รัสเซียสูญเสียข้อตกลงในอินโดแปซิฟิก ในขณะที่การระดมพลไปยูเครนยังดำเนินต่อ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม
เนื่องจากกองทัพรัสเซียมุ่งเน้นไปที่การระดมกองกำลังขนาดใหญ่ที่ชายแดนซึ่งติดกับยูเครน อุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศจึงสูญเสียธุรกิจสำคัญในอินโดแปซิฟิกเมื่ออินโดนีเซียยกเลิกแผนการซื้อเครื่องบินขับไล่ของรัสเซีย
ในช่วงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 พล.อ.อ. ฟาดจาร์ ประเสตโย แห่งกองทัพอากาศอินโดนีเซีย ได้ประกาศยกเลิกแผนการจัดซื้ออากาศยานซุคฮอย ซู-35 ของรัสเซียจำนวน 11 ลำ “เราไม่อาจเอาแต่พูดถึงเรื่องนั้นต่อไปได้” พล.อ.อ. ฟาดจาร์กล่าวในระหว่างการแถลงข่าว ตามรายงานของเว็บไซต์ข่าวดิจิทัลเดอะยูเรเซียนไทม์
เบนาร์นิวส์รายงานว่า อินโดนีเซียล้มเลิกแผนที่จะซื้อเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์เนื่องจากกระบวนการซื้อที่ยืดเยื้อและอาจกลัวการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา ตอนนี้อินโดนีเซียกำลังจำกัดทางเลือกของตนเองลงว่า จะเลือกเอฟ-15 ของสหรัฐฯ หรือราฟาลที่ผลิตโดยฝรั่งเศส พล.อ.อ. ฟาดจาร์กล่าว
กองทัพอากาศอินโดนีเซียกำลังตั้งใจจะเพิ่มฝูงบินอีกสามฝูงบิน โดยที่แต่ละฝูงบินมีเครื่องบิน 12 ถึง 24 ลำ เบนาร์นิวส์รายงานว่า กองทัพอากาศอินโดนีเซียได้ทำข้อตกลงคร่าว ๆ ใน พ.ศ. 2561 เพื่อจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ของรัสเซียจำนวน 11 ลำ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.76 หมื่นล้านบาท)
อีกทั้งยังรายงานว่า ความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เกิดขึ้นจากกฎหมาย พ.ศ. 2560 ที่ว่าด้วยการต่อต้านศัตรูของอเมริกาด้วยการคว่ำบาตร ซึ่งระบุว่าประเทศใด ๆ ที่ดำเนินการใน “ธุรกรรมที่สำคัญ” กับอิหร่าน เกาหลีเหนือ หรือรัสเซียสามารถถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรได้ (ภาพ: เครื่องบินขับไล่ซุคฮอย ซู-35 ทำการทดสอบบินก่อนการแสดงทางอากาศในจีน)
นอกเหนือจากการสูญเสียการทำธุรกิจไป การตัดสินใจล้มเลิกข้อตกลงซื้อขายกับรัสเซียของอินโดนีเซียยังอาจสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของรัสเซียที่ไม่มีความสลักสำคัญอะไรในอินโดแปซิฟิก การหันเหความสนใจไปยังเอเชียหลังจากการรุกรานไครเมียของรัสเซียใน พ.ศ. 2557 นั้น “มีสลักสำคัญน้อยกว่าที่เห็น” ตามรายงานจากเอกสารใน พ.ศ. 2563 โดยมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ
“รัสเซียเป็นและจะยังคงเป็นประเทศในยุโรป ไม่ใช่เอเชีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมเชิงกลยุทธ์ ข้อมูลประชากร และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจหลัก” เขียนโดย นายยูเจียน รูเมอร์ อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองแห่งชาติของสภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ นายริชาร์ด โซโกลสกี นักวิจัยอาวุโสที่ไม่ใช่ผู้พำนักอาศัย ในโครงการรัสเซียและยูเรเซียของคาร์เนกี และนายอเล็กซานดาร์ วลาดิสิก ผู้ช่วยนักวิจัยในโครงการรัสเซียและยูเรเซียของคาร์เนกี
อินโดแปซิฟิกยังคงอยู่ในสายตาของรัสเซีย “ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์กับจีนที่เติบโตขึ้นของรัสเซีย” ซึ่งเป็นการกระชับมิตรที่ไม่ได้เริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2557 แต่เป็น พ.ศ. 2532″ ผู้เขียนระบุ “ความสนใจอื่น ๆ ของรัฐบาลรัสเซียในด้านเศรษฐกิจ การทหาร ความมั่นคง และการทูตในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมีความสำคัญน้อยมาก และรัฐบาลรัสเซียจะลดทอนความสนใจเหล่านี้ให้อยู่ใต้สิ่งสำคัญที่อยู่เหนือกว่าอย่างการรักษาและเสริมความแน่นแฟ้นให้กับความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญกับรัฐบาลจีน”
ท่าทีทางทหารของรัสเซียในตะวันออกไกลสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่ค่อนข้างสงบเสงี่ยม ผู้เขียนระบุ อีกทั้งยังระบุว่า ขนาดของกองกำลังของรัสเซียในพื้นที่การทหารด้านตะวันออกของตนเองยังคงมีความคงที่ เช่นเดียวกับขอบเขตและขนาดของการปรับปรุงเชิงคุณภาพ
ในระหว่างนั้น ขณะที่การสูญเสียโอกาสทางธุรกิจเกิดขึ้น รัสเซียได้รวบรวมกองกำลังภาคพื้นดินจำนวน 120,000 นายไปที่ชายแดนที่ติดกับยูเครนและในไครเมีย และวางเจ้าหน้าที่ทหารทางอากาศและทางทะเล 18,000 นายในพื้นที่ดังกล่าว นาย เซอร์กีย์ คีสลิตส์ยา เอกอัครราชทูตยูเครนประจำองค์การสหประชาชาติ กล่าวต่อองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2565 ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น
การระดมพลไปที่ชายแดนที่ติดกับยูเครนนั้นเป็นหลักฐานที่มีนัยสำคัญที่สุดเกี่ยวกับสิ่งที่รัสเซียให้ความสำคัญอย่างแท้จริง “คำถามก็คือ เพราะอะไรกองกำลังรัสเซียทั้งหมดเหล่านี้ถึงต้องไปที่นั่น เราได้ถามคำถามนี้ในฟอรัมต่าง ๆ รวมถึงส่งข้อความที่ชัดเจนของเราเองไป” นายคีสลิตส์ยากล่าวกับองค์การสหประชาชาติ “นี่เป็นหลักฐานโดยตรงถึงความไม่เต็มใจของรัสเซียในการลดขนาดและเตรียมพร้อมที่จะแก้ตัวในเหตุรุกรานที่อาจเกิดขึ้นต่อไป”
ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ