ติดอันดับ

สหรัฐฯ และพันธมิตรอินโดแปซิฟิกโจมตีนายปูตินหนักขึ้นและสั่งห้ามการนำเข้าสินค้าจากรัสเซีย

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส และรอยเตอร์

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ออกคำสั่งห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของนายวลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งเป็นการโจมตีเศรษฐกิจของรัสเซียให้รุนแรงกว่าเดิม การดำเนินการทางการค้าครั้งสำคัญดังกล่าวเพื่อตอบสนองต่อคำขอร้องของผู้นำยูเครนที่ถูกโจมตี ผลักดันให้สหรัฐฯ ก้าวออกมาในแนวหน้า ในขณะที่ชาติตะวันตกกำลังพยายามหยุดยั้งการรุกรานของนายปูติน

การสั่งห้ามดังกล่าวมีขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่สิงคโปร์และญี่ปุ่นประกาศการคว่ำบาตรในทำนองเดียวกัน หนึ่งวันก่อนการตัดสินใจของประธานาธิบดีไบเดน ญี่ปุ่นได้อายัดทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจชาวรัสเซียและเบลารุสเพิ่มเติมอีก 32 คน การคว่ำบาตรของญี่ปุ่นวางเป้าหมายไปที่กลุ่มคนรัสเซีย 20 คน ซึ่งรวมถึงรองเสนาธิการฝ่ายบริหารของนายปูติน รองประธานรัฐสภาแห่งรัฐ ผู้นำแห่งสาธารณรัฐเชเชน และผู้บริหารของบริษัทต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลรัสเซีย เช่น โวลก้ากรุ๊ป ทรานส์เนฟต์ และวากเนอร์ อีกทั้งยังรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐและนักธุรกิจชาวเบลารุสอีก 12 คน ตลอดจนองค์กรในรัสเซียและเบลารุสอีก 12 แห่ง

สำหรับการดำเนินการทางฝั่งของสิงคโปร์ สิงคโปร์ได้คว่ำบาตรธนาคารของรัสเซีย 4 แห่ง และสั่งห้ามส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และสินค้าทางการทหาร ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ค่อยได้พบเจอจากศูนย์กลางทางการเงินอินโดแปซิฟิกเพื่อตอบโต้กับสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น “แบบอย่างที่เป็นอันตราย” ของรัฐบาลรัสเซียที่เกิดขึ้นกับยูเครน

นครรัฐขนาดเล็กอย่างสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศแห่งนี้แทบจะไม่มีมาตรการคว่ำบาตรของตนเอง อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์กล่าวว่าจะไม่อนุญาตให้มีการส่งออกสินค้าที่อาจสร้างความเสียหายหรือปราบปรามประชาชนยูเครน หรือให้ความช่วยเหลือรัสเซียในการประกาศการโจมตีทางไซเบอร์

“เราไม่สามารถยอมรับต่อการที่รัฐบาลรัสเซียละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐอธิปไตยอื่นได้” กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์กล่าวในแถลงการณ์ “สำหรับประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ การกระทำนี้ไม่ใช่หลักการปฏิบัติทางทฤษฎี แต่มันคือแบบอย่างที่เป็นอันตราย นี่คือสาเหตุที่สิงคโปร์ประณามการโจมตีโดยไร้ซึ่งเหตุผลของรัสเซียอย่างรุนแรง”

ข้อจำกัดดังกล่าวสั่งห้ามไม่ให้สถาบันการเงินของสิงคโปร์ทำธุรกรรมกับบริษัทวีทีบี แบงก์ พับลิก จอยต์ สต็อก, ธนาคารวีเนชีโคนอมแบงก์ ธนาคารคอร์ปอเรชันเพื่อการพัฒนาและกิจการเศรษฐกิจต่างประเทศ, บริษัทพรอมส์เวียสแบงก์ พับลิก จอยต์ สต็อก และธนาคารแบงค์ รอสสิยา มาตรการนี้ยังครอบคลุมถึงคริปโตเคอร์เรนซีอีกด้วย

ผู้นำระดับประเทศยอมรับว่าการคว่ำบาตรนั้นอาจต้องแลกมาด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศที่เสียไป โดยประธานาธิบดีไบเดนแถลงว่า “การปกป้องเสรีภาพมีราคาที่ต้องจ่าย” (ภาพ: นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ส่งผลให้ค่าผ่านทางเศรษฐกิจของรัสเซียสูงขึ้น)

การนำเข้าน้ำมันไม่ได้รวมอยู่ในการคว่ำบาตรครั้งใหญ่ต่อรัสเซีย การส่งออกพลังงานยังคงทำให้กระแสเงินสดไหลไปยังรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอื่น ๆ ที่ส่งผลรุนแรงต่อภาคการเงินของประเทศก็ตาม

“เราจะไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สงครามของนายปูติน” ประธานาธิบดีไบเดนกล่าว พร้อมเรียกการกระทำของตนว่าเป็น “ระเบิดอันทรงพลัง” ที่โจมตีขีดความสามารถของรัสเซียในการให้ทุนสนับสนุนการรุกรานที่ไม่จบสิ้น

ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่าสหรัฐฯ กำลังดำเนินการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรยุโรปที่พึ่งพาแหล่งพลังงานของรัสเซียมากกว่า การแถลงการณ์ดังกล่าวถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหม่ล่าสุดของทำเนียบขาวเพื่อตัดรัสเซียออกจากเศรษฐกิจโลกให้มากที่สุด และเพื่อให้แน่ใจว่าการรุกรานดังกล่าวจะกลายเป็นความสูญเสียเชิงยุทธศาสตร์ของนายปูติน แม้ว่าเขาจะสามารถยึดดินแดนได้ก็ตาม “ปูตินจะไม่มีวันได้ชัยชนะในยูเครน” ประธานาธิบดีไบเดนกล่าว

นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกีย์ ประธานาธิบดียูเครน กล่าวยกย่องการกระทำของประธานาธิบดีไบเดนผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “ขอขอบคุณสหรัฐฯ และความเป็นผู้นำของ @POTUS ในการโจมตีส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของเครื่องจักรสงครามของนายปูติน และการสั่งห้ามน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินจากตลาดสหรัฐฯ ช่วยกระตุ้นให้ประเทศและผู้นำจากประเทศอื่นปฏิบัติตาม”

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button