กระบอกเสียงแผนก

เหตุใดจีนจึงสั่นคลอน?

การประชุมสุดยอดผู้นำควอดครั้งแรก ได้ส่งข้อความอย่างชัดเจนไปยังรัฐบาลจีน

พล.ต. (เกษียณอายุราชการ) เอส บี อัสธานา/กองทัพบกอินเดีย

การประชุมสุดยอดของการเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือควอด เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ไม่ได้ระบุถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยตรง แต่ดูเหมือนรัฐบาลจีนจะถูกสั่นคลอนจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนคาดการณ์ว่า สมาชิกควอดอย่างออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ก็คิดว่ามี “ภัยคุกคามจากจีน” แม้แต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า จีนเห็นความท้าทายที่สำคัญต่อความฝันของตนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่มีจีนเป็นศูนย์กลางในการเรียกร้องของ

ควอดให้เป็นภูมิภาคที่เสรี เปิดกว้าง ครอบคลุม และแข็งแรง ซึ่ง “ยึดตามค่านิยมประชาธิปไตยและไม่ถูกจำกัดโดยการบีบบังคับ” การที่กลุ่มประเทศทั้งสี่ยังไม่ได้รวมตัวเป็นกองกำลังที่เหนี่ยวแน่นถือเป็นความหวังของจีน จึงอาจต้องมีการทบทวนอีกครั้ง: ผู้นำของควอดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ที่ทำเนียบขาว และได้เห็นพ้องที่จะดำเนินการตามวาระสำคัญผ่านคณะทำงานที่มุ่งเน้นทั้งสามกลุ่ม

วาระที่ไม่ร้ายแรง แต่สื่อความอย่างชัดเจน

ความพยายามของควอดที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกฉันท์ว่าต้องการระเบียบที่เสรี เปิดกว้าง และเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ซึ่งมีรากฐานมาจากกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อยกระดับความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรือง ตลอดจนเพื่อต่อต้านภัยคุกคามต่ออินโดแปซิฟิกและภูมิภาคอื่น ๆ แต่รายการวาระที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกคือ การเรียกร้องให้มีการโต้ตอบต่อการระบาดของโควิด-19 ร่วมกัน ในแง่ของการประสานความพยายามในการฉีดวัคซีน โดยอินเดียจะเป็นศูนย์กลางการผลิตและได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอื่นเพื่อผลิตวัคซีน 1 พันล้านเข็มภายใน พ.ศ. 2565 คณะทำงานอีกสองคณะจะมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สำคัญและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

วาระดังกล่าวดูเหมือนจะไม่ร้ายแรง แต่ในการประชุมสุดยอดครั้งแรกของควอด รัฐบาลจีนก็ไม่พลาดที่จะถูกเชื่อมโยงกับประเด็นต่าง ๆ เช่น เสรีภาพในการเดินเรือและการบิน และความกังวลเกี่ยวกับการที่จีนได้ทำ “การรุกราน” และ “การบีบบังคับ” ต่อสมาชิกควอด ไม่มีการเอ่ยชื่อถึงจีนโดยตรงในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งดังกล่าว แต่จีนก็รู้ว่าตนเองได้ท้าทายระเบียบที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ โดยการไม่สนใจคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร พ.ศ. 2559 ที่ยกเลิกการอ้างสิทธิ์ทางทะเลอย่างกว้างขวางของจีนในทะเลจีนใต้ และได้บังคับใช้กับประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง การโต้ตอบของจีนที่เรียกการประชุมควอดว่า “ลัทธิพหุภาคีแบบเลือกปฏิบัติ” และ “การเมืองโควิด” แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจที่มีความร่วมมือทางเลือกด้านการฉีดวัคซีนทั่วโลกเกิดขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนพยายามสงวนไว้เพียงฝ่ายเดียวเพื่อแสวงหาผลกำไร

รายการความท้าทายร่วมที่จะได้รับการแก้ไขโดยควอด ได้แก่ พื้นที่ไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้าย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ตลอดจนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งบางรายการมีการกล่าวหาว่าจีนมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การโจมตีทางไซเบอร์ และความไม่โปร่งใสขององค์การอนามัยโลก

การยืนยันของควอดที่จะสนับสนุนหลักนิติธรรม เสรีภาพในการเดินเรือและการบิน ค่านิยมประชาธิปไตย และบูรณภาพของดินแดน ได้เพิ่มความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีน ซึ่งได้เริ่มระดมยิงโฆษณาชวนเชื่อผ่านหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ส โดยเรียกอินเดียว่าเป็น “สินทรัพย์ในเชิงลบ” สำหรับกลุ่มต่าง ๆ เช่น บริกส์ (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) และองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ และกล่าวว่าอินเดียไม่เข้าใจถึงความปรารถนาดีของจีน

นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้รับวัคซีนโควิด-19 ในกรุงนิวเดลีเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564
ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ปัญหาและความแตกแยก

จีนต้องการให้โลกเชื่อว่ามีความแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างสี่ประเทศแห่งระบอบประชาธิปไตยที่รวมตัวกัน อย่างไรก็ตาม ในขณะที่จีนพัฒนาขึ้น ควอดก็ดูเหมือนจะเอาชนะความแตกต่างเหล่านั้นได้บ้าง มีการยอมรับคำนิยามที่แตกต่างมากขึ้นและมุ่งเน้นพื้นที่ภายในอินโดแปซิฟิก โดยอินเดียมุ่งเน้นไปยังมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตกที่ติดกับประเทศแอฟริกาและอ่าว ตลอดจนพื้นที่อื่น ๆ ในอินโดแปซิฟิก ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่สมาชิกควอดทั้งหมดมุ่งเน้น

ข้อตกลงพื้นฐานที่ลงนามโดยอินเดียและสหรัฐฯ เช่น สนธิสัญญาความเข้ากันได้ด้านการสื่อสาร ข้อตกลงด้านความมั่นคง และข้อตกลงการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือพื้นฐาน ตลอดจนการฝึกร่วมทางเรือ ได้ปรับปรุงการทำงานร่วมกันของอินเดียกับสมาชิกควอดประเทศอื่น ๆ ที่ดำเนินงานภายใต้กรอบพันธมิตรทางทหารขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต

อินเดียเป็นสมาชิกควอดเพียงประเทศเดียวที่มีพรมแดนติดกับจีน ซึ่งนั่นเป็นที่มาของความตึงเครียดมานานหลายทศวรรษ จีนได้พยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างความไม่ลงรอยกันในหมู่สมาชิก ควอด โดยการรักษาความสัมพันธ์ของจีนกับอินเดียให้ดูมีความสับสนระหว่างความตึงเครียดและความสามัคคี หลังจากที่มีการเผชิญหน้ากันตามแนวชายแดนทางทหารที่ดอกลัมและลาดักห์ ก็ถือเป็นที่ชัดเจนสำหรับชาวอินเดียว่าจีนไม่สามารถไว้วางใจได้ ซึ่งนั่นทำให้จุดยืนของอินเดียมีความชัดเจนยิ่งขึ้น การข้องเกี่ยวทางเศรษฐกิจของสมาชิก
ควอดแต่ละประเทศกับจีนจำเป็นต้องมีห่วงโซ่อุปทาน ดิจิทัล และระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น โดยจะต้องพึ่งพาจีนให้น้อยที่สุด

มีมติเห็นพ้องกันในหมู่สมาชิกควอดเกี่ยวกับการสนับสนุนความเป็นศูนย์กลางของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในภูมิภาคนี้ แต่การรวมมติดังกล่าวเข้าไปในการพิจารณาของควอดจะได้รับการอภิปรายกันอีกครั้ง โดยคำนึงถึงอิทธิพลของจีนที่มีต่ออาเซียน โดยทั่วไปแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศได้ส่งเสียงอย่างอ่อนแรงเพื่อต่อต้านการรุกรานของจีน (ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) เป็นครั้งคราว โดยคาดหวังว่าประเทศมหาอำนาจของโลกจะตรวจสอบความสุ่มเสี่ยงของจีน เนื่องจากประเทศดังกล่าวเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะยืนหยัดต่อต้านการรุกรานของจีนด้วยตนเอง ซึ่งนั่นทำให้จีนยังคงกล้าที่จะรุกรานเข้าไปในทะเลจีนใต้และภูมิภาคนี้อยู่เรื่อย ๆ จีนพยายามจัดการกับประเทศต่าง ๆ ในรูปแบบทวิภาคีมาโดยตลอด โดยใช้อำนาจของตนเองให้เกิดประโยชน์ ในการติดต่อกับออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เป็นการส่วนตัว จีนจะยังคงมุ่งมั่นทำให้ควอดอ่อนแอลงผ่านเงื่อนไขแบบทวิภาคี

วิวัฒนาการของควอดจะดำเนินต่อไปหรือไม่?

ควอดได้จัดตั้งขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิทำลายล้างในมหาสมุทรอินเดียใน พ.ศ. 2547 ในฐานะกลุ่มแกนกลางด้านสึนามิ ซึ่งดำเนินการเพื่อตอบสนองความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติที่น่าเชื่อถือ การฝึกซ้อมของกองทัพเรือมาลาบาร์แบบพหุภาคีทำให้กลุ่มเข้าใจถึงความสามารถในการทำงานร่วมกันเพื่อต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัด ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ และภารกิจทางทะเลอื่น ๆ สมาชิกควอดวางแผนให้ประเทศตนเองมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเครือข่ายที่เปิดกว้างและโปร่งใส ซึ่ง “จะช่วยให้ผู้คน สินค้า เงินทุน และความรู้สามารถไหลเวียนได้อย่างอิสระ”

ควอดยังไม่ยอมรับว่าตนเองมีบทบาทในการตรวจสอบความสุ่มเสี่ยงของจีนในอินโดแปซิฟิก หรือสามารถปฏิบัติการในฐานะกองกำลังทหารร่วมได้ ในความเป็นจริง ควอดได้เลือกที่จะเจรจาต่อรองในการกล่าวว่าตนเองไม่ได้มุ่งเน้นไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ

ยุทธศาสตร์ในการรุกรานที่เพิ่มขึ้นของจีนในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกและในลาดักห์ ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาททางพรมแดนระหว่างอินเดียกับจีน ถือเป็นความกังวลที่ร้ายแรง โดยไม่เพียงกับประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ทับซ้อนกันหรือพรมแดนที่ไม่สงบ แต่ยังรวมถึงประเทศอื่น ๆ ในโลกด้วย จีนยังคงเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทางทะเลและเกาะต่าง ๆ ให้เป็นฐานทัพทางทหารและคาดหวังว่าชาติอื่น ๆ จะให้การยอมรับฐานทัพเหล่านี้ แม้ว่าจีนจะปรับใช้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลอย่างไม่เหมาะสมเพื่ออ้างสิทธิ์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษรอบพื้นที่ดังกล่าวกว่า 200 ไมล์ทะเล ส่งผลให้ทะเลจีนใต้ได้กลายไปเป็น “ทะเลสาบจีน” ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

การรุกรานของจีนคุกคามเสรีภาพในการเดินเรือและการบินตลอดเส้นทางคมนาคมทางทะเลทั่วโลกและอาจนำไปสู่ข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น การสร้างเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศในทะเลจีนใต้ การกระทำดังกล่าวของประเทศใดก็ตามเพื่อจำกัดเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน หรือละเมิดหลักนิติธรรมจะต้องได้รับการคัดค้านจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากควอด

จำเป็นต้องมีการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง บนพื้นฐานของกฎระเบียบและกรอบทางกฎหมาย สมาชิกควอดทั้งหมด ยกเว้นสหรัฐฯ ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ดังนั้นสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องกระทำเช่นเดียวกันเพื่อให้มีมาตรฐานทางศีลธรรมทัดเทียม จีนมีความมั่นใจอยู่พอสมควรว่าสหรัฐฯ หรือประเทศอื่น ๆ จะไม่ใช้กำลังทางทหารในการรื้อถอนโครงสร้างพื้นฐานในทะเลจีนใต้

นอกจากนี้ จีนยังเพิ่มศักยภาพของกองทัพเรือในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ในบริบทนี้ จึงมีความจำเป็นที่ควอดจะต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเองนอกเหนือจากการฝึกที่มาลาบาร์ และการเพิ่มฟันเฟืองในรูปแบบของการเสริมสร้างศักยภาพทางทะเล การปรับปรุงการทำงานร่วมกันเพิ่มเติม และการเพิ่มศักยภาพในการครอบครองจุดยุทธศาสตร์ที่มีความอ่อนไหวต่อจีน ควอดไม่ได้เป็นพันธมิตรทางทหาร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีโครงสร้างอย่างเป็นทางการและเลขาธิการเพื่อจัดการในส่วนนี้ให้ดำเนินการต่อไป

ขบวนรถของกองทัพอินเดียเคลื่อนผ่านช่องเขาที่มีพรมแดนติดกับจีนในเมืองลาดักห์ ประเทศอินเดีย อินเดียเป็นประเทศสมาชิกของการเจรจาความมั่นคงจตุภาคี หรือควอด เพียงประเทศเดียวที่มีพรมแดนติดกับจีน
เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

เส้นทางในภายภาคหน้าสำหรับควอด

จะมีการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ในอินเดียและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ โดยมีการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์จากออสเตรเลีย ความตั้งใจของควอดที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ การเงิน การผลิต เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สำคัญ และศักยภาพในการพัฒนาในอนาคตนั้นถือเป็นการก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง นอกจากนี้ การแบ่งปันเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมและการสร้างศักยภาพสำหรับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศก็จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติเช่นกัน หากมีการดำเนินการตามที่กล่าวมา มาตรการเหล่านี้จะทำให้ควอดเป็นการรวมกลุ่มที่มีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

ประเทศสมาชิกควอดต้องยังคงมีเสรีภาพในการเดินเรือและการฝึกซ้อมทางทหารในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เนื่องจากจีนก็ยังคงดำเนินการดังกล่าวอยู่เช่นเดียวกัน หากสถานการณ์ทางยุทธศาสตร์เลวร้ายลง อาจจำเป็นต้องจัดวางตำแหน่งของกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มสังเกตการณ์ทหารทางทะเลของสหประชาชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในภูมิภาคที่มีจำนวนเรือรบอยู่อย่างหนาแน่นในภารกิจเสรีภาพในการเดินเรือ

การประชุมสุดยอดของควอดดังกล่าวไม่ได้ส่งสัญญาณการขยายตัวใด ๆ แต่กลุ่มก็จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นในการรวมประเทศประชาธิปไตยที่มีแนวคิดคล้ายกัน เนื่องจากหลายประเทศมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกับควอด เพราะภูมิภาคอินโดแปซิฟิกกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วงทางเศรษฐกิจและศูนย์กลางการผลิตของโลก การสนับสนุนของกองทัพเรือประเทศอื่น ๆ เช่น กองทัพเรือฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร และประเทศสมาชิกอื่น ๆ ของนาโต จะช่วยยับยั้งเหล่าประเทศที่ทำลายสันติภาพ ควอดในรูปแบบปัจจุบันอาจไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบความสุ่มเสี่ยงของจีน หากแต่ก็มีศักยภาพที่จะกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการตรวจสอบดังกล่าวอย่างแน่นอน ปฏิกิริยาของชาวจีนชี้ให้เห็นว่าควอดได้กล่าวเตือนจีนอย่างแน่นอน โดยที่ควอดไม่แม้แต่จะเอ่ยถึงชื่อประเทศด้วยซ้ำ

พล.ต. เอส บี อัสธานา ที่เกษียณอายุราชการจากกองทัพอินเดีย เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนของสถาบันบริการแห่งสหประชาชาติของอินเดีย ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ นายอัสธานาเป็นนักวิเคราะห์ด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคง และเป็นนายพลทหารราบที่ได้รับเหรียญตรา พร้อมทั้งมีประสบการณ์ 40 ปีในการปฏิบัติงานระดับชาติและระดับนานาชาติ รวมถึงที่องค์การสหประชาชาติ บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 โดยไฟแนนเชียล เอ็กซ์เพรส ออนไลน์ โดยมีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button