Uncategorized

ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ จะสร้างความเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การสร้างขีดความสามารถแบบองค์รวมถือเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมอำนาจให้แก่สหรัฐฯ และพันธมิตรในอินโดแปซิฟิก ในขณะที่ปรับตัวเข้ากับความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นและคว้าโอกาสที่จะคงไว้ซึ่งอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ ที่ได้รับการปรับปรุงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ให้คำมั่นว่าจะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ผ่านการขยายและกระชับความร่วมมือกับประเทศที่มีความคิดเหมือนกันในภูมิภาคนี้ เสริมสร้างความร่วมมือที่เกิดขึ้นใหม่ และสร้างความเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกอินโดแปซิฟิก

“การบรรลุเป้าหมายอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราสร้างขีดความสามารถแบบองค์รวมสำหรับยุคใหม่ที่การร่วมมือกันเป็นสิ่งจำเป็นในเชิงยุทธศาสตร์” ตามยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ “พันธมิตร องค์กร และกฎระเบียบที่สหรัฐอเมริกาและหุ้นส่วนของเราได้ช่วยกันสร้างขึ้นจะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนหากมีความจำเป็น และเราจะต้องปรับปรุงกฎเหล่านั้นร่วมกัน เราจะดำเนินการตามเป้าหมายนี้ผ่านโครงข่ายของความร่วมมือกันที่แข็งขันและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กันและกัน”

สหรัฐฯ ตั้งใจที่จะมุ่งเน้นไปที่วิธีการที่มีนวัตกรรมในการทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดมากที่สุดเป็นอันดับแรก นอกเหนือจากการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรตามสนธิสัญญาในภูมิภาคแล้ว สหรัฐฯ จะสนับสนุนพันธมิตรและหุ้นส่วนให้เสริมสร้างความสัมพันธ์ของตนกับพันธมิตรและหุ้นส่วนรายอื่น ๆ “เราจะสนับสนุนและเสริมอำนาจพันธมิตรและหุ้นส่วน โดยพวกเขารับบทบาทผู้นำระดับภูมิภาคด้วยตนเอง และเราจะรวมกลุ่มทำงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งผนวกรวมความเข้มแข็งของเราเข้าด้วยกันเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาที่เป็นจุดชี้ชะตาในช่วงเวลานี้”

ความร่วมมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาที่เป็นจุดชี้ชะตาเหล่านี้คือการเจรจาความมั่นคงจตุภาคีหรือควอด ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ควอดสร้างความร่วมมือในด้านสุขภาพทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีที่สำคัญและเกิดขึ้นใหม่ โครงสร้างพื้นฐาน ไซเบอร์ การศึกษา และพลังงานสะอาด

ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ ยังเน้นย้ำความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน โดยให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อสร้างความไว้วางใจในฐานะสถาบันชั้นนำระดับภูมิภาค และมองหาโอกาสที่จะทำงานร่วมกับควอด

ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ ระบุว่า “ความสัมพันธ์ของเราไม่เพียงแต่เชื่อมโยงรัฐบาลของเราเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงประชาชนของเราด้วย”

การสร้างขีดความสามารถแบบองค์รวมทั้งภายในและนอกภูมิภาคตามยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกประกอบด้วย

  • การกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรตามสนธิสัญญาระดับภูมิภาคที่สหรัฐฯ ร่วมกับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และไทย
  • เสริมสร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนชั้นนำในภูมิภาค ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก
  • สนับสนุนอาเซียนที่มีอำนาจและมีความเป็นเอกภาพ
  • เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ควอดและดำเนินการตามความมุ่งมั่นของควอด
  • สนับสนุนอินเดียด้านการเติบโตอย่างต่อเนื่องและความเป็นผู้นำระดับภูมิภาค
  • เป็นหุ้นส่วนกันเพื่อสร้างความสามารถในการฟื้นตัวในหมู่เกาะแปซิฟิก
  • สร้างความเชื่อมโยงระหว่างอินโดแปซิฟิกและยูโรแอตแลนติก
  • ขยายอำนาจทางการทูตของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิก

ภายใต้รัฐบาลของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ “สหรัฐอเมริกามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างจุดยืนในระยะยาวและความมุ่งมั่นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” ตามยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก “ในด้านยุทธศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราตระหนักดีว่าผลประโยชน์ของอเมริกาจะก้าวหน้าได้ก็ต่อเมื่อเราสร้างจุดยืนอันเข้มแข็งให้กับสหรัฐอเมริกาในอินโดแปซิฟิก และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาคนี้ควบคู่ไปกับพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดที่สุดของเรา”

อ่านยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ ฉบับเต็มได้ที่ https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2022/02/U.S.-Indo-Pacific-Strategy.pdf

 

ภาพจาก: ไอสต็อก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button