ความขัดแย้ง/ความตึงเครียดติดอันดับเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ประธานาธิบดีไบเดนลงนามในร่างกฎหมายจำกัดการนำเข้าสินค้าจากเขตซินเจียงของจีน

รอยเตอร์

เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (ภาพ) ได้ลงนามรับรองการออกกฎหมายที่ห้ามการนำเข้าสินค้าจากเขตซินเจียงของจีน เนื่องด้วยความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน ตามรายงานของทำเนียบขาว

กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์นี้ เป็นส่วนหนึ่งในการตอบโต้ของสหรัฐฯ สำหรับการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมชาวอุยกูร์ของจีน ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ตราหน้าว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ประเด็นหลักในการออกกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภาสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 มาจาก “ข้อสันนิษฐานที่ปฏิเสธไม่ได้” ว่าสินค้าทั้งหมดจากเขตซินเจียง ซึ่งเป็นเขตที่รัฐบาลจีนจัดตั้งค่ายกักกันสำหรับชาวอุยกูร์และกลุ่มมุสลิมอื่น ๆ นั้นมาจากการบังคับใช้แรงงาน กฎหมายดังกล่าวจะห้ามการนำเข้า เว้นแต่จะสามารถพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น

สินค้าบางชนิด เช่น ฝ้าย มะเขือเทศ และโพลีซิลิกอนที่ใช้ในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ถูกกำหนดอยู่ในระดับ “ความสำคัญสูง” สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย

รัฐบาลจีนปฏิเสธว่าไม่มีการข่มเหงทารุณในเขตซินเจียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตฝ้ายขนาดใหญ่และยังเป็นแหล่งจัดหาวัสดุส่วนใหญ่ของโลกสำหรับแผงโซลาร์เซลล์ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตันได้แถลงว่า กฎหมายดังกล่าว “ละเลยข้อเท็จจริงและใส่ร้ายสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเขตซินเจียงอย่างร้ายแรง”

นายนูรี เตอร์เคิล ชาวอเมริกันเชื้อสายอุยกูร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการสหรัฐฯ ว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนาระหว่างประเทศ กล่าวก่อนที่จะบัญญัติร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ประสิทธิภาพของกฎหมายขึ้นอยู่กับความเต็มใจของฝ่ายบริหารในการรับรองการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทต่าง ๆ ขอสละสิทธิ์

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าการลงนามในกฎหมายของประธานาธิบดีไบเดนเป็นการเน้นย้ำถึง “ความมุ่งมั่นของสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งรวมถึงในบริบทของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในเขตซินเจียงด้วย”

“กระทรวงการต่างประเทศมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับรัฐสภาและพันธมิตรระหว่างหน่วยงานของเรา เพื่อแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานในเขตซินเจียงต่อไป และเพื่อเสริมสร้างการดำเนินการระดับนานาชาติต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงนี้” นายบลิงเคนกล่าวในแถลงการณ์

นายเจฟฟ์ เมอร์คลีย์ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้กล่าวว่า มีความจำเป็นที่จะต้อง “ส่งข้อความที่เสียงดังและชัดเจนต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการใช้แรงงานทาส”

“ในที่สุด ตอนนี้เราก็มั่นใจได้ว่าผู้บริโภคและธุรกิจของอเมริกาทั้งหลายสามารถซื้อสินค้าต่าง ๆ ได้โดยไม่เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไม่ตั้งใจต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายของจีน” นายเมอร์คลีย์ สมาชิกพรรคเดโมแครตจากรัฐโอเรกอน กล่าวในแถลงการณ์

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 รัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ได้ประกาศห้ามผลิตภัณฑ์ฝ้ายและมะเขือเทศทั้งหมดจากเขตซินเจียง

ต่อมา หน่วยงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ ได้ประเมินว่ามีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ฝ้ายประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 แสนล้านบาท) และผลิตภัณฑ์มะเขือเทศประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 333 ล้านบาท) จากประเทศจีนในปีที่ผ่านมา

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button