ติดอันดับ

การยกระดับเรือดำน้ำของอินโดนีเซียช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถแก่กองเรือ

ทอม แอบกี

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 กองทัพอินโดนีเซียระบุว่าการปรับปรุงซ่อมแซมเรือดำน้ำ เคอาร์ไอ คาครา (ภาพ) เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งเป็นเรือดำน้ำจู่โจมพลังงานดีเซลและไฟฟ้าชั้นคาคราที่ยังเหลืออยู่ของกองทัพ ทั้งยังเป็นเรือดำน้ำที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาเรือดำน้ำที่ยังคงใช้งานอยู่ทั้งสี่ลำของอินโดนีเซีย

การปรับปรุงซ่อมแซมดังกล่าวโดยบริษัทต่อเรือพีที พาล ของอินโดนีเซียเกิดขึ้นจากการที่นักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่รัฐมองเห็นความจำเป็นที่เพิ่มมากขึ้นของการมีกองเรือดำน้ำที่ทนทานตลอดจนขีดความสามารถในการผลิตและบำรุงรักษาเรือภายในประเทศ

“อินโดนีเซียต้องมีความแข็งแกร่งมากพอเพื่อดำรงรักษาอธิปไตย … และบูรณภาพแห่งดินแดน” กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียหรือที่รู้จักในนาม เคมฮัน กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 “ด้วยเหตุนี้ เรือดำน้ำ เคอาร์ไอ คาครา-401 จึงเป็นที่รอคอยอย่างยิ่งเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านกลาโหมของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เนื่องด้วยน่านน้ำอันกว้างใหญ่ของอินโดนีเซียจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง”

การปรับปรุงซ่อมแซมครั้งนี้ครอบคลุมไปถึงการทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าเรือดังกล่าวจะสามารถขับน้ำออกที่ความจุสูงสุดได้ ส่วนการปรับปรุงอื่น ๆ คือการประเมินความสามารถในการดำน้ำ ระบบเซ็นเซอร์และตรวจจับ และการยิงตอร์ปิโด ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย เมื่อการปรับปรุงซ่อมแซมเสร็จสิ้นแล้ว จึงมีการประกาศให้เรือดำน้ำดังกล่าว “พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในปฏิบัติการ”

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 เรือดำน้ำ เคอาร์ไอ นางกาลา ที่มีอายุ 40 ปีของอินโดนีเซียเกิดจมลงในระหว่างการฝึกซ้อมอันเนื่องมาจากความล้มเหลวทางกลไก ส่งผลให้ลูกเรือทั้งหมด 53 คนเสียชีวิต โศกนาฏกรรมครั้งนี้กระตุ้นความพยายามของอินโดนีเซียที่จะเปลี่ยนยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ผ่านการใช้งานมายาวนาน

การผลิตเรือดำน้ำในประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรก ๆ ของอินโดนีเซียในการที่จะพึ่งพาตนเองในการต่อเรือได้มากขึ้น นอกเหนือจากการปรับปรุงซ่อมแซมเรือดำน้ำคาคราแล้ว บริษัทพีที พาลของรัฐยังสร้างเรือ เคอาร์ไอ อะลูโกโร ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือดำน้ำชั้นนากาพาซารุ่นใหม่ล่าสุดของอินโดนีเซียที่ออกแบบโดยบริษัทแดวูชิปบิลดิง แอนด์มารีนเอ็นจีเนียริง ของเกาหลีใต้ เรืออะลูโกโรเปิดตัวขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ตามรายงานบริษัทพีที พาล ที่ตั้งอยู่ในชวาตะวันออก

นายยูซุฟ เจาฮารี หัวหน้าหน่วยงานสถานที่ด้านกลาโหมของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการปรับปรุงซ่อมแซมครั้งนี้ว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงโครงการของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับ “อุตสาหกรรมด้านกลาโหมภายในประเทศที่เหนือกว่าเพื่อความก้าวหน้าของอินโดนีเซียที่จะสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศได้”

กองเรือดำน้ำของอินโดนีเซียยังรวมถึงเรือชั้นนากาพาซาอีกสองลำ ได้แก่ เรือดำน้ำเคอาร์ไอ นากาพาซา และเรือดำน้ำเคอาร์ไอ อาร์ดาเดดาลี ซึ่งทั้งสองลำสร้างขึ้นโดยบริษัทแดวูชิปบิลดิงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เรือคาคราที่มีความยาวเกือบ 60 เมตรมีความเร็วใต้น้ำที่ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามรายงานของโครงการภัยคุกคามนิวเคลียร์ของสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ของเรือลำดังกล่าวสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2520 ในเยอรมนีตะวันตกในขณะนั้น ประกอบด้วยขีปนาวุธต่อต้านเรือและตอร์ปิโด การปรับปรุงซ่อมแซมโดยบริษัทพีที พาล ในครั้งนี้ถือเป็นการปรับปรุงซ่อมแซมเรือครั้งใหญ่เป็นครั้งที่สี่ เรือดำน้ำชั้นนากาพาซาขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงดีเซลและพลังงานไฟฟ้า เช่นเดียวกับเรือชั้นคาคราที่มีขนาดใกล้เคียงกัน

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 นายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย ประกาศว่ากระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียตั้งความหวังว่าจะสามารถเพิ่มเรือดำน้ำอีกแปดลำให้กับกองเรือของประเทศได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

การเพิ่มจำนวนเรือดำน้ำอาจเป็นวิธีการที่คุ้มค่าใช้จ่ายสำหรับกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียในการบรรลุเป้าหมายที่จะทำให้กองทัพสามารถเข้าโจมตีเป้าหมายนอกน่านน้ำของประเทศได้ นายมูฮัมหมัด เฟาซาน มาลุฟตี และนายอัลบัน ซาสเซีย นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมอินโดนีเซีย ระบุไว้ในนิตยสารเดอะดิโพลแมตประจำวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2565

ทั้งสองกล่าวว่า เรือดำน้ำสามารถปฏิบัติการแบบลอบเร้นที่มากกว่ายุทโธปกรณ์ทางเรืออื่น ๆ อีกหลายประเภท ทำให้การป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

 

ภาพจาก: กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button