ่งสามารถพุ่งได้สูงถึง 700 กิโลเมตร มีการคาดหวังให้จรวดนูรีนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้ในที่สุด นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอวกาศของเกาหลีใต้ยังสามารถผลิตเครื่องยนต์จรวดที่ทรงพลังมากขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่รัฐบาลเกาหลีใต้และรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับขอบเขตขีปนาวุธของเกาหลีใต้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ตามรายงานของนิตยสารดีเฟนซ์นิวส์

อีกทั้งใน พ.ศ. 2564 สำนักงานโครงการจัดซื้อด้านกลาโหมของเกาหลีใต้ได้ประกาศแผนการลงทุนเป็นจำนวนกว่า 13.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.72 แสนล้านบาท) เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านอวกาศของประเทศในทศวรรษหน้า รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีหลักสำหรับดาวเทียมด้านความมั่นคง

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

 

ภาพจาก: กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button