ติดอันดับ

ออสเตรเลียและเวียดนามกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหม รวมถึงการเคลื่อนพลทางอากาศของกองกำลังรักษาสันติภาพ

ทอม แอบกี

ออสเตรเลียและเวียดนามได้อนุมัติแผนความร่วมมือด้านกลาโหมเป็นเวลา 3 ปีที่ครอบคลุมหลายภาคส่วน หลังจากออสเตรเลียได้ยืนยันเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ว่าจะให้ความช่วยเหลือในการเคลื่อนพลทางอากาศแก่กองทัพเวียดนามที่ปฏิบัติภารกิจของสหประชาชาติในเซาท์ซูดานใน พ.ศ. 2565

“เวียดนามเป็นพันธมิตรด้านกลาโหมที่สำคัญสำหรับออสเตรเลีย ซึ่งสอดคล้องกับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ของเรา” โฆษกหญิงของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย กล่าวกับ ฟอรัม “เราแบ่งปันความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ต่อภูมิภาคที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และยืดหยุ่น โดยมีสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เป็นหัวใจหลัก”

แผนดังกล่าวได้รับการยืนยันในระหว่างการเจรจานโยบายกลาโหมทวิภาคีครั้งที่ 5 ที่จัดขึ้นผ่านการประชุมทางวิดีโอเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564 นอกเหนือจากการรักษาสันติภาพแล้ว ความร่วมมือด้านกลาโหมของทั้งสองประเทศยังรวมถึงความร่วมมือในด้านการศึกษาและการฝึกอบรม ความมั่นคงทางทะเล และอุตสาหกรรมด้านกลาโหมอีกด้วย โฆษกหญิงกล่าว แผนดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่ พ.ศ. 2565 – 2567 โดยสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ดังกล่าว

นายปีเตอร์ ดัตตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ประกาศความมุ่งมั่นของประเทศต่อการเคลื่อนพลทางอากาศของกองกำลังรักษาสันติภาพของเวียดนามที่ปฏิบัติภารกิจของสหประชาชาติในเซาท์ซูดาน ในระหว่างการประชุมออนไลน์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 กับ พล.อ. ฟาน วาน เกียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนาม ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ออสเตรเลียได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเคลื่อนพลทางอากาศเชิงยุทธศาสตร์ในการสับเปลี่ยนกองทัพสำหรับภารกิจของสหประชาชาติในเซาท์ซูดานของเวียดนามสามครั้งก่อนหน้านี้ ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย (ภาพ: บุคลากรทางการทูตและการทหารของออสเตรเลียและเวียดนามถ่ายภาพหน้าเครื่องบินขนส่งของกองทัพอากาศออสเตรเลียที่ใช้ในการเคลื่อนพลทางอากาศของกองกำลังรักษาสันติภาพเวียดนาม)

“การสนับสนุนนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์และความมุ่งมั่นร่วมกันของเราในภูมิภาคที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และยืดหยุ่น ซึ่งสนับสนุนความมั่นคงทั่วโลกอย่างแข็งขัน” นายดัตตันกล่าว

นอกจากนี้ การเจรจาด้านนโยบายกลาโหมยังประกอบด้วย พล.ท. โฮง ซวน เชียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนาม และนายปีเตอร์ เทสช์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียด้านยุทธศาสตร์ นโยบาย และอุตสาหกรรม ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมเวียดนาม การเจรจาครั้งนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ เสรีภาพในการเดินเรือ และการบินเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ ตลอดจนความสำคัญของการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางทะเลตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาองค์การสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล พ.ศ. 2525

ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะยกระดับความร่วมมือด้านกลาโหมในหลายด้าน อาทิ การแลกเปลี่ยนคณะผู้แทน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนระดับสูง การฝึกซ้อม การรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ และการแพทย์ทหาร ตามประกาศของกระทรวงกลาโหมเวียดนาม

นายเทสช์กล่าวว่าออสเตรเลียจะจัดโรงพยาบาลสนามระดับ 2 ของเวียดนามไปยังภารกิจของสหประชาชาติในเซาท์ซูดานใน พ.ศ. 2565 และจะบริจาคอุปกรณ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทบวงปฏิบัติการสันติภาพของเวียดนาม พล.ท. โฮง แสดงความขอบคุณในฐานะตัวแทนรัฐบาลเวียดนามสำหรับความช่วยเหลือจากออสเตรเลีย

ออสเตรเลียให้การสนับสนุนกองกำลังรักษาสันติภาพเวียดนามผ่านโครงการความร่วมมือด้านกลาโหมสำหรับเวียดนามโดยเฉพาะ ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย

โครงการดังกล่าวยังสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรทางทหารซึ่งกันและกัน อาทิหลักสูตรการพัฒนาวิชาชีพระยะสั้นและระยะยาวสำหรับกองทัพเวียดนามที่สถาบันกลาโหมออสเตรเลีย การเดินทางไปยังฮานอยของทีมฝึกอบรมเคลื่อนที่ ตลอดจนการฝึกอบรมภาษาอังกฤษ ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย และความมั่นคงทางทะเล เช่น การเยี่ยมชมทางเรือประจำปี

ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างทั้งสองประเทศเริ่มต้นอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2542 เมื่อมีการส่งตัวนักการทูตด้านกลาโหมของออสเตรเลียไปยังกรุงฮานอย ตามรายงานของสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียในเวียดนาม ความสัมพันธ์นี้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือด้านกลาโหมเมื่อ พ.ศ. 2553

การมีส่วนร่วมระหว่างกองทัพออสเตรเลียและกองทัพประชาชนเวียดนาม รวมถึงการฝึกร่วมสำหรับเจ้าหน้าที่กองทัพเรือและกองกำลังพิเศษ

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

 

ภาพจาก: กระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button