เรื่องเด่น

การยกระดับ ในหมู่เกาะแปซิฟิก

พันธมิตรและหุ้นส่วนให้การสนับสนุนประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกจากภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่าง ๆ

ในมหาสมุทรแปซิฟิกมีเกาะประมาณ 30,000 เกาะซึ่งกระจัด

กระจายไปทั่วทั้งมหาสมุทรและมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของพื้นผิวโลก ส่วนใหญ่เป็นเกาะปะการังร้าง โดยมีจำนวนประชากรเพียง 12 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรในเมืองหลวงจาการ์ตาของอินโดนีเซียเพียงเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่ การดำรงชีวิตของชาวหมู่เกาะแปซิฟิกจะยึดโยงอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทรอันยิ่งใหญ่ หรือความสวยงามของแผ่นดินเกิด ดุจดั่งอัญมณีเขตร้อนบนผืนน้ำทะเลสีฟ้าครามระยิบระยับ

ประเทศและดินแดนในหมู่เกาะแปซิฟิกที่อยู่ห่างไกลรับรู้ว่าตนเองกำลังอยู่ท่ามกลางความท้าทายมากมายที่ยุ่งเหยิงไปทั่วโลก ต้องเผชิญกับการทดสอบอันใหญ่ยิ่งตามกาลเวลา ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและทรัพยากรที่ลดน้อยลงไปจนถึงการล็อกดาวน์อันเกิดจากโรคระบาดและการแก่งแย่งชิงดีกันทางภูมิรัฐศาสตร์ “สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงในภูมิภาคแปซิฟิกมีความซับซ้อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ตามรายงานของการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองผ่านความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ “ชุมชนในหมู่เกาะแปซิฟิกมีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การก่อการร้าย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนความขัดแย้งภายใน ผลที่ตามมาคือความปั่นป่วนภายในประเทศ การลดลงของรายได้จากพรมแดน การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมในพื้นที่ และการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอลง”

ทั้งเหนือคลื่นและใต้ผิวน้ำ พันธมิตร หุ้นส่วน และประเทศที่มีแนวคิดเดียวกันกำลังดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ภูมิภาคนี้ในการต่อต้านภัยคุกคามที่โหมกระหน่ำทางเศรษฐกิจ ภูมิอากาศ และความมั่นคง รวมถึงความมุ่งมานะของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่พยายามใช้กำลังอิทธิพลเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน

“มหาสมุทรแปซิฟิกกำลังค่อย ๆ พัฒนาในเวลาเดียวกับที่กลุ่มผู้ก่อกวนความสงบทวีความรุนแรงมากขึ้น และการปรากฏตัวของผู้สวมบทบาทจากภายนอกก็เริ่มสร้างความกดดันมากขึ้นเช่นกัน” กองทัพนิวซีแลนด์ระบุในรายงาน “ความก้าวหน้าของความร่วมมือในหมู่เกาะแปซิฟิก: กรอบแนวทางฝ่ายกลาโหมในหมู่เกาะแปซิฟิก” ตีพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 “การแข่งขันด้านอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เข้มข้นขึ้น จะซ้อนทับกับกลุ่มผู้ก่อกวนที่ยุ่งเหยิงนี้ ผู้มีบทบาทภายนอกที่ต้องการยกระดับบทบาทของตนในภูมิภาคอาจใช้ประโยชน์จากประเด็นเหล่านี้เป็นเส้นทางเพื่อการมีอิทธิพล ในวงกว้างกว่านั้น จังหวะ ความรุนแรง และขอบเขตการมีส่วนร่วมของผู้มีบทบาทภายนอกที่ค่านิยมของเราอาจไม่ได้สะท้อนผ่านกิจกรรมของพวกเขาเสมอไป นั่นคือหัวใจหลักทางความรู้สึกของการแข่งขันทางภูมิยุทธศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งกระตุ้นให้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับมหาสมุทรแปซิฟิกอีกครั้ง”

จากซ้าย พล.ต. พาโบล วาเลอริน นายทหารประสานงานสำนักงานความร่วมมือด้านกลาโหมจากกองทัพบกสหรัฐฯ, พล.จ. ฟาลู เรต แลค รองเสนาธิการกองกำลังป้องกันติมอร์-เลสเต, พ.อ. คาลิสโต ซานโตส โคลิอาติ เสนาธิการกองกำลังป้องกันติมอร์-เลสเต, พล.ต. รูบี จี ปฏิบัติการในคณะทำงานติมอร์-เลสเตของหน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกจากกองทัพบกสหรัฐฯ และ ส.ท. ลิเดีย แม็คคินนีย์ จากกองทัพบกสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่ทหารชั้นประทวนฝ่ายประสานงานด้านวัฒนธรรมของคณะทำงานติมอร์-เลสเต ออกตระเวนติมอร์-เลสเตตะวันออก ส.ท. โซโลมอน นาวาโร/หน่วยปฏิบัติการในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก

‘การแผ่ขยายความอหังการ’ ของจีน

ตัวอย่างที่ชัดเจนในประเด็นดังกล่าว: คิริบาส ในบรรดาประเทศที่อยู่ห่างไกลที่สุดในโลก ประเทศคิริบาสตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางระหว่างออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา แม้ว่าประเทศนี้จะมีจำนวนประชากรเพียง 110,000 คนที่สามารถอยู่ในสนามกีฬาคริกเก็ตที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียได้อย่างสบาย แต่เกาะปะการัง 33 แห่งของคิริบาสก็กระจัดกระจายปกคลุมไปทั่วทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้คิริบาสเป็นประเทศเดียวที่พาดผ่านซีกโลกทั้งสี่และเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยพื้นที่มากกว่า 3 ล้านตารางกิโลเมตรซึ่งใหญ่กว่าพื้นที่แผ่นดินของอินเดีย ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ คิริบาส มีสิทธิอธิปไตยในการสำรวจและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรวมถึงการประมง น้ำมัน ก๊าซ และแร่ธาตุ อันเป็นขุมทรัพย์แห่งทรัพยากรที่ล่อตาจีนผู้ละโมบ

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 รัฐบาลคิริบาสซึ่งได้ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อสนับสนุนจีนคอมมิวนิสต์ใน พ.ศ. 2562 ประกาศว่าจีนให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับการวิจัยศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสนามบินบนเกาะปะการังแห่งหนึ่งในประเทศของตน รัฐบาลกล่าวว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ตามรายงานของรอยเตอร์ อย่างไรก็ตาม ผู้บัญญัติกฎหมายบางคนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความสนใจของจีนในสนามบินดังกล่าวที่เคยใช้เป็นฐานทัพของกองทัพสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่สอง และตั้งคำถามว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ซึ่งเป็นแบบแผนโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกกระจายไปอย่างกว้างขวางในหลายประเทศเพื่อการปล่อยสินเชื่ออย่างเอารัดเอาเปรียบของจีนหรือไม่ หนึ่งเดือนต่อมา ความกังวลด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการพัวพันของจีนนำไปสู่การเลื่อนพิจารณาโครงการที่นำโดยธนาคารโลก โดยเป็นโครงการติดตั้งสายเคเบิลใต้ทะเลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารในคิริบาสและอีกสองประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกอันประกอบด้วยสหพันธรัฐไมโครนีเซียและนาอูรู โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวอาจมีความเชื่อมโยงกับสายเคเบิลใต้ทะเลที่เชื่อมกับดินแดนกวมของสหรัฐฯ และใช้โดยรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหลัก ตามรายงานของรอยเตอร์ บริษัทจีนยื่นข้อเสนอในราคาต่ำสุด แต่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และประเทศหมู่เกาะเตือนว่าบริษัทจีนต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยข่าวกรองและหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลจีน

การพัวพันของจีนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของคิริบาสก่อให้เกิด “โอกาสแก่ฐานทัพจีนหรืออย่างน้อยในเบื้องต้น คือสิ่งอำนวยความสะดวกอันมีศักยภาพที่ใช้ได้สองด้าน ซึ่งเกิดขึ้น ณ ศูนย์กลางมหาสมุทรแปซิฟิก” ระบุไว้ในบทความประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ในเดอะสแตรตเทอจิสต์ สื่อสิ่งพิมพ์ของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลียซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในแคนเบอร์รา “สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้จะช่วยให้จีนสามารถเข้าควบคุมแหล่งประมงปลาทูน่าที่ดีที่สุดในโลกรวมถึงเขตแหล่งแร่ธาตุใต้ทะเลลึก ทั้งยังอยู่ใกล้กับฐานทัพสหรัฐฯ ที่หมู่เกาะฮาวาย เกาะปะการังควาจาเลน เกาะปะการังจอห์นสตัน รวมทั้งเกาะเวก และยังอยู่ในตำแหน่งเส้นทางเดินเรือสำคัญระหว่างอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์อีกด้วย”

“การแสดงตนที่แผ่ขยายมากขึ้น” ของรัฐบาลจีนกำลังสัมผัสได้ทั่วทั้งหมู่เกาะแปซิฟิก ตามรายงานของอเล็กซานเดอร์ บี เกรย์ นักวิชาการอาวุโสด้านกิจการความมั่นคงแห่งชาติของสภานโยบายต่างประเทศของอเมริกา นายเซอร์รังเจล วิปส์ จูเนียร์ ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนใหม่ของปาเลา ออกมาเรียกร้องว่าจีนกำลังข่มขู่ประเทศหมู่เกาะของตนเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 หนึ่งเดือนให้หลังหน่วยงานทางทะเลของปาเลาที่ได้รับความช่วยเหลือจากกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ได้ยึดเรือจีนที่ต้องสงสัยว่ากำลังเก็บปลิงทะเลในน่านน้ำของปาเลาโดยผิดกฎหมาย กองเรือทางทะเลขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างไกลของจีนถือเป็นผู้กระทำผิดรายใหญ่ที่สุดในโลกในการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของการทำประมงในมหาสมุทรทั้งหมด “ในด้านของทรัพยากรธรรมชาติ จีนได้ฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงในภูมิภาคนี้อย่างอุกอาจ” นายซาโตฮิโระ อากิโมโตะ ประธานมูลนิธิเพื่อสันติภาพซาซาคาว่าแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ระบุในหนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทมส์ “เนื่องด้วยจีนได้ใช้ทรัพยากรในน่านน้ำใกล้ชายฝั่งเพื่อจัดหาให้แก่ผู้บริโภคในประเทศที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นจนเหลือน้อยลง ภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิกนี้จึงเป็นน่านน้ำที่กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่มาพร้อมโอกาสมากมายสำหรับจีน”

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังใช้อำนาจบีบบังคับทางเศรษฐกิจรวมถึงตอบโต้ปาเลาอันเนื่องมาจากการมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน โดยหลักแล้วคือการห้ามนักท่องเที่ยวชาวจีนเยือนปาเลา ก่อให้เกิดการปิดกั้นกระแสรายได้สำคัญของปาเลาอันเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว “ความท้าทายที่หมู่เกาะแปซิฟิกที่เล็กที่สุดกำลังเผชิญอยู่ควรเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ต้องคำนึงถึง” นายเกรย์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงโอเชียเนียและอินโดแปซิฟิกของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุไว้ในนิตยสารเดอะดิโพลแมต เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 “รัฐเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีภูมิยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของภูมิภาค แต่ยังมีความเป็นประชาธิปไตยที่มุ่งมั่นพยายามปรับตัวให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในเวทีระดับนานาชาติและในองค์การสหประชาชาติมาเป็นระยะเวลานานอีกด้วย”

‘เวทีที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน’

ความมุ่งมั่นร่วมกันในการจัดการกับความท้าทายเหล่านั้นกำลังคืบคลานเข้ามา เนื่องด้วยพันธมิตรและหุ้นส่วนฝั่งประชาธิปไตยได้ขยายการมีส่วนร่วมของตนในภูมิภาคดังกล่าวแล้วในบางส่วน เพื่อต่อต้านความมักใหญ่ใฝ่สูงของเจ้ามหาอำนาจอย่างพรรคคอมมิวนิสต์จีน “สิ่งหนึ่งที่เราตั้งใจจะทำในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า โดยร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศพันธมิตรอย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ คือการประชุมร่วมกับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเวทีที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน” นายเคิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานด้านกิจการอินโดแปซิฟิกของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวในระหว่างงานที่จัดขึ้นโดยศูนย์วิจัยความมั่นคงแห่งอเมริกาแห่งใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 “หมู่เกาะเหล่านี้เป็นเกาะที่เราจะได้รับผลประโยชน์ทางศีลธรรมเชิงประวัติศาสตร์และทางยุทธศาสตร์อย่างมหาศาล” นายแคมป์เบลล์กล่าว ตามรายงานของรอยเตอร์ “และที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องคือที่นี่เป็นเวทีของการแข่งขันทั้งในแง่ของค่านิยม บทบาทในองค์การสหประชาชาติ ความท้าทายด้านสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ บทบาททางการทหารที่อาจเกิดขึ้น และฝูงพันธุ์ปลาเพื่อการประมงที่ดีต่อสุขภาพเพียงแค่ต้องแยกประเภทใหม่เท่านั้น”

ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรการเจรจาของการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นสมาชิก) และได้ให้เงินช่วยเหลือเป็นจำนวนมากแก่เวทีการประชุมนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้เงินช่วยเหลือในการส่งเสริมการพัฒนาแก่ภูมิภาคนี้เป็นจำนวนเงิน 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท) ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้บริจาคเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท) ต่อปี ตามข้อมูลเฉพาะของรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้น โครงการเตรียมความพร้อมด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การเพื่อการพัฒนาระดับนานาชาติของสหรัฐฯ ยังได้จัดสรรเงินจำนวน 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 790 ล้านบาท) ในระหว่างปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2565 เพื่อช่วยประเทศและดินแดนในหมู่เกาะแปซิฟิกบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

สหรัฐฯ ยังได้ทำข้อตกลงทวิภาคีว่าด้วยผู้ขับขี่เรือที่อนุญาตให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นสามารถสู้รบกับกลุ่มอาชญากรรมภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศตน ขณะอยู่บนเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ได้อีกด้วย เมื่อ พ.ศ. 2563 กองทัพสหรัฐฯ ได้ก่อตั้งหน่วยปฏิบัติการในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกเพื่อยกระดับบทบาทของตนในภูมิภาครวมถึงช่วยเหลือประเทศและดินแดนในหมู่เกาะด้วยการวางแบบแผนและดำเนินโครงการช่วยเหลือพลเมือง ปฏิบัติการและการฝึกซ้อมทางทหารและด้านความมั่นคง ตลอดจนโครงการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ

นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2563 กองเรือสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกยังเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกซ้อม ริม ออฟ เดอะ แปซิฟิก ครั้งที่ 27 ที่จัดขึ้นทุกสองปี โดยออกแบบมาเพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการทำงานร่วมกัน และความร่วมมือทางทะเลเชิงยุทธศาสตร์อันมีความสำคัญยิ่งต่อการรับรองด้านความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือ เพื่อสนับสนุนอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง การฝึกซ้อม ริม ออฟ เดอะ แปซิฟิก จัดขึ้นที่ทะเลรอบหมู่เกาะฮาวายเป็นเวลาสองสัปดาห์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ประกอบด้วยเรือ 22 ลำ เรือดำน้ำ 1 ลำ และเจ้าหน้าที่อีกกว่า 5,300 คนจาก 10 ประเทศพันธมิตร

นอกเหนือจากการให้การสนับสนุนด้านการเงินในภาคส่วนต่าง ๆ
เช่น การศึกษา สุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ญี่ปุ่นยังร่วมดำเนินการจัดตั้งศูนย์หมู่เกาะแปซิฟิกในโตเกียว โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2539 เพื่อช่วยเหลือสมาชิกการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิกในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนผ่านการส่งเสริมการลงทุน การค้า และการท่องเที่ยว ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นยังผลักดันความร่วมมือด้านกลาโหมและการแลกเปลี่ยนกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกอันเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของญี่ปุ่น ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีการเจรจาด้านกลาโหมระหว่างหมู่เกาะญี่ปุ่นกับแปซิฟิก การประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแบบพหุภาคีเป็นครั้งแรก และการส่งเสริมการเข้าเยี่ยมชมอากาศยานและท่าเรือโดยหน่วยกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น “ญี่ปุ่นมีบทบาทโดดเด่นในฐานะพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ และในฐานะประเทศในเอเชียที่มีความสัมพันธ์กับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง” นายอากิโมโตะ ระบุในเดอะเจแปนไทมส์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 “ญี่ปุ่นยังสามารถเน้นย้ำถึงประโยชน์ของการพัฒนาเศรษฐกิจและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านค่านิยมที่ยึดถืออันได้แก่ หลักนิติธรรม โครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และความมั่นคงของมนุษย์”

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงภาพอากาศยานที่ตั้งอยู่ทางยุทธศาสตร์บนเกาะแคนตัน โดยเป็นหนึ่งในหมู่เกาะห่างไกลของคิริบาสในภูมิภาคเกาะแปซิฟิก ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนวางแผนที่จะปรับปรุง ดิจิทัลโกลบ

การปรับภูมิภาคใหม่

เปิดเผยต่อสาธารณชนในระหว่างการประชุมผู้นำหมู่เกาะแปซิฟิกเมื่อ พ.ศ. 2559 โดยยุทธศาสตร์การยกระดับภาคพื้นแปซิฟิกของออสเตรเลียเป็นหนึ่งใน “นโยบายการต่างประเทศที่มีความสำคัญสูงสุด” ของประเทศ โดยมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท) ต่อภูมิภาคนี้ภายในปี พ.ศ. 2563 – 2564 เพียงปีเดียว ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการอันสำคัญยิ่ง ของภูมิภาคที่รองรับการขยายไปยังเวชภัณฑ์ที่จำเป็น “ออสเตรเลียเป็นพันธมิตรเพื่อการพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดเพียงรายเดียวของประเทศเหล่านี้” นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 “เราจึงได้จัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล อุปกรณ์ทดสอบ ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ และเรากำลังดำเนินการในส่วนของการบริการและระเบียงทางมนุษยธรรมที่สำคัญต่อไป เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญและเวชภัณฑ์สามารถเข้าและออกได้”

ขณะเดียวกัน โครงการทดแทนเรือลาดตระเวนภาคพื้นแปซิฟิกของออสเตรเลียกำลังดำเนินการจัดหาเรือจำนวน 21 ลำภายใน พ.ศ. 2566 เพื่อทดแทนเรือลาดตระเวนที่ประเทศได้บริจาคให้กับ 12 ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกรวมถึงติมอร์-เลสเตในระหว่าง พ.ศ. 2530 ถึงพ.ศ. 2540 ตามรายงานของรัฐบาลกลาง โครงการทดแทนมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.3 พันล้านบาท) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความมั่นคงทางทะเลแปซิฟิกของออสเตรเลีย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศหมู่เกาะดังกล่าวในการลาดตระเวนชายแดน ต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รวมถึงอาชญากรรมทางทะเลอื่น ๆ ตลอดจนการดำเนินการค้นหาและกู้ภัย เรืออาร์เคเอส เทียนัว 2 ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวนชั้นการ์เดียนทดแทนลำที่ 11 มอบให้กับคิริบาสเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564

เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านในทะเลแทสมัน นิวซีแลนด์ได้ยกระดับการมีส่วนร่วมของตนในภูมิภาค ในแถลงการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 นายมอร์ริสันและนางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ระบุว่า “ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นสิ่งสำคัญขั้นพื้นฐาน” ต่อประเทศของตน โดยตกลงที่จะขยายความร่วมมือกับประเทศและดินแดนหมู่เกาะต่าง ๆ ภายใต้นโยบายแปซิฟิกรีเซ็ตที่เปิดตัวขึ้นใน พ.ศ. 2561 นิวซีแลนด์ได้เพิ่มเงินทุนช่วยเหลือ เพิ่มความถี่ของการประชุมระดับรัฐมนตรี และสร้างตำแหน่งทางการทูตและการพัฒนาใหม่มากกว่า 12 ตำแหน่งที่มุ่งเน้นไปยังภูมิภาคดังกล่าว ในช่วงกลาง พ.ศ. 2563 ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาฝ่ายกลาโหมประจำประเทศตองงาเพื่อทำหน้าที่ประสานงานปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น การรับมือภัยพิบัติ กองทัพนิวซีแลนด์ได้จัดฝึกอบรมความเป็นผู้นำระดับมืออาชีพให้กับประเทศหมู่เกาะ “เพื่อปลูกฝังรากฐานของความเป็นผู้นำที่มีจริยธรรมและมีศักยภาพในหมู่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของแปซิฟิก” พร้อมทั้งปรับปรุงและปรับเปลี่ยนทรัพยากรของตนเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกและการลาดตระเวนทางทะเลในภูมิภาคแปซิฟิก “ความท้าทายหลายประการที่หมู่เกาะแปซิฟิกเผชิญตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศไปจนถึงการแข่งขันทางภูมิยุทธศาสตร์ จำเป็นต้องพึ่งพาเราและพันธมิตรของเราที่มีแนวคิดเดียวกัน” ตามรายงาน “ความก้าวหน้าในความร่วมมือหมู่เกาะแปซิฟิก” ของกองทัพนิวซีแลนด์

ในความเป็นจริง เมื่อประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกต้องเผชิญกับภัยคุกคามทั้งที่เกิดขึ้นทันทีและที่มีอยู่จริง พวกเขาจะพึ่งพาออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ ตลอดจนมิตรภาพในอินโดแปซิฟิก ยุโรป และทั่วโลก “เพราะเป็นประเทศเล็ก ๆ ดังนั้นเราจึงอาจถูกแทรกซึมได้โดยง่าย เราจึงต้องพึ่งพาพันธมิตรเพื่อช่วยปกป้องและให้ความมั่นคงแก่เรา” นายวิปส์ ประธานาธิบดีปาเลา กล่าวระหว่างการเดินทางไปยังไต้หวันเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้ส่งอากาศยานทางทหาร 10 ลำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน ในเวลาเดียวกับที่นายวิปส์กำลังไปเยือนไต้หวัน ราวกับต้องการจะเพิ่มระดับความกังวลของนายวิปส์เกี่ยวกับความเปราะบางของอำนาจอธิปไตยนี้

“ด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูงของรัฐบาลจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” นายเกรย์จากสภานโยบายต่างประเทศแห่งอเมริกาได้ระบุไว้ในเดอะดิโพลแมตว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรจำเป็นต้องมีความพยายามร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศที่เล็กที่สุดในอินโดแปซิฟิกนี้จะยังคงมีเอกราช ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองต่อไป”


หุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก

สร้างสัมพันธ์ที่ยั่งยืนในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก

หน่วยปฏิบัติการในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก

หหน่วยปฏิบัติการในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก เป็นความพยายามของกองทัพบกสหรัฐอเมริกาที่มุ่งเน้นไปยังแปซิฟิกเพื่อทุ่มเทให้กับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งทั่วทั้งโอเชียเนีย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง หน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกได้กระชับความสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์ในแง่ของมิตรภาพและความสมานฉันท์ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก รวมถึงค่านิยมที่มีร่วมกันในด้านเสรีภาพส่วนบุคคลและความมีเอกราชทั่วโลกที่ฝังแน่นอยู่ในสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเข้มแข็ง จากการเชื่อมสัมพันธ์กับทั้งพันธมิตรทางทหาร รัฐบาล และสังคม คณะทำงานของหน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกจึงใช้เครือข่ายความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอันกว้างขวางเพื่อสร้างคุณค่าไปทั่วทั้งโอเชียเนีย

หน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกประกอบด้วยทหารจากทุกภาคส่วนของกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงกองกำลังประจำการ กองทัพบก และกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2563 โดยหลัก ๆ ประกอบด้วยหน่วยงานและสมาชิกของกองบัญชาการสนับสนุนภารกิจที่ 9 ซึ่งตั้งอยู่ที่ฟอร์ต ชาฟเตอร์ แฟลต รัฐฮาวาย โดยมีสำนักงานใหญ่ของหน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกตั้งอยู่ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ในโอเชียเนีย อยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงเมลานีเซีย ไมโครนีเซีย และพอลีนีเซีย กองบัญชาการสนับสนุนภารกิจที่ 9 จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับภารกิจนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับภูมิภาคและการมีทหารหลายนายในภารกิจนี้ที่เรียกโอเชียเนียว่าเป็นบ้านของครอบครัวและบรรพบุรุษของพวกเขา

พล.จ. ทิโมธี ดี คอนเนลลี จากกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของหน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 กล่าวว่า “สิ่งที่ยิ่งใหญ่ของกองบัญชาการสนับสนุนภารกิจที่ 9 คือการก่อกำเนิดของเรามาจากกองพลทหารที่มาจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกจริง ๆ” “พวกเขาเป็นกองพลทหารอันน่าทึ่งที่ได้รับทักษะและการฝึกซ้อมทางทหารที่ยอดเยี่ยมจากกองทัพบกสหรัฐฯ พวกเขานำสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนั่นคือวัฒนธรรม ภาษา และความคุ้นเคยในการดำเนินชีวิตมาให้แก่เรา ในหลาย ๆ ครั้งก็มาจากเรื่องราวที่มีอยู่ในแปซิฟิกตอนใต้”

เนื่องจากความพยายามในโอเชียเนียเริ่มก่อร่างขึ้นในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 จึงมีการสร้างคณะทำงานด้านเส้นทางโอเชียเนียขึ้นเพื่อสนับสนุนประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก โดยคณะทำงานดังกล่าวประกอบด้วยผู้ชำนาญการด้านกิจการพลเรือนพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม สร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หลายประการ โดยสองอันดับแรกคือการสร้างขีดความสามารถของประเทศเจ้าภาพและการกระชับความสัมพันธ์ทั่วทั้งโอเชียเนีย

คณะทำงานด้านเส้นทางโอเชียเนียได้ใช้ความสามารถด้านวิศวกรรมบริการ การแพทย์ และสัตวแพทย์จากกองทัพบกสหรัฐฯ และองค์กรที่สังกัดอยู่เพื่อให้ช่วยเหลือได้ทั่วทั้งภูมิภาค นอกจากนี้ กองบัญชาการสนับสนุนภารกิจที่ 9 ยังได้ส่งคณะทำงานเข้าร่วมกับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกเพื่อวางแผนรับมือภัยพิบัติ ให้ความร่วมมือด้านความมั่นคง ตลอดจนแลกเปลี่ยนทักษะทางทหาร การฝึกซ้อมทางทหารร่วมกัน เช่น เส้นทางแปซิฟิก ช่วยเพิ่มความพร้อมให้แก่กองกำลังของสหรัฐฯ พันธมิตร รวมถึงหุ้นส่วน การผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม กิจการพลเรือน และด้านสิทธิประโยชน์ที่ใช้แนวทางแบบบูรณาการทุกหน่วยงานของภาครัฐของหน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ส่งผลให้การเป็นพันธมิตรยืนยาวและการเติบโตยั่งยืน

หน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกไม่เคยปราศจากความท้าทาย ทันทีที่หน่วยปฏิบัติการดังกล่าวเปิดตัว การระบาดของโรคโควิด 19 ก็มาถึง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการเป็นอย่างมาก พล.ต. เอริค มอเรย์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการกล่าวว่า “เราถูกบังคับให้ล้มเลิกทุกสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่ และทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนแผนของเราใหม่เพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้” “ในแง่มุมของการปฏิบัติการ นับเป็นความท้าทายอย่างเหลือเชื่อเกินกว่าจะหาคำตอบได้ ซึ่งต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ ความอดทน และการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน รวมถึงประเทศพันธมิตรและประเทศในแถบโอเชียเนียที่เกี่ยวดองกันเป็นอย่างมาก”

แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรค แต่คณะทำงานของหน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกก็ยังคงเดินหน้าสนับสนุนประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกต่อไป ฟิจิ หมู่เกาะมาร์แชลล์ ปาเลา ปาปัวนิวกินี และติมอร์-เลสเตเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลประโยชน์จากความมุ่งมั่นที่เพิ่มขึ้นต่อโอเชียเนียของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก การให้การสนับสนุนการรับมือกับโรคโควิด 19 ในประเทศพันธมิตรเหล่านี้กลายเป็นจุดสนใจหลักของคณะทำงานของหน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก

แม้ว่าการระบาดใหญ่จะมาพร้อมความท้าทายต่าง ๆ จนถึง พ.ศ. 2564 แต่หน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกก็ยังคงดำเนินการสร้างขีดความสามารถและขยายการเข้าถึงประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกมากขึ้น หัวใจสำคัญของความสำเร็จครั้งนี้คือศักยภาพในการหาวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับประเทศเจ้าบ้านแต่ละแห่ง ส่วนประกอบสำคัญของสูตรสำเร็จคือความผูกพันทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง และความสัมพันธ์ที่หน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกมีกับประเทศพันธมิตรเจ้าภาพ

ทุกแง่มุมของการปฏิบัติการยังครอบคลุมถึงการซึมซับทางวัฒนธรรมและการศึกษา ในช่วงการฝึกร่างกายที่ผ่านมา สมาชิกหน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกได้เรียนวิธีการพายเรือ จ.ส.อ. คริส เกาปุยกี ได้นำเหล่านายทหารเรียนรู้เรื่องพื้นฐานของวิธีการเดินเรือแบบโบราณนี้ จ.ส.อ. เกาปุยกีกล่าวว่า “การพายเรือเป็นมากกว่านั้น สิ่งนี้คือวิธีการที่ดีในการทำความเข้าใจ สัมผัสประสบการณ์ ตลอดจนเข้าถึงผู้คนและวัฒนธรรมที่เรากำลังให้ความช่วยเหลือ” “ขนบธรรมเนียมและระเบียบวินัยของกีฬาชนิดนี้มีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับสังคมโบราณต่าง ๆ เหล่านี้” เจ้าหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกยังได้ซึมทราบกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม เช่น พิธีกาวาและงานคืนสู่เหย้าชาวเกาะแปซิฟิกอีกด้วย

เส้นทางแปซิฟิกได้รับการออกแบบและมีกองทัพบกสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิกเป็นแกนนำ เพื่อยกระดับความพร้อมของกองกำลังสหรัฐฯ พันธมิตร และหุ้นส่วนผ่านการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกัน การฝึกซ้อมนี้กระจายไปทั่วอินโดแปซิฟิกและเมื่อไม่นานมานี้ยังครอบคลุมไปถึงรายชื่อประเทศในแถบโอเชียเนียที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกเข้าสู่ปี พ.ศ. 2565 ในฐานะสินทรัพย์ที่เติบโตเต็มที่ซึ่งกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิกพึ่งพาเพื่อสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ต่อไป และเพื่อให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทที่มั่นคงยั่งยืน ตั้งแต่การมีส่วนร่วมของผู้นำระดับสูง การฝึกซ้อมร่วมกัน การจัดการประชุม ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการวางแผนรับมือภัยพิบัติ ไปจนถึงการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 รวมถึงการมีส่วนร่วมของวิศวกร ตลอดจนการช่วยเหลือพลเมืองและโครงการต่าง ๆ หน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกจึงได้สร้างขีดความสามารถและคุณค่าแก่ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกอย่างมหาศาล “สหรัฐฯ และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกในโอเชียเนียได้ร่วมกันแบ่งปันค่านิยมพื้นฐานหลายประการอันเกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตยและแนวทางจิตวิญญาณต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ปลูกฝังความเคารพต่อปัจเจกบุคคลภายในบริบททางสังคมที่เข้มแข็ง” พ.อ. เบลส แซนโดลิ รองผู้บัญชาการของหน่วยปฏิบัติการประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก กล่าว “ค่านิยมที่มีร่วมกันและความสัมพันธ์เชิงปฏิบัติการซึ่งได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทำให้ประสานความร่วมมือกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button