ประเทืองปัญญาแผนก

การประมวลกฎหมายน่านน้ำและการปฏิรูปคำสั่ง

การรุกรานของจีนในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้

ดร. เหวียน ถั่ญ จุง และ นายเล ง็อก หาน งัน

กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยด้านการจราจรทางทะเลของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยกำหนดให้เรือต่างชาติทุกลำที่เข้าสู่น่านน้ำจีนต้องแจ้งต่อหน่วยงานทางทะเล เพื่อดำเนินการขออนุญาตและยื่นต่อกองบัญชาการและการกำกับดูแลของจีน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลจีนผ่านร่างกฎหมายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่อนุญาตให้กองกำลังรักษาชายฝั่งจีนสามารถใช้กำลังบังคับเรือต่างชาติที่ละเมิดอำนาจอธิปไตยของจีน กฎหมายทั้งสองฉบับมีนัยยะแฝงที่ร้ายแรงต่อระเบียบระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังละเมิดบทบัญญัติของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลที่มอบสิทธิ์ในการผ่านน่านน้ำได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลของรัฐชายฝั่ง

การประมวลกฎหมายน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทของจีนได้พัฒนามาจนถึงขั้นตอนการขยายตัวในปัจจุบันเป็นเวลากว่าสามทศวรรษแล้ว กฎหมายว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตติดต่อกัน พ.ศ. 2535 ยังก่อให้เกิดความไม่พอใจในรัฐต่าง ๆ ด้วยการละเมิดบทบัญญัติของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ที่ได้กำหนดเส้นฐานสำหรับการวัดทะเลอาณาเขตและเขตทางทะเลอื่น ๆ จีนใช้วิธีเส้นฐานแบบตรง ซึ่งจะเชื่อมต่อจุดฐานระหว่างหมู่เกาะต่าง ๆ ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งจีน และทำให้ทะเลอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจพิเศษมีการขยายตัว ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของประเทศอื่น ๆ ในการใช้น่านน้ำเหล่านั้นตามที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต

กฎหมายภายในประเทศจีนที่อยู่นอกเหนือจากที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต จะสร้างโอกาสในการพัฒนาเป้าหมายทางดินแดนของจีนผ่านวิธีการบีบบังคับ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนกับดินแดนและอำนาจอธิปไตยของรัฐต่าง ๆ ในภูมิภาค มาตรา 12 ของกฎหมายกองกำลังรักษาชายฝั่งอนุญาตให้กองกำลังรักษาชายฝั่งจีนปกป้องอธิปไตย ผลประโยชน์ทางทะเล เกาะเทียม และสิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของจีนในน่านน้ำที่จีนได้อ้างสิทธิ์ นอกจากนี้ กองกำลังรักษาชายฝั่งจีนยังสามารถรื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ลอยน้ำที่สร้างขึ้นในทะเล เกาะ และแนวปะการัง ภายใต้เขตอำนาจศาล ตามมาตรา 20 ของกฎหมายดังกล่าว

กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยด้านการจราจรทางทะเลได้ให้อำนาจแก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในการควบคุมกิจกรรมอื่น ๆ ในน่านน้ำของตนเอง โดยการกำหนดหมวดหมู่ของเรือต่างชาติที่ต้องให้ข้อมูลของตนเมื่อเดินเรือและเทียบเรือในเขตนำร่อง ซึ่งหมายความว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถกำหนดเขตนำร่องในพื้นที่พิพาทได้ แม้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของผู้อ้างสิทธิ์ประเทศอื่นก็ตาม

กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยด้านการจราจรทางทะเลและกฎหมายกองกำลังรักษาชายฝั่งนั้นเป็นมากกว่าการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ โดยกฎหมายดังกล่าวได้ส่งเสริมความทะเยอทะยานที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในการช่วยผลักดันการอ้างสิทธิ์ของจีนโดยใช้กระบวนการยุติธรรมของตนเอง
แนวทางของจีนพึ่งพาเงื่อนไขทางกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างคลุมเครือเพื่อจะได้ตีความกฎหมายนั้นแค่เฉพาะตามความจำเป็น มาตรา 74 ของกฎหมายกองกำลังรักษาชายฝั่งนิยามให้ “น่านน้ำภายใต้เขตอำนาจศาลของจีน” รวมถึง “น่านน้ำอื่น ๆ” ในแง่ที่สามารถหมายถึงน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทและน่านน้ำที่จีนอ้างสิทธิ์ในกฎหมายว่าด้วยทะเล พ.ศ. 2535 ในขณะเดียวกัน กฎหมายทางทะเลฉบับใหม่นี้ก็ยังมีความคลุมเครือว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายมาตราใหม่หรือไม่ แล้วใช้ในวงกว้างเพียงใด รุนแรงเพียงใด และจะครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ใดบ้าง

ในระดับภูมิภาค จีนต้องการกำหนดระเบียบใหม่ที่ใช้มานานหลายทศวรรษ และกฎหมายภายในประเทศถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความพยายามในการกำหนดกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานทางทะเล กฎหมายกองกำลังรักษาชายฝั่งเป็นภัยคุกคามที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศที่มีข้อพิพาทกับจีนในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ กฎหมายดังกล่าวช่วยเสริมสร้างข้อโต้แย้งที่จีนต้องการสร้างพื้นฐานทางกฎหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเผชิญหน้าทางกายภาพในทะเล

ในทางปฏิบัติ รัฐบาลจีนเริ่มใชัท่าหมอบที่พร้อมโจมตีมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถกำหนดกฎหมายภายในประเทศของตนว่าด้วยพื้นที่ที่ควบคุมได้ โดยไม่คำนึงว่าพื้นที่เหล่านั้นจะอยู่ในเขตอำนาจศาลของตนตามกฎหมายหรือไม่ และด้วยค่าใช้จ่ายทางการทหารที่สูงถึง 2.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.4 ล้านล้านบาท) ใน พ.ศ. 2563 โดยจีนได้เปลี่ยนกองเรือของตนเองและปลอมแปลงเรืออาสาสมัครให้กลายเป็นเรือบีฮีมอธที่มีขนาดใหญ่ เพื่อให้เหนือกว่ากองทัพเรือและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาค ในบริบทนี้ การบังคับให้เรือจากประเทศเล็ก ๆ ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นการสร้างความตื่นตระหนกให้แก่รัฐในภูมิภาคและประชาคมโลกตามกฎระเบียบ

ดร. เหวียน ถั่ญ จุง เป็นผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานานาชาติแห่งไซ่ง่อน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม ในนครโฮจิมินห์ นายเล ง็อก หาน งัน เป็นนักวิจัยที่ศูนย์การศึกษานานาชาติแห่งไซ่ง่อน บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564 ในเว็บไซต์โครงการเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชีย ของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ โดยมีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button