ติดอันดับ

การศึกษาเกี่ยวกับควอนตัมเผยให้เห็นถึงการแข่งขันที่เกิดขึ้นใหม่กับจีน

ฟีลิกซ์ คิม

นักพัฒนาในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กำลังศึกษาเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการป้องกันประเทศขั้นสูง

การศึกษาประเภทนี้กำลังเพิ่มขึ้นในขณะที่นักวางแผนด้านการป้องกันได้เฝ้าระวังรัฐบาลจีน ซึ่งเทคโนโลยีควอนตัมมีความสำคัญสูงสุดในงบประมาณด้านการวิจัยและการพัฒนาของสาธารณรัฐประชาชนจีนในระยะเวลา 5 ปี โดยได้เติบโตขึ้นร้อยละ 7 ใน พ.ศ. 2564 ตามรายงานของนิตยสารข่าวนิกเคอิเอเชียของญี่ปุ่น ด้วยส่วนแบ่งร้อยละ 12 ของสิทธิบัตรคอมพิวเตอร์ควอนตัมทั่วโลกที่ยื่นโดยบริษัทชั้นนำกว่า 100 แห่งในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้จีนตามหลังญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 14 และสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 43 พอร์ทัลสถิติสตาทิสตารายงานเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2564

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งได้ประกาศขั้นตอนสำคัญในการสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ใช้โฟตอนหรืออนุภาคแสง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้สภาพแวดล้อมที่เย็นจัดในการระบายความร้อนคอมพิวเตอร์ที่ใช้พลังงานสูงแบบทั่วไป โดยทีมงานประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จากนิปปอนเทเลกราฟแอนด์เทเลโฟนคอร์ปอเรชั่น และสถาบันวิจัยริเก้น ซึ่งได้วางแผนที่จะสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ใช้โฟตอนภายใน พ.ศ. 2573

รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ควอนตัมภายในประเทศ โดยได้ให้คำมั่นเมื่อ พ.ศ. 2562 ว่าจะลงทุน 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9 พันล้านบาท) เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยเริ่มใน พ.ศ. 2563

สมาคมที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยโตเกียวและไอบีเอ็มที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งบริษัทเทคโนโลยีและสถาบันการเงินชั้นนำของญี่ปุ่นได้สร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ทรงพลังที่สุดของญี่ปุ่น เครื่องจักรดังกล่าวได้เริ่มใช้งานในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 และเป็นคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่เข้าถึงได้ในเชิงพาณิชย์เครื่องแรกในญี่ปุ่น ตามรายงานข่าวประชาสัมพันธ์ของไอบีเอ็ม (ภาพ: นักศึกษาฝึกงานที่ไอบีเอ็มตรวจสอบฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์ควอนตัม)

ไอบีเอ็ม ควอนตัม ซิสเต็ม วัน ดังกล่าวใช้ควอนตัมบิตหรือ “ควิบิต” ในการประมวลผลข้อมูล ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไปหลายเท่า

บริษัทแอลไอจี เน็กซ์1 ซึ่งเป็นบริษัทด้านกลาโหมของเกาหลีใต้ ได้ร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงของเกาหลีใต้ตั้งแต่ต้น พ.ศ. 2564 เพื่อรักษาความสามารถด้านกลาโหมบนพื้นฐานของเทคโนโลยีควอนตัม ตามรายงานของหนังสือพิมพ์อาจูบิสซิเนสเดลี่ของกรุงโซล คอมพิวเตอร์ควอนตัม การเข้ารหัสแบบควอนตัม และการถ่ายภาพแบบควอนตัมเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยร่วมกัน

หนังสือพิมพ์อาจูบิสเนสเดลี่รายงานเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือดังกล่าวอาจส่งผลกระทบด้านความปลอดภัยในวงกว้าง ตั้งแต่การสื่อสารที่มีความปลอดภัยสูงไปจนถึงการตรวจจับเครื่องบินและเรือดำน้ำที่ได้รับการปรับปรุง เนื่องจากคอมพิวเตอร์ควอนตัมช่วยให้สามารถประมวลผลข้อมูลสนามรบขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเพิ่มความแม่นยำและความน่าเชื่อถือของระบบลาดตระเวน

ศูนย์สนับสนุนการวิจัยข้อมูลควอนตัมของมหาวิทยาลัยซองคยุนกวานแห่งเกาหลีใต้ ได้ร่วมมือกับบริษัทไออนคิว ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์ควอนตัมของสหรัฐฯ มหาวิทยาลัยซองคยุนกวานแห่งเกาหลีใต้รายงาน

นักวิจัยและนักศึกษาชาวเกาหลีใต้ที่ลงนามความร่วมมือในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ได้ใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัมของไอออนคิวเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน “ด้วยความแม่นยำสูงสุด” ตามรายงานข่าวประชาสัมพันธ์ของไอออนคิว

ศูนย์วิจัยคิวของมหาวิทยาลัยซองคยุนกวานแห่งเกาหลีใต้เปิดทำการในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยกว่า 41.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.4 พันล้านบาท) จากรัฐบาลเกาหลีใต้

“ภารกิจของเราคือการปลูกฝังและส่งเสริมความก้าวหน้าของการวิจัยข้อมูลควอนตัมในเกาหลีใต้” ศาสตราจารย์ยอนอุก ชอง แห่งมหาวิทยาลัยซองคยุนกวานแห่งเกาหลีใต้ กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ “เราเชื่อว่าไอออนคิวมีเทคโนโลยีควอนตัมที่ล้ำหน้าที่สุด และด้วยความร่วมมือของเรา เราจะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยิ่งใหญ่ในด้านความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมนี้”

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

 

ภาพจาก: ไอบีเอ็ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button