เรื่องเด่น

ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ กับ จีน

เผชิญภัยไปด้วยกัน

ดร. เชล โฮโรวิทซ์/มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-มิลวอกี

การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงของการพัฒนาที่ยึดตนเองเป็นหลักและการอยู่ร่วมกันระหว่างประเทศอีกต่อไป ภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรค วิธีการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นลักษณะเฉพาะของการควบคุมเศรษฐกิจและการเมืองภายในได้กลายเป็นการรวมศูนย์และกดขี่มากขึ้น นโยบายต่างประเทศมีความรุนแรงอย่างชัดเจนมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจของจีนเข้าสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เน้นเงินทุนมากขึ้น ซึ่งทำให้ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก มีภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ จำนวนมาก ซึ่งมักจะทำให้ภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางทหารเลวร้ายลงไปอีก

รัฐที่ถูกคุกคามจะตอบโต้อย่างดีที่สุดได้อย่างไร เพื่อตอบคำถามที่ซับซ้อนนี้ การจัดหมวดหมู่ภัยคุกคามและความสามารถในการตอบโต้ที่หลากหลายจะช่วยได้ ประเทศมหาอำนาจที่เผชิญกับภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและทางทหารจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีแนวโน้มที่จะจัดตั้งแนวร่วมที่แข็งแกร่งที่สุดเพื่อการตอบโต้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในทางกลับกันรัฐเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะดึงความร่วมมือจากกลุ่มรัฐที่สำคัญกลุ่มที่สอง ซึ่งเผชิญกับภัยคุกคามทางเศรษฐกิจเป็นหลัก สิ่งนี้แสดงให้เห็นโดยการตรวจสอบภัยคุกคามสามประการต่อโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน หนึ่งคือในด้านการสื่อสารโทรคมนาคม แร่ธาตุหายาก และสารกึ่งตัวนำ สองคือตัวอย่างของการประสานงานนโยบายระหว่างรัฐ และสามคือโครงการความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานของออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น

ทฤษฎีและหลักฐานนี้สนับสนุนข้อสรุปที่ว่า ภัยคุกคามของจีนกำลังเรียกร้องให้มีกลุ่มแกนกลางทางเลือกของรัฐ แกนกลางนี้มีเจตนารมณ์และความสามารถที่จะป้องกันไม่ให้จีนใช้ข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจเพื่อบังคับรัฐที่ไม่เต็มใจให้พึ่งพาทางเศรษฐกิจซึ่งอาจคุกคามเอกราชทางการทูตและความมั่นคงทางทหารของตนด้วย กรณีศึกษายังชี้ให้เห็นถึงแนวทางในการทำการตอบโต้ที่ดีที่สุดต่อภัยคุกคามของจีน ซึ่งรวมถึงการเริ่มต้นที่บ้านด้วยนโยบายระดับรัฐ ให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดที่สุดเท่าที่จะทำได้กับรัฐแกนกลางทางเลือกที่มีความเห็นตรงกัน เสริมนโยบายพื้นฐานเหล่านี้ด้วยความพยายามที่จะก้าวหน้าและสร้างความนิยมในบรรทัดฐานสากลที่เข้ากันได้ และหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดของนโยบายโดยเน้นไปที่ภัยคุกคามเฉพาะเจาะจง และการทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามเหล่านี้ได้โดยตรงและมีประสิทธิภาพ

ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจของจีน: เป้าหมายและกลยุทธ์

ในช่วงยุคของนายสี ความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจของจีนได้เปลี่ยนแปลงไปในเชิงคุณภาพ จีนไม่ต้องการรวมเข้ากับเศรษฐกิจระหว่างประเทศอีกต่อไปในฐานะเพียงส่วนหนึ่งของการรณรงค์ “การปฏิรูปและการเปิดกว้าง” เพื่อปรับปรุงเศรษฐกิจของตนให้ทันสมัย ขณะนี้การปรับปรุงให้ทันสมัยได้มาถึงขั้นตอนการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจีนมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตที่ใช้แรงงานมากและกำลังก้าวเข้าสู่ภาคส่วนที่ใช้เงินทุนมากขึ้นซึ่งแข่งขันโดยตรงกับเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าของโลก นายสีมีเป้าหมายที่จะทำให้จีนอยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงที่สำคัญทั้งหมด แทนที่จะยอมให้กลไกตลาดนำจีนไปสู่การแบ่งงานประเภทหนึ่งในหลาย ๆ ประเภทที่มีอยู่ในปัจจุบันในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว

เป้าหมายนี้จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร โดยทางการแล้ว ด้วยยุทธศาสตร์เมดอินไชน่า พ.ศ. 2568 และการฝึก เครื่องมือหลักคือเงินอุดหนุนจากรัฐและในบางภาคส่วนยุทธศาสตร์ เช่น โทรคมนาคมซึ่งเป็นตลาดภายในประเทศที่มีการรับประกัน หากกล่าวอย่างไม่เป็นทางการก็คือ มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพขี้น หนึ่งในนั้นคือการเลือกปฏิบัติในวงกว้างต่อบริษัทต่างชาติที่แข่งขันในตลาดภายในประเทศ ซึ่งออกแบบมาเพื่อบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีของตนไปยังพันธมิตรในท้องถิ่น จากนั้นจึงใช้การเลือกปฏิบัติทางกฎระเบียบและเงินอุดหนุนเพื่อแทนที่ด้วยผู้ผลิตในประเทศทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ก็มีการใช้โครงการโจรกรรมทางไซเบอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อขโมยเทคโนโลยีจากต่างประเทศโดยตรง ในที่สุดผู้ผลิตในประเทศของจีนก็เปลี่ยนความสนใจไปที่ตลาดส่งออก โดยได้รับการสนับสนุนอีกครั้งจากเงินอุดหนุนโดยตรงและตลาดภายในประเทศที่ได้รับการคุ้มครอง รัฐที่วิพากษ์วิจารณ์ความพยายามเหล่านี้อย่างเปิดเผยหรือดำเนินมาตรการตอบโต้กำลังถูกคุกคามด้วยการพุ่งเป้าไปที่ตลาดที่เหลืออยู่ในจีนอย่างรวดเร็วและลดจำนวนนักท่องเที่ยวและนักศึกษาชาวจีนที่มาเยี่ยมชม การปฏิบัติแบบเดียวกันนี้ก็ใช้กับรัฐที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศและภายในประเทศอื่น ๆ ของจีน

เมื่อมีการควบรวมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงในจีน เศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ จะต้องพึ่งพาอาศัยกันและมีความเปราะบางมากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะตกเป็นรองและถูกแทนที่ได้ในห่วงโซ่อุปทาน โดยที่จีนสร้างความไม่เท่าเทียมกันในอำนาจเพิ่มผลทางการเงิน สำหรับประเทศที่มีข้อพิพาทด้านดินแดนกับรัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ภัยคุกคามดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากความเป็นใหญ่ของจีน และเพราะว่าโดยปกติจีนสามารถแบ่งแยกความขัดแย้งดังกล่าวให้เป็นช่องโหว่ที่สำคัญของรัฐที่ตกเป็นเป้าหมายได้ เนื่องจากโดยปกติแล้วรัฐเหล่านี้และรัฐอื่น ๆ ไม่ตั้งใจที่จะตอบโต้ในลักษณะเดียวกันหรือทำให้บานปลาย

บริการ 5จี ของหัวเว่ยจัดแสดงที่งานแสดงสินค้าในกรุงปักกิ่ง ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ประเภทของภัยคุกคามของจีน และความสามารถในการตอบโต้ต่อเป้าหมาย

แม้ว่าภัยคุกคามทางเศรษฐกิจของจีนจะมีตรรกะที่เหมือนกัน แต่ประเทศต่าง ๆ ต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่แตกต่างกันและมีความสามารถในการรับมือที่แตกต่างกัน (ตารางที่ 1) รัฐที่เผชิญกับภัยคุกคามทางทหารและทางเศรษฐกิจจากจีนมีแรงจูงใจที่หนักแน่นที่สุดในการตอบโต้อย่างครอบคลุม เช่น ประเทศสมาชิกของการเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือ ควอด ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา จัดอยู่ในหมวดนี้ สำหรับประเทศที่ถูกคุกคามทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวหรือเป็นหลัก ภัยคุกคามจะแตกต่างกันไปตามระดับของการพัฒนา ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่อความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีอยู่ในสินค้าและบริการที่ใช้เงินทุนมากขึ้น ในขณะที่รัฐที่มีรายได้ปานกลางต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่อความสามารถในการยกระดับห่วงโซ่มูลค่าไปสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ใช้เงินทุนมากขึ้น ประเทศที่มีรายได้ต่ำจะถูกคุกคามน้อยที่สุดเนื่องจากการก้าวขึ้นไปสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ใช้เงินทุนมากขึ้นเป็นโอกาสในระยะยาว ประเทศที่มีรายได้ต่ำเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับการกีดกันจากตลาดภายในประเทศที่ร่ำรวยของจีนหากไม่ปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาลจีนหรืออย่างน้อยต้องเป็นกลางในเรื่องนโยบายต่างประเทศ

นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ยังมีความสามารถในการรับมือที่แตกต่างกัน และความพยายามในการสร้างการรับมือร่วมกันเพื่อต่อต้านภัยคุกคามของจีนต้องคำนึงถึงความแตกต่างดังกล่าว การพยายามใช้การตอบโต้ที่เหมือนกันมากเกินไปจะทำให้เกิดนโยบายที่มีผู้ถ่วงดุลร่วมต่ำที่สุด และแม้แต่นโยบายเหล่านี้ก็ไม่น่าจะนำไปปฏิบัติได้อย่างน่าเชื่อถือ ด้วยการประเมินการตอบโต้ที่ดำเนินการแล้วเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามที่เจาะจงต่อรัฐโดยเฉพาะ ประเภทของนโยบายที่มีความยืดหยุ่นและเพิ่มขึ้นซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดจะกลายเป็นที่ชัดเจน

การตอบโต้ต่อภัยคุกคามเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง: โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและห่วงโซ่อุปทาน

การตอบโต้ต่อภัยคุกคามทางเศรษฐกิจของจีนเป็นไปอย่างกว้างขวางที่สุด โดยผู้จัดหาของจีนได้พัฒนาขีดความสามารถในการควบคุมหรือขัดขวางโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ ตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญคืออุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคม ซึ่งบริษัทจีนที่นำโดยหัวเว่ยได้สร้างตำแหน่งทางการตลาดที่เหนือชั้นทั่วโลกบนพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ระดับแนวหน้าที่ขายในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งอย่างมาก โดยส่วนใหญ่คืออีริคสันและโนเกีย ซึ่งเป็นบริษัทยุโรป และซัมซุง ซึ่งเป็นบริษัทในเกาหลีใต้ ความเหนือชั้นของหัวเว่ยสร้างขึ้นจากการโจรกรรมทางเทคโนโลยี เงินอุดหนุน และการครองตำแหน่งในตลาดภายในประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษเป็นส่วนใหญ่ แต่หัวเว่ยจะก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงแม้ว่าได้รับตำแหน่งอย่างเป็นธรรม การเข้าถึงเครือข่ายต่างประเทศจะช่วยให้ระบอบพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถใส่ซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตรายและสอดแนมการสื่อสาร และช่วยเตรียมการรบกวนหรือทำให้เกิดการขัดข้องเป็นวงกว้างที่อาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานในโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่พึ่งพาเครือข่าย

ภัยคุกคามดังกล่าวเกิดขึ้นมากมายในขณะที่หัวเว่ยตั้งหน้าตั้งตาที่จะกลายเป็นผู้จัดหารายใหญ่ของเครือข่ายใหม่ 5จี การตอบโต้มีประสิทธิภาพอย่างน่าประหลาดใจ ข้อตกลงทวิภาคีในรัฐสภาสหรัฐฯ นำไปสู่การห้ามใช้อุปกรณ์จากหัวเว่ย แซดทีอี และผู้จัดหาของจีนรายอื่น ๆ ในเครือข่ายสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีในขณะนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้อธิบายความเสี่ยงต่อสาธารณะ โดยเสริมว่าความร่วมมือด้านข่าวกรองกับพันธมิตรจะถูกทำลายโดยอุปกรณ์ของหัวเว่ย นอกเหนือจากการสนับสนุนการห้ามทั้งหมดแล้ว รัฐบาลของนายทรัมป์ยังสนับสนุนโครงการคลีนเน็ตเวิร์ก ซึ่งแสวงหาความร่วมมือจากรัฐบาล องค์กร และธุรกิจต่าง ๆ เพื่อรักษาเครือข่ายที่เชื่อถือได้และปลอดภัย รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น แอปพลิเคชัน บริการระบบคลาวด์ รวมถึงคอมพิวเตอร์และฮาร์ดแวร์อื่น ๆ โครงการริเริ่มนี้สร้างขึ้นจากความพยายามที่คล้ายคลึงกันและเสริมกัน เช่น โครงการกล่องเครื่องมือสะอาด 5จี ของสหภาพยุโรป

โรงงานแปรรูปแร่ธาตุหายากของ บริษัทไลนาสคอร์ปอเรชั่น ในเกเบ็ง ประเทศมาเลเซีย ขณะที่กำลังก่อสร้างใน พ.ศ. 2555 หลังจากที่จีนได้กำหนดข้อจำกัดด้านการส่งออก รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ลงทุนในเหมืองแร่ธาตุหายากนอกประเทศจีน โดยลดการพึ่งพาอุปทานของจีนจากกว่าร้อยละ 90 ใน พ.ศ. 2553 จนต่ำกว่าร้อยละ 60 ใน พ.ศ. 2563 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

รัฐบาลต่าง ๆ ที่กลัวการตอบโต้ทางเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มักจะลังเลต่อการต่อต้านการห้ามอย่างเป็นทางการของอุปกรณ์ 5จี ของจีนอย่างเปิดเผย แต่หลายฝ่ายก็เคยตั้งข้อสงสัย และผลการอภิปรายที่เกิดขึ้นปลุกสาธารณชนให้ตื่นตัวในเรื่องความเสี่ยง ผลลัพธ์ที่ได้คือการสั่งห้ามใช้หัวเว่ยและอุปกรณ์จีนอื่น ๆ อย่างกว้างขวางทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ขณะนี้โครงการคลีนเน็ตเวิร์กได้รับการสนับสนุนจากกว่า 60 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสมาชิกเกือบทั้งหมดของนาโต้ สหภาพยุโรป และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยคิดรวมกันเป็นสัดส่วนมากกว่าสองในสามของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก และโดยบริษัทเอกชนที่สำคัญหลายร้อยแห่งที่ให้บริการโทรคมนาคม ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้อง

รูปแบบการตอบโต้ระดับชาติสอดคล้องอย่างกว้างขวางกับรูปแบบที่หลากหลายของภัยคุกคามทางทหารและเศรษฐกิจ ทุกรัฐที่เผชิญกับภัยคุกคามทางทหารที่สำคัญจากจีนได้ใช้การสั่งห้ามทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่นเดียวกับรัฐส่วนใหญ่ที่เผชิญกับภัยคุกคามทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แทบจะไม่มีรัฐใดที่ทำเช่นนั้นหากไม่มีภัยคุกคามที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าที่สำคัญยังเป็นไปได้แม้ในประเภทการคุกคามเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ในที่นี้ รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการตัดสินใจของรัฐที่มีแนวโน้มดีโดยการจัดตั้งบริษัทการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และขยายอำนาจของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของสหรัฐฯ เพื่อชดเชยการจัดหาเงินทุนอุดหนุนของจีน และทำให้การเสนอราคาจากผู้จัดหาทางเลือกมีการแข่งขันมากขึ้น การจัดหาเงินทุนของบริษัทการเงินเพื่อการพัฒนาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทางเลือกล่าสุดของเอธิโอเปียในการใช้กลุ่มสถาบันการเงินที่ “สะอาด” ที่นำโดยยุโรปเพื่อสร้างเครือข่าย 5จี

แร่ธาตุหายากมีความจำเป็นสำหรับกระบวนการทางอุตสาหกรรมในภาคส่วนที่สำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานทดแทน และฮาร์ดแวร์ทางทหาร เริ่มต้นในทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533 – 2542) จีนได้รับตำแหน่งที่สำคัญในการผลิตและการแปรรูปแร่ธาตุหายาก ใน พ.ศ. 2553 จีนได้เพิ่มข้อจำกัดด้านการส่งออก ทั้งเพื่อลงโทษญี่ปุ่นในกรณีพิพาทบนเกาะในทะเลจีนตะวันออกและเพื่อให้ผู้ใช้ในประเทศได้เปรียบด้านค่าใช้จ่าย การส่งออกของจีนเพิ่มขึ้นอีกครั้งจาก พ.ศ. 2558 แต่เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงอันตรายจากการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีน

ญี่ปุ่นซึ่งให้ความสำคัญกับแร่ธาตุหายากสำหรับอุตสาหกรรมของตนได้โต้กลับอย่างรวดเร็ว รัฐบาลญี่ปุ่นได้ลงทุนในเหมืองแร่หายากนอกประเทศจีน โดยลดการพึ่งพาอุปทานของจีนจากร้อยละ 90 ใน พ.ศ. 2553 จนต่ำกว่าร้อยละ 60 ใน พ.ศ. 2563 สหรัฐฯ สานต่อผลงานของญี่ปุ่นร่วมกับออสเตรเลีย เงินอุดหนุนจำนวนเล็กน้อยของรัฐบาลสหรัฐฯ เพียงพอที่จะสนับสนุนทั้งการทำเหมืองแร่ธาตุหายากในสหรัฐฯ และรวมถึงการแปรรูปแร่ธาตุยากในสหรัฐฯ โดยบริษัทไลนาสของออสเตรเลียและบริษัทอื่น ๆ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ลงนามในข้อตกลงการซื้อเพื่อส่งเสริมการทำเหมืองแร่ธาตุหายากในแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ออสเตรเลียและแคนาดา การพิจารณาความต้องการด้านเทคนิคและความต้องการของตลาดควรกำหนดขอบเขตความปลอดภัยขั้นต่ำของโรงงานเหมืองแร่และแปรรูปดังกล่าว เพื่อให้การผลิตและคลังสินค้ามีความรัดกุมพอที่จะป้องกันการหยุดชะงักที่อาจเกิดขึ้นจากจีนในสภาวะสงบและในสถานการณ์ความขัดแย้ง ขีดความสามารถดังกล่าวยังสร้างระดับความปลอดภัยที่ใกล้เคียงกันแก่พันธมิตรและหุ้นส่วนที่เปราะบาง ซึ่งอาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากอุปทานของจีน จุดเริ่มต้นที่คล้ายกันในการสร้างความสามารถในท้องถิ่นที่เชื่อถือได้สำหรับการทำเหมืองแร่และการแปรรูปแร่ธาตุหายากที่กำลังดำเนินการในบางประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังได้รับการสนับสนุนจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สารกึ่งตัวนำได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาด้านความปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญยิ่งขึ้น สารกึ่งตัวนำทำหน้าที่ควบคุม คำนวณ และจัดเก็บข้อมูลที่แกนกลางของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรอื่น ๆ เกือบทั้งหมด เนื่องจากปริมาณเงินทุนของโรงงานผลิตสารกึ่งตัวนำได้เพิ่มขึ้นพร้อมกับเงินอุดหนุนของรัฐที่ใช้ในการดึงดูดโรงงานเหล่านี้ สหรัฐฯ และบริษัทอื่น ๆ ได้มุ่งเน้นไปที่การออกแบบชิปในขณะที่จ้างงานการผลิตจากบริษัทภายนอก ส่วนแบ่งการผลิตทั่วโลกของสหรัฐฯ จึงลดลงจากร้อยละ 37 ใน พ.ศ. 2533 เหลือประมาณร้อยละ 12 ใน พ.ศ. 2564 การผลิตได้เปลี่ยนไปสู่ทีเอสเอ็มซี ผู้ผลิตจากไต้หวัน และซัมซุงและเอสเค ไฮนิกซ์ ผู้ผลิตจากเกาหลีใต้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทีเอสเอ็มซีได้กลายเป็นผู้ผลิตสารกึ่งตัวนำตามสัญญารายใหญ่ที่สุดของโลก และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเนื่องจากการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ย้ายไปยังประเทศจีนมากขึ้น ก็ได้สร้างโรงงานผลิตสารกึ่งตัวนำของตนมากขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่

ในช่วงการบริหารงานของประธานาธิบดีทรัมป์ มีความคืบหน้าอย่างมากในการ “ย้ายฐานการผลิตกลับถิ่น” ของการผลิตสารกึ่งตัวนำในสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำได้โดยอาศัยความร่วมมือกับผู้ผลิตต่างชาติรายใหญ่ที่สุด ได้แก่ ทีเอสเอ็มซี และซัมซุง ทีเอสเอ็มซีกำลังเดินหน้าโครงการโรงงานผลิตสารกึ่งตัวนำขนาดใหญ่ในรัฐแอริโซนา ในขณะที่ซัมซุงก็กำลังพัฒนาโครงการหนึ่งในเท็กซัส ความก้าวหน้าเหล่านี้เป็นไปได้อย่างไร? ประการแรก ในที่สุดหน่วยงานระดับต่าง ๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เริ่มเสนอเงินอุดหนุนจำนวนมากที่ได้รับจากรัฐอื่น ๆ ประการที่สอง เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจว่าฐานการผลิตสารกึ่งตัวนำในประเทศที่ใหญ่ขึ้นมีความจำเป็นต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและทางทหาร ทั้งทีเอสเอ็มซีและซัมซุงเข้าใจอย่างรวดเร็วว่าการมีฐานการผลิตดังกล่าวในสหรัฐฯ เป็นที่ต้องการ หากบริษัทดังกล่าวไม่ใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ คู่แข่งของตนก็จะเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐฯ และที่อื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ ด้วยการกระจายห่วงโซ่อุปทานและจำกัดการพึ่งพาจีนในด้านการผลิต บริษัทต่าง ๆ จำกัดศักยภาพของจีนจากการเป็นตัวค้ำประกันตลาดนอกจีน เพื่อบังคับให้มีการพึ่งพาการผลิตในจีนมากขึ้นและการถ่ายโอนเทคโนโลยีไปยังบริษัทจีน ฐานการผลิตขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ทำให้ทีเอสเอ็มซีมีทางเลือกในการขยายการผลิตเกินขอบเขตของจีนและลดศักยภาพของจีนในการคุกคามบริษัท เป็นผลให้ทีเอสเอ็มซีเลือกที่จะยังคงเป็นบริษัทอิสระโดยการกระจายฐานการผลิตออกไปนอกไต้หวันและจีนอย่างปลอดภัย แทนที่จะปล่อยให้ตัวเองค่อย ๆ กลายเป็นบริษัทที่ควบคุมโดยจีนทั้งจากสิ่งเร้าและภัยคุกคาม ซัมซุงก็มีผลลัพธ์ในแบบเดียวกันแต่ในระดับที่น้อยกว่า

การตัดสินใจของบริษัทหลักเหล่านี้ทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติของไต้หวันและเกาหลีใต้ก้าวหน้าขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งในไต้หวัน จากการทวีความรุนแรงทางทหารและการดูดซึมเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้นจากจีน และในเกาหลีใต้ที่หลังมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของจีนที่ตอบโต้ความพยายามป้องกันขีปนาวุธของเกาหลีใต้ได้เริ่มต้นการกระจายห่วงโซ่อุปทานก่อนที่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะเลวร้ายลงใน พ.ศ. 2562 สำหรับสหรัฐฯ มีความผันแปรของอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศที่คล้ายคลึงกันในช่วงทศวรรษ 1970 (พ.ศ. 2513 – 2522) และ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2532) ความแข็งแกร่งต้องได้รับการดูแลรักษาหรือสร้างขึ้นใหม่อย่างดีที่สุด ไม่ใช่โดยการสนับสนุนแคมเปญการตลาดที่มีอภิสิทธิ์ในประเทศ แต่โดยการดึงดูดบริษัทต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสุดเพื่อให้เข้ามาทำการผลิตในประเทศและเป็นการบังคับบริษัทภายในประเทศให้รักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของตน

ทีเอสเอ็มซีของไต้หวัน ผู้ผลิตสารกึ่งตัวนำตามสัญญารายใหญ่ที่สุดของโลกได้สร้างโรงงานผลิตของตนในจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รอยเตอร์

การทำงานร่วมกันเพื่อความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน

แม้ว่าการตอบสนองของรัฐต่อภัยคุกคามของจีนจะสะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่และขีดความสามารถของตน แต่เมื่อมีความร่วมมือในการให้บริการตามวัตถุประสงค์ระยะยาวร่วมกันอย่างสม่ำเสมอและยืดหยุ่นก็ก่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดเช่นเดียวกัน ตัวอย่างสำคัญของความร่วมมือดังกล่าวคือ โครงการความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเปิดตัวขึ้นใน พ.ศ. 2564 โดยออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น โดยความคิดริเริ่มของโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน โดยการร่วมแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและโดยการส่งเสริมการลงทุนและ “การจับคู่ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย” ความร่วมมือนี้ช่วยอำนวยความสะดวกโดยใช้มาตรการของแต่ละรัฐในการแก้ไขช่องโหว่ต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะช่วยเติมเต็มความมุมานะของรัฐอื่น ๆ ไปได้โดยปริยาย

ด้านที่ญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องพึ่งพาจีนเลยคือการใช้ผู้จัดหาจากจีนเป็นส่วนหลักของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อการส่งออกซ้ำไปยังญี่ปุ่นและตลาดต่างประเทศ ผู้ผลิตในญี่ปุ่นไม่ต้องการจะยอมแพ้ในตลาดจีนเว้นแต่จะถูกบังคับให้ทำเช่นนั้น แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการให้จีนเป็นตัวค้ำประกันความสามารถของตนในการจัดหาสินค้าในตลาดอื่น ๆ และไม่สนใจที่จะตั้งฐานเทคโนโลยีและการผลิตคุณภาพระดับสูงในจีน ที่ซึ่งคู่แข่งในจีนอาจสามารถเข้าถือครองได้โดยง่าย อันตรายจากการพึ่งพาฐานการผลิตของจีนมากเกินไปนั้นเป็นที่เห็นชัดมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการห้ามค้าขายแร่ธาตุหายากของจีนใน พ.ศ. 2553 ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการหยุดชะงักจากโควิด-19 ใน พ.ศ. 2563 ญี่ปุ่นเริ่มให้เงินอุดหนุนการถ่ายโอนการผลิตของบริษัทจากจีนไปยังญี่ปุ่นหรือผู้จัดหาทางเลือกที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า สำหรับบริษัทญี่ปุ่นมักจะหมายถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความปลอดภัยมากขึ้นนอกประเทศจีนเพื่อรองรับตลาดนอกจีน ห่วงโซ่อุปทานแบบคู่ขนานดังกล่าวไม่จำเป็นต้องทดแทนการส่งออกจากจีนทั้งหมด แต่ต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะยับยั้งไม่ให้จีนเป็นตัวค้ำประกันตลาดนอกจีนได้

ห่วงโซ่อุปทานของอินเดียสำหรับตลาดในประเทศและตลาดส่งออกได้พึ่งพาผู้จัดหาจากจีนเป็นอย่างมาก “ส่วนแบ่งการนำเข้าสู่อินเดียของจีนใน พ.ศ. 2561 (พิจารณาจากรายการสินค้า 20 รายการแรกที่จีนจัดหาให้) อยู่ที่ร้อยละ 14.5” ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะฮินดู “ในด้านต่าง ๆ เช่น ส่วนผสมทางเภสัชกรรมสำหรับยา เช่น พาราเซตามอล อินเดียต้องพึ่งพาจีนอย่างเต็มที่ ในด้านอิเล็กทรอนิกส์ อินเดียนำเข้าจากจีนคิดเป็นร้อยละ 45”

ในขณะที่เกิดข้อพิพาทเรื่องพรมแดน ความฝังใจเกี่ยวกับการโจมตีอินเดียโดยจีนใน พ.ศ. 2505 และการสนับสนุนที่ยาวนานของจีนต่อปากีสถานคู่แข่งของอินเดียเป็นแรงกดดันระยะยาวต่อการพึ่งพาจีนมากเกินไป ผู้กำหนดนโยบายของอินเดียรู้สึกสะเทือนใจจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในสถานการณ์โควิด-19 ใน พ.ศ. 2563 และเหตุการณ์ชายแดนอินเดียกับจีนที่ทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิต 20 นาย ผลลัพธ์ที่ได้คือการปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจของอินเดียขั้นพื้นฐานที่มีต่อจีน นอกเหนือจากการกีดกันหัวเว่ยและผู้จัดหาโทรคมนาคมจีนรายอื่น ๆ แล้ว อินเดียยังห้ามแอปพลิเคชันยอดนิยมของจีนหลายแอป
เพื่อ “ชำระล้าง” ความเสี่ยงของการการสอดแนมและการขัดขวางต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เนื่องจากลักษณะการเชื่อมโยงที่อ่อนแอที่สุดของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมาก ข้อจำกัดในด้านผู้จัดหาและบริการของจีนจึงต้องมีความครอบคลุมกว้างขวางเพื่อให้มีประสิทธิภาพ เนื่องด้วยอุตสาหกรรมอินเดียส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาผู้จัดหาจากจีนในขั้นต้นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการหยุดชะงักอย่างกะทันหันที่เกิดขึ้นในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ในห่วงโซ่อุปทาน

ใน พ.ศ. 2563 รัฐบาลอินเดียได้ประกาศให้เงินอุดหนุนในวงกว้างเพื่อเพิ่มยอดขายจากการผลิตภายในประเทศแก่ 10 อุตสาหกรรมหลัก เงินอุดหนุนดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่การผลิตในด้านที่ต้องพึ่งพาจีนอย่างมาก ซึ่งอินเดียก็มีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเช่นกัน การลงทุนดังกล่าวไม่เพียงแต่ให้บริการตลาดภายในประเทศเท่านั้นแต่ยังให้คำมั่นว่าจะขยายตลาดส่งออกอีกด้วย แนวโน้มดังกล่าวดึงดูดการลงทุนจากทั้งบริษัทอินเดียและบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ในกรณีที่อินเดียเสียเปรียบในเชิงเปรียบเทียบ ผู้จัดหามีตัวเลือกที่หลากหลายได้เพื่อลดการพึ่งพาจีน

คนงานนำถังซ้อนกันที่โรงงานอะลูมิเนียมในอัครตละ ประเทศอินเดีย ใน พ.ศ. 2563 รัฐบาลอินเดียได้ประกาศให้เงินอุดหนุนในวงกว้างเพื่อเพิ่มยอดขายจากการผลิตภายในประเทศแก่ 10 อุตสาหกรรมหลัก รอยเตอร์

หลายปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียอยู่บนพื้นฐานส่วนใหญ่จากการจัดหาอาหารและวัตถุดิบที่เป็นที่ต้องการอย่างกว้างขวางของจีน จากนั้นในยุคโควิด-19 ออสเตรเลียได้รับบทเรียนที่รุนแรงเกี่ยวกับอันตรายจากการพึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจมากเกินไป รัฐบาลออสเตรเลียรู้สึกประหม่าจากการเรียกร้องให้มีการสอบสวนในระดับนานาชาติเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโรคระบาดอย่างเปิดเผย พรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดสินใจที่จะทำให้ออสเตรเลียเป็นตัวอย่างสำหรับประเทศอื่นในโลกถึงสิ่งที่จะตามมาจากการต่อต้านโดยสาธารณชนดังกล่าว นักการทูตจีนขู่ว่าจะมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในทันที บรรณาธิการของโกลบอล ไทมส์ หนังสือพิมพ์ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีนนั้นดูใส่สีสันมากขึ้น โดยเขียนว่า “ออสเตรเลียเป็นแบบนี้เสมอ มักสร้างปัญหา” “เหมือนหมากฝรั่งที่ติดอยู่บนพื้นรองเท้าของจีน บางครั้งต้องหาหินมาขูดออก” จีนดำเนินการกำหนดอัตราภาษีและข้อจำกัดอื่น ๆ ในการนำเข้าข้าวบาร์เลย์ เนื้อวัว เนื้อแกะ น้ำตาล ไวน์ กุ้งมังกร ฝ้าย ไม้ และถ่านหินของออสเตรเลีย

แต่จีนก็ไม่สามารถกำหนดต้นทุนสูงให้กับออสเตรเลียได้ เนื่องจากผู้ส่งออกอาหารและวัตถุดิบมักจะหาผู้ซื้อรายอื่น ๆ ได้ ใน พ.ศ. 2563 รัฐบาลออสเตรเลียตอบโต้ด้วยแผนการที่จะให้เงินอุดหนุนการผลิตสำหรับฐานอุตสาหกรรมกลาโหมและในด้านข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ และแก้ไขช่องโหว่ของห่วงโซ่อุปทานโดยการเพิ่มการผลิตในประเทศและหาผู้จัดหาต่างชาติที่เชื่อถือได้มากขึ้น

ใน พ.ศ. 2563 รัฐบาลออสเตรเลียตอบโต้การเก็บภาษีสินค้าส่งออกของจีน เช่น เนื้อวัว ซึ่งหาซื้อได้ในซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงปักกิ่ง ด้วยแผนอุดหนุนการผลิตสำหรับฐานอุตสาหกรรมกลาโหมและในด้านความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

เมื่อมองย้อนกลับไปจากตัวอย่างทั้งสามนี้ ข้อดีของความพยายามในการประสานงานนั้นมองเห็นได้ไม่ยาก ประชากรของอินเดียมีจำนวนเท่า ๆ กับของจีนและอินเดียมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปจนกลายเป็นเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจและทางทหาร ในแง่เศรษฐกิจที่แคบลง อินเดียมีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในสินค้าที่ผลิตโดยใช้แรงงานมาก และในอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนด้านมนุษย์สูงและใช้เทคโนโลยีสูง เช่น ยาและซอฟต์แวร์ ญี่ปุ่นมีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในภาคการผลิตที่เน้นเงินทุนจำนวนมาก และออสเตรเลียมีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในอาหารและวัตถุดิบที่สำคัญมากมาย ดังนั้น แต่ละรัฐจึงมีแรงจูงใจที่จะติดต่อกับรัฐอื่น ๆ เพื่อหาผู้จัดหาและตลาดส่งออกที่เชื่อถือได้มากขึ้น ดังนั้น แต่ละรัฐจึงมีแรงจูงใจที่จะติดต่อกับรัฐอื่น ๆ เพื่อหาผู้จัดหาและตลาดส่งออกที่เชื่อถือได้มากขึ้น ความเกื้อกูลทางเศรษฐกิจระดับสูงนี้มีแนวโน้มที่เชื่อถือได้มากยิ่งขึ้นในมุมมองของภัยคุกคามทางทหารที่มีร่วมกันจากจีน และความสัมพันธ์ที่มีอยู่ได้เพิ่มศักยภาพในการเติบโตเนื่องจากความสามารถที่แข็งแกร่งของทั้งสามรัฐ นับจากนี้ไป เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสหรัฐฯ พันธมิตรและหุ้นส่วนในการมีส่วนร่วมกับความพยายามเหล่านี้ด้วยความกระตือรือร้นที่มากขึ้น ประเทศสมาชิกควอดมีตลาดร่วมที่ใหญ่กว่าของจีนมาก เนื่องจากได้รับผลประโยชน์จากผู้มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค เช่น แคนาดา เกาหลีใต้ ไต้หวัน และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการสร้างห่วงโซ่อุปทานและตลาดส่งออกที่ไม่ได้อยู่ภายใต้แรงกดดันหรือการขัดขวางจากจีน ตลาดร่วมที่มีอยู่จริงนี้จึงมีขนาดใหญ่กว่ามาก สหราชอาณาจักรและรัฐในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ก็มีผลประโยชน์ร่วมเช่นกัน

ตลาดร่วมนี้เป็นทางเลือกหลักสำหรับเศรษฐกิจโลกที่มีความเป็นมิตรและมีแนวโน้มดีกว่าตลาดที่จีนเป็นผู้นำ เมื่อเทียบกับจีน รัฐบาลแกนกลางทางเลือกโดยทั่วไปจะสละการใช้ประโยชน์จากแนวทางบรรทัดฐานที่แตกต่างกันในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งป้องกันไม่ให้จีนใช้การคุกคามหรือการคว่ำบาตรตามแบบจีนเป็นประจำต่อรัฐอื่น ๆ

แต่ความยับยั้งชั่งใจนี้มีจุดแข็งในตัวเอง สิ่งนี้ทำให้ตลาดร่วมที่ใหญ่ขึ้นเป็นฐานที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับห่วงโซ่อุปทานที่ส่งออกไปยังตลาดโลก และเข้าถึงตลาดที่เชื่อถือได้มากขึ้นและไม่เลือกปฏิบัติ และได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น


หลักการสามประการสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการตอบโต้ภัยคุกคามของพันธมิตร และหุ้นส่วน

หลักการข้อที่ 1: การสร้างและปกป้องความเข้มแข็งของประเทศคือรากฐานของความมั่นคงเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นไปได้และไว้วางใจได้

แต่ละประเทศที่ถูกจีนคุกคามจะต้องตอบโต้ด้วยกลยุทธ์ของตนเอง โดยปรับให้เหมาะกับภัยคุกคามและศักยภาพของตน ประเทศต่าง ๆ ที่ถูกจีนคุกคามมากจะรู้สึกถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการตอบโต้ที่แผ่ขยายวงกว้างมากขึ้น ส่วนประเทศที่มีทางเลือกไม่มากนักก็จะพยายามหลีกเลี่ยงการกลายเป็นศัตรูและเป้าหมายของการคว่ำบาตรของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยการเจรจาอย่างนุ่มนวลและมีท่าทีที่ไม่เป็นทางการมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านั้นไม่เหมือนกับประเทศเป็นกลางส่วนใหญ่ที่ไม่ถูกคุกคามและไม่ใส่ใจ และควรได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรและหุ้นส่วนในลักษณะของการเจรจาอย่างนุ่มนวลและไม่เป็นทางการเช่นเดียวกัน

หลักการข้อที่ 2: ทำงานร่วมกันอย่างยืดหยุ่นเพื่อเพิ่มความมั่นคงภายในหรือควบคู่ไปกับกลุ่มประเทศแกนนำทางเลือก

ประเทศต่าง ๆ ที่ถูกคุกคามมากที่สุดและมีศักยภาพมากที่สุด ซึ่งทำงานร่วมกันอย่างยืดหยุ่นในการมุ่งสู่เป้าหมายร่วมของความมั่นคงทางการทหารและเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดเป็นแกนนำทางเลือกตามธรรมชาติในเศรษฐกิจโลกซึ่งมีศักยภาพในการปกป้องความมั่นคงและเอกราชร่วมกันได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็หยิบยื่นผลประโยชน์ที่คล้ายกันให้กับประเทศที่ถูกคุกคามน้อยกว่า เนื่องจากสถานการณ์ที่แตกต่างกันของประเทศเหล่านี้และปัญหาความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากภาคส่วนและห่วงโซ่อุปทานต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องใช้แนวทางที่แตกต่างกันในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและทางทหาร การปะผุรอยรั่วดังกล่าวมีความซับซ้อนและยากต่อการจัดการ แต่ก็มีความจำเป็น

หลักการข้อที่ 3: ปรับการตอบโต้ภัยคุกคามพร้อมกับรักษาหลักการที่ถูกต้องของความมั่นคงแห่งชาติและการพัฒนาเศรษฐกิจ

โครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญที่สุดที่จะได้รับการปกป้องจากแกนนำทางเลือกมีแนวโน้มที่จะสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ระบอบการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนรักษาไว้อย่างหวงแหนที่สุดเพื่ออำนาจการควบคุมของตนเอง การบุกรุกอย่างโจ่งแจ้งที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของระบอบการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ผลักดันให้เกิดกระบวนการของปฏิกิริยาป้องกันตนเอง มาตรการในลักษณะสองทางที่บริษัทจีนใช้ในการปกป้องอำนาจควบคุมทางการเมืองภายในของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและความมั่นคงแห่งชาติถูกนำไปใช้แบบเดียวกันในต่างประเทศ เพื่อควบคุมและคุกคามประเทศอื่น ๆ จนเกือบทำให้ต้องมีการยกเว้นหรือจำกัดการมีตัวตนของบริษัทดังกล่าวในประเทศที่รู้สึกว่าถูกคุกคาม

ประเทศต่าง ๆ ที่ถูกคุกคามควรมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดภัยคุกคามดังกล่าวจากจีน โดยไม่ทิ้งหลักการดั้งเดิมของความมั่นคงแห่งชาติและการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศต่าง ๆ ต้องปกป้องโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญโดยใช้ห่วงโซ่อุปทานภายในที่มีความปลอดภัยมากขึ้นสำหรับการใช้แบบฉุกเฉินในยามสงคราม พร้อมกับห่วงโซ่อุปทานภายนอกซึ่งมีการกระจายงาน อย่างกว้างขวางและเสรีมากกว่าในหมู่หุ้นส่วนที่เชื่อถือกันได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button