ไต้หวันเคยเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่?
ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ มีความซับซ้อนเกินกว่า ที่รัฐบาลจีนจะยอมรับ
ดร. เกอริท ฟาน เดอ วีส
นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีผู้ว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯในขณะนั้น ได้สร้างความโกลาหลในระหว่างการสัมภาษณ์ทางวิทยุเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เมื่อเขากล่าวและได้รับการยอมรับด้วยงานที่รัฐบาลเรแกนทำเพื่อวางนโยบายซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ยึดถือมาเป็นเวลานานกว่า 3½ ทศวรรษแล้ว”
นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2492 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในกรุงปักกิ่งไม่เคยมีอำนาจอธิปไตยเหนือไต้หวันแต่อย่างใด ไต้หวันมีการปกครองแบบอิสระมาโดยตลอด โดยมีระบอบการปกครองแรกคือระบอบของนายเจียง ไคเช็ก ที่ต้องการจะ “ฟื้นฟูจีนแผ่นดินใหญ่” นับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533 – 2542) ไต้หวันกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เฟื่องฟู ซึ่งต้องการได้รับการยอมรับในฐานะสมาชิกอย่างเต็มรูปแบบและเท่าเทียมในประชาคมระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในข้อความหนึ่งในหลักประกันหกประการซึ่งประกาศใช้โดยนายโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2525 เขาระบุว่าสหรัฐฯ “ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือไต้หวัน”
นายเรแกนกล่าวถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ที่ถือว่าสถานะในระดับนานาชาติของไต้หวันคือ “ไม่ได้ระบุ” ตามผลของสนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก พ.ศ. 2494 – 2495 ภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว ญี่ปุ่นได้สละอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวันอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยังไม่ได้มีการตัดสินว่าเกาะจะเป็นของประเทศใด ประเทศส่วนใหญ่ในการประชุมสันติภาพเมื่อ พ.ศ. 2494 ได้อภิปรายว่าจำเป็นต้องมีการระบุสถานะของไต้หวันโดยเร็ว ตามหลักการกำหนดการปกครองด้วยตนเองที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ
ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงหรือไม่?
แล้วข้อโต้แย้งของจีนที่อ้างว่าไต้หวันเป็นปัญหา “ภายในประเทศ” และเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงนั้นเป็นอย่างไรกันแน่?
เมื่อตัวแทนบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ไปถึงไต้หวันใน พ.ศ. 2167 พวกเขาไม่พบร่องรอยใด ๆ ของการบริหารราชการโดยราช วงศ์หมิงซึ่งปกครองประเทศจีนตั้งแต่ พ.ศ. 1911 ถึง พ.ศ. 2187 อันที่จริง จักรพรรดิหมิง เทียนฉี ได้ตรัสกับชาวดัตช์ที่ได้สร้างป้อมปราการขนาดเล็กขึ้นใน พ.ศ. 2165 ที่หมู่เกาะเปสกาโดเรสซึ่งปัจจุบันคือช่องแคบไต้หวันว่าพวกเขาควรจะ “ข้ามดินแดนของเราไป” ดังนั้นชาวดัตช์จึงย้ายไปอยู่ ณ สถานที่ที่เรียกกันในสมัยนั้นว่าฟอร์โมซาและปกครองเกาะดังกล่าวเป็นเวลา 38 ปี ซึ่งเป็นการก่อตั้งโครงสร้างการปกครองครั้งแรกในไต้หวัน ดังนั้น ไต้หวันจึงไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์หมิงอย่างแน่นอน
การปกครองโดยชาวดัตช์สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2205 เมื่อเจิ้งเฉิงกง ผู้ติดตามของจักรพรรดิหมิงหลบหนีจากราชวงศ์ชิง/แมนจูที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ และได้แล่นเรือจากชายฝั่งฝูเจี้ยนด้วยกองเรือกว่า 400 ลำและทหารอีก 25,000 นาย มาล้อมป้อมปราการซีแลนเดียของชาวดัตช์ หลังจากผ่านไปเก้าเดือน ชาวดัตช์จึงยอมจำนน ทำให้เจิ้งเฉิงกงสามารถสถาปนาการปกครองของตนเองขึ้นทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของไต้หวัน เจิ้งเฉิงกงปกครองไต้หวันเป็นเวลา 21 ปี จนกระทั่งหลานชายของเขายอมจำนนต่อกองกำลังของราชวงศ์ชิงในยุทธนาวีเผิงหูใน พ.ศ. 2226 เจิ้งเฉิงกงและครอบครัวปกครองไต้หวันในฐานะราชอาณาจักรตงหนิงที่เป็นเอกราช ไม่ใช่ในฐานะส่วนหนึ่งของราชวงศ์หมิงซึ่งได้ล่มสลายไปแล้วในเวลานั้น
แต่จุดมุ่งหมายของจักรพรรดิชิงคือการปราบระบอบเจิ้งเฉิงกงผู้ซึ่งก่อการกบฏ ไม่ใช่เพื่อยึดครองเกาะดังกล่าว ใน พ.ศ. 2226 จักรพรรดิคังฉีตรัสว่า “ไต้หวันอยู่นอกอาณาจักรของเราและไม่ได้มีความสำคัญ” และยังเสนอให้ชาวดัตช์ซื้อไต้หวันคืนอีกด้วย บางทีนี่อาจเป็นความจริงที่ยอมรับได้ยากสำหรับผู้ปกครองคนปัจจุบันในปักกิ่ง
และปีนั้นก็เป็นการเริ่มต้นปีที่หนึ่งจากช่วงเวลา 200 กว่าปีที่ไต้หวันถูกปกครองในทางอ้อมในฐานะส่วนหนึ่งของมณฑลฝูเจี้ยนโดยผู้ปกครองชาวแมนจูในปักกิ่ง แต่เท่าที่มีการบันทึกไว้ มีการก่อกบฎขึ้นภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิงมากกว่า 100 ครั้ง ซึ่งในบางครั้งต้องใช้กำลังพลมากกว่า 50,000 นายในการปราบ นักประวัติศาสตร์ชาวไต้หวันอธิบายลักษณะดังกล่าวไว้ว่า “ทุก ๆ สามปีจะมีการจลาจล และทุก ๆ ห้าปีจะมีการก่อกบฏ” ประชาชนไต้หวันค่อนข้างที่จะมองชาวแมนจูว่าเป็นระบอบอาณานิคมต่างประเทศ จึงไม่มีความปรารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของจีน
ใน พ.ศ. 2430 ช่วงปลายราชวงศ์ชิง ผู้ปกครองชาวแมนจูในปักกิ่งตัดสินใจที่จะยกระดับสถานะของไต้หวันจากเกาะที่เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลฝูเจี้ยนขึ้นเป็นมณฑลที่เป็นทางการของจีน ซึ่งเหตุผลหลักที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อยับยั้งความพยายามของฝรั่งเศสและญี่ปุ่นในการมาจัดตั้งอาณานิคมที่ไต้หวัน แต่นายหลิว หมิงฉวน ผู้ว่าการมณฑลที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลจีน ได้พยายามอย่างมากในการพัฒนาเกาะแห่งนี้โดยการนำไฟฟ้าเข้ามาใช้ สร้างทางรถไฟจากเมืองจีหลงไปยังทางใต้ และจัดตั้งเครือข่ายสายเคเบิลโทรเลข อย่างไรก็ตาม กระบวนการปรับปรุงเกาะให้ทันสมัยนี้ก็เกิดขึ้นเพียงแปดปีเท่านั้น
สาธารณรัฐฟอร์โมซาที่เป็นเอกราช
เหตุการณ์ต่อไปน่าจะบอกอะไรได้มากขึ้น เมื่อญี่ปุ่นได้รับชัยชนะในสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ใน พ.ศ. 2437 – 2438 รัฐบาลชิงในกรุงปักกิ่งได้ทำข้อตกลงภายใต้สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ว่าไต้หวันจะตกเป็นของญี่ปุ่นอย่างถาวร เหล่าชนชั้นนำในไต้หวัน ซึ่งรวมถึง นายถัง จิ่งซง ผู้ว่าการมณฑล ได้ร่วมมือกับชนชั้นสูงในท้องถิ่นและประกาศให้สาธารณรัฐฟอร์โมซาเป็นเอกราชเพื่อขัดขวางไม่ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น
ซึ่งสาธารณรัฐดังกล่าวก็คงอยู่ได้เพียงไม่นานเนื่องจากการเข้ายึดของกองกำลังญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดแรงต่อต้านครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกองกำลังพลเรือนติดอาวุธท้องถิ่นในตอนกลางและตอนใต้ของไต้หวัน ผู้นำของกองทหารประจำการคือ นายหลิว หยงฟู ผู้บัญชาการ “กองทัพธงดำ” ที่โด่งดัง ซึ่งเป็นผู้นำทหาร 100,000 นาย
อาณานิคมต้นแบบของญี่ปุ่น
ไต้หวันได้กลายเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2438 และในอีก 20 ปีต่อมาโดยประมาณ ชาวฮกโล ชาวฮักกะ และชนพื้นเมืองในท้องถิ่นได้ทำการก่อกบฏและการจลาจลขึ้นหลายครั้งเพื่อต่อต้านการปกครองของญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นก็ได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สร้างถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ โรงพยาบาล และโรงเรียนไปเป็นจำนวนมาก ในช่วงทศวรรษ 1920 (พ.ศ. 2463-2472) เกาะแห่งนี้ได้กลายเป็นอาณานิคมต้นแบบที่เจริญรุ่งเรืองที่มีระบบการศึกษาและการบริการทางการแพทย์ที่ดี แต่อยู่ภายใต้การปกครองที่เข้มงวด
ในช่วงทศวรรษ 1920 (พ.ศ. 2463-2472) และ 1930 (พ.ศ. 2473 – 2482) ที่นายเจียงและนายเหมา เจ๋อตง กำลังต่อสู้กันเพื่อครองอำนาจสูงสุดในจีน ทั้งฝ่ายชาตินิยมและฝ่ายคอมมิวนิสต์ต่างก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับไต้หวันมากนัก อันที่จริง มีรายงานว่าทั้งนายเจียงและนายเหมาต่างให้การสนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวัน (จากญี่ปุ่น)
แต่จุดยืนดังกล่าวของพวกเขาก็เริ่มเปลี่ยนไปใน พ.ศ. 2485 – 2486 โดยระหว่างการประชุมไคโร ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2486 นายเจียงเริ่มอ้างว่าไต้หวันควร “กลับไปเป็นของจีน” และจากนั้นไม่นาน ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนก็ได้ออกแถลงการณ์ในทำนองเดียวกัน ไต้หวันจึงตกเป็นตัวประกันในเรื่องเล่าที่แข่งกันของกลุ่มชาตินิยมจีนหรือพรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน
ยังไม่มีการระบุสถานะ
สถานะอย่างเป็นทางการของไต้หวันเริ่มคลุมเครือหลังจากญี่ปุ่นยอมจำนนในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 จนกระทั่งใน พ.ศ. 2492 ไต้หวันถูกยึดครองอย่างเป็นทางการโดยสาธารณรัฐจีนในนามของกองกำลังพันธมิตร ยังไม่มีการระบุสถานะของไต้หวันในสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการซึ่งจะยุติสงครามโลกครั้งที่สอง และกลายเป็นสนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโกในที่สุด รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ถือว่าไต้หวันเป็น “ส่วนหนึ่งของจีน” อย่างเป็นทางการ แต่เห็นได้ชัดว่าไต้หวันถูกปกครองโดยกองกำลังพรรคก๊กมินตั๋งของนายเจียงและสาธารณรัฐจีน แม้ว่าจะมีอุปสรรคอยู่บ้างก็ตาม
แน่นอนว่ารัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งได้ยอมรับจุดยืนที่ว่าไต้หวันได้ “กลับไปเป็น” ของจีนแล้วในวันรำลึกการคืนสู่ประเทศ ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2488 แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยยอมรับจุดยืนดังกล่าว มีบางส่วนในรัฐบาลสหรัฐฯ เช่น พล.อ. ดักลาส แมคอาเธอร์ ที่ยังคงผลักดันการลงประชามติภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น แต่หลังจากที่นายแมคอาเธอร์มีความขัดแย้งกับนายแฮร์รี่ เอส ทรูแมน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คำแนะนำของเขาก็ไม่ได้รับความสนใจอีก อย่างไรก็ตาม การอภิปรายดังกล่าวก็แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ยังไม่ได้ยอมรับจุดยืนดังกล่าวในช่วงที่ยังถกเถียงกันว่า “ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่”
พ.ศ. 2492 ถึงปัจจุบัน: การแยกกันอยู่
เห็นได้ชัดว่า คำกล่าวอ้างที่ว่า “ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาโดยตลอด” นั้นมีความคลุมเครือเป็นอย่างยิ่ง ไต้หวันมักจะอยู่รอบนอก หรืออยู่นอกอาณาจักรจีนเป็นส่วนใหญ่
จากประวัติศาสตร์เมื่อไม่นานนี้ เป็นที่แน่ชัดว่าจีนที่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2492 และสาธารณรัฐจีน/ไต้หวันได้ดำเนินไปในแนวทางที่แตกต่างกันมาก จีนได้กลายเป็นประเทศที่มีอำนาจและอิทธิพลอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ยังคงปกครองด้วยระบอบเผด็จการแบบกดขี่ภายใต้นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน
ในทางกลับกัน ไต้หวันได้เปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบเผด็จการแบบกดขี่ภายใต้นายเจียงและพรรคก๊กมินตั๋งมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่เฟื่องฟู โดยมีพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าที่เคยเป็นฝ่ายค้านมาดำรงตำแหน่งทั้งประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติในปัจจุบัน ไต้หวันมีประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจเป็นของตนเอง โดยได้มีการพัฒนาเอกลักษณ์ของตนเองในฐานะไต้หวัน และมีความกระตือรือร้นที่จะมีบทบาทในฐานะสมาชิกอย่างเต็มรูปแบบและเท่าเทียมในประชาคมโลก ซึ่งเป็นบทบาทที่ถูกปฏิเสธมาตลอดเนื่องจากเรื่องเล่าที่แข่งกันของกลุ่มชาตินิยมจีนและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ในแง่นี้ นายปอมเปโอสมควรได้รับคำขอบคุณสำหรับการต่อต้านเรื่องเล่าเหล่านั้นและมองเห็นถึงสิทธิและแสงสว่างในตัวเองของไต้หวัน
บทคว“มน’้เผยแพร่ครั้งแรกในน‘ตยส“รข่าวออนไลน์ เดอะด‘โพลแมต ฉบับวันท’่ 1 ธันว“คม พ.ศ. 2563 ได้รับก“รแก้ไขเพื่อให้เหม“ะสมกับก“รจัดรูปแบบของ ฟอรัม