แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาร์ใหม่เนื่องในวันครบรอบการรัฐประหาร
รอยเตอร์
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมในเมียนมาร์ ตามมาตรการที่กำหนดไว้เป็นเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจและทำให้ประเทศเกิดความวุ่นวาย
การดำเนินการร่วมกันของทั้งสามประเทศที่ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อ พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รวมถึงสมาชิกรัฐบาลทหารรายอื่น ๆ โดยมุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ตุลาการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีต่อนางอองซาน ซูจี ผู้นำที่ถูกปลดจากตำแหน่ง
นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้ออกมาตรการคว่ำบาตรต่อคณะกรรมการที่รับผิดชอบด้านการจัดซื้ออาวุธจากต่างประเทศให้แก่รัฐบาลทหาร โดยประกอบไปด้วยผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าค้าอาวุธและบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนทางการเงินแก่รัฐบาลทหาร
ตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 กองทัพได้ควบคุมตัวนางอองซาน ซูจี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลและเป็นสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยไว้ โดยได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการฉ้อโกงในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าผลการลงคะแนนสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของประชาชน
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าการดำเนินการประสานงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนจากนานาชาติที่มีให้แก่ประชาชนชาวเมียนมาร์และจะ “สนับสนุนให้รัฐบาลทหารแสดงความรับผิดชอบต่อการรัฐประหารและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากระบอบการปกครองนี้” โดยได้กล่าวถึงผู้เสียชีวิตเกือบ 1,500 ราย และผู้คนที่ถูกควบคุมตัวโดยกองทัพที่ต้องการรวบรวมการควบคุมอีกกว่า 10,000 ราย
คณะทำงานสืบสวนขององค์การสหประชาชาติในเมียนมาร์กล่าวว่ากำลังเตรียมเอกสารที่สามารถอำนวยความสะดวกในการดำเนินคดีกับผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำอันแสนโหดร้ายในช่วงปีที่ผ่านมา
“เหล่าผู้ที่ได้รับพิจารณาว่าก่ออาชญากรรมควรตระหนักว่าการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศที่ร้ายแรงไม่มีข้อจำกัดทางอายุความ” นายนิโคลัส คูมเจี้ยน หัวหน้ากลไกการสืบสวนอิสระแห่งเมียนมาร์ ประจำกรุงเจนีวา ระบุในแถลงการณ์
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่าได้เพิ่มบุคคล 7 รายและหน่วยงาน 2 แห่งลงในบัญชีของมาตราการคว่ำบาตรครั้งล่าสุด ซึ่งรวมไปถึง นางธิดา อู อัยการสูงสุดของรัฐบาลทหาร ผู้ที่สำนักงานกระทรวงการคลังกล่าวหาว่าตั้งข้อกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมืองต่อนางอองซาน ซูจี
นางอองซาน ซูจี อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีมากกว่า 12 คดี และจนถึงขณะนี้ก็ยังคงถูกพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลารวมกว่าหกปี นางอองซาน ซูจี ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังระบุรายชื่อหัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุดแห่งเมียนมาร์และประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยกล่าวว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินคดีต่อนางอองซาน ซูจี และแกนนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย
การดำเนินการดังกล่าวจะระงับสินทรัพย์ใด ๆ ของสหรัฐฯ จากประเทศที่อยู่ในบัญชีดำ และโดยทั่วไปจะห้ามไม่ให้พลเมืองสหรัฐฯ ทำการติดต่อกับประเทศเหล่านั้น
แคนาดาประกาศว่าจะเพิ่มเจ้าหน้าที่ตุลาการทั้งสามรายข้างต้นในรายการมาตราการคว่ำบาตรด้วยเดียวกัน สหราชอาณาจักรประกาศว่าจะขึ้นบัญชีอัยการสูงสุดและประธานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริต รวมถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมาร์ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังเพิ่มคณะกรรมการด้านการจัดซื้อของกองทัพเมียนมาร์ที่ถูกกล่าวหาว่าซื้ออาวุธจากต่างประเทศ โดยผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ค้าอาวุธนั้นประกอบไปด้วย นายเทย์ ซา และบุตรชายทั้งสองคน และบริษัทเคที เซอร์วิสแอนด์โลจิสติกส์ จำกัด และนายโจนาธาน เมี้ยว จ่อ ตาวง์ ประธานกรรมการบริหารของบริษัทดังกล่าว
บริษัทที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวหาว่ามีการเช่าท่าเรือในย่างกุ้งจากบริษัทที่มีทหารเป็นเจ้าของด้วยจำนวนเงิน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 100 ล้านบาท) ต่อปี เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทในเครือเคที
ภาพจาก: ไอสต็อก