ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดติดอันดับสภาพภูมิอากาศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประชาชนในลาวและไทยกังวลเกี่ยวกับการลดการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงโดยเขื่อนต้นน้ำ

เรดิโอฟรีเอเชีย

ชาวลาวและชาวไทยที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำโขงเพื่อความจำเป็นในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเพื่ออาหาร น้ำ รายได้ เกรงว่าธารน้ำที่ไหลเชี่ยวอาจแห้งแล้ง

ประชาชนกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยแล้งในภูมิภาคเมื่อไม่นานมานี้ แต่เชื่อว่าสาเหตุโดยตรงของปัญหาคือเขื่อนหลายแห่งที่สร้างโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนและลาวมีการสูบน้ำออกเพื่อการเกษตรและการใช้งานอื่น ๆ ก่อนที่น้ำจะไปถึงเขื่อนต้นน้ำ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เขื่อนต่าง ๆ ทำให้ผลกระทบของภัยแล้งรุนแรงขึ้นเป็นระยะ ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนทำให้แม่น้ำโขงสูญเสีย “ภาวะการเลี้ยงชีพ” ซึ่งส่งน้ำและสารอาหารที่สนับสนุนการประมงและการทำเกษตรกรรม

ในแม่น้ำโขงตอนล่าง มีการจับปลาน้อยลง และในบางวันระดับน้ำลดต่ำลงจนผู้คนสามารถเดินข้ามแม่น้ำได้ ด้วยแผนการสร้างเขื่อนในลาวเพิ่มเติมเพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อการส่งออก เกษตรกรและชาวประมงเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดขึ้น

“แม่น้ำโขงแห้งแล้งเพราะเขื่อน ยิ่งมีเขื่อนมากเท่าไร แม่น้ำจะยิ่งแห้งแล้งมากขึ้นเท่านั้น ไม่มีใครพยายามชดเชยและบรรเทาปัญหานี้ให้กับเราเลย” ชาวบ้านชาวไทยที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงในจังหวัดเลยกล่าว

แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในลุ่มน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก โดยมีปลามากกว่า 1,100 สายพันธุ์ เนื่องจากเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม่น้ำโขงจึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับประชากร 70 ล้านคนในกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม

แต่การไหลของแม่น้ำโขงในช่วงสามปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำสุดที่มีการบันทึกไว้ โดยใน พ.ศ. 2563 อยู่ในระดับต่ำสุด ตามการวิเคราะห์ข้อมูลของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงโดยโครงการตรวจสอบเขื่อนแม่น้ำโขงของศูนย์สติมสันในกรุงวอชิงตัน

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงทำงานร่วมกับรัฐบาลของประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งสี่ประเทศเพื่อร่วมกันจัดการทรัพยากรน้ำและการพัฒนาที่ยั่งยืนของแม่น้ำ

สมาชิกคนหนึ่งของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งไม่ประสงค์ออกนามกล่าวว่า “แม่น้ำโขงแห้งแล้งและมีระดับต่ำมากจนชาวบ้านในพื้นที่สามารถเดินข้ามได้ในบางพื้นที่ เช่น บริเวณพื้นที่อำเภอแสงทองในนครหลวงเวียงจันทน์ของลาวและอำเภอปากชมในจังหวัดเลยของไทย” (ภาพ: นักท่องเที่ยวเล่นบนสันดอนทรายริมแม่น้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย)

กลุ่มนี้เป็นตัวแทนของชาวบ้านใน 8 จังหวัดของประเทศไทยที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง รวมทั้งเขตติดต่อกับประเทศลาว และเผชิญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกของประเทศลาวในแม่น้ำโขงตอนล่าง

“แม่น้ำโขงไม่เป็นเหมือนอย่างเคย บางครั้งก็มีระดับต่ำและบางครั้งก็สูง” ชาวประมงชาวลาวที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำในจังหวัดไซยะบุรีกล่าว “ผมสามารถจับปลาในอ่างเก็บน้ำเขื่อนไซยะบุรีได้มากกว่าในพื้นที่ใต้เขื่อน”

เขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักแห่งแรกของลาวและก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2563 เขื่อนอีกสามแห่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนหรืออยู่ในขั้นตอนก่อสร้างในช่วงต้น เนื่องจากรัฐบาลลาวต้องการสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำให้แก่ประโยคเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศไทย

ลาวมีเขื่อน 78 แห่งที่ดำเนินการอยู่ และได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจสำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำอื่น ๆ อีก 246 โครงการ แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความเต็มใจของไทยในการซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ตาม จีนดำเนินการเขื่อนขนาดใหญ่ 11 แห่งบนแม่น้ำโขง โดยมีการวางแผนเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 แห่ง

แผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง เช่น เขื่อนหลวงพระบางและเขื่อนสานะคามจะทำให้ปัญหาภัยแล้งเลวร้ายลงไปอีก ชายชาวประมงผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว

“จะไม่มีปลาอีกต่อไป “ผมไม่ต้องการให้มีเขื่อนบนแม่น้ำอีกแล้ว” ชายชาวประมงกล่าว

นายอัน พิช หัตดา หัวหน้าสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2565 ว่า ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมประมง

“นอกจากนี้ยังทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำอีกด้วย” นายอันกล่าว “ดังนั้น ความร่วมมือเชิงรุกจึงมีความสำคัญ ไม่เพียงแต่ความร่วมมือจากจีนแต่จากสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงทั้งหมดเพื่อจัดการกับปัญหานี้”

ตัวแทนจากเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนชาวไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างที่ชาวบ้านมีปัจจัยการผลิตอย่างแท้จริง

“ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา แม่น้ำโขงของเรามีปัญหามากมายเกี่ยวกับน้ำที่ใส เนื่องจากขาดตะกอนและอาหารสำหรับสัตว์น้ำ” ตัวแทนกล่าวในระหว่างการสัมมนาความร่วมมือแม่น้ำโขง-สหรัฐฯ ในวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา

สหรัฐฯ และประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง 5 ประเทศได้ประกาศความร่วมมือเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป

“ระดับน้ำลดลงมากกว่าครึ่ง และมีน้ำท่วมในช่วงฤดูแล้งและแห้งแล้งในช่วงฤดูฝน นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ” ตัวแทนกล่าว

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button