เรื่องเด่น

ภัยคุกคามทางอวกาศ

การวิเคราะห์ขีดความสามารถในการต่อต้านอวกาศ การพัฒนา และนโยบายต่าง ๆ

นายทอดด์ แฮร์ริสัน, นางเคทลิน จอห์นสัน, พ.ท. โจ มอย และ นางมาเคน่า ยัง/สถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์

ในพ.ศ. 2563 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนและความคาดเดาไม่ได้จากการระบาดของโควิด-19 ภาวะถดถอยทั่วโลกที่ตามมาและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงทางอวกาศในปี พ.ศ. 2563 นั้น ในภาพรวมยังเป็นแห่งความต่อเนื่องและมีความสามารถในการคาดการณ์ การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดในสภาพแวดล้อมทางอวกาศคือการเพิ่มดาวเทียมสเปซเอ็กซ์ สตาร์ลิงก์ จำนวน 900 กว่าดวงไปยังวงโคจรระยะต่ำ ทำให้ขนาดกลุ่มดาวเทียมทั้งหมดมีมากกว่า 1,200 ดวง ซึ่งเป็นกลุ่มดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และประกอบด้วยประมาณหนึ่งในสามของดาวเทียมทั้งหมดที่ใช้งานในอวกาศ สเปซเอ็กซ์ยังคงสร้างกลุ่มดาวเทียมของตัวเองอย่างต่อเนื่องด้วยการปล่อยดาวเทียมสตาร์ลิงก์ครั้งละ 60 ดวงทุกสองสามสัปดาห์

นอกจากนี้ การพัฒนาที่โดดเด่นหลายอย่างในนโยบายอวกาศของสหรัฐฯ ยังเกิดขึ้นในระหว่างการบริหารของรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะนั้น ซึ่งได้ออกคำสั่งนโยบายอวกาศใหม่สามฉบับ คำสั่งนโยบายอวกาศที่ 5 ได้สั่งการให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อปรับปรุงการปกป้องทรัพย์สินและพื้นที่เชิงพาณิชย์ของรัฐบาลจากการโจมตีทางไซเบอร์ คำสั่งนโยบายอวกาศที่ 6 ได้ปรับปรุงนโยบายระดับชาติสำหรับการพัฒนาและการใช้พลังงานนิวเคลียร์และการขับเคลื่อนทางอวกาศ และคำสั่งนโยบายอวกาศที่ 7 ได้ปรับปรุงนโยบายและคำแนะนำสำหรับโครงการและกิจกรรมการกำหนดตำแหน่ง การนำทาง และการกำหนดเวลาตามอวกาศ นอกจากนี้นาซายังได้เปิดเผยข้อตกลงอาร์เทมิสใน พ.ศ. 2563 ซึ่งรวมถึงหลักการ 10 ประการ ที่ประเทศต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามเพื่อเข้าร่วมโครงการอาร์เทมิส ซึ่งเป็นแผนการส่งนักบินอวกาศกลับไปยังดวงจันทร์และส่งพวกเขาไปยังดาวอังคารในอนาคต ภายในกลาง พ.ศ. 2564 มี 12 ประเทศที่ได้ลงนามในข้อตกลงนี้ ซึ่งรวมถึงประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ

การยืนหยัดของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ และกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไปตลอด พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 กองทัพอวกาศสหรัฐฯ ได้ยื่นคำของบประมาณครั้งแรกเป็นเงินจำนวน 1.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.13 แสนล้านบาท) รวมถึงเงินจำนวน 1.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.09 แสนล้านบาท) ที่โอนมาจากบัญชีของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังได้เผยแพร่เอกสารสำคัญฉบับแรกเรื่อง “หลักปฏิบัติเกี่ยวกับกำลังทางอวกาศสำหรับกองกำลังอวกาศ” ซึ่งมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายและหลักปฏิบัติในปัจจุบันมากกว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใด ๆ พล.อ เจมส์ ดิคคินสัน แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ผู้บัญชาการกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เพื่อพัฒนาแนวคิดด้านการสู้รบตลอดการบังคับบัญชา รักษาความสัมพันธ์ที่สำคัญกับพันธมิตรและหุ้นส่วน และปรับปรุงการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และองค์กรอวกาศเชิงพาณิชย์

ตลอด พ.ศ. 2563 ประเทศอื่น ๆ ได้พัฒนาและทดสอบอาวุธต่อต้านอวกาศอย่างต่อเนื่อง ที่น่าจับตามองที่สุดคือรัสเซียดำเนินการทดสอบต่อการสกัดกั้นดาวเทียมหลายครั้ง รวมถึงอาวุธสกัดกั้นดาวเทียมในวงโคจรร่วมในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 และอาวุธสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรงในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 กิจกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบพฤติกรรมที่รัสเซียได้พัฒนาและฟื้นฟูขีดความสามารถในการต่อต้านอวกาศอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่จีน อินเดีย เกาหลีเหนือ และรัสเซียมีความก้าวหน้าด้านอาวุธต่อต้านอวกาศมากที่สุด แต่ประเทศอื่น ๆ ก็กำลังพัฒนาขีดความสามารถในการต่อต้านอวกาศเช่นกัน ญี่ปุ่นยังคงเดินหน้าปฏิบัติการด้านพลเรือนและการทหารทางอวกาศอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะผ่านกฎหมายอวกาศขั้นพื้นฐาน ญี่ปุ่นเคยห้ามการใช้พื้นที่อวกาศสำหรับการป้องกันประเทศ กฎหมาย พ.ศ. 2551 อนุญาตให้ญี่ปุ่นเริ่มการพัฒนาทางทหารในอวกาศ และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกำลังพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาขีดความสามารถในการต่อต้านอวกาศเพื่อป้องกันประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการตอบโต้ต่อการกระทำของจีนในอวกาศ เช่น การทดสอบการสกัดกั้นดาวเทียมที่ปล่อยเศษซากอวกาศ พ.ศ. 2550

ใน พ.ศ. 2563 ญี่ปุ่นอนุมัติร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งหน่วยภารกิจด้านอวกาศที่เสนอภายในกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นเพื่อดำเนินการภายใน พ.ศ. 2566 โดยมีแผนที่จะปล่อยดาวเทียมดวงแรกเพื่อตรวจสอบสภาพแวดล้อมทางอวกาศภายใน พ.ศ. 2566 ญี่ปุ่นจัดตั้งฝูงบินปฏิบัติการอวกาศใน พ.ศ. 2563 ในฐานะหน่วยภารกิจด้านอวกาศหน่วยแรกที่มีภารกิจอย่างเป็นทางการเพื่อปกป้องดาวเทียมญี่ปุ่นจากความเสียหายรวมถึงการโจมตีด้วยอาวุธ และเพื่อตรวจสอบสภาพแวดล้อมทางอวกาศ รวมถึงเศษซากอวกาศ ดาวเคราะห์น้อย และดาวเทียมอื่น ๆ ฝูงบินปฏิบัติการอวกาศจะร่วมมือกับกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ และหน่วยงานพลเรือนของญี่ปุ่น นั่นคือองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น “กิจกรรมด้านการรักษาความปลอดภัยในอวกาศของญี่ปุ่นมีขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา” นายยาซูฮิโตะ ฟูกูชิมะ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิชาการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นกล่าว

ญี่ปุ่นยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงระบบการสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรงแม้ว่าจะมีเครื่องสกัดกั้นป้องกันขีปนาวุธ เอสเอ็ม-3 ที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นโดยมีความสามารถแฝงในการโจมตีทรัพย์สินทางอวกาศในวงโคจรระยะต่ำ เนื่องจากการพัฒนาทางทหารในอวกาศค่อนข้างใหม่สำหรับญี่ปุ่น สาธารณชนจึงตั้งข้อสังเกตในเรื่องความเป็นไปได้ในการแสวงหาขีดความสามารถดังกล่าว เช่น เทคโนโลยีการสกัดกั้นดาวเทียมในวงโคจรร่วมและการรบกวน ใน พ.ศ. 2563 นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้นแถลงว่า ญี่ปุ่นจะ “เพิ่มขีดความสามารถและระบบเพื่อรักษาความเหนือกว่าเอาไว้” แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยโครงการใดเป็นการเฉพาะต่อสาธารณะก็ตาม

ในเกาหลีใต้ รัฐบาลได้กล่าวในบล็อกเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างการนำทางผ่านดาวเทียมด้วยระบบภาคพื้นดินเพื่อต่อต้านการรบกวนและการสวมรอย เกาหลีใต้ได้อ้างถึงปัญหาการสวมรอยจากเกาหลีเหนือโดยเฉพาะตั้งแต่ พ.ศ. 2553 – 2559 เพื่อเป็นแรงผลักดันในการเสริมจีพีเอสด้วยระบบภาคพื้นดิน นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ของเกาหลีใต้ยังได้เผยแพร่แถลงการณ์ที่ระบุรายละเอียดแผนการยกระดับขีดความสามารถทางอวกาศ รวมถึงการปล่อยจรวดลำแรกที่สร้างขึ้นในประเทศเพื่อขนส่งดาวเทียมและยานสำรวจไปยังดวงจันทร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อจรวดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นภายใน พ.ศ. 2572

ทหารอากาศสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนไปเป็นผู้พิทักษ์กองทัพอวกาศสหรัฐฯ สาบานตน ณ ฐานทัพอากาศทราวิสในแคลิฟอร์เนีย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

โครงการอวกาศของจีน

จากข้อมูลที่เปิดเผยแหล่งที่มาในช่วง พ.ศ. 2563 ระบุว่ามีการพัฒนาหรือการทดสอบอาวุธต่อต้านอวกาศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตามจีนมีโครงการการสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรงที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการใช้งานแบบคู่ในวงโคจรซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอาวุธสกัดกั้นดาวเทียมในวงโคจรร่วม และความสามารถในการต่อต้านอวกาศโดยเน้นใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์และไซเบอร์

แม้ว่าจะมีการระบาดใหญ่ แต่ใน พ.ศ. 2563 จีนก็ประสบความสำเร็จในภารกิจด้านอวกาศพลเรือน ภารกิจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-5 ส่งหินหนัก 2 กิโลกรัมกลับมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ยานสำรวจยูทู-2 ยังคงทำงานอยู่อีกด้านหนึ่งของดวงจันทร์ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2564 และได้เดินทางมากกว่า 600 เมตรบนพื้นผิวดวงจันทร์ นอกจากนี้จีนยังปล่อยส่วนหลักของสถานีอวกาศแห่งชาติในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 อีกด้วย

การจัดระเบียบด้านอวกาศของกองทัพจีน

การจัดระเบียบทรัพย์สินและภารกิจด้านอวกาศภายในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนยังคงไม่มีความชัดเจน ภารกิจด้านอวกาศจำนวนมาก เช่น การดำเนินการขนส่งขึ้นสู่อวกาศตลอดจนการจัดหาและปฏิบัติการดาวเทียมยังคงอยู่ภายใต้กองกำลังสนับสนุนยุทธศาสตร์ ทางด้าน “มิติข้อมูลข่าวสาร” มักนำเสนอว่า กองกำลังสนับสนุนยุทธศาสตร์ยังคงรักษาความพยายามของกองทัพปลดปล่อยประชาชนสำหรับสงครามไซเบอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และจิตวิทยา และอวกาศ แผนกระบบอวกาศและระบบเครือข่าย (สาขากึ่งอิสระที่เท่าเทียมกันภายใน กองกำลังสนับสนุนยุทธศาสตร์) แบ่งปันภารกิจร่วมกันรวมถึงขีดความสามารถในการต่อต้านอวกาศ รายงานของศูนย์ศึกษากิจการทหารจีนระบุว่า “หลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบกองกำลังสนับสนุนยุทธศาสตร์ คือความจำเป็นของลัทธิเหมาที่ยั่งยืนในการรวมกลุ่มในยามสงบและสงคราม” หลักการนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับลักษณะการใช้งานแบบควบคู่ของขีดความสามารถด้านอวกาศและในด้านการต่อต้านอวกาศ

ขีดความสามารถด้านอวกาศที่ใช้ร่วมกันของจีน เช่น ยานสำรวจดาวอังคาร นำโดยองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารแห่งรัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ บริษัทไชน่า แอโร่สเปซ ไซแอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี และ บริษัทไชน่า แอโร่สเปซ ไซแอนซ์ แอนด์ อินดัสทรี่ เป็นสองตัวอย่างของการวิจัยและพัฒนาหลายแขนงของรัฐบาลจีนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศ

อาวุธต่อต้านอวกาศของจีน

จีนยังคงทดสอบการปฏิบัติการของระบบการสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรงของเอสซี-19 แต่ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าความสามารถของการสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรงสามารถคุกคามดาวเทียมใด ๆ ในวงโคจรระยะต่ำและมีแนวโน้มที่จะอยู่ในวงโคจรระยะกลางและวงโคจรค้างฟ้าแนวเส้นศูนย์สูตรเช่นกัน

มหาวิทยาลัยเทียนจินได้พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อสนับสนุนภารกิจการกำจัดเศษซากอวกาศ แขนหุ่นยนต์รูปทรงคล้ายหนวดนี้จะวางไว้บนดาวเทียมและปล่อยขึ้นสู่วงโคจรเพื่อเก็บและกำจัดเศษซากออกจากวงโคจรที่ใช้กันอย่างคับคั่ง ในทางทฤษฎีแขนหุ่นยนต์อาจนำมาใช้ในการจับดาวเทียมของฝ่ายตรงข้ามได้ แม้ว่าอาจจะต้องใช้การปฏิบัติการระยะประชิดในการเข้าหาอย่างมาก ซึ่งอาจไร้ประสิทธิภาพในการจับเศษซากหรือดาวเทียมปลดระวางที่ตกลงมาโดยไม่มีการควบคุมในอวกาศ

ภาพกราฟิกคอมพิวเตอร์นี้จัดทำโดยองค์การสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแสดงภาพดาวเคราะห์น้อยและการสำรวจดาวเคราะห์น้อยของยานฮายาบุสะ 2 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นักวิเคราะห์บางคนได้กล่าวอ้างถึงการพัฒนาครั้งใหญ่ในสถานีเลเซอร์ภาคพื้นดินของจีน ซึ่งรวมถึงการระบุสถานที่ต้องสงสัยห้าแห่งของโครงการดังกล่าวภายในประเทศจีน แม้ว่าบางโครงการที่ระบุไว้จะดูเหมือนเป็นเชิงวิชาการ และดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นระบบการสกัดกั้นดาวเทียม แต่หนึ่งในจุดหลักที่น่ากังวลคือฐานทัพทางทหารที่รู้จักกันในการดำเนินการทดสอบการสกัดกั้นดาวเทียมทางกายภาพแบบเคลื่อนไหวที่อาจใช้ระบบอาวุธเลเซอร์ด้วย ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าระบบพลังงานที่มุ่งตรงดังกล่าวมีความก้าวหน้าหรือ “พร้อมที่จะระดมพล” มากน้อยเพียงใดและไม่มีข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการทดสอบหรือการโจมตีระบบอวกาศที่อาจเกิดขึ้นได้

เมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 หนังสือพิมพ์ฮินดูสถานไทมส์ของอินเดียกล่าวหาจีนว่าเคลื่อนย้ายเครื่องรบกวนเคลื่อนที่ภายในระยะ 60 กิโลเมตรจากเส้นควบคุมแท้จริงในลาดักห์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคแคชเมียร์ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างอินเดีย ปากีสถาน และจีน เพื่อปิดบังการเคลื่อนไหวของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในพื้นที่

ไม่มีการโจมตีทางไซเบอร์อย่างเปิดเผยจากจีนต่อระบบอวกาศของสหรัฐฯ หรือประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม จีนประสบความสำเร็จในการพิสูจน์ขีดความสามารถนี้และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องกับการโจมตีทางไซเบอร์ในอาณาเขตอื่น ๆ ต่อเป้าหมายทางการเงินหรือที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ

ขีดความสามารถทางอวกาศของกองทัพรัสเซีย

การระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในประเทศส่วนใหญ่ชะลอตัวลงตามรายงานฉบับนี้ แต่ขีดความสามารถทางอวกาศของกองทัพรัสเซียยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ. 2563 รัสเซียได้ทดสอบขีดความสามารถในการต่อต้านอวกาศเป็นจำนวนมาก ดำเนินการปฏิบัติการระยะประชิดในการเข้าหาที่ซับซ้อน และขยายโครงสร้างพื้นฐานทางทหารบนอวกาศ ขีดความสามารถในการดำเนินการขนส่งขึ้นสู่อวกาศที่สม่ำเสมอของประเทศ ความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของขีดความสามารถในการต่อต้านอวกาศ และการมีส่วนร่วมด้านอวกาศที่ใช้ร่วมกันผ่านสถานีอวกาศนานาชาติได้รักษาสถานะของรัสเซียในฐานะมหาอำนาจด้านอวกาศที่สำคัญ และความเก่งกาจในอาณาเขตด้านอวกาศได้สร้างความสัมพันธ์ที่โดดเด่นเป็นพิเศษกับต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งเป็นคู่แข่งในด้านอื่น ๆ

กิจกรรมด้านอวกาศที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของรัสเซียจะอยู่ทั้งภายใต้กองทัพการบินและอวกาศรัสเซียและโครงการรอสคอสมอส ภายในกองทัพรัสเซีย ขีดความสามารถทางอวกาศจะอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพการบินและอวกาศรัสเซีย ส่วนย่อยของกองทัพการบินและอวกาศรัสเซียคือ กองทัพอวกาศรัสเซียซึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2535 เป็นกองทัพอวกาศแห่งแรกของโลกและรับผิดชอบในการตรวจสอบทรัพย์สินทางอวกาศทั้งหมด การยิงทางทหาร และภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบอวกาศ

ใน พ.ศ. 2563 นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้อนุมัติเอกสารที่ให้อำนาจแก่ตัวเองในการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การโจมตีทั่วไปซึ่งมุ่งเป้าไปที่รัฐบาลและโครงสร้างพื้นฐานทางทหารที่สำคัญของประเทศ นอกเหนือจากการป้องกันอาวุธทั่วไปแล้ว อาวุธที่ใช้ในอวกาศยังได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นภัยคุกคามตามเอกสารดังกล่าว ซึ่งยังเรียกร้องให้มีการติดตั้งอาวุธป้องกันขีปนาวุธและอาวุธโจมตีในอวกาศที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย การอนุมัติเอกสารฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า รัสเซียเชื่อว่าอาวุธจากอวกาศสู่โลกอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามมากเท่ากับอาวุธนิวเคลียร์และจะก่อให้เกิดการตอบโต้เช่นเดียวกันจากประเทศนี้

นักบินอวกาศทำความเคารพก่อนขึ้นยานอวกาศ เสิ่นโจว-12 ของจีนบนจรวดขนส่ง ลองมาร์ช-2 เอฟ ณ ศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วเฉวียนในจีน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

อาวุธต่อต้านอวกาศของรัสเซีย

รัสเซียมีขีดความสามารถในการต่อต้านอวกาศทางกายภาพแบบเคลื่อนไหวตั้งแต่การทดสอบการสกัดกั้นดาวเทียมในวงโคจรร่วมครั้งแรกของสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1960 (พ.ศ. 2503 – 2512) เทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการในยุคโซเวียตพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นจุดการสร้างที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาของรัสเซียที่ผ่านมา และประเทศได้แสดงขีดความสามารถการสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรงและในวงโคจรร่วม และทดสอบทั้งสองครั้งใน พ.ศ. 2563

ในการตอบโต้การทดสอบเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งคอส
มอส 2543 ของรัสเซียยิงกระสุนขนาดเล็กใกล้กับดาวเทียมที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ จึงได้ประณามการทดสอบดังกล่าวและยืนยันว่ากระสุนดังกล่าวอาจใช้ในการเพ่งเล็งดาวเทียมได้ กระทรวงกลาโหมรัสเซียตอบโต้โดยกล่าวว่า ดาวเทียมมาโตรชก้าหรือเนสติ้งเหล่านี้นำไปใช้เพื่อการตรวจสอบตามปกติและเฝ้าระวังทรัพย์สินทางอวกาศอื่น ๆ ของรัสเซีย รัฐบาลรัสเซียยังคงยืนยันว่ารัสเซียเป็นประเทศที่มุ่งมั่นที่จะลดการใช้พื้นที่นอกโลกอย่างเต็มที่มาโดยตลอด

รัสเซียยังคงพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศและขีปนาวุธ แม้ว่าจะไม่ได้กำหนดให้เป็นอาวุธสกัดกั้นดาวเทียมอย่างเป็นทางการ แต่ระบบขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศแบบเอส-400 และเอส-500 ซีรีส์ก็สามารถเข้าถึงดาวเทียมในวงโคจรระยะต่ำได้ แหล่งข่าวทางทหารของรัสเซียกล่าวอ้างว่า เอส-500 ได้รับการออกแบบมาเพื่อโจมตีวัตถุในอวกาศและป้องกันอาวุธที่ใช้ในอวกาศ หัวหน้ากองกำลังทางอากาศและอวกาศของรัสเซียได้กล่าวว่า เอส-500 มีความสามารถในการทำลายอาวุธความเร็วเหนือเสียงและดาวเทียมในพื้นที่ใกล้เคียง ระดับของขีปนาวุธนี้อาจถูกใช้เป็นอาวุธต่อต้านอวกาศได้ ตามรายงานของนายยูริ มูราฟกิน รองเสนาธิการของกองกำลังขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศแห่งกองทัพการบินและอวกาศรัสเซีย นายยูริกล่าวว่า “ขอบเขตระหว่างอากาศและอวกาศกำลังถูกทำลายลงและจะถูกลบออกไปเมื่อศัตรูทางอากาศค่อย ๆ กลายเป็นศัตรูทางอวกาศ”

รัสเซียยังคงเพิ่มขีดความสามารถในการต่อต้านอวกาศทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง และกำลังพัฒนาระบบภาคพื้นดินแบบเคลื่อนที่เพื่อแทรกแซงดาวเทียมจากต่างประเทศ ขีดความสามารถทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 (พ.ศ. 2543 – 2552) และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน พ.ศ. 2552 ด้วยการยืนหยัดของกองทัพสงครามอิเล็กทรอนิกส์ภายในกองทัพรัสเซีย การพัฒนาล่าสุดในอาวุธต่อต้านอวกาศอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ ทีราด้า-2 ซึ่งเป็นระบบการรบกวนแบบเคลื่อนที่ “สำหรับการระงับการสื่อสารทางอวกาศ” และ ไบลิน่า-เอ็มเอ็ม ซึ่งเป็นระบบเคลื่อนที่ภาคพื้นดินที่มุ่งเน้นไปที่การรบกวนช่องทางการสื่อสารผ่านดาวเทียม ไบลิน่าได้รับการรายงานว่าเป็น “ชุดของสถานีอัตโนมัติเคลื่อนที่ภาคพื้นดิน” และระบบการสั่งการและการควบคุมแบบเคลื่อนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งรวมถึงระบบอัตโนมัติที่สามารถจดจำทรัพย์สินต่าง ๆ และกำหนดวิธีการโจมตี และสามารถนำไปใช้กับเป้าหมายภาคพื้นดิน อากาศ และอวกาศได้หลากหลาย มีรายงานว่า รัสเซียยังมีเครื่องรบกวนเรดาร์สองเครื่องคือ กระสุกา-2 และ กระสุกา-4 ซึ่งอาจจะสามารถรบกวนดาวเทียมลาดตระเวนเรดาร์ได้

การแสวงหาทางอวกาศของเกาหลีเหนือ

การแสวงหาการต่อต้านอวกาศของเกาหลีเหนือได้พ่ายลงใน พ.ศ. 2563 เป็นไปได้ยากที่เกาหลีเหนือจะมีความสามารถหรือตั้งใจในการแสวงหาอาวุธสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรงหรือในวงโคจรร่วม และมีข้อบ่งชี้เพียงเล็กน้อยว่าเกาหลีเหนือได้พัฒนาขีดความสามารถทางกายภาพแบบไม่เคลื่อนไหว แม้ว่าแหล่งข่าวบางแห่งยืนยันว่ามีภัยคุกคามจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของเกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ผ่านขีดความสามารถในการรบกวน และภัยคุกคามจากการโจมตีทางไซเบอร์ของเกาหลีเหนือยังคงดำเนินอยู่และใช้การได้ ความสามารถสองอย่างหลังนี้มีศักยภาพมากที่สุดสำหรับการใช้การต่อต้านด้านอวกาศ มีการอ้างว่าเกาหลีเหนือและอิหร่านได้กลับมาร่วมมือกันอีกครั้งในด้านเทคโนโลยีขีปนาวุธและพาหนะที่ใช้ในการยิง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความก้าวหน้าของชาติหนึ่งอาจถ่ายโอนไปยังอีกชาติหนึ่งได้

เกาหลีเหนือยังคงอ้างถึงเจตนารมณ์สันติภาพในอวกาศ แม้จะมีรายงานของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ระบุว่าโครงการอวกาศของรัฐบาลเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพสากลก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลเกาหลีเหนือได้ออกอากาศส่วนหนึ่งขององค์การบริหารการพัฒนาอวกาศแห่งชาติเพื่อส่งเสริมโครงการอวกาศของประเทศ นาอินารา สื่อผู้ให้บริการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ระบุว่าวัตถุประสงค์ของโครงการอวกาศของเกาหลีเหนือคือ “ยึดมั่นในผลประโยชน์ของรัฐและใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างทางเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชน” อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับกรณีของอิหร่าน เป็นที่สงสัยอย่างกว้างขวางว่าความตั้งใจด้านอวกาศของเกาหลีเหนือมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความต้องการครอบครองขีปนาวุธ

รัฐบาลเกาหลีเหนือยังคงเก็บรักษาพื้นที่ปล่อยดาวเทียมไว้สองแห่งที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขีดความสามารถด้านอวกาศ นั่นคือพื้นที่ปล่อยดาวเทียมทงแฮ และพื้นที่ปล่อยดาวเทียมโซแฮ ไม่ปรากฏข้อมูลที่เปิดเผยแหล่งที่มาใน พ.ศ. 2563 เกี่ยวกับการใช้งานพื้นที่ของดาวเทียมทงแฮ เว็บไซต์ 38 นอร์ทได้เผยแพร่ภาพและการวิเคราะห์ที่รายงานถึงการบำรุงรักษาตามปกติ การเก็บกวาดหิมะ และกิจกรรมตามปกติ แต่ไม่มีอะไรบ่งบอกถึงการเตรียมการหรือการดำเนินการปล่อยตัวใน พ.ศ. 2563 นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังมีอาคารควบคุมดาวเทียมทั่วไปที่มีไว้เพื่อติดตามและตรวจสอบการปล่อยดาวเทียมและดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบประเทศ รายงานระบุถึงการก่อสร้างที่กำลังดำเนินการอยู่ของสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นศูนย์ทดสอบทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่ถัดจากอาคารควบคุมดาวเทียมทั่วไป แม้ว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงจะไม่ชัดเจนก็ตาม

นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังไม่เผยให้เห็นว่ามีการใช้อาวุธสกัดกั้นดาวเทียมในวงโคจรร่วม จนถึงปัจจุบัน เกาหลีเหนือยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการและความเชี่ยวชาญในการดำเนินการปฏิบัติการระยะประชิดในการเข้าหาหรือมาตรการแนะนำเชิงรุกที่จำเป็นสำหรับขีดความสามารถของการสกัดกั้นดาวเทียมในวงโคจรร่วมที่ใช้งานได้ ด้วยวัตถุทางอวกาศของเกาหลีเหนือเพียงไม่กี่ชิ้นที่มีอยู่ในขณะนี้และแทบไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรเลยที่สถานีปล่อยดาวเทียมทั้งสองแห่ง จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการเข้าถึงทั้งขีดความสามารถการสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรงและในวงโคจรร่วม

เมื่อพูดถึงการปฏิบัติการสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เกาหลีเหนือยังคงใช้ขีดความสามารถในการรบกวนโครงข่ายการสื่อสาร ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 มีการประกาศว่ากำลังเตรียมปรับใช้ “อุปกรณ์รบกวนจีพีเอส” ใหม่เพื่อใช้กับเกาหลีใต้ มีรายงานหลายฉบับใน พ.ศ. 2563 ว่าเกาหลีเหนือยังคงดำเนินการปฏิบัติการรบกวนแนวคาบสมุทรเกาหลีต่อไป รายงานแบบเปิดเผยแหล่งที่มาหลายฉบับเน้นย้ำถึงการรบกวนที่มุ่งเน้นไปที่คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงเชิงพาณิชย์และสัญญาณจีพีเอสของพลเรือนมากกว่าเป้าหมายทางทหาร กองทัพบกสหรัฐฯ เผยแพร่คู่มือฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า “ยุทธวิธีของเกาหลีเหนือ” เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งระบุรายละเอียดเกี่ยวกับองค์กรการสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ขีดความสามารถ เทคนิค และยุทธวิธีของเกาหลีเหนือ

ภัยคุกคามต่อต้านอวกาศจากเกาหลีเหนือที่ใหญ่ที่สุดต่อสหรัฐฯ ยังคงเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ ตามรายงานของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยุทธวิธีของเกาหลีเหนือออกมาเรียกร้องต่อหน่วยแนะแนวสงครามไซเบอร์ของรัฐบาลหรือที่รู้จักกันในชื่อสำนักงาน 121 คู่มือของกองทัพบกสหรัฐฯ อธิบายว่าสำนักงาน 121 ประกอบด้วยสมาชิกมากกว่า 6,000 คน โดยมีหลายประเทศ เช่น เบลารุส จีน อินเดีย มาเลเซีย และรัสเซีย

นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้นกล่าวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ว่า เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ของสหรัฐฯ มากกว่ารัสเซีย โดยแนวคิดนี้ได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งโดยคณะรัฐบาลของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นายเนด ไพรซ์
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าการเคลื่อนไหวทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายของเกาหลีเหนือที่คุกคามสหรัฐฯ และพันธมิตรช่วยสหรัฐฯ ในการทบทวนนโยบายของตนเอง

การเติบโตของอินเดีย

ตั้งแต่ปล่อยตัวดาวเทียมดวงแรกใน พ.ศ. 2523 อินเดียแสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวหน้าในขีดความสามารถด้านอวกาศ ด้วยการทดสอบการสกัดกั้นดาวเทียมที่ประสบความสำเร็จใน พ.ศ. 2562 ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่สี่ในการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการต่อต้านอวกาศแบบเคลื่อนไหว นอกจากนี้อินเดียยังพัฒนาโครงการอวกาศที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งกำลังดำเนินภารกิจที่สามไปยังดวงจันทร์

กิจกรรมด้านอวกาศของอินเดียแบ่งออกเป็นองค์กรด้านอวกาศที่ใช้ร่วมกันและทางทหาร การพัฒนาด้านอวกาศที่ใช้ร่วมกันทั้งหมดอยู่ภายใต้องค์กรวิจัยด้านอวกาศแห่งอินเดีย ซึ่งดำเนินงานภายใต้กระทรวงอวกาศ หน่วยงานนี้ฉลองการปล่อยตัวครั้งที่ 51 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นการปล่อยตัวครั้งเดียวใน พ.ศ. 2563 เนื่องจากการระบาดใหญ่ การปล่อยตัวขึ้นสู่วงโคจรครั้งแรกของอินเดียใน พ.ศ. 2564 คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยส่งดาวเทียม 19 ดวงขึ้นสู่วงโคจร รวมถึงดาวเทียมสำรวจโลกสำหรับบราซิล

ใน พ.ศ. 2562 อินเดียได้จัดตั้งองค์กรวิจัยอวกาศกลาโหม ซึ่งรับผิดชอบด้านการวิจัยและพัฒนาระบบอวกาศเพื่อความมั่นคงแห่งชาติและดำเนินงานภายใต้หน่วยงานอวกาศกลาโหมในกระทรวงกลาโหม หน่วยงานใหม่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของอินเดียในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านอวกาศเชิงยุทธศาสตร์ องค์กรวิจัยอวกาศกลาโหมได้รับมอบหมายให้พัฒนาระบบและเทคโนโลยีสงครามอวกาศ ขีดความสามารถในการต่อต้านอวกาศของอินเดียหลายอย่างได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่เกิดจากจีนและปากีสถาน

นอกจากนี้อินเดียยังได้ทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนในการให้ข้อมูลการรับรู้ในขอบเขตอวกาศเพื่อ “ตรวจจับ ระบุ และติดตามทรัพย์สินของศัตรู” หน่วยงานอวกาศกลาโหมหวังว่าระบบนี้เมื่อได้รับการพัฒนาแล้วจะสามารถมีบทบาทในด้านการป้องกันและการบุกรุกได้

สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง

ในขณะที่จีนยังคงมีความคืบหน้าในการพัฒนาอาวุธต่อต้านอวกาศ แต่ดูเหมือนว่าจุดสนใจของจีนจะเปลี่ยนไปเป็นการผสานขีดความสามารถเหล่านี้เข้ากับกองกำลังและแผนปฏิบัติการของจีน ประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังคือการลงทุนโดยรวมของจีนในการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอวกาศและขีดความสามารถในการใช้งานทางอวกาศแบบสองทาง เช่น หุ่นยนต์ที่มีหนวดจับทำความสะอาดเศษซากอวกาศ จากมุมมองด้านการปฏิบัติการ การพัฒนาที่สำคัญที่ต้องติดตามคือความก้าวหน้าของจีนในการผสานขีดความสามารถด้านการต่อต้านอวกาศอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การรบกวนและการสวมรอยเข้ากับกองกำลังสงครามพิเศษและยุทธวิธี ในแง่ของบรรทัดฐานของพฤติกรรมในอวกาศ ตัวบ่งชี้สำคัญที่ต้องเฝ้าระวังคือดาวเทียมตรวจสอบในวงโคจรค้างฟ้าแนวเส้นศูนย์สูตร ชีจัน-17 หรือเอสเจ-17 ของจีน ในขณะที่เอสเจ-17 ดูเหมือนจะมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบดาวเทียมอื่น ๆ ของจีน แต่อาจมีการใช้งานเพื่อตรวจสอบดาวเทียมของประเทศอื่น ๆ ในวงโคจรค้างฟ้าแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่อาจส่งผลกระทบในวงกว้าง

รัสเซียอาจเป็นชาติที่มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะดำเนินการทดสอบและการใช้งานต่อต้านอวกาศเพิ่มเติมในปีหน้า จากการทดสอบอาวุธสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรงและในวงโคจรร่วมใน พ.ศ. 2563 ประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังคือ การทดสอบเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปหรือไม่และมีการแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถใหม่ ๆ หรือไม่ ในด้านอื่น ๆ ที่ต้องเฝ้าระวังรัสเซีย ได้แก่ การทดสอบระบบสกัดกั้นดาวเทียมด้วยเลเซอร์บนแพลตฟอร์มทางอากาศและภาคพื้นดินเพิ่มเติม ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการป้องกันแพลตฟอร์มที่สำคัญ และการโจมตีทางไซเบอร์ที่รุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานพลเรือนและสถาบันของรัฐบาล

ทั้งอิหร่านและเกาหลีเหนือยังคงมีขีดความสามารถด้านอวกาศค่อนข้างน้อย แต่ขีดความสามารถในการต่อต้านอวกาศด้านอิเล็กทรอนิกส์และทางไซเบอร์ของประเทศเหล่านี้เป็นภัยคุกคามร้ายแรง ในปีหน้า อิหร่านยังคงมีแนวโน้มที่จะดำเนินกิจกรรมการปล่อยตัวขึ้นสู่อวกาศภายใต้กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามต่อไป และเกาหลีเหนืออาจจะเริ่มทดสอบขีดความสามารถในการปล่อยตัวขึ้นสู่อวกาศอีกครั้งหลังจากที่ต้องพักการดำเนินงานชั่วคราวหนึ่งปี การพัฒนาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังคือสิ่งที่บ่งชี้เพิ่มเติมว่าอิหร่านและเกาหลีเหนือกำลังร่วมมือกันในด้านเทคโนโลยีอวกาศหรือขีปนาวุธ ประเด็นเพิ่มเติมที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ การสวมรอยจีพีเอสของอิหร่านในอ่าวเปอร์เซีย และการรบกวนจีพีเอสของเกาหลีเหนือในเกาหลีใต้ นอกจากนี้ความถี่และความซับซ้อนของการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นโดยประเทศใดประเทศหนึ่งในอาณาเขตอื่น ๆ ยังอาจบ่งบอกถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สูงขึ้นต่อระบบอวกาศ

ดูเหมือนว่าอินเดียจะยังคงพัฒนาเลเซอร์พลังงานสูงและขีดความสามารถอื่น ๆ ของการสกัดกั้นดาวเทียมแบบไม่เคลื่อนไหว ตัวบ่งชี้ที่สำคัญสำหรับอินเดียในเรื่องอวกาศ ได้แก่ วิธีการที่หน่วยงานด้านการทหารและการวิจัยและพัฒนาอวกาศแห่งใหม่ยังคงอัดฉีดเงินทุนสำหรับกิจกรรมด้านอวกาศและการต่อต้านอวกาศ ตลอดจนสัญญาณที่สะท้อนว่าอินเดียกำลังปรับหรือทดสอบระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้กับระบบอวกาศ

โดยรวมแล้วใน พ.ศ. 2563 เป็นปีที่กิจกรรมต่อต้านอวกาศชะลอตัว แต่ก็มีข้อยกเว้นที่ชัดเจนอยู่บ้าง ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อประเทศต่าง ๆ กลับมาจากการปิดเมืองและกลับสู่แผนงานและโครงการก่อนหน้านี้ ขณะที่คณะรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนพัฒนาและปรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติโดยรวม หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังคือวิธีการแก้ไขปัญหานโยบายอวกาศโดยทั่วไปและการแผ่ขยายของอาวุธต่อต้านอวกาศ มีการเรียกร้องภายในสหรัฐฯ และที่อื่น ๆ ให้กำหนดบรรทัดฐานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเรื่องพฤติกรรมในอวกาศที่กำลังเพิ่มขึ้น ข้อบ่งชี้ล่าสุดระบุว่าคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนมีความตั้งใจที่จะผลักดันการสร้างบรรทัดฐานในอวกาศ ซึ่งจะเป็นข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และชุมชนข่าวกรองที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยินดีสนับสนุนและปฏิบัติตามบรรทัดฐานดังกล่าว หากไม่มีข้อตกลงระหว่างหน่วยงานภายในรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เป็นเรื่องยากที่จะเริ่มต้นการสนทนาที่มีนัยสำคัญกับรัฐบาลอื่น ๆ


ประเภทของอาวุธ ต่อต้านอวกาศ

อวกาศเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในด้านอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหาร ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอวกาศทำให้บางประเทศสร้างคลังแสงเก็บอาวุธต่อต้านอวกาศเพื่อขัดขวาง ลดกำลัง หรือทำลายระบบอวกาศและคุกคามความสามารถของประเทศอื่น ๆ ในการใช้ขอบเขตอวกาศ อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของอวกาศยังกระตุ้นให้เกิดความพยายามที่จะยับยั้งหรือลดความขัดแย้งและปกป้องขอบเขตเพื่อการใช้งานอย่างสันติ เช่น การตีพิมพ์ครั้งสำคัญเรื่องอำนาจอวกาศของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ระบุว่า “กองกำลังอวกาศของกองทัพควรพยายามทุกวิถีทาง เพื่อส่งเสริมบรรทัดฐานความรับผิดชอบของพฤติกรรม ที่ทำให้อวกาศคงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเปิดกว้าง” ตามกฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายระดับชาติ

อาวุธต่อต้านอวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธที่ทำให้เกิดเศษซากในวงโคจร ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมทางอวกาศและความสามารถของทุกประเทศในการใช้ขอบเขตอวกาศเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคง อาวุธต่อต้านอวกาศแตกต่างกันอย่างมากในด้านผลกระทบ วิธีการใช้งาน และระดับของเทคโนโลยีและทรัพยากรที่จำเป็นในการพัฒนาและการใช้อาวุธเหล่านั้น โดยสามารถแบ่งประเภทความสามารถออกเป็นสี่กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ ความสามารถทางกายภาพแบบเคลื่อนไหว ความสามารถทางกายภาพแบบไม่เคลื่อนไหว ความสามารถทางอิเล็กทรอนิกส์ และความสามารถทางไซเบอร์

ทางกายภาพแบบเคลื่อนไหว

อาวุธต่อต้านอวกาศทางกายภาพแบบเคลื่อนไหวพยายามโจมตีโดยตรงหรือจุดชนวนหัวรบใกล้กับดาวเทียมหรือสถานีภาคพื้นดิน รูปแบบหลักสามรูปแบบของการโจมตีทางกายภาพแบบเคลื่อนไหว คือ อาวุธสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรง อาวุธสกัดกั้นดาวเทียมในวงโคจรร่วม และการโจมตีสถานีภาคพื้นดิน อาวุธสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรงจะปล่อยออกจากโลกในวิถีโคจรย่อยเพื่อโจมตีดาวเทียมในวงโคจร ในขณะที่อาวุธสกัดกั้นดาวเทียมในวงโคจรร่วมจะอยู่ในวงโคจรและเคลื่อนย้ายไปสู่เป้าหมายหรือเข้าใกล้ การโจมตีสถานีภาคพื้นดินมีเป้าหมายอยู่ที่พื้นที่ภาคพื้นดินที่รับผิดชอบในการสั่งการและควบคุมดาวเทียมหรือการถ่ายทอดข้อมูลภารกิจผ่านดาวเทียมไปยังผู้ใช้

การโจมตีทางกายภาพแบบเคลื่อนไหวในอวกาศจะทำให้เกิดเศษซากในวงโคจรซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อดาวเทียมดวงอื่น ๆ ในวงโคจรที่คล้ายกันโดยไม่เลือกเป้าหมาย การโจมตีประเภทนี้เป็นหนึ่งในการต่อต้านอวกาศเพียงอย่างเดียวที่อาจทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตหากกำหนดเป้าหมายไปที่สถานีภาคพื้นดินที่มีลูกเรืออยู่หรือที่ดาวเทียมในวงโคจรที่มีมนุษย์อยู่ เช่น สถานีอวกาศนานาชาติที่อยู่ในวงโคจรระยะต่ำ ไม่มีประเทศใดที่ทำการโจมตีทางกายภาพแบบเคลื่อนไหวต่อดาวเทียมของประเทศอื่น แต่จีน อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกาได้ทำการทดสอบอาวุธสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรงได้สำเร็จ

ทางกายภาพแบบไม่เคลื่อนไหว

อาวุธต่อต้านอวกาศทางกายภาพแบบไม่เคลื่อนไหวส่งผลกระทบต่อดาวเทียมหรือระบบภาคพื้นดินโดยไม่มีการสัมผัสทางกายภาพ เลเซอร์อาจทำให้เซ็นเซอร์ดาวเทียมพร่ามัวชั่วคราวหรือมองไม่เห็นถาวร หรือทำให้ส่วนประกอบมีความร้อนสูงเกินไป อาวุธไมโครเวฟพลังสูงสามารถทำลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของดาวเทียมหรือทำให้เกิดความเสียหายถาวรต่อวงจรไฟฟ้าและหน่วยประมวลผลของดาวเทียมได้ อุปกรณ์นิวเคลียร์ที่จุดระเบิดในอวกาศสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่มีการแผ่รังสีสูงและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่จะส่งผลกระทบอย่างไม่เลือกเป้าหมายต่อดาวเทียมในวงโคจรที่เกี่ยวข้อง

ดาวเทียมสามารถตกเป็นเป้าหมายได้ด้วยเลเซอร์และอาวุธไมโครเวฟพลังสูงจากสถานที่ตั้งบนพื้นดินหรือบนเรือ แพลตฟอร์มทางอากาศ หรือดาวเทียมอื่น ๆ ระบบเลเซอร์ดาวเทียมต้องใช้ลำแสงที่มีคุณภาพสูง ศูนย์เล็งที่ปรับได้ (หากใช้ผ่านชั้นบรรยากาศ) และการควบคุมการชี้เป้าขั้นสูงเพื่อบังคับทิศทางลำแสงเลเซอร์ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้ความซับซ้อนในระดับสูง อาวุธไมโครเวฟพลังสูงสามารถนำมาใช้เพื่อรบกวนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของดาวเทียม ทำให้ข้อมูลที่เก็บไว้เสียหาย ทำให้หน่วยประมวลผลรีสตาร์ท และทำให้เกิดความเสียหายถาวรต่อวงจรไฟฟ้าและหน่วยประมวลผลที่ระดับพลังงานสูงขึ้น

การระเบิดนิวเคลียร์ในอวกาศจะส่งผลกระทบทันทีต่อดาวเทียมที่อยู่ในระยะของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และยังจะสร้างสภาพแวดล้อมที่มีการแผ่รังสีสูงซึ่งจะเร่งการเสื่อมสภาพของส่วนประกอบดาวเทียมในระยะยาวแก่ดาวเทียมที่ไม่มีเกราะซึ่งอยู่ในกลุ่มวงโคจรที่ได้รับผลกระทบ การจุดชนวนอาวุธนิวเคลียร์ในอวกาศถูกสั่งห้ามภายใต้สนธิสัญญาห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์บางส่วน พ.ศ. 2506 ซึ่งมีผู้ลงนามมากกว่า 100 ประเทศ แม้ว่าจีนและเกาหลีเหนือจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มดังกล่าว

ทางอิเล็กทรอนิกส์

อาวุธต่อต้านอวกาศทางอิเล็คทรอนิกส์เล็งเป้าไปที่สเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้าที่ระบบอวกาศส่งและรับข้อมูล อุปกรณ์รบกวนจะรบกวนการสื่อสารที่รับส่งจากดาวเทียมโดยการสร้างสัญญาณรบกวนในย่านความถี่วิทยุเดียวกัน เครื่องรบกวนข่ายการเชื่อมโยงขึ้นโดยการส่งสัญญาณรบกวนจากโลกไปยังดาวเทียม เช่น สัญญาณคำสั่งและควบคุมที่ส่งขึ้นมา เครื่องรบกวนข่ายการเชื่อมโยงลงโดยพุ่งเป้าไปที่การส่งสัญญาณจากดาวเทียมในขณะถ่ายทอดลงไปยังผู้ใช้บนโลก ในการสวมรอย ผู้โจมตีจะหลอกให้ผู้รับเชื่อว่าสัญญาณปลอมเป็นสัญญาณจริง เครื่องสวมรอยสามารถนำมาใช้เพื่อแทรกข้อมูลเท็จเข้าไปในกระแสข้อมูลหรือออกคำสั่งเท็จให้ดาวเทียมเพื่อรบกวนการทำงานของดาวเทียม ขั้วสัญญาณของผู้ใช้ที่มีเสาอากาศแบบหลากหลายทิศทาง เช่น ตัวรับสัญญาณจีพีเอสและโทรศัพท์ดาวเทียมจำนวนมาก มีมุมมองที่กว้างขึ้น ดังนั้นจึงมีความไวต่อการรบกวนและการสวมรอยโครงข่ายการสื่อสารจากมุมต่าง ๆ ที่กว้างขึ้นบนพื้นดิน

ด้วยการสวมรอยประเภทที่เรียกว่า “การทำให้สัญญาณนำทางสับสน” แม้กระทั่งสัญญาณจีพีเอสที่เข้ารหัสโดยทหารก็สามารถสวมรอยได้ การทำให้สัญญาณนำทางสับสนไม่จำเป็นต้องถอดรหัสการเข้ารหัสจีพีเอส เพราะเพียงแค่ส่งสำเนาของสัญญาณต้นฉบับที่ล่าช้าไปตามเวลาโดยไม่ต้องถอดรหัสหรือแก้ไขข้อมูล เทคโนโลยีที่จำเป็นในการรบกวนและสวมรอยสัญญาณดาวเทียมหลายประเภทมีวางจำหน่ายทั่วไปและมีราคาไม่แพง ทำให้ค่อนข้างง่ายต่อการแพร่ขยายในหมู่ผู้ดำเนินการของภาครัฐและเอกชน

ทางไซเบอร์

ในขณะที่การโจมตีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์พยายามที่จะรบกวนการส่งสัญญาณความถี่วิทยุ การโจมตีทางไซเบอร์มุ่งเป้าไปที่ตัวข้อมูลเอง ตลอดจนระบบที่ใช้ส่งและควบคุมการไหลของข้อมูล การโจมตีทางไซเบอร์บนดาวเทียมสามารถใช้เพื่อตรวจสอบรูปแบบการรับส่งข้อมูล สกัดกั้นข้อมูล หรือแทรกข้อมูลเท็จหรือเสียหายเข้าในระบบ การโจมตีเหล่านี้สามารถกำหนดเป้าหมายไปที่สถานีภาคพื้นดิน อุปกรณ์ผู้ใช้ปลายทาง หรือดาวเทียมของตนเอง แม้ว่าการโจมตีทางไซเบอร์จำเป็นต้องมีความเข้าใจในระดับสูงเกี่ยวกับระบบที่ตกเป็นเป้าหมาย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการดำเนินการและสามารถทำสัญญากับกลุ่มเอกชนหรือบุคคลได้ และแม้ว่าผู้ดำเนินการของภาครัฐหรือเอกชนจะขาดขีดความสามารถทางไซเบอร์ภายใน แต่ก็อาจยังเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้

การโจมตีทางไซเบอร์ในระบบอวกาศอาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียข้อมูลหรือบริการจากดาวเทียม ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงระบบหากใช้กับระบบ เช่น จีพีเอส การโจมตีทางไซเบอร์อาจส่งผลกระทบถาวร เช่น หากฝ่ายตรงข้ามยึดการควบคุมดาวเทียมผ่านระบบการสั่งการและการควบคุม ผู้โจมตีสามารถปิดการสื่อสารทั้งหมดและสร้างความเสียหายถาวรให้กับดาวเทียมโดยการใช้เชื้อเพลิงจรวดหรือออกคำสั่งที่จะสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเซ็นเซอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button