มองภูมิภาคแผนก

จีน: การอนุญาตให้มีบุตร

ปัจจุบัน จีนอนุญาตให้คู่สมรสมีบุตรได้ถึงสามคน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญจากข้อจำกัดเดิมที่ให้มีบุตรได้เพียงสองคน ภายหลังจากการเปิดเผยข้อมูลแสดงให้เห็นถึงอัตราการคลอดบุตรที่ลดลงอย่างมากในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้รับการอนุมัติในระหว่างการประชุมเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีนายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นประธาน ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว ซึ่งเป็นสำนักข่าวอย่างเป็นทางการของรัฐบาล

ใน พ.ศ. 2559 จีนได้ยกเลิกนโยบายมีบุตรได้เพียงคนเดียวที่ใช้มานานหลายทศวรรษ ซึ่งเดิมกำหนดขึ้นเพื่อหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร เช่นเดียวกันกับข้อจำกัดที่ให้มีบุตรได้เพียงสองคน ซึ่งไม่สามารถทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ เนื่องด้วยการเลี้ยงดูบุตรในมณฑลต่าง ๆ ของจีนมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้คู่รักหลายคู่ไม่สามารถเริ่มต้นครอบครัวได้

“เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของนโยบายการคลอดบุตร จีนจะดำเนินนโยบายหนึ่งคู่สมรสสามารถมีบุตรได้สามคน” ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว

การเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวมาพร้อมกับ “มาตรการสนับสนุนซึ่งจะเอื้อต่อการปรับปรุงโครงสร้างประชากรของประเทศ ช่วยให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ของประเทศในการรับมืออย่างแข็งขันกับประชากรที่สูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดจนรักษาความได้เปรียบในศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ของเรา” สำนักข่าวซินหัวกล่าวรายงาน ทั้งนี้ไม่ได้มีการระบุเจาะจงถึงมาตรการสนับสนุนดังกล่าว

การประกาศดังกล่าวได้รับการตอบกลับอย่างเย็นชาบนสื่อสังคมออนไลน์ของจีน โดยหลายคนกล่าวว่าพวกเขาไม่เงินเพียงพอจะเลี้ยงดูบุตรไม่ว่าหนึ่งหรือสองคนก็ตาม

“ฉันยินดีที่จะมีลูกสามคนเลย ถ้าคุณให้เงินฉัน 5 ล้านหยวน (ประมาณ 26 ล้านบาท)” ผู้ใช้รายหนึ่งโพสต์บนเว่ยป๋อ การสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดของจีนแสดงให้เห็นว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการเพิ่มขึ้นของประชากรอยู่ในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493-2502) โดยจำนวนสูงสุดอยู่ที่ 1.41 พันล้านคน

นอกจากนี้ ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่เพียงเด็ก 1.3 คนต่อสตรีหนึ่งคนสำหรับ พ.ศ. 2563 ซึ่งเทียบเท่ากับสังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและอิตาลี พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังกล่าวอีกว่าจะมีการชะลออายุเกษียณในประเทศในระยะต่อไป แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดใด ๆ รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button