เรื่องเด่น

สันติภาพศักดิ์ศรีและ ความเสมอภาค

นานาประเทศได้เน้นย้ำถึงมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล เพื่อบังคับใช้ข้อผูกพันระหว่างประเทศ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใคร ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน ทุกคนล้วนต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมและด้วยความเคารพ สามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งมีโอกาสและทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง โดยหลักแล้ว นี่คือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

อ้างอิงจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ “สิทธิมนุษยชน คือสิทธิที่มีติดตัวมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีสัญชาติ ถิ่นที่อยู่ เพศ ชาติกำเนิดหรือชาติพันธุ์ สีผิว ศาสนา ภาษา หรือสถานะใดก็ตาม” “เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ สิทธิเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์กัน อาศัยซึ่งกันและกัน และไม่สามารถแบ่งแยกได้”

สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญมากถึงขนาดที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่รับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ กรุงปารีส พ.ศ. 2491 ได้สร้างสถิติว่าเป็นเอกสารได้รับการแปลมากที่สุดในโลกใน พ.ศ. 2542 อารัมภบทของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้วางรากฐานของอิสรภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลกไว้ว่าเป็นสิทธิที่ไม่อาจเพิกถอนได้ของ “สมาชิกทั้งมวลแห่งครอบครัวมนุษยชาติ” มาตรา 1 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้เน้นย้ำอีกพื้นฐานหนึ่งของสิทธิมนุษยชน นั่นก็คือการได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี นอกจากนี้ ปฏิญญาดังกล่าวยังห้ามไม่ให้มีความเป็นทาสและสภาวะจำยอม การบังคับให้สมรส การจับกุมตามอำเภอใจ และการแทรกแซงความเป็นส่วนตัวและการสื่อสาร ปฏิญญานี้ให้การรับรองว่าทุกคนมีสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน เรียกร้องสิทธิลี้ภัย แสดงความคิดเห็น และรับการศึกษา

ทุกประเทศได้ลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ยกเว้นแปดประเทศซึ่งอยู่นอกภูมิภาคอินโดแปซิฟิกทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้จะเป็นไปด้วยดีทั้งหมด เช่น เกาหลีเหนือ เป็นต้น

“เป็นเวลากว่า 70 ปีแล้ว … ที่รัฐบาลเกาหลีเหนือกดขี่ประชาชนของตนเองและตัดขาดพวกเขาจากโลกภายนอก การปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบทำให้เกิดความยากจนในวงกว้างอย่างต่อเนื่องและรุนแรง” นายจอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายประจำเอเชียของฮิวแมนไรตส์วอตช์ ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในมหานครนิวยอร์ก กล่าว “สถานการณ์ในปัจจุบันเริ่มน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในบริบทของโควิด-19 ดูเหมือนว่านายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ตอนนี้จะใช้การแพร่ระบาดเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของตนเอง โดยได้ประกาศใช้มาตรการควบคุมใหม่ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการแจกจ่ายอาหารและผลิตภัณฑ์ ปิดกั้นข้อมูลทั้งหมดจากนอกประเทศ และปิดพรมแดนทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับจีน”

นายซิฟตันได้กล่าวปราศรัยในการพิจารณาของรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ก่อนการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทอม แลนโทส ของทั้งสองฝ่ายในสภา ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อ “ส่งเสริม ปกป้อง และสนับสนุนบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลทั้งภายในและภายนอกรัฐสภาสหรัฐฯ โดยปราศจากการแบ่งฝ่าย ตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและตราสารด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง”

ยังมีความท้าทายอื่น ๆ ที่ต้องกังวลเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ “หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่ดำเนินงานในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลียังคงเผชิญหน้ากับการขาดการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารอย่างรุนแรง จึงยังมีความท้าทายในการประเมินความต้องการด้านมนุษยธรรมและการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่สุด” ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ

อย่างไรก็ตาม ประชาคมโลกยังคงต่อสู้เพื่อบังคับใช้สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือและที่อื่น ๆ เพื่อกดดันให้ผู้ที่ฝ่าฝืนเปลี่ยนพฤติกรรมของตน

“สภาพแวดล้อมของเรามีการเปลี่ยนแปลงในแบบที่เราไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์อย่างแม่นยำได้” ตามแผนการบริหารของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ พ.ศ. 2561 – 2564 “แต่สิทธิมนุษยชนยังคงเป็นหลักการอ้างอิงที่แน่นอนและเป็นสากลที่สุดของเรา ซึ่งสามารถช่วยเราวางแนวทางไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน ความยุติธรรม ศักดิ์ศรี อิสรภาพ และความสงบสุขอย่างยั่งยืน”

สมาชิกชุมชนชาวอุยกูร์ของตุรกีประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนในภูมิภาคซินเจียงระหว่างการประท้วงในอิสตันบูล เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน ในช่วงโควิด-19

องค์การนอกภาครัฐที่ชื่อว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล รายงานว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกรุนแรงขึ้น และกล่าวว่า รัฐบาลหลายแห่งใช้การแพร่ระบาดครั้งนี้เพื่อ “ปิดปากกระบอกเสียงที่สำคัญและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสิทธิในการรับรู้และสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 อย่างไม่เหมาะสม”

บางรัฐบาลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้ดำเนินการกดขี่สิทธิมนุษยชนตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดแล้วด้วยซ้ำ ตามรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล

“ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลที่กดขี่ประชาชนได้ทำการปกป้องตนเองมากขึ้น โดยการปิดปากฝ่ายตรงข้าม ปิดปากสื่อ และจำกัดพื้นที่แสดงออกของพลเมืองจนแม้แต่การเข้าร่วมการประท้วงอย่างสันติก็อาจทำให้ถูกจับกุมได้ในบางประเทศ” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวในรายงานประจำปี พ.ศ. 2562 “ในเอเชียใต้ ดูเหมือนว่ารัฐบาลมีความต้องการที่จะตามให้ทันวิธีการใหม่ ๆ ในการดำรงรักษาการกดขี่ประชาชนแบบเดิมให้คงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำกฎหมายที่รุนแรงมาใช้ลงโทษผู้เห็นต่างทางออนไลน์”

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ได้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลของหลายประเทศในภูมิภาคมีความพยายามมากขึ้นที่จะบ่อนทำลายการดำเนินงานขององค์การนอกภาครัฐด้านสิทธิมนุษยชน และป้องกันไม่ให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเปิดโปงการละเมิดสิทธิ

พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้คุกคาม ข่มขู่ และทรมานนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหว โดยมักกล่าวหาด้วยข้อหาที่คลุมเครือ เช่น “เปิดเผยความลับของรัฐ” ตามรายงานของแอนเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล

“การพิจารณาคดีของพวกเขามักจะถูกจัดขึ้นอย่างลับ ๆ และพวกเขายังถูกลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงที่ปรึกษาทางกฎหมาย” ตาม “รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล พ.ศ. 2563/2564: สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก” ตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 “ทนายความหลายคนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้สิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหว รวมถึงไม่สามารถเข้าพบลูกความและเข้าถึงเอกสารเกี่ยวกับคดีได้”

พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พยายามเปลี่ยนแปลงความหมายของสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับอุดมการณ์และแนวปฏิบัติของพรรค เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้นิยามคำว่าสิทธิมนุษยชนขึ้นใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงเป็นอันดับแรก และประชาธิปไตยและเสรีภาพเป็นอันดับสุดท้าย ตามรายงานของนิตยสารข่าวออนไลน์ เดอะดิโพลแมต เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่เหนือกว่าสิทธิทางการเมือง เพื่อปกป้องประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

น.พ. หลี่ เหวินเหลียง หนึ่งในแปดคนที่พยายามเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสอุบัติใหม่ในช่วงปลาย พ.ศ. 2562 ก่อนที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเปิดเผยการระบาดดังกล่าว ถูกประณามจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนหลังจากที่เขาส่งข้อความถึงเพื่อนร่วมงานว่าให้สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ต่อมาเขาเสียชีวิตจากโควิด-19

ในกัมพูชา ทางการได้ใช้กฎหมายว่าด้วยสมาคมและองค์การนอกภาครัฐในการกำหนดให้กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้องค์การนอกภาครัฐทั้งในและต่างประเทศต้องลงทะเบียนและส่งรายงานทุกไตรมาสแก่เจ้าหน้าที่รัฐ

ในภูมิภาคมองโกเลียในของจีน การประท้วงได้ปะทุขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 เนื่องจากนโยบายภาษาใหม่ที่จะเปลี่ยนการเรียนการสอนในบางวิชาจากภาษามองโกเลียไปเป็นภาษาจีนกลาง มีรายงานว่าผู้ประท้วงหลายร้อยคนถูกจับกุมในข้อหา “ก่อเรื่องทะเลาะวิวาทและยุยงปลุกปั่น” ตามรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล

องค์การนอกภาครัฐเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเหล่านี้กลับตัวกลับใจ แก้ไขความรุนแรงต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้ผู้กระทำการละเมิดได้รับผิดชอบ

“เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะต้องทำงานโดยปราศจากการลงโทษ การแก้แค้น หรือการข่มขู่ เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้สิทธิมนุษยชนทั้งหมดได้อย่างเต็มที่” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวในรายงาน พ.ศ. 2563/64

สมาชิกชุมชนชาวอุยกูร์ของตุรกีประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนในภูมิภาคซินเจียงระหว่างการประท้วงในอิสตันบูล เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ได้ยืนยันความมุ่งมั่นที่มีต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนผ่านการใช้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเมื่อ พ.ศ. 2555 เอกสารของอาเซียนซึ่งใช้รูปแบบตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ระบุหลักการทั่วไป 9 ประการ ดังนี้

บุคคลทั้งปวงเกิดมามีอิสรภาพและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ มีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์

บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด ๆ อาทิ เชื้อชาติ เพศสภาพ อายุ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม สถานะทางเศรษฐกิจ การเกิด ความพิการ หรือสถานะอื่น

บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย บุคคลทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมาย บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

สิทธิของสตรี เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มคนชายขอบ เป็นสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ไม่อาจเพิกถอน เป็นส่วนเดียวกัน และไม่อาจแยกออกจากกันได้

บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพและมีผลบังคับตามที่กำหนดโดยศาลหรือองค์กรอื่นที่มีอำนาจ จากการกระทำอันละเมิดต่อสิทธิที่บุคคลนั้นได้รับตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

การใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องสมดุลกับการปฏิบัติหน้าที่ที่สอดคล้องกัน เนื่องจากบุคคลทุกคนมีความรับผิดชอบต่อบุคคล ชุมชน และสังคมที่ตนอาศัยอยู่อื่น ๆ ทั้งหมด นี่เป็นความรับผิดชอบหลักที่สำคัญที่สุดของประเทศสมาชิกอาเซียนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวง

สิทธิมนุษยชนทั้งมวลมีความเป็นสากล ไม่อาจแบ่งแยกได้ อาศัยซึ่งกันและกัน และมีความสัมพันธ์กัน สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งมวลในปฏิญญานี้ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เสมอภาค อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน และมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ในขณะเดียวกัน การบรรลุสิทธิมนุษยชนต้องได้รับการพิจารณาในบริบทของภูมิภาคและของประเทศโดยคำนึงถึงความแตกต่างของภูมิหลังทางการเมืองเศรษฐกิจ กฎหมาย สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และศาสนา

สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลทุกคนจะต้องใช้โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลอื่น สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานจะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเพียงเท่าที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ของการได้มาซึ่งการยอมรับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้อื่น และเพื่อให้สอดรับกับความจำเป็นตามเหตุผลในเรื่องความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ สาธารณสุข ความปลอดภัยของสาธารณะ ศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งสวัสดิการทั่วไปของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย

การบรรลุสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพตามที่บัญญัติในปฏิญญาฉบับนี้ ควรยึดมั่นอยู่เสมอในหลักการความไม่ลำเอียง ภาวะวิสัย การไม่เลือกฝ่าย การไม่เลือกปฏิบัติ การไม่เผชิญหน้า และการหลีกเลี่ยงสองมาตรฐานและการทำให้เป็นประเด็นทางการเมือง กระบวนการบรรลุสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพดังกล่าวต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ความครอบคลุมทุกภาคส่วน และความจำเป็นของหลักความพร้อมรับผิดชอบ

นอกเหนือจากหลักการทั่วไปแล้ว ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยังมีรายละเอียดของปฏิญญาเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สิทธิในการพัฒนา สิทธิในสันติภาพ และความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจัดกิจกรรมจุดเทียนรำลึกในกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เพื่อประท้วงการรัฐประหารในเมียนมาร์ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ฟิลิปปินส์ได้อ้างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเพื่อเตือนให้สมาชิกอาเซียนอย่างเมียนมาร์ (พม่า) ได้ตระหนักถึงข้อผูกพันระหว่างประเทศ จากการที่รัฐบาลทหารเมียนมาร์ยังคงยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในระหว่างการประชุมของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นายไฮเม่ วิกเตอร์ เลดดา ผู้แทนฟิลิปปินส์ ได้เรียกร้องให้เมียนมาร์ “ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล โดยการเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะฟิลิปปินส์สตาร์ บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ในอีกสองวันถัดมาได้ออกมาแสดงการยอมรับว่าฟิลิปปินส์ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้นำเผด็จการ โดยชี้ว่า “ไม่ควรเป็นต้นแบบของอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้ใคร”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟิลิปปินส์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงด้วยน้ำมือของกองกำลังรักษาความมั่นคง” ภายใต้การบริหารของนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ตามที่ระบุในบทบรรณาธิการของเดอะฟิลิปปินส์สตาร์ “แต่อย่างไรก็ตาม การสังหารในเมียนมาร์เป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งพวกเขาสมควรได้รับการประณามในระดับภูมิภาคและต้องหยุดการกระทำดังกล่าว”

มีการพัฒนาในด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาก และความเคารพในเสรีภาพของประชาชนได้ยกระดับการพัฒนาในภูมิภาคนี้ หนังสือพิมพ์ดังกล่าวระบุ รัฐบาลทหารเมียนมาร์ได้เห็นผลประโยชน์ดังกล่าวแล้ว “ไม่น่าหยุดความก้าวหน้าดังกล่าวด้วยการถอยหลังลงคลองต่อไปเลย” เดอะฟิลิปปินส์สตาร์กล่าว

สิทธิมนุษยชนและ นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นที่จะยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลางของทั้งนโยบายภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ว่า “นี่คือความมุ่งมั่นที่ผมและกระทรวงการต่างประเทศทั้งหมดให้ความสำคัญอย่างยิ่ง” ในขณะที่เขาเผยแพร่ “รายงานประเทศว่าด้วยการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2563” “เราจะนำเครื่องมือทางการทูตทั้งหมดของเรามาใช้อย่างเต็มที่เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและให้ผู้กระทำการละเมิดได้รับผิดชอบ”

นายบลิงเคนกล่าวว่าไม่มีการปกครองแบบลำดับชั้นที่ทำให้สิทธิของบางคนสำคัญกว่าคนอื่น เขากล่าวว่าสิทธิมนุษยชนทั้งหมดเท่าเทียมกัน

“สิทธิมนุษยชนยังอาศัยซึ่งกันและกันอีกด้วย” นายบลิงเคนกล่าว “หากคุณไม่สามารถชุมนุมกันได้อย่างสันติ คุณจะจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือพรรคฝ่ายค้าน หรือใช้เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือความเชื่อของคุณได้อย่างไร? หากคุณถูกปฏิเสธการเข้าถึงงานหรือการศึกษาเพราะสีผิวหรืออัตลักษณ์ทางเพศของคุณ คุณจะมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับตัวคุณและครอบครัวได้อย่างไร?”

ชาวมองโกเลียเดินขบวนใกล้กับเมืองหลวงอูลานบาตอร์เพื่อประท้วงนโยบายของจีนในมองโกเลียใน ซึ่งทางการเสนอให้เปลี่ยนการเรียนการสอนในบางวิชาจากภาษามองโกเลียไปเป็นภาษาจีนกลาง เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

รายงานของกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่าแนวโน้มยังคงไปในทิศทางที่ผิด นายบลิงเคนกล่าว

“มีผู้คนจำนวนมากที่ยังทนทุกข์ทรมานกับสภาพที่โหดร้ายใน พ.ศ. 2563” นายบลิงเคนกล่าว “ในประเทศจีน หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติซึ่งรวมถึงการจำคุก ทรมาน บังคับทำหมัน และข่มเหงชาวอุยกูร์และสมาชิกของกลุ่มทางศาสนาและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ”

นายบลิงเคนได้ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงที่แพร่หลายในจีน และการละเมิดโดยรัฐบาลทหารเมียนมาร์หลายครั้ง สหรัฐอเมริกายังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อให้ผู้กระทำการน่ารังเกียจดังกล่าวได้รับผิดชอบต่อการกระทำของตน

“บางคนแย้งว่าเป็นการไม่คุ้มค่าที่สหรัฐอเมริกาจะออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอย่างแข็งขัน บางคนก็เสนอว่าเราควรจะให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิเฉพาะบางประเทศและเฉพาะที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อความเจริญก้าวหน้าของชาติของเราเท่านั้น” นายบลิงเคนกล่าว “ผมคิดว่าพวกเขาหลงประเด็น การยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชนในทุกหนทุกแห่งคือผลประโยชน์ของอเมริกา”

ประเทศที่ยอมรับการเห็นต่าง ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต และเคารพกฎหมายแรงงาน มีแนวโน้มที่จะสงบสุข เจริญรุ่งเรือง และมั่นคง ประเทศเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะมีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอีกด้วย นายบลิงเคนกล่าว

“รัฐบาลที่เคารพสิทธิมนุษยชนมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศตามกฎระเบียบที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรของเราได้สร้างและอุทิศให้มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ” นายบลิงเคนกล่าว “นอกเหนือจากเหตุผลที่กล่าวมา ยังมีเหตุผลอีกข้อที่เข้าใจง่ายกว่า นั่นคือ การยืนหยัดเพื่อเสรีภาพและศักดิ์ศรีของประชาชนคือการเชิดชูค่านิยมสูงสุดของอเมริกา เราจะยืนหยัดเพื่อเสรีภาพและความยุติธรรมสำหรับทุกคนอย่างสุดความสามารถ ไม่ใช่แค่เพื่อบ้านเกิดของเราแต่เพื่อโลกทั้งใบอีกด้วย”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button