ติดอันดับ

ออสเตรเลียยังคงควบคุมยูเรเนียมที่ผลิตในประเทศอย่างเข้มงวด

ทอม แอบกี

รัฐบาลออสเตรเลียยังคงยึดมั่นในนโยบายห้ามการใช้ยูเรเนียมที่ผลิตในประเทศสำหรับการใช้งานทางทหาร ท่าทีดังกล่าวส่งผลให้มีการควบคุมการส่งออกยูเรเนียมอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง กฎนี้ยังป้องกันไม่ให้ออสเตรเลียใช้ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคต

ออสเตรเลียมีทรัพยากรยูเรเนียมมากที่สุดในโลกและเป็นผู้ผลิตธาตุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ตามรายงานของหน่วยงานรัฐบาล จีโอไซแอนซ์ ออสเตรเลีย

ความมุ่งมั่นอย่างยิ่งยวดที่จะลดความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซียและความต้องการแหล่งพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ทำให้พลังงานนิวเคลียร์กลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ดิอีโคโนมิสต์เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ด้วยแหล่งยูเรเนียมที่มีอยู่อย่างมากมาย นี่อาจเป็นข่าวดีสำหรับออสเตรเลีย ตามรายงานของออสเตรเลียน ไมน์นิ่ง ซึ่งเป็นวารสารอุตสาหกรรม มีการลงทุนใหม่ ๆ รวมถึงเหมืองยูเรเนียมสองแห่งที่วางแผนไว้สำหรับออสเตรเลียตะวันตก

รัฐบาลออสเตรเลียควบคุมการส่งออกยูเรเนียมของประเทศอย่างเคร่งครัด โดยห้ามการใช้ในอาวุธนิวเคลียร์หรือ “โครงการทางทหารอื่น ๆ” นโยบายการส่งออกดังกล่าวกำหนดให้วัสดุนิวเคลียร์ที่ออสเตรเลียกำหนดต้องได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในระหว่างการเดินทางผ่านวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์

สนธิสัญญาความมั่นคงไตรภาคีระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งลงนามในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 และรู้จักกันในชื่อ อูกัส ได้เร่งรัดการประเมินข้อกำหนดเกี่ยวกับการส่งมอบเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลียเป็นเวลา 18 เดือน โฆษกหญิงของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียกล่าวกับ ฟอรัม

“รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะไม่ให้ออสเตรเลียดำเนินการเสริมสมรรถนะหรือแปรรูปยูเรเนียมใหม่เพื่อสนับสนุนโครงการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์” โฆษกหญิงกล่าว

และยังกล่าวว่า ภายใต้นโยบายการส่งออก ยูเรเนียมที่ผลิตโดยออสเตรเลียอาจถูกขนย้ายไปยังประเทศที่มีข้อตกลงความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ทวิภาคีกับออสเตรเลียเท่านั้น (ภาพ: เหมืองยูเรเนียมทางตอนเหนือของออสเตรเลีย)

ออสเตรเลียรักษาข้อตกลงดังกล่าวไว้ 25 ฉบับ ซึ่งครอบคลุม 43 ประเทศรวมทั้งสหรัฐฯ ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย

“นโยบายการป้องกันของออสเตรเลียเกี่ยวข้องกับการเลือกประเทศที่มีสิทธิ์ได้รับการส่งออกยูเรเนียมของออสเตรเลียอย่างรอบคอบ” โฆษกหญิงกล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการส่งออกยูเรเนียม พ.ศ. 2550 กับรัสเซียและกับยูเครนใน พ.ศ. 2559 ได้สร้างความกังวลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเตือนภัยระดับใหม่เกี่ยวกับการรุกรานยูเครนของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ภายใต้ข้อตกลงกับรัฐบาลรัสเซีย การขนส่งยูเรเนียมได้ถูกส่งไปยังรัสเซียใน พ.ศ. 2553 เพื่อ “วัตถุประสงค์ด้านสันติภาพโดยเฉพาะ” ตามรายงานของสถาบันโลวีในออสเตรเลียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 การขายยูเรเนียมไปยังรัสเซียถูกระงับใน พ.ศ. 2557 หลังจากเครื่องบินของมาเลเซียแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 17 ตกในเดือนกรกฎาคมของปีดังกล่าว การสอบสวนร่วมที่นำโดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์สรุปได้ว่า เครื่องบินลำดังกล่าวถูกยิงตกโดยขีปนาวุธที่รัสเซียสร้างขึ้นซึ่งยิงออกจากดินแดนที่ควบคุมโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียในยูเครน สถาบันโลวีระบุเพิ่มเติมว่าไม่มีการส่งยูเรเนียมไปยังรัสเซียตั้งแต่ พ.ศ. 2557

ออสเตรเลียส่งยูเรเนียมไปยังยูเครนเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ตามรายงานของวารสารข่าวอินดิเพนเดนท์ ออสเตรเลีย และการยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลของยูเครนโดยกองกำลังรัสเซียในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่ารัสเซียอาจยึดวัสดุนิวเคลียร์ที่ผลิตจากออสเตรเลีย ตามรายงานของอินดิเพนเดนท์ ออสเตรเลีย นักวิเคราะห์กล่าวว่า แนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ยังต่ำอยู่ เนื่องจากเชอร์โนบิลถูกปลดประจำการใน พ.ศ. 2529 หลังจากเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ร้ายแรงและไม่ได้รับเชื้อเพลิงอีกต่อไป

หนึ่งในสี่ของโรงงานนิวเคลียร์ของยูเครน ซึ่งคือโรงงานคเมลนิตสกีในเนติชินถูกควบคุมโดยกองกำลังรัสเซีย ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2565 ตามรายงานของรอยเตอร์ ยิ่งไปกว่านั้น การขนส่งจากออสเตรเลียไปยังยูเครนเชื่อกันว่าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเชิงสัญลักษณ์และมีจำนวนค่อนข้างน้อย ยูเครนมีปริมาณยูเรเนียมสำรองตามธรรมชาติมากมาย ตามรายงานของกระทรวงพลังงานยูเครน และตั้งเป้าหมายว่าจะพึ่งพาตนเองได้ถึง พ.ศ. 2570

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

 

ภาพจาก: ไอสต็อก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button