ติดอันดับ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเน้นย้ำว่าสิงคโปร์คือศูนย์กลางความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล

ทอม แอบกี

ความร่วมมือทางทหารที่ครอบคลุม ข้อตกลงพหุภาคี และกฎหมายระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลในอินโดแปซิฟิก ดร. เอิง เอ็ง เฮ็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ กล่าวย้ำในระหว่างการประชุมด้านความมั่นคงประจำปีที่นครมิวนิก ครั้งที่ 58 เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ดร. เอิงยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของนครรัฐในการเป็นพันธมิตรผ่านการมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่กลาโหมและผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความสนใจกับภูมิภาคนี้ในระหว่างการประชุมประจำปีดังกล่าวที่ประเทศเยอรมนี

งานนี้ได้มีผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้นำรัฐบาลมากกว่า 30 คน รัฐมนตรีของรัฐบาลอีก 100 คน และผู้นำขององค์กรพหุภาคีสำคัญ ๆ อีกหลายองค์กร ซึ่งรวมไปถึงสหภาพยุโรป องค์การนาโต และองค์การสหประชาชาติ ในระหว่างการอภิปรายแบบโต๊ะกลมเรื่องความมั่นคงทางทะเล ดร. เอิงกล่าวว่าสิงคโปร์ตั้งอยู่ “บริเวณทางแยกของเอเชียและส่วนที่เหลือของโลก” ติดกับช่องทางเดินเรือที่คับคั่งที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรวมถึงการประมงที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ภาพ: ดร. เอิง เอ็ง เฮ็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ (ซ้าย) เข้าร่วมการประชุมด้านความมั่นคงประจำปีที่นครมิวนิก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565)

ดร. เอิงกล่าวว่า “สำหรับเรา การที่กฎหมายระหว่างประเทศอย่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลได้รับการสนับสนุนนั้นถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง” “เราทำหน้าที่ในส่วนของเรา เช่น ในส่วนของหน่วยลาดตระเวนบริเวณช่องแคบมะละกา ผ่านความร่วมมือกับประเทศอาเซียนที่มีแนวคิดเหมือนกัน และให้การสนับสนุนความพยายามต่าง ๆ เช่น ข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีในทะเลซูลูและเซเลบีส เพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงร่วมอย่างการก่อการร้ายและการกระทำอันเป็นโจรสลัด”

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลมีการลงนามเมื่อ พ.ศ. 2525 และบังคับใช้เมื่อ พ.ศ. 2537 ถือเป็นรากฐานของกฎหมายสำหรับการปฏิบัติการทางการเดินเรือและทางทะเลระดับโลก นอกเหนือจากบทบัญญัติอื่น ๆ อนุสัญญาดังกล่าวยังมอบเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะแก่ประเทศต่าง ๆ ที่ขยายระยะทางไป 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งของประเทศนั้น ๆ และให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการปกครองทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

หน่วยลาดตระเวนบริเวณช่องแคบมะละกาเป็นชุดมาตรการความร่วมมือที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยใช้เพื่อปกป้องความมั่นคงของช่องแคบดังกล่าว ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ ข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งลงนามเมื่อ พ.ศ. 2559 สนับสนุนให้มีการสร้างมาตรฐานของการลาดตระเวนทางทะเลและการให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อตกลงดังกล่าวนำไปสู่การลาดตระเวนทางทะเลและทางอากาศไตรภาคีใน พ.ศ. 2560 และได้รับการยกย่องว่าทำให้จำนวนการโจมตีเรือเดินทะเลลดลงเป็นอย่างมาก ตามรายงานของสถาบันไอซีส์ ยูซอฟ อิสฮะก์ ของสิงคโปร์

ดร. เอิงได้ยกย่องความร่วมมือทางทหารในภูมิภาคดังกล่าวด้วยการให้ความร่วมมือในด้านข้อกังวลที่มีร่วมกันและเร่งด่วน ดร. เอิงกล่าวว่าตัวอย่างสำคัญคือประมวลกฎหมายว่าด้วยการเผชิญหน้ากันอย่างไม่คาดคิดในทะเล ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติสำหรับกองทัพเรือของ 21 ประเทศที่มีการลงนาม เพื่อหลีกเลี่ยงและลดจำนวนการเกิดเหตุต่าง ๆ นอกจากนี้ ดร. เอิงยังกล่าวถึงสถานที่ต่าง ๆ ในสิงคโปร์ที่มีสำหรับกองกำลังติดอาวุธของประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น ศูนย์บูรณาการข้อมูลข่าวสาร ศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในภูมิภาคชางงี และศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย

ดร. เอิงกล่าวว่า “เราขอขอบคุณสำหรับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายประเทศที่มีต่อการริเริ่มเหล่านี้”

ในระหว่างการประชุมที่นครมิวนิก ดร. เอิงได้พบปะเป็นการส่วนตัวกับนางฟลอเรนซ์ ปาร์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศส นายซูบราห์มาเนียม ไจชานการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย และนางอานิตา อานันด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแคนาดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์กล่าวว่า เหล่ารัฐมนตรีได้หารือถึงวิธีการต่าง ๆ ที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทางกลาโหมระดับทวิภาคี รวมไปถึงการพัฒนาความมั่นคงในยุโรปและอินโดแปซิฟิกที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

 

ภาพจาก: กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button