ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดติดอันดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การยกระดับดาวเทียมช่วยปรับปรุงแนวป้องกันของอินโดนีเซีย

ทอม แอบกี

บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐและภาคอุตสาหกรรมกล่าวว่า ดาวเทียมจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคตของอินโดนีเซีย ทั้งในฐานะยุทโธปกรณ์ทางกลาโหมและปัจจัยที่ทำให้เกิด “อำนาจอธิปไตยทางดิจิทัล” ของประเทศหมู่เกาะแห่งนี้

เจ้าหน้าที่กลาโหมอินโดนีเซียระบุว่า กำลังมีการผลิตดาวเทียมป้องกันประเทศเพื่อทดแทนดาวเทียมที่ถูกบอกเลิกสัญญาจากข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียและผู้ครอบครองดาวเทียม นอกจากนี้ กลุ่มดาวเทียมวงโคจรต่ำสำหรับเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าบริเวณชายฝั่งของอินโดนีเซียกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา

เพื่อยกระดับการสื่อสารโทรคมนาคมในหมู่เกาะ 17,508 แห่ง อินโดนีเซียจึงได้สั่งซื้อดาวเทียมสื่อสารที่ “รองรับปริมาณการรับส่งข้อมูลสูง” ใหม่จากบริษัทธาเลส อเลเนีย สเปซ เพื่อแทนที่ดาวเทียมที่สูญหายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 เมื่อจีนล้มเหลวในการนำส่งดาวเทียมดังกล่าวขึ้นสู่วงโคจร

“บทบาทสำคัญของดาวเทียมคือไม่เพียงแต่ใช้เพื่อการสื่อสารเท่านั้น แต่การใช้ดาวเทียมในระบบป้องกันยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบูรณาการการทำงานต่าง ๆ ในการป้องกันประเทศ” กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย ซึ่งรู้จักกันในนาม เคมฮัน กล่าวในแถลงการณ์ โดยอ้างถึงข้อคิดเห็นของนายมูฮัมหมัด เฮรินดรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียกำลังเตรียม “การออกแบบอย่างยิ่งใหญ่สำหรับการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมเพื่อสนับสนุนการป้องกันประเทศ” นายเฮรินดรากล่าว นายเฮรินดราคาดการณ์ว่า ดาวเทียมดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียและกองทัพ นายเฮรินดรากล่าวถึง “ดาวเทียมป้องกันประเทศ” ในบริบทของการเตรียมการดังกล่าว โดยชี้ชัดว่ากระทรวงกลาโหมจะนำมาทดแทนดาวเทียมแซ็ตคอมฮัน 1 ที่ถูกบอกเลิกสัญญาจากข้อพิพาทเมื่อ พ.ศ. 2560

อินโดนีเซียต้องการระบบดาวเทียมป้องกันประเทศที่ช่วยให้การสื่อสารมีความปลอดภัยเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น การก่อการร้าย การค้ายาเสพติดและการค้ามนุษย์ ตลอดจนการกระทำอันเป็นโจรสลัด ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย ยิ่งไปกว่านั้น ดาวเทียมดังกล่าวยังจำเป็นต่อการตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติและวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมอีกด้วย

กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียได้เช่าดาวเทียมแซ็ตคอมฮัน 1 จากบริษัทอวานติ คอมมูนิเคชั่น ของสหราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. 2558 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะจาการ์ตาโพสต์ บริษัทอวานติ คอมมูนิเคชั่น ได้ยกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดและปลดระวางดาวเทียมดังกล่าวไปยัง “วงโคจรสุสาน” เมื่อ พ.ศ. 2560 เนื่องจากข้อพิพาทเกี่ยวกับการชำระเงิน ใน พ.ศ. 2544 มีการปล่อยตัวดาวเทียมค้างฟ้าที่มีชื่อว่า อาร์เทมิส โดยองค์การอวกาศยุโรปเพื่อจุดมุ่งหมายด้านโทรคมนาคม

มีการคาดการณ์ว่าดาวเทียมวงโคจรต่ำที่ใช้สำหรับการตรวจจับคลื่นสึนามิล่วงหน้าจะสามารถช่วยชีวิตผู้คนและปกป้องทรัพย์สินในอินโดนีเซียได้ ตามรายงานของบริษัทดอว์น แอโรสเปซ ซึ่งตั้งอยู่ในนิวซีแลนด์และเนเธอร์แลนด์ บริษัทดอว์น แอโรสเปซ เริ่มพัฒนาระบบดังกล่าวร่วมกับสถาบันการบินและอวกาศแห่งชาติของอินโดนีเซียเมื่อ พ.ศ. 2564 บริษัทดอว์น แอโรสเปซระบุเพิ่มเติมว่า อินโดนีเซียอยู่ในภูมิภาค “วงแหวนไฟ” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิถึงร้อยละ 90 ของโลก

ดาวเทียมโทรคมนาคมที่จะใช้แทนที่ดาวเทียมนูซันตารา-2 ของอินโดนีเซียคาดการณ์ว่าจะใช้งานได้ภายใน พ.ศ. 2567 ตามรายงานของบริษัทธาเลส อเลเนีย สเปซ ของฝรั่งเศส ซึ่งกำลังผลิตดาวเทียมดังกล่าวร่วมกับบริษัทเทลคอม ของอินโดนีเซีย โดยคาดว่าดาวเทียมดังกล่าวจะมีการปรับปรุงความจุ คุณภาพ และความสามารถในการเชื่อมต่อทางดิจิทัลในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ยังไม่มีการสร้างเครือข่ายภาคพื้นดินตลอดช่วงอายุการใช้งาน 15 ปี

“ผมหวังว่าก้าวย่างนี้จะสามารถเสริมสร้างการตระหนักถึงอำนาจอธิปไตยทางดิจิทัลของอินโดนีเซียได้” นายเอ็นดิ ฟิทรี เฮอร์เลียนโต ประธานและผู้อำนวยการของบริษัทผู้ให้บริการดาวเทียม เทลคอมแซ็ต ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มบริษัทเทลคอม กล่าวในแถลงการณ์

ขณะที่ดาวเทียมนูซันตารา-2 พบกับจุดจบที่เลวร้ายเนื่องจากจรวดของจีนล้มเหลวในการนำส่ง ดาวเทียมนูซันตารา ซาตู รุ่นก่อนหน้า (ภาพ) กำลังให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการปล่อยตัวโดยสเปซเอ็กซ์ของสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2562

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

ภาพจาก: สเปซเอ็กซ์

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button